เที่ยวไปกับพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับโลก “กุดทิง” บึงกาฬ ตอนที่ 1 เก็บของเตรียมตัวเดินทาง

เที่ยวไปกับพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับโลก “กุดทิง” บึงกาฬ ตอนที่ 1 เก็บของเตรียมตัวเดินทาง

ล่องเรือพื้นที่ชุ่มน้ำโลกกุดทิง
ล่องเรือพื้นที่ชุ่มน้ำโลกกุดทิง

เที่ยวพื้นที่ชุ่มน้ำโลกดียังไง?

คิดว่าหลายคนก็คงไม่รู้ว่าจะไปเที่ยวอะไรในแหล่งน้ำที่เขาให้ความสำคัญถึงระดับโลกในด้านทรัพยากรธรรมชาติ หรือมีอะไรเที่ยวที่นี่บ้าง ไปยังไงดี เที่ยวยังไงดี ส่วนมากในโบชัวร์ก็ไม่ชี้แจงแถลงไข อ่านไปเราก็เห็นแค่รายชื่อปลากับนก แถมตอนไปเห็นนี่แทบจะมองไม่ทันว่ามันคือนกอะไรปลาอะไร ภูเขาสวยๆ หรือ กิจกรรมตกหมึกอย่างแถวทะเลก็หามีไม่ จะมีก็แต่นั่งเรือหางยาวๆ ติดเครื่องยนต์ ผ่านน้ำไปเรื่อยๆ และ เรื่อยๆ ถึงหอถึงดอนจอดเดิน.. จบ ไม่ทันไรก็คิดว่า..

ฉันมาทำอะไรที่นี่..

อาการนี้เป็นอาการแรกๆ ของคนที่มองเห็นความสวยงามของน้ำกับฟ้าอย่างเป็นปกติ เมื่อก่อนโน้นฉันเองก็ประสบกับการมาเที่ยวอะไร แบบนี้อยู่บ่อยๆ ช่วงหลังๆ ดีขึ้นเพราะทำกิจกรรมเกี่ยวกับศึกษาธรรมชาติกับเขาบ้าง นอกจากธรรมชาติแล้ว ยังสนุกไถลไปไกลถึงความอยากรู้เรื่องราวชีวิตของคนที่ใช้ธรรมชาติในพื้นที่ชุ่มน้ำโลกแห่งนี้กันเลยทีเดียว
พื้นที่ชุ่มน้ำโลกกุดทิง ถ้าจะถามว่าน่าจะมุ่งตรงมา “เบิ่ง” ไหม ( อีสานว่า เบิ่ง แปลว่า ดู) เหมือนๆ กับ Amazing Thailand ตอบเลยว่า “บ่!” (บ่ แปลว่า ไม่) ถามว่า แล้วมาเฮ็ดหยัง? (แล้วมาทำอะไร) นั่นสิ เป็นเหตุผลที่น่าค้นหา มันควรค่าแก่การมา “เบิ่ง” ยังไง เป็นระดับโลกได้นี่ อยู่ดีๆ ก็ได้มาเลย มันก็ไม่น่าจะใช่ เอาเป็นว่าที่ฉันอยากให้เธอมา “เบิ่ง” ก็ด้วยเหตุผลง่ายๆ เพราะคือ “อีสาน” และ “คนอีสาน” ยังไงเล่า อ้าว… มันมาเกี่ยวได้ไงกัน อีสานเป็นผืนดินกว้างใหญ่ที่แสนจะแห้งแล้งไม่ใช่หรือ คนอีสานก็คือคนที่อยู่ภาคอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็แค่นั้นไม่ใช่รึ มาฉันจะเล่าเธอให้ฟัง แต่ก่อนอื่น สะพายเป้ย่างเท้าขึ้นพาหนะมาบึงกาฬกันก่อน แล้วฉันจะเผยให้เห็นบางอย่างที่แสนยิ่งใหญ่ไปพร้อมๆ กัน

นกเป็ดน้ำ นกอพยพ
นกเป็ดน้ำ นกอพยพ
ยามอาทิตย์อัสดง กุดทิง
ยามอาทิตย์อัสดง กุดทิง

สิ่งที่ต้องเตรียมไป

 เสื้อผ้าหน้าผม ตามสบาย แต่ต้องเอาที่เซฟๆ ลอยน้ำได้ไว้หน่อย ไม่ใส่ยีนส์เพราะเปียกแล้วจะหนัก รองเท้าแตะหรือรองเท้าผ้าใบ กางเกงผ้าเบาๆ เย็นๆ เสื้อแขนยาวกันแดด แว่นตากันแดด หมวก ร่ม อะไรก็ได้ที่กันแดด ใส่เข้าไป
 กล้องส่องทางไกล หรือ กล้องถ่ายรูปที่มีเลนส์ไกลๆ ใครอยากดูนกหายากอย่าลืม นกขี้อายมาก ร่อนน้ำหนีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะนกเป็ดน้ำพันๆ ตัว และนกอพยพต่างๆ ในช่วงเดือนธันวาคมถึงก่อนฤดูฝนมาเยือน
 สมุดโน้ตอาร์ตๆ อย่าลืมปากกาล่ะ ไว้บันทึกเรื่องราวจากคนขับเรือ กลับมาจะได้มีอะไรเล่าอวดใครได้แบบเป็นฉากๆ
 พกเพื่อนไปด้วย เพราะกิจกรรมล่องเรือขณะนี้ ผู้หญิงไม่เหมาะไปคนเดียว อันว่าผ่านไร่ยางพาราและกลางน้ำที่เวิ้งว้างอาจหวิวๆ ส่วนผู้ชายฉันไม่ห่วงแค่ว่ายน้ำเป็นก็พอ ถ้าเขาเริ่มพัฒนาที่เที่ยวอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อไหร่ คงจะได้อัพเดทกันอีกที

..ไปยังไง?

หลายคนบอกว่า แล้วจะไปที่นี่ยังไง ตอบว่าไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแต่ต้องศึกษาหาลู่ทางซักหน่อย เหตุเพราะเพิ่งจะพัฒนาความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว
จะบอกว่า บขส.ใหม่ บึงกาฬ ที่เพิ่งสร้างเสร็จห่างจากเมืองประมาณหนึ่งกิโลเมตร มันมีแบบว่าเครื่องปรับอากาศ(แม่เจ้าโว้ย) มีกล้องวงจรปิด มีทีวีขึ้นจอว่ารถออกกี่โมงเข้าช่องไหนเหมือนรอเครื่องบิน ห้องน้ำก็สะอาด สะดวกสบาย มีไอศกรีมกินเป็นระยะๆ ตอนรอรถ กินกันให้จุก เพราะมีร้านขายของแค่ร้านเดียว ส่วนข้างๆ กันมีร้านขายของที่ระลึกอีกร้าน ถ้ารถยังไม่ออก ก็วนๆ ดูของฝากกันไป มีผลิตภัณฑ์ชุมชนอยู่บ้างหลายๆ อย่าง ทั้งผ้าพื้นเมืองทั้งตะกร้าสาน อาศัยดูของฝากกับวนกินขนมไป ก็ไม่ค่อยเหงาเวลารอรถ ส่วนข้าวต้องเดินไปกินห้าง ห่างกันแค่อีกห้าร้อยเมตรเอง ดังนั้นถ้าใกล้เวลาหิว ควรจะกินในเมืองก่อนค่อยออกมา

สถานขนส่งบึงกาฬ
สถานีขนส่งบึงกาฬ
บริษัทรถประจำทางต่างๆ
บริษัทรถประจำทางต่างๆ

“ขาเข้า” บึงกาฬ แล้วแต่สะดวก ถ้าขึ้นเครื่องบินจากกรุงเทพฯ หรือ เชียงใหม่มาลงอุดรธานี ให้ขึ้นแท็กซี่จากสนามบินมาต่อรถตู้ที่หน้าห้างเซ็นทรัล (ห่างจากสนามบินประมาณ 15 นาที) รถตู้อุดรธานี-บึงกาฬ จะออกจากหน้าห้างเซ็นทรัลทุกๆ ครึ่งชั่วโมง ถ้าให้ดีให้ขึ้นรถไม่เกินบ่ายโมงเพื่อมาถึงบึงกาฬก่อนค่ำ เพราะจากอุดรธานีถึงบึงกาฬใช้เวลาประมาณสามถึงสี่ชั่วโมง ส่วนใครอยากใช้รถบัส ถ้าออกจากอุดรธานีให้ไปที่ บขส.เก่า ใกล้เซ็นทรัล หรือ บขส.ใหม่นอกเมือง (รถบัสจากที่ต่างๆ จะมาจอดที่ บขส.เก่า ยกเว้นรถจากภาคเหนือจะจอดที่ บขส.ใหม่ หรือ สถานีขนส่งแห่งที่ 2) แต่รถบัสมีน้อย แค่วันละสองเที่ยว เช้า-บ่าย สาย 224 กับ 225 วิ่งไปยาวๆ บางครั้งก็ยาวเกินถึงหกเจ็ดชั่วโมงเลยทีเดียว ต้องเช็ครายวันว่ามีวิ่งไหม สายที่เข้าบขส.ใหม่จะผ่านไปทางหนองคาย ส่วนที่เริ่มจาก บขส.เก่า จะผ่านทาง อ.พังโคน สกลนคร เข้าเส้นบ้านแพง เลาะริมโขงไป นั่งดูวิวไปเรื่อยๆ เมื่อยก็ช่างมันเถอะ เพราะบางครั้งรถบัสที่น่ารักก็วิ่งหกสิบกิโลเมตรต่อชั่วโมง

รถบัส อุดรธานี-บึงกาฬ
รถบัส อุดรธานี-บึงกาฬ
รถประจำทาง บึงกาฬ
รถประจำทาง บึงกาฬ

ถ้าใช้รถไฟด่วนพิเศษ CNR วิ่งจากหัวลำโพงไปบึงกาฬ อะไรนะ! มีรถไฟด้วย มี.. แต่เธอจะต้องไปลงที่ “สถานีหนองคาย” แล้วต่อตุ๊กตุ๊กมาขึ้นรถบัสที่สถานีขนส่งห่างไปอีกซัก 20 นาที บัสจะมีวันละสองเที่ยวก็คือรถที่มาจากอุดรธานีนั่นเอง ต้องเช็คแต่ละวันและเวลาเขาวิ่งหรือไม่ ก็มีบ้างเหมือนกันที่ไปเจอว่าบัสโดนเหมาไปรับงานกฐิน แต่ถ้ารถบัสไม่มีไม่ต้องตกใจ พักหนองคายก่อนได้ เพราะมีที่เที่ยวเยอะเหมือนกัน ทั้งตลาดท่าเสด็จ ไปแวะกินอาหารเวียดนาม ไปศาลาแก้วกู่ไปดูงานปั้นแสนมหัศจรรย์กว่าสองพันชิ้น ไปกราบขอพรหลวงพ่อพระใสศักดิ์สิทธิ์และดูภาพจิตรกรรมฝาผนังอลังการที่วัดโพธิ์ชัย หรือถ้าไปถึงวันเสาร์ก็จะมีถนนคนเดินริมโขงตอนเย็นๆ ดีมาก เพราะได้ทั้งเดินชมตลาดและชมพระอาทิตย์ตกวิวสะพานมิตรภาพ แต่ถ้าอยากไปบึงกาฬเร็วๆ ก็ไปได้ เพราะรถตู้มีออกทุกๆ 20 นาที รถตู้หมดประมาณห้าโมงเย็น รถวิ่งสองชั่วโมงถึงบึงกาฬ ก็สามารถไปกินข้าววิวออกกำลังกายที่ชายโขงบึงกาฬได้เหมือนกัน

รถไฟด่วนพิเศษ CNR
รถไฟด่วนพิเศษ CNR
วิวนั่งเรือแม่น้ำโขงชมพระอาทิตย์ตก สะพานมิตรภาพไทย-ลาว หนองคาย
นั่งเรือชมแม่น้ำโขง
พระอาทิตย์ตก สะพานมิตรภาพไทย-ลาว หนองคาย
ริมโขงเมืองบึงกาฬ
ริมโขงเมืองบึงกาฬ

ถ้าหากมาจากกรุงเทพฯ โดยรถบัส จะมีเส้นทาง กรุงเทพฯ-บึงกาฬ ขากลับก็เป็นธรรมดาที่ต้องมี บึงกาฬ-กรุงเทพฯ มีหลายบริษัททั้ง 999 ชาญทัวร์ 407 ฯลฯ เลือกได้ตามความพอใจ ส่วน “ขาออก” ถ้ารถไปกรุงเทพฯ จะมีบางสายที่จอดให้ลงระหว่างทางในราคาถึงสถานีนั้นๆ แต่บางสายอาจต้องจ่ายตั๋วซื้อที่นั่งเต็มราคาไปกรุงเทพฯ ถ้าจะไปเที่ยวที่ไหนต่อระหว่างทางอย่าลืมถามพนักงานช่องขายตั๋วของแต่ละบริษัท
ถึงบึงกาฬแล้ว รถสาธารณะที่สะดวกสุดคือ “ตุ๊กตุ๊ก” ที่สถานีขนส่งเขาจะจอดด้านข้างบริเวณที่จอดรถ และอีกที่ที่มีตุ๊กตุ๊กจอดเยอะคือในเมือง บริเวณตลาดสดบึงกาฬ ฝั่งตรงข้ามกับ 7-11 ที่มีเพียงแห่งเดียวของเมือง ให้ขอใจแลกเบอร์โทรกับลุงตุ๊กตุ๊กไว้กันเหนียว เพราะเธอจะเที่ยวได้ตั้งแต่ วัดฮาฮง บ้านโนนสมบูรณ์ ริมโขง พื้นที่ชุ่มน้ำโลกกุดทิง ฯลฯ หรือจะไปนั่งชิมหมูจุ่มข้างริมโขง หรือ ตัวปลิวในห้าง ลุงตุ๊กตุ๊กก็พาไปได้ในราคาไม่แพง เพียงแต่เหล่าคุณลุงนั้นมีน้อยแถมกลางคืนหลังทุ่มสองทุ่มนี่ แกไม่ขับ ขอกลับบ้านกินข้าวกับเมียดีกว่า นั่นเป็นเหตุผลที่ทำไมฉันอยากให้เธอไปถึงบึงกาฬก่อนค่ำ และพักในตัวเมือง…

ตุ๊กตุ๊กบึงกาฬ
ตุ๊กตุ๊กบึงกาฬ
อัตราค่าโดยสารวินตุ๊กตุ๊กบึงกาฬ
อัตราค่าโดยสารวินตุ๊กตุ๊กบึงกาฬ ขึ้นจากสถานีขนส่งบึงกาฬไปยังที่ต่างๆ ส่วนเหมาไปที่อื่นก็แล้วแต่ตกลงกัน

การเดินทางไปพื้นที่ชุ่มน้ำโลกกุดทิง โชคดีขึ้นทะเบียนไม่ทันไรก็ได้อยู่ในจังหวัดใหม่แล้ว โชคดีไปอีกชั้นก็คือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลกที่อยู่ใกล้ตัวเมืองมาก ห่างกันแค่ห้ากิโลเมตรไปจนถึงสิบห้ากิโลเมตรตามความยาวในการหาที่ลงไปดูกุด สามารถปั่นจักรยานหรือจะหาเช่ามอเตอร์ไซด์ก็ได้ (ซึ่งคิดว่าต่อไปก็คงจะมีร้านให้เช่า ต้องช่วยกันถามหาเช่ามอเตอร์ไซด์บ่อยๆ ธุรกิจจะได้เกิด) บางโรงแรมหรือที่พักจะมีจักรยานให้ยืม เช่น ราชาวดี เป็นต้น ราคาที่พักที่บึงกาฬและตำบลโนนสมบูรณ์ ราคา 450-600 บาท มีที่พักดีหลายแห่ง ถ้าพักหรูหราก็จะมีเพียงโรงแรมเดอะวัน อยู่ไม่ไกลจาก บขส.มากนัก และใกล้กับห้างเทสโก้โลตัส ส่วนรถสองแถว อย่าตามหาเลย เพราะคนบึงกาฬมีฐานะจากปลูกยางพาราช่วงราคาขึ้นกว่าสิบปีที่แล้วก็เลยพากันมีรถส่วนตัวกันไปหมด สองแถวจึงกลายเป็นตำนาน

ภาพแสดงนกหลายพันธุ์พื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง
ภาพแสดงนกหลายพันธุ์พื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลง พื้นที่ชุ่มน้ำอีกแห่งหนึ่งของบึงกาฬ

มาถึงถิ่นพื้นที่ชุ่มน้ำโลกกุดทิงแล้ว ไม่รู้จะไปทางไหน จะได้ลงกุด ฉันเคยลงเรือที่พื้นที่ชุ่มน้ำโลกกุดทิง อยู่สองจุดด้วยกัน คือ ฝั่งด้านดอนหอ(ดอนปู่ตา) ซึ่งมีถนนเล็กๆ เข้าไปได้ทั้งทางฝั่งถนนหนองคาย-บึงกาฬ หรือเข้าทาง ถนนบึงกาฬ-ศรีวิลัย ระหว่างทางไปกุดจะผ่านป่าต้นยางค่อนข้างเปลี่ยวมีบ้านของชาวบ้านเป็นระยะ ให้ถามเขาว่า พอจะมีใครพาล่องเรือดูธรรมชาติบ้างไหม ฉันใช้วิธีนี้ก็พอจะได้พี่ป้าน้าอาหาคนขับเรือได้อย่างรวดเร็ว เหตุเพราะยังไม่ได้เปิดเป็นที่ท่องเที่ยวที่เป็นทางการนัก จึงไม่มีการจัดระบบการลงเรือ ไม่มีชูชีพ ดังนั้นใครไปต้องว่ายน้ำให้เป็น จะเป็นท่าหมาตกน้ำก็ยังดี น้ำที่กุดมีตั้งแต่ลึกไม่มากจนถึงท่วมหัวแล้วท่วมหัวอีก อีกจุดหนึ่งที่พอจะลงเรือได้ก็คือฝั่งทางด้านบ้านโนนสมบูรณ์ เป็นทางไม่เปลี่ยวเลย พ้นจากบ้านชาวบ้านที่อยู่ริมถนนไป ก็จะไปถึงท่าน้ำที่มีเรือจอดราวห้าหกลำ มองหาคนหาปลาที่พอจะถามกันได้ว่ามีใครพาเที่ยวได้ไหม ซึ่งหากเขาไม่สะดวกก็อาจจะได้ไปเที่ยวในวันถัดไป ค่าเรือก็อยู่ที่เราตกลงกับคนขับเรือ รวมถึงเวลาที่อยากล่องเรือเที่ยวด้วย

ลงเรือที่ดอนหอกุดทิง
ลงเรือที่ดอนหอกุดทิง
จุดจอดเรือ บ้านโนนสมบูรณ์
จุดจอดเรือ บ้านโนนสมบูรณ์
จุดลงเรือ พื้นที่ชุ่มน้ำโลกกุดทิง
จุดลงเรือ พื้นที่ชุ่มน้ำโลกกุดทิง

จบการเดินทางมาถึงพื้นที่ชุ่มน้ำโลกกุดทิงเพียงเท่านี้ก่อน ตอนหน้า… ฉันจะพาเธอย้อนไปดูอดีตของพื้นที่ชุ่มน้ำโลกแห่งนี้

แล้วเธอจะหลงรักพื้นที่ชุ่มน้ำโลก เหมือนที่ฉันหลงรัก

อ่านต่อได้ใน ปลาแดก: ประวัติศาสตร์อีสานตอนบน เคล็ดลับและสูตรหมักปลาแดกโบราณ

โบชัวร์รับการท่องเที่ยว
โบชัวร์สนับสนุนการท่องเที่ยว มีหลายภาษาต้อนรับทุกคนที่มาเยือน

 

แสงเงาพื้นที่ชุ่มน้ำโลกกุดทิง
แสงเงาพื้นที่ชุ่มน้ำโลกกุดทิง

…………..

ผู้เขียน สุทธวรรณ บีเวอ

อีสานอินไซต์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *