เสมาหิน ณ พระธาตุยาคู อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
พระธาตุยาคู
(ข้อมูลตามป้ายที่ปรากฏในสถานที่)
พระธาตุยาคูเดิมเรียกว่า ธาตุใหญ่ เป็นสถูปเจดีย์ ในสมัยทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 13-15) มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในบรรดาโบราณสถานในเมืองฟ้าแดดสงยาง ยังคงปรากฏร่องรอยของฐานที่สร้างในสมัยแรก เป็นรูปฐานสี่เหลี่ยม เดิมมีลวดลายปูนปั้นประดับ ปัจจุบันหลุดออกหมดและได้นำไปจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.ขอนแก่น แผนผังของพระสถูปองค์เดิม เปรียบเทียบได้กับศาสนสถานแบบทวารดีที่พบทางภาคกลาง เช่นที่ อำเภออู่ทอง จ.สุพรรณบุรี และที่อำเภอคูบัว จ.ราชบุรี
รูปทรงขององค์เจดีย์ ได้ถูกก่อสร้างเปลี่ยนแปลงไปในสมัยหลังเป็นเจดีย์รูปแปดเหลี่ยม บนฐานสี่เหลี่ยมเดิม และกรมศิลปากรได้ทำการบูรณะครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2526 และครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.2539 ได้พบใบเสมาหินทรายหลายใบโดยรอบองค์พระธาตุ ยังปรากฏซากฐานเจดีย์ขนาดเล็ก ก่อด้วยอิฐอีกทั้งสิ้น 6 องค์ กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระธาตุยาคูเป็นโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 วันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2480 และประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 99 ตอนที่ 155 วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2525 พื้นที่ประมาณ 6 ไร่ 2 งาน
เมืองฟ้าแดดสงยาง
(ข้อมูลตามป้ายที่ปรากฏในสถานที่)
ฟ้าแดดสงยางหรือที่เรียกเพี้ยนเป็น ฟ้าแดดสูงยาง บางแห่งเรียกว่า เมืองเสมา เนื่องจากแผนผังของเมือง มีรูปร่างคล้ายใบเสมา เป็นเมืองโบราณ ที่มีคันดินล้อมรอบ 2 ชั้น ความยาวของคันดินยาวโดยรอบประมาณ 5 กิโลเมตร คูน้ำจะอยู่ตรงกลางระหว่าง คันดินทั้งสอง
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ ทำให้ทราบว่ามีการอยู่อาศัยภายในเมืองมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และได้เจริญรุ่งเรืองมากขึ้นในสมัยทวารดีราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 ดังหลักฐานทางพุทธศาสนาที่ปรากฏโดยทั่วไปทั้งภายในและภายนอกเมือง เช่น ใบเสมาหินทรายจำหลักภาพเรื่องชาดกและพุทธประวัติจำนวนมาก บางส่วนเก็บไว้ที่วัดโพธิ์ชัยเสมาราม ซึ่งอยู่ภายในเมือง บางส่วนยังคงอยู่ในตำแหน่งที่ดั้งเดิมที่พบและบางส่วนก็นำไปเก็บรักษาและจัดแสดงที่พิธิภัณฑสถานแห่งชาติ จ.ขอนแก่น นอกจากนี้ยังมีซากศาสนาสถานกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปทั้งภายในและภายนอกเมือง เช่น พระธาตุยาคู และกลุ่มเจดีย์บริวาร ศาสนสถานที่โนนวัดสูง โนนฟ้าหยาด โนนฟ้าแดด เป็นต้น
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียน เมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นโบราณสถานของชาติ โดยประกาศเป็นราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 ตอน 34 วันที่ 27 กันยายน 2479
ภาพถ่ายสถานที่จาก Suttawan Bewer ( Isaninsight)
เมื่อวันที่ 20/2/2560