หนามมัน เห็ดป่า ยาฝน

หนามมัน เห็ดป่า ยาฝน

หนึ่งทุ่มแล้ว เหงื่อกำลังออกมือ หัวหมุนติ้ว เดินลงบันไดเหมือนเมาเหล้า หัวแทบจะระเบิดเอาให้ได้!!

เข้าป่าก็ใช่จะกินได้ทั้งหมด กว่าที่บรรพบุรุษจะทำให้ครอบครัวอยู่รอดจนพากันเกิดมาในยุคนี้ไม่ธรรมดา ยิ่งผู้เขียนเป็น “คนเมือง” ที่ซื้อผักหญ้าในตลาด กินของในร้านสะดวกซื้อ เดินเข้าออกร้านอาหารตามสั่งอีกต่างหาก ก็ยากที่จะจินตนาการถึง “คนลองกิน” ตั้งแต่เห็ดหนึ่งดอก หรือ ต้นไม้ ลูกไม้ แต่ละชนิด กว่าจะรู้ว่ากินได้หรือไม่คงจะผ่านสมรภูมิคนลองมาเยอะ บางอย่างแม้นกหนอนกินได้ก็ใช่ว่าคนจะกินได้ ใครโดนก่อนก็กลายเป็นตำนาน กลายเป็นตำราผีบอก กลายเป็นคะลำที่หาที่มาที่ไปไม่ได้ แต่สุดท้ายก็เพียงหวังให้คนมาทีหลัง มัน “รอดตาย” เท่านั้นเอง

อธิบายแบบนี้ไม่ได้หมายความว่ากินอะไรในป่ามันอันตรายไปเสียทั้งหมด แต่เราต้องศึกษากับคนที่ชำนาญจริงๆ เท่านั้น เพราะอย่างเห็ดป่า บางคนไม่ชำนาญ ตาไม่ดีแถมกินกับเหล้าก็ไปเกิดใหม่ ความเสี่ยงบางทีอาจเริ่มตั้งแต่เห็นเห็ดมันคล้ายๆ กัน หรือต้องรีบแย่งกันเก็บไม่ทันได้ดูดีๆ เพราะคนอยากกินก็มีเยอะ ครั้นจะไปกลางวันก็กลัวไม่ทันคนอื่น ไปกลางคืนซะเลย ส่องไต้จุดเทียนหา ฝ่าดงหนามไปหาเห็ดก่อนคนอื่นจะมาเอาก็มี ดังนั้นความปลอดภัยก็ขึ้นกับการ “กินเป็น” หรือความรู้ของคนกินหรือคนซื้อด้วยเป็นสำคัญอย่างยิ่ง

เห็ดพิษเกิดบนขอนไม้
เห็ดที่กินไม่ได้มีสีสันสวยงามเหลือเกิน

วันนี้ทีมเราออกไปสำรวจป่าชุมชนที่มหาสารคามกัน ได้ “พ่อตาล” (พ่อคนนี้มีลูกชื่อตาล) ผู้ชำนาญพื้นที่พาเข้าป่า ใครอายุเยอะเท่าๆ พ่อแม่เรา เวลาไปออกสนามหมู่บ้านอีสาน เรียก “พ่อแม่” หมด หลังๆ เรียกไป ก็รู้สึกคุ้นเคยเหมือนครอบครัวจริงๆ สบายใจกินง่ายอยู่ง่ายไปด้วยกัน พ่อตาลไปเรียกพ่อใหญ่อีกคน ขับเอารถอีแต๊กออกมาพาเราเข้าป่า เส้นทางนี้รถ 4WD ไปไม่ได้ แต่อีแต๊กไปได้ ทางน้ำตัดถนนขาดเป็นหลุมลึกช่วงกว้างๆ ปรับเกียร์สักหน่อยก็เดินหน้าโยกเยกไปมาเขย่าให้พ้นปากหลุมจนจุกไปตามๆ กัน แต่ก็เป็นที่สนุกสนาน รถอีแต๊กแล่นผ่านทุ่งข้าวที่กำลังเขียวออกรวงยาว อีกเพียงเดือนเดียวก็ได้เกี่ยวกันแล้ว รวงข้าวเหนียวทะยานขึ้นชูช่อชี้ฟ้าต้นสูงตระหง่านแข็งแรงอย่างทระนง รวงข้าวเจ้าต้นบอบบางโค้งต่ำคารวะลงสู่ผืนดินเบื้องล่าง ข้าวเหนียวปั้นกินแล้วแข็งแรงบึกบึน ข้าวเจ้าตักช้อนค่อยๆ กินอย่างเรียบร้อยเนิบๆ ข้อแตกต่างแบบนี้ทำให้คนที่แยกต้นข้าวไม่ออกเข้าใจได้ง่ายขึ้นมาก

ไปกับรถอีแต๊ก เบื้องหน้าที่เห็นเป็นป่าชุมชน

เรามาถึงป่าชุมชนเนื้อที่กว่า 600 ไร่ เรียกได้ว่าราวกับโลกสมมุติ ดงป่ารกธรรมชาติเหมือนป่าดิบแล้งแต่ไร้สัตว์ป่าขนาดใหญ่ ถูกโอบล้อมด้วยนาข้าวที่มนุษย์ปลูกไว้ทั้งหมด มีชุมชนร่วมกันใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนอนุรักษณ์ผืนนี้ราว 8 หมู่บ้าน ในป่ามีลำธารน้ำไหลเวียนหล่อเลี้ยงให้ป่าชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา น้ำหล่อเลี้ยงดังกล่าวเกิดจากอ่างเก็บน้ำเล็กๆ ที่อยู่ด้านในเป็นเสมือนหัวใจของป่า พ่อใหญ่พาเราแอบรถอีแต๊กเข้าใต้ต้นไม้ ก่อนพากันทยอยเอาของลงจากรถ มีทั้ง “กะต้า” หรือ ตะกร้าไม้ไผ่สาน เสียมอันหนึ่ง มองเห็นมีดพร้าเหน็บเอวของพ่อตาลอีกอันหนึ่ง กับถุงย่ามพ่อใหญ่ ดูเป็นอาวุธสำคัญเข้าป่า ส่วนอาวุธของเราคือ รองเท้าบูท สมุดจด กล้อง น้ำ ยาทากันยุง ยาทากันแดด หมวกปิดหน้า ถุงยา ของกิน โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ อุปกรณ์เข้าป่าหาของกินช่างแตกต่างกันเหลือหลาย!

ในป่าใช้อะไรได้และไม่ได้… ไม่มีสัญญาณมือถือ เป็นอันว่า เราเข้าป่าของจริง

เราลุยน้ำผ่านชายป่าเข้าไป วันนี้คิดว่าถ้าโชคดีคงได้รู้วิธีหาเห็ดป่า แต่เดินมาร่วมชั่วโมง ยังไม่ปรากฏเห็ดที่กินได้เลย เห็ดที่ขึ้นบนขอนไม้ พ่อตาลบอกว่ากินไม่ได้ ชนิดเห็ดในป่าชุมชนที่พบวันนี้มีลักษณะต่างจากป่าอุทยานพอสมควร ที่คล้ายกันหน่อยมีอยู่เพียง 1-2 ชนิด เห็ดป่าจะอ่อนไหวกับสภาพแวดล้อมความชื้นอากาศดินน้ำมาก เชื้อราที่เกิดเป็นดอกยาก นำเอามาเพาะเลี้ยงเองก็ยากไม่ค่อยสำเร็จ ถ้าจะหาเห็ดคงต้องดูนิสัยเห็ดแบบกว้างๆ ถามว่ากว้างขนาดไหนก็ดูที่พ่อผู้เขียนเคยบอกว่า ให้มองดูท้องฟ้า ถ้าเมฆแตกลาย แสดงว่า “เห็ดบด” ออก

ที่ป่าแห่งนี้ สังเกตได้ว่าพันธุ์ไม้แต่ละชนิดจะขึ้นอยู่เป็นกลุ่มๆ บางพันธุ์กระจัดกระจาย แต่ก็มีบ้างที่ขึ้นเป็นกลุ่ม พ่อตาลมีชื่อเรียกบริเวณป่าของตนเองเป็นความจำ แสดงว่าป่าเองก็มีระบบความจำของป่าเหมือนกัน ระบบนิเวศน์ที่ซ่อนตัวอยู่ในดงป่า มันจำกันได้ ถ้าบันทึกจากความทรงจำพ่อตาลดีๆ ไม่แน่ก็อาจย้อนได้เหมือนกันว่าบริเวณนี้เคยมีต้นอะไรขึ้นบ้าง เอาไว้ใช้ทำอะไร เป็นยาหรืออาหาร แต่เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนตามเวลาพืชพันธุ์ก็เริ่มเปลี่ยนไป กิจกรรมของคนเมื่อไม่มีพืชนั้นๆ ให้กินให้ใช้ก็ต้องหยุด สิ่งเหล่านี้แสดงถึงความสัมพันธ์ของคนกับป่าที่ต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะป่ามีประวัติศาสตร์ระบบของป่า ขณะที่คนหาของป่าก็ต้องรู้ระบบป่าเพื่อเข้าถึงสิ่งที่ต้องการ รู้ว่าตรงไหนอะไรขึ้นบ้าง ไม่อย่างนั้นหาให้ตายก็ไม่เจอ บางคนไม่ชำนาญ นอกจากหาไม่เจอ ก็ยังหลงป่าวนไปวนมาเอาง่ายๆ ได้เหมือนกัน

เรื่องเห็ดวันนี้ดูท่าคงไม่ได้กินแน่เพราะแทบไม่เจอเห็ดที่กินได้ ก่อนเข้าป่า “แม่ตาล” บอกว่าช่วงนี้ฝนเพิ่งตก รออีกซักสามสี่วันเห็ดมันถึงจะออก เห็นจะจริงอย่างที่แม่ตาลว่า แต่ไหนๆ ก็มาแล้ว พ่อตาลก็เริ่มหาอะไรที่กินได้ ทันใดนั้นพ่อใหญ่อีกคนก็ไปเจอ “รู” ของดี เข้า แกตื่นเต้นดีใจ รีบเอาเสียมปักลงไป ค่อยๆ ขุดไล่หลุมไล่รูไปเรื่อยๆ แทงแซะ เอาดินออก นิ้วแหย่รู ซ้ำๆ อยู่อย่างนั้นซักฟุตหนึ่ง แล้วนิ้วก็ค่อยๆ คีบดึงบางอย่างออกจากรู มันดีดตัวกระโดดสูงหนีออกจากหลุม พ่อใหญ่ไล่ตะครุบแทบไม่ทัน พอจับได้ ก็เห็นตัวมันที่มีขนาดเท่านิ้วโป้ พ่อใหญ่หย่อนลงไปในขวดน้ำอัดลมเปล่า ปิดฝาอย่างรวดเร็ว “ตัวละสองบาทนะหนิ” ยิ้มกว้างจนเห็นฟันขาวเรียงแถวเกือบครบ แมลงตัวนั้นหน้าตาเหมือนจักจั่น เรียกว่า “จิ๊โป่ม” เป็นอาหารที่สุดยอดโปรตีนแสนอร่อยของดินแดนแห่งนี้ พ่อใหญ่แกเจอหลายรูตามทางเดิน นับไว้รูละ 1 ตัว บางรูปากรูเหมือนใหม่มีดินพูนเป็นเม็ดขึ้นมา บางรูเก่าไม่รู้มีเจ้าของหรือไม่ จะมีปากรูขอบเรียบๆ นึกถึงรูงู นับรูตามทางที่ผ่าน วันนี้พ่อใหญ่น่าจะได้หนึ่งจานพอดี

จิ๊โป่ม อาหารสุดยอดโปรตีน

เวลาหาของป่า สังเกตได้ว่าพ่อตาลจะจดจำพืชพันธุ์กับฤดูกาลทำนา เช่น ช่วงนี้เกี่ยวข้าว ต้นอันนี้มันจะเป็นหมากหรือออกผลให้ได้กิน อันนี้เป็นดอก อันนี้เกิด เป็นเทคนิคความจำตามฤดูกาล เพราะถ้าขืนจำเป็นเดือนตามระบบปฏิทินปัจจุบันก็อาจจะไม่เข้าใจระบบของธรรมชาติเอาง่ายๆ การพ่วงความจำเรื่องพันธุ์พืชในป่าเข้ากับช่วงเพาะปลูกข้าว จึงใช้ความรู้ที่มาจากฐานเดียวกันคือการสังเกตธรรมชาติที่จดจำได้ง่ายเพราะคลุกคลีมานาน ทั้งฤดูกาล ลม ฝน ฟ้า น้ำ แสงแดด ฯลฯ

ส่วนช่วงนี้เป็นช่วงจะเกี่ยวข้าว(ก่อนเกี่ยวข้าวไปจนถึงช่วงเกี่ยวข้าว ประมาณตุลาคม-ธันวาคม) พ่อตาลว่า เราจะได้กิน “ลูกเหลื่อม” กลางๆ เสียงแบบอีสานก็เป็น “ลูกเหลี่ยม” ของกินเล่นรสชาติหวานๆ มันๆ ผ่าด้านในเห็นเมล็ดขาวอ่อนๆ สามเมล็ด หักเอาก้านหญ้าแซะเม็ดออกมากิน รสชาติเหมือนยอดอ่อนของใบไผ่ ลูกไม้นี้พ่อตาลบอกว่าคนจีนเอาไปหมักกินได้ทั้งเนื้อทั้งเม็ด ถัดมาเป็น “อีลอก” ไม่ได้กินดอกหรือลูกไม้ แต่เขากิน “ก้าน” ลอกเปลือกออกแล้วเอาไปแกง ที่เด็ดสุด พ่อตาลพาเราไปขุด “มัน” เป็นมันป่า ยายที่หมู่บ้านเรียกว่า “มันเผิ่ม”

เถาว์มันเผิ่ม ขุดลงไปจะเจอหัวมัน

มันเผิ่มที่ว่าพ่อตาลต้องใช้เวลาขุดหลุมนานพอสมควร ขุดลึกลงไปเกือบครึ่งเมตรถึงเจอหัวมัน พ่อตาลขุดแล้วโยนมันขึ้นมา ได้เป็นที่ฮือฮามาก เพราะหัวมันเผิ่มเปลือกสีเหลืองด้านในเป็นจาวสีขาวขนาดมหึมากระเด้งกระดอนมานอนสงบอยู่แทบเท้า หน้าตาแปลกประหลาดของหัวมันป่า จะว่าคล้ายมันเทศก็ไม่เชิงเพราะหัวเล็กจะดูคล้ายมากแต่เมื่อหัวใหญ่มันกลับมีขนาดใหญ่มหึมาและรูปร่างแตกต่างออกไป ต้นเป็นเถาวัลย์เส้นเล็กๆ เลื้อยพันไปมากับต้นไม้พุ่มใหญ่ ใบลักษณะคล้ายต้นใบละบาทแผ่ออกไป มีขนาดใหญ่กว่าใบแก่ๆ ของตำลึง ใบแก่สีเหลืองปนเขียวมีรอยปุปะไหม้เป็นน้ำตาลเป็นลักษณะสำคัญที่ไม่เหมือนใบมันชนิดอื่นๆ ที่เจอ และลักษณะที่สำคัญอีกอย่างคือถ้าจะรู้ว่ารากสะสมหัวหรือยัง ให้ดูที่แท่งหนามหลายอันที่โผล่แทงขึ้นมาบนดิน แข็งขนาดที่เสียบทะลุรองเท้าได้ มันเผิ่มมีสายรากที่สะสมหัวหลายหัวหลายขนาดคล้ายพวงมันสำปะหลัง ขนาดของหัวมีตั้งแต่เท่าฝ่ามือ ไปจนกระทั่งแตงโมขนาดใหญ่ที่มีขนยุบยับ ฤดูนี้ขุดมันป่าขึ้นมา รากของมันป่าจะอุ้มดินชุ่มชื้นพอกอยู่เต็ม ต้องเอามีดขูดดินขูดรากออกทำความสะอาดก่อนใส่ตะกร้า พ่อใหญ่ว่าถ้าขุดช่วงแล้งเขาจะชอบมากกว่า เพราะแค่เคาะ ดินมันออกหลุดออกหมดแล้ว

ขูดเอาดินออกจากมันเผิ่ม

พ่อตาลเอาเสียมขุดลงไปอีก พุ้ยดินออกไปเรื่อยๆ โยนแล้วโยนอีก โยนกว่าสิบรอบ ได้มันสิบกว่าหัวจากหลุมเดียว “นี่มันเยอะกว่ามันสำปะหลังต้นเดียวแล้ว” ผู้เขียนตกใจ ต้นมันสำปะหลังปลูกดีมากจริงๆ ได้ 9-10 กิโลกรัมก็ถือว่าเก่ง แต่มันเผิ่มที่ขุดได้มันมากกว่านั้น พ่อตาลว่าลองเอาไปปลูกแล้วมันไม่ขึ้น กำลังพยายามปลูกอยู่เหมือนกัน ก่อนกลับพ่อตาลโกยดินถมคืน ถ้าไม่ถมต้นก็จะตาย ขุดอะไรมาต้องถมคืน มันเผิ่มที่เต็มจนล้นตะกร้าอยู่ขณะนี้ น่าสนใจในฐานะอาหารที่ให้แป้งแทนข้าวซึ่งเป็นอาหารหลัก ผู้เขียนเคยได้ยินเรื่องเล่าว่าถ้าปีไหนแล้งไม่มีข้าวกิน ผู้เฒ่าผู้แก่มักพากันเข้าป่าไปหาขุดเผือกขุดมันหาหัวกลอยประทังชีวิต การดำรงชีพให้รอดในป่าแม้กระทั่งการอพยพของผู้คนที่รอดตายด้วยมันป่า มันปรากฏให้เห็นจริงขึ้นมาต่อหน้า

บ่ายคล้อยก่อนออกจากป่า ผู้เขียนเห็นเห็ดที่พ่อตาลหาได้ 2 ดอก เป็นสีขาวนวลโคนต้นใหญ่ดอกขาดวิ่น แต่ก็กินได้ ส่วนมันเผิ่มหนักถึงขนาดต้องหามมันออกจากป่าถึงสองคน ดังสุภาษิตว่า “คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย” ถ้ามาคนเดียวคงหิ้วจนไหล่หลุดเพราะหนักจนยกไม่ขึ้น พ่อตาลยิ้มสดชื่นกับผลงานที่กองอยู่เต็มตะกร้า “ซิเอาไปแจก” คำๆ นี้ เพียงสั้นๆ สะท้อนความสำคัญของป่าของชุมชนที่บริบูรณ์ ย่อมนำมาซึ่งการเอื้อเฟื้อแบ่งบัน อันเป็นอุปนิสัยพื้นฐานของคนอีสานได้เป็นอย่างดี

เท่าแตงโมย่อมๆ อิ่มไปได้หลายคน
หนามของมันเผิ่มความยาวประมาณหนึ่งนิ้วกว่าๆ แข็งจนแทงทะลุรองเท้า

กลับถึงหมู่บ้าน ผู้เขียนเหมาไอศกรีมกะทิแจกทุกคนเพราะแดดร้อนมากๆ แม่ตาลทำกับข้าวไว้คอย มีเห็ดที่เก็บไว้ในถุงแช่ช่องแข็งในตู้เย็นเพื่อเก็บเอาไว้กินได้หลายเดือน มีกุ้งฝอยที่ช้อนได้จากลำน้ำนาข้าวอยู่ในกะละมังใบใหญ่ แม่ตาลเอามาไว้ตากแดดและคั่วมีรสชาติเค็มนิดๆ มีปลานิลที่ติดตาข่ายจับได้ในคลองน้ำในนาเอามาคลุกซอสทอดกรอบ ปลานิลในฤดูฝนพ่อตาลหาได้ง่าย โดยใช้ตาข่ายหรือเจ้ามุ้งฟ้ากั้นคลองน้ำในนา จับได้ทั้งกบเขียดปู อาจจะไปถึงงูด้วย แม่ตาลปูเสื่อรอพวกเรากลับมากินพร้อมหน้า แล้วยกตำมะม่วงถาดใหญ่มาให้ รสชาติอร่อยแต่ต้องบอกว่าที่หมู่บ้านใช้ผงชูรสแทนน้ำตาลและใส่เยอะมากอย่างเป็นปกติคือเป็นช้อนพูน เทรนนี้ไม่ได้เกิดขึ้นหมู่บ้านเดียว เป็นทุกหมู่บ้านอีสานที่ไปเยือน เห็นชัดๆ หน่อยก็คือผสมพริกกับผงชูรสไว้จิ้มมะม่วงกันเลยทีเดียว ใครไม่กินผงชูรสเป็นต้องบอกแม่ครัวเอาไว้ก่อน นอกจากตำมะม่วงแล้วก็ยังมีตำลาวใส่ลูกมะกอกอีกด้วย พวกเราล้อมวงกินด้วยความเอร็ดอร่อย หลังกินเสร็จเก็บกับข้าวกับปลา กลายเป็นวงชิมมันเผิ่มร้อนๆ ที่ถูกยกออกจากหม้อนึ่งมาใหม่ๆ มันเผิ่มถูกลอกเปลือกออกและหั่นเป็นชิ้นๆ หนาๆ นึ่งกับไอน้ำ ทำให้มันมีสีขาวนวล พอเริ่มร้อนน้อยลง ยางเยิ้มๆ ก็จะย้อยออกมามากขึ้น มันเผิ่มเนื้อละเอียดละลายในปากอย่างนุ่มลิ้น รสชาติออกจืดอมหวานตามธรรมชาติ แต่พอได้จิ้มกับน้ำตาลเอาเข้าปากก็ยิ่งทวีความอร่อยมากยิ่งขึ้นไปอีก

มันเผิ่มนึ่งร้อนๆ

ขณะที่ผู้เขียนกำลังอร่อยกับมันเผิ่ม ท้องฟ้าจากแดดจ้าก็เริ่มมีฝนตกกระหน่ำ อากาศแบบนี้กำลังทำให้ความรู้สึกปวดหัวเริ่มรุมเร้าเข้ามาอย่างรวดเร็ว…

“ห้ามกินของเย็น หลังตากแดดร้อนๆ” เสียงแม่ลอยมา เคยบอกแล้วก็ไม่ค่อยฟัง มานึกได้ก็ตอนเกิดปัญหาอยู่ทุกครั้ง เคยอ่านข่าวมีคนตายเพราะช็อก เนื่องจากกินน้ำอัดลมแช่เย็นจัดทันทีหลังกลับมาจากทำงานในแดดร้อนๆ ผู้เขียนตัดสินใจไม่กินยาพาราเซต เพราะไม่รู้มันจะลดปวดหัวจากสาเหตุนี้ไหม กลัวกินยาฟรี ทนรอดูอาการก่อน กลับถึงบ้านก็เลยอาบน้ำแล้วล้มตัวนอน เปิดแอร์ไว้พอเย็นนิดหน่อย หลับไปเพราะความเพลีย ตื่นมาตอนหนึ่งทุ่มกว่า อาการปวดหัวมันแย่กว่าเดิมเอามาก หัวเหมือนจะระเบิดให้ได้ เวียนหน้า เดินโคลงเคลงไปมา อาการแบบนี้ดูแล้วคงไม่ใช่จากไอศกรีมเมื่อตอนบ่าย ผู้เขียนลากตัวเองกลับมานั่งหอบแบบเหนื่อยๆ ที่เตียง เหงื่อออกท่วมทั้งสองฝ่ามือ อธิบายไม่ถูกว่ารู้สึกร้อนหรือหนาว รู้แต่ว่าไม่สบายตัวมาก แต่ไม่มีไข้ คิดได้บางอย่างเลยเดินลงบันไดแบบเซๆ มาที่ห้องครัว

“ยาฝน” เป็นยาอันดับแรกที่ผู้เขียนคิด ถ้าเข้าป่าแบบนี้ขอลองฝนรากยาดูอาการก่อนรับยาหมอ ซึ่งหมอคงบอกว่าไม่ใช่ความคิดที่ดีแน่ๆ แต่คิดว่าถ้าเฝ้าดูอาการตัวเองแล้วไม่ไหวก็จะรีบไปโรงพยาบาลนะหมอ รากรางจืดในถุงยาของพ่อชุดสุดท้าย เอามาฝนใส่น้ำให้เป็นสีแดงซักหน่อย มีฤทธิ์ถอนสารพิษ ผลหลังกินคืออาเจียนเอาสารพิษตกค้างออกจากกระเพาะ หลังจากนั้นไม่ถึงครึ่งชั่วโมง รางจืดก็ทำให้อาเจียน อาหารย่อยไปหมดมีแต่น้ำที่ออกมาจนแสบคอ อาการปวดหัวค่อยๆ ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ว่านี่เป็นครั้งแรกที่อาเจียนมาราธอนถึงสองชั่วโมงต่อเนื่องกัน ธรรมดาคือแค่ครั้งหรือสองครั้งก็หยุดแล้ว ซึ่งผู้เขียนไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน คืนนั้นทั้งคืน การนอนที่พื้นชั้นหนึ่งหน้าห้องน้ำกลายเป็นสิ่งจำเป็น เพราะกลัวตัวเองพลัดตกบันได ขณะเดียวกันก็ดื่มน้ำเป็นระยะเพื่อล้างคอแต่ก็ยังอาเจียนออกมาเรื่อยๆ ดีที่อาการปวดหัวหายไป ทำให้นอนได้ทั้งคืน แต่พิษคงไม่หมดเพราะตื่นขึ้นมากลายเป็นเมาไม่สร่างอยู่อีกเกือบสองถึงสามวัน อย่างไรก็ตามจนบัดนี้ก็ยังไม่รู้ว่าสารพิษนั้นมาจากอะไร สอบถามไปที่หมู่บ้าน มันเผิ่มที่อร่อยมากไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพียงคาดเดาว่าอาจเป็น “เห็ด” ที่มีพิษอ่อนๆ คงมีบางดอกคล้ายกับเห็ดกินได้ผสมปนเปกันมา เรามีโชคพอดีที่ไม่ค่อยมีภูมิต้านทานอาหารป่ามากนักเท่าไหร่ อาการที่เกิดจึงคล้ายกับเมาเห็ดพิษจากที่อ่านพบ เกิดเหตุแล้วจึงเข้าใจแจ่มแจ้งว่า การหาของกินในป่า สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ “ความรู้หลังกิน” เพราะถ้าคนไม่เคยกินบ่อยๆ ก็อาจจะไม่มีภูมิต้านทานเห็ดบางชนิดหรืออาหารป่าอยู่เลยก็เป็นได้ การบริโภคเห็ดป่าหรืออาหารป่าจึงควรต้องระวังระวังเรื่องนี้เอาไว้อยู่มาก

รางจืด
ยาฝน เอารากรางจืดจุ่มน้ำ แล้วมาฝนกับหินทราย แล้วเอาหินทรายที่มียาติดอยู่จุ่มน้ำให้ยาละลายลงไปพอเป็นน้ำสีแดง ดื่มได้เลย ไม่ต้องดื่มมาก ผู้เขียนดื่มไปประมาณวันสองวัน แก้วสองแก้ว พอถอนพิษ แต่ก็ไม่รู้ว่าปริมาณยาจริงๆ เท่าไหร่ แต่ก็รอดมาแล้ว (โปรดใช้วิจารณญาณในการนำไปใช้ด้วยตนเองนะคะ อันนี้เป็นประสบการณ์ผู้เขียนค่ะ)

มาถึงตอนนี้ เข้าป่าอย่างไร หามันป่าอย่างไรเพื่อประทังชีวิต อาจจะพอได้เป็นความรู้ประดับไว้ ส่วนหาเห็ดป่าอย่างไร เอาไว้ไปเรียนรู้กับผู้ชำนาญป่าด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามรางจืดก็ไม่อาจเป็นทางแก้ที่ได้ผลเสมอไป ข้อห้ามต่างๆ ของบรรพบุรุษหรือหมอควรมีติดตัวไว้ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด เพราะพิษจากพืชจะกระจายตัวเร็วมาก สิ่งเหล่านี้เป็นด่านปราการแรกๆ ที่จะทำให้เราสนุกกับป่า และไม่ทำให้ตัวเองนั้นกลายเป็นตำนาน.

ไม้ใหญ่ในป่าชุมชน
ลำธารน้ำในป่าชุมชน

 

ขอขอบคุณ ครอบครัวพ่อตาล พ่อใหญ่ และชุมชนที่รักษาป่าชุมชน มหาสารคาม

เรื่องโดย สุทธวรรณ บีเวอ (บทความใน อีสาน อินไซท์)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *