“บึงกาฬ” ณ ความหมาย “บึงกาน” มนต์แห่งการเปลี่ยนแปลง “ตัวสะกด”

“บึงกาฬ” ณ ความหมาย “บึงกาน” มนต์แห่งการเปลี่ยนแปลง “ตัวสะกด”

บึงกาฬแยกความหมายได้เป็นสองคำตามพจนานุกรมราชบัณฑิตสถาน คือ “บึง” หมายถึง แหล่งน้ำขนาดใหญ่ มีน้ำขังตลอดปี และ“กาฬ” แปลว่า “ดำ” กลายเป็น บึงที่มีน้ำสีดำ ก่อนหน้านั้นบึงกาฬยังเคยสะกดด้วยคำว่า “กาญจน์” มีความหมายว่า ทอง หรือบึงน้ำสีทอง อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่เพียงเท่านั้น..

นามหนึ่งซึ่งไม่ค่อยจะมีผู้ใดพบอยู่ในเรื่องราวของประวัติศาสตร์จังหวัดบึงกาฬ คือ “บึงกาน” เป็นคำเรียกขาน หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง ก่อนที่จะกลายเป็นเมืองศูนย์กลางของจังหวัดล่าสุดของประเทศไทย ช่วงเวลานั้นพวกเขาได้ให้ความหมายชื่อบ้านนามเมืองผูกเข้ากับนิทานตำนานท้องถิ่นเรื่อง “ท้าวลินทอง” นิทานยอดฮิตเรื่องหนึ่งของลุ่มน้ำโขง เพื่อบ่งบอก “ลักษณะภูมิประเทศ” อันเป็น “แหล่งหาอยู่หากิน” ของตน นอกจากนี้ยังพบหลักฐานสนับสนุนว่าชื่อ “บึงกาน” นี้ อย่างน้อยเคยเป็นชื่อหนึ่งที่ถูกเรียกอย่างเป็นทางการ ก่อนการเปลี่ยนแปลงความหมายของบึงกาฬไปเป็นบึงสีทองและบึงสีดำอย่างในปัจจุบัน

นิทานเรื่อง ท้าวลินทอง กับความหมาย “บึงที่กั้นน้ำเอาไว้”

“สมัยก่อนมียักษ์ตนเหนึ่งปกครองแคว้นนี้มีชื่อว่า ยักษ์กัลษา อาศัยอยู่ภูหอภูโฮงเป็นภูเขาใหญ่อยู่ในลาว ยักษ์มีลูกสาวชื่อว่า พระนางสีชมพู อาศัยอยู่ในดงทึบใหญ่ ดงนั้นเรียกตามชื่อของลูกพญาว่า “ดงสีชมพู” พระนางสีชมพูชอบมาเที่ยวดงสีชมพูเป็นประจำ บังเอิญมาพบรักกับบุรุษผู้หนึ่งซึ่งมีฤทธามากชื่อ ท้าวลินทอง สุดท้ายก็ลักลอบได้เสียกัน พอยักษ์กัลษารู้ก็เสียใจมากจะฆ่าท้าวลินทองให้ตาย ด้วยท้าวลินทองมีฤทธิ์มากพอถูกนางยักษ์ไล่จับก็แปลงกายให้เป็นรูปสัตว์ต่างๆ พอยักษ์ไล่มาถึงหนองน้ำแห่งหนึ่ง ท้าวลินทองก็กายร่างเป็นปลาเข็ง(ปลาหมอ) ยักษ์กัลษาก็คุ้ยเขี่ยหาปลาเข็งทองเพื่อฆ่าให้ตาย กวนน้ำหาปลาจนหนองขุ่นข้น ในที่สุดก็หาเจอ หนองนั้น เรียกว่า “หนองยอง” อยู่ใกล้ๆ “หนอง(ปา)เข็ง” พอยักษ์กำลังจะจับปลาเข็งได้ ปลาเข็งก็แปลงกายเป็นม้าวิ่งเร็วสุดเพื่อหนียักษ์กัลษา พอวิ่งมาถึงหนองน้ำบ้านท่าไคร้ ม้าเหนื่อยมากจึงวิ่งสามขา หนองน้ำจึงเรียกว่า “หนองสามขา” ยักษ์ก็วิ่งตามจนมาถึงหนองน้ำอีกแห่ง ม้าก็เหนื่อยมากจนวิ่งไม่ตรง(ตะแคงหรือเหงียง) หนองน้ำนี้จึงชื่อว่า “หนองเงี่ยง” ม้าหนีสุดกำลังเลยจะวิ่งข้ามไปฝั่งลาว ยักษ์กัลษาจึงเนรมิตบึงขึ้นมากานม้าไว้ทันที กลายเป็น “บึงกาน” (กาน ในภาษาลาวและอีสาน คือ กั้น) เมื่อม้าเห็นบึงกั้นอยู่ก็วิ่งหนีวนไปทางอื่น บังเอิญอานม้าหลุดที่บ่อเกลือแห่งหนึ่งจึงเรียกว่า “บ่ออาน” และด้วยความอ่อนเพลีย ม้าลินทองก็หนีไม่พ้นน้ำมือนางยักษ์ ถูกฆ่าตายในที่สุด ดังมีศาลม้าตายที่บ่ออาน (ปัจจุบันน้ำท่วมแล้ว) ท้าวสกเทวราชเห็นว่า นางยักษ์โหดเหี้ยมผิดธรรมชาติฆ่าได้แม้ผู้มีฤทธา จึงสาบให้กลายเป็นหินสถิตอยู่ที่ภูหอภูโฮงตั้งแต่บัดนั้น ครั้งใดที่มองออกไปแม่น้ำโขงก็จะเหมือนเห็นยักษ์นอนอยู่”

บึงกาฬ ก่อนการพัฒนารอบบึง ตอนนี้มีที่วิ่งออกกำลังกายยามเย็น ถัดจากโบสถ์ที่เห็นไป จะเป็นแม่น้ำโขงและเห็นภูเขาฝั่งลาวไกลลิบตา

สภาพบ้านเมืองบึงกาฬในอดีต

จากลักษณะภูมิประเทศในอดีตของบ้านบึงกาฬหรือตัวเมืองบึงกาฬ ชาวบ้านส่วนใหญ่จะสร้างบ้านเรือนไปตามขอบฝั่งของแม่น้ำโขงซึ่งมีหมู่บ้านไม่มากนักและเป็นป่าเปลี่ยวโดยมาก เมืองบึงกาฬแต่เดิมประมาณหกสิบเจ็ดสิบปีก่อนมีสภาพตามคำบอกเล่าคือ เป็นกลุ่มบ้านเหนือ บ้านกลาง บ้านใต้ บ้านนาโนน จะอยู่เลาะหรือเรียบฝั่งไปตามสายแม่น้ำโขง เพราะน้ำไม่ท่วมถึงบ้าน อีกทั้งน้ำโขงยังไหลไม่เร็วเท่านี้ จึงได้พากันอาศัยอยู่และขายของริมฝั่งโขง โดยริมฝั่งจะเป็นดอนเป็นหาดยาวออกไป เวลาทำนาก็อาศัยน้ำจากกุดทิงที่ท่วมมาถึงบ้านนาโนน ส่วนอีกฝั่งหนึ่งทางทิศใต้ของหมู่บ้าน เป็นพื้นที่ลุ่มมีซากตะกอนทับถม หรือ “ขี้สนม” มีวัชพืชขึ้นเป็นดง ซึ่งหน้าน้ำหลากน้ำจากกุดทิงมักไหลเข้าท่วมก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง แต่โชคดีที่ “บึงกาน” นั้น ทำหน้าที่เป็นด่านป้องกันโดยการรองรับน้ำจากกุดทิงไว้ไม่ให้เข้าท่วมเมือง การเลือกทำเลที่ตั้งบ้านเรือนในพื้นที่ที่ปลอดภัย จึงทำให้คิดไปถึงกลุ่มผู้ตั้งบ้านกลุ่มแรกๆ ซึ่งนับถือปู่ตาที่ดอนหอกุดทิงเป็นผู้เลือกสรรเอาไว้ให้แก่ลูกหลานได้อยู่อาศัย

ประวัติศาสตร์ บึงกาฬ ที่มาชื่อ ความหมาย
จินตนาการ บึงกาน สมัยแรกตั้งชุมชน
ประวัติศาสตร์ บึงกาฬ ที่มา ความหมาย
ริมโขงในอดีต (ร.ศ.125)
ประวัติศาสตร์ บึงกาฬ ที่มา ความหมาย
ริมฝั่งโขง จุดหนึ่งของบึงกาฬ (ภาพถ่ายเมื่อปี พ.ศ.2555)

เมื่อคราว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จประพาส “บึงกาน”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังทรงเคยบันทึกถึงลักษณะของหมู่บ้านนี้ไว้ว่า

“…วันที่ 8 มกราคม เวลาย่ำรุ่ง 45 นาที ไปดูหมู่บ้านบึงกาฬและวัด หลังบ้านออกไปถึงบึงกาฬ ราษฎรได้อาศัยใช้น้ำทุกฤดู ราษฎรพากันมาส่งที่ริมตลิ่งเป็นอันมาก เวลาเช้าโมงหนึ่งกับ 45 นาที ออกเรือล่องต่อไป ถึงปากน้ำซันเห็นเขางู ผ่านดอนกำแพงเวลาเช้า 3 โมง 10 นาที…” (หมายเหตุ บึงกาฬ ใช้ตามหนังสือที่พิมพ์ในปัจจุบัน)

ซึ่งเอกสารการเดินทางล่องเรือตรวจราชการหัวเมืองตาม “แม่น้ำโขง” หรือ “น้ำของ” ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในที่สุดก็ได้กลายมาเป็นหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งที่บ่งชี้ว่า “บึงกาน” คือชื่อเดิมอย่างเป็นทางการ ก่อนการเปลี่ยนแปลงความหมายดังปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับตำนานท้าวลินทองและจากการเรียกขานนามภูมิประเทศของคนท้องถิ่น โดยเอกสารดังกล่าวคือ หนังสือราชการที่ออกจาก ศาลาว่าการมหาดไทย รัตนโกสินทรศก 125 เมื่อคราวที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปตรวจราชการมณฑลนครราชสีมาและมณฑลอุดรอีสาน หรือกว่าร้อยปีที่ผ่านมาที่ได้ปรากฏชื่อบ้านนามเมืองนี้แล้ว

ประวัติศาสตร์ บึงกาฬ ที่มา ความหมาย ประวัติศาสตร์ บึงกาฬ ที่มา ความหมาย ประวัติศาสตร์ บึงกาฬ ที่มา ความหมาย ประวัติศาสตร์ บึงกาฬ ที่มา ความหมาย

 

จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงตัวสะกด ได้กลายเป็นคำที่มีความหมายใหม่ และยังเกิดความเข้าใจในสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศในลักษณะต่างๆ อีกด้วย คุณูปการของการศึกษาเรื่องชื่อบ้านเมืองเดิมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจในเรื่องภูมิศาสตร์ ข้อจำกัดของพื้นที่ และแนวทางเพื่อการพัฒนาที่จะนำมาซึ่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนได้น้อยลง

ความเข้าใจพื้นฐานที่เกี่ยวกับลักษณะพื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติที่มาแต่เดิม สามารถช่วยในการคัดเลือกและนำเอาทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นประโยชน์และเคยมีอยู่นั้นกลับคืนมาในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถฟื้นฟูสิ่งต่างๆ เหล่านี้เพื่ออนาคตของเรา ครอบครัวเรา ลูกหลานเรา และบ้านเมืองของเราไปได้อย่างยั่งยืน.

………..

ผู้เขียน

สุทธวรรณ บีเวอ

เอกสารอ้างอิง

นิทาน ท้าวลินทอง สืบสานโดย ครูไพศาล รำเพยพล ครูเกษียณอายุราชการ จังหวัดบึงกาฬ

มูลนิธิ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล.  (2538).  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปตรวจราชการมณฑลนครราชสีมาและมณฑลอุดรอีสาน ร.ศ. 125 พ.ศ. 2449.  กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล.

วิทยานิพนธ์ การช่วงชิงความหมายในการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ กรณีศึกษา กุดทิง จังหวัดบึงกาฬ. (2555). สุทธวรรณ อินทรพาณิช. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

ภาพจินตนาการหมู่บ้านสร้างจากแผนที่บ้านทองสายและบ้านโนนต้อง จ.บึงกาฬ พิมพ์ที่กรมแผนที่ พ.ศ.2484 จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *