“ที่ราบสูงโคราช” แหล่งกำเนิดชีวิตของภาคอีสาน อธิบายพื้นที่ทางธรณีวิทยาโดยสังเขป

“ที่ราบสูงโคราช” แหล่งกำเนิดชีวิตของภาคอีสาน อธิบายพื้นที่ทางธรณีวิทยาโดยสังเขป

“ที่ราบสูงโคราช” เป็นมาอย่างไร

ข้อมูลจากสำนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กล่าวถึง ภาคอีสานตั้งอยู่บนที่ราบสูงที่เราเรียกกันว่า “ที่ราบสูงโคราช” ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะหลายแอ่งและยังมีภูเขาทั้งขนาดใหญ่ขนาดย่อมลูกโดดๆ อีกหลายลูก ตามทฤษฏีแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ หรือ Plate tectonic ทำให้สันนิษฐานว่าการเกิดทั้งภูเขาและแอ่งกระทะ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของแผ่นเปลือกโลก โดยภาคอีสานนั้นอยู่ในเขตแผ่นเปลือกโลกที่เราเรียกกันว่า “อินโดไชน่า” หรือ “อินโดจีน”

แผ่นเปลือกโลกอินโดจีน ที่ราบสูงโคราช พื้นที่ภาคอีสาน ภูมิศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่กายภาพภาคอีสาน
ภาพจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ลักษณะที่ราบสูงโคราช

ที่ราบสูงโคราช มีพื้นที่ครอบคลุมประมาณ 200,000 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคอีสานประมาณ 120,000 ตร.กม. และครอบคลุมถึงแขวงสะหวันนะเขตและเมืองปากเซ สปป.ลาว ประมาณ 80,000 ตร.กม.

ที่ราบสูงโคราชในภาคอีสาน มีลักษณะยกตัวเป็นที่ราบสูงเทลาดเอียงไปทางด้านทิศตะวันออกคือ แม่น้ำโขง ทำให้แม่น้ำในที่ราบสูงโคราชทุกสายไหลลงสู่แม่น้ำโขง ความสูงของที่ราบโดยเฉลี่ยประมาณ 100-250 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ที่ราบสูงก็ไม่ได้ราบเรียบตรงตามลักษณะของที่ราบสูง หรือ plateau เนื่องจากมีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นลูกคลื่นลอนลาด และมีแอ่งขนาดใหญ่ถึงสามแอ่งด้วยกันคือ แอ่งโคราช และแอ่งสกลนคร ซึ่งอยู่ในเขตภาคอีสาน และ แอ่งสุวรรณเขต (Savannakhet Basin)  อยู่ใน สปป.ลาว ทำให้เรียกที่ราบสูงแห่งนี้ว่า “แอ่งที่ราบสูงโคราช” (Khorat Plateau Basin)

แผ่นเปลือกโลกอินโดจีน ที่ราบสูงโคราช พื้นที่ภาคอีสาน ภูมิศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ขอบเขตของที่ราบสูงโคราชในไทยและลาว ที่มาของภาพจาก USGS Energy program

นอกจากแอ่งต่างๆ แล้ว เฉพาะที่ราบสูงโคราชในพื้นที่ภาคอีสาน ยังมีเทือกเขาสำคัญ คือบริเวณตอนกลางของภาคจะเป็นแนวเทือกเขาภูพาน กั้นระหว่างแอ่งสกลนครกับแอ่งโคราช ในขณะที่บริเวณชายขอบของที่ราบสูงโคราชจะยกตัวขึ้นเป็นแนวเทือกเขาล้อมรอบ ด้านทิศตะวันตก คือ เทือกเขาเพชรบูรณ์-เลย เทือกเขาดงพญาเย็น และเทือกเขาสันกำแพง กั้นภาคอีสานและภาคกลาง และมีแนวเทือกเขาพนมดงรัก กั้นระหว่างภาคอีสานกับกัมพูชา

การเกิดที่ราบสูงโคราช

ในภาคอีสาน เราพบว่ามีหินอายุเก่าแก่สุดในช่วงมหายุคพาลีโอโซอิค คือ ยุคคาร์บอนิเฟอรัส เมื่อ 360 ล้านปีก่อน และยุคทะเลเพอร์เมี่ยน เมื่อ 286-245 ล้านปีก่อน ก่อนการเคลื่อนตัวมาชนกันของอนุทวีป 2 แผ่นคือ อนุทวีปฉานไทย (ฝั่งตะวันตก) และอนุทวีปอินโดไชน่า (ฝั่งตะวันออก-ภาคอีสาน) (Indosinian Orogeny) เมื่อราว 245 ล้านปีที่แล้ว ทำให้เกิดการบีบอัดระหว่างสองแผ่นอนุทวีปจนทำให้ตะกอนทะเลยกตัวสูงขึ้นไปอยู่รวมกันในแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์-เลย พร้อมกับการแทรกดันของหินภูเขาไฟที่ทอดตัวเป็นแนวยาวตามขอบของที่ราบสูงโคราชในภาคอีสาน เวลาต่อมาเมื่อแรงบีบอัดจากกระบวนการดังกล่าวลดลง ก็ได้เกิดการคลายตัวของแผ่นทวีป ทำให้เกิดแอ่งสะสมตะกอนที่เรียกกันทางด้านธรณีวิทยาว่า “แอ่งโคราช” และเกิดมีการสะสม ตะกอนภาคพื้นทวีปสีแดง แผ่กระจายกว้างทั่วภาคอีสานตลอดช่วงมหายุคมีโซโซอิกตั้งแต่ปลายไทแอสซิกจนถึงยุคครีเทเชียส 66.5 ล้านปีก่อน เรียกตะกอนนี้ว่า Mesozoic Redbeds 

แผ่นเปลือกโลกอินโดจีน ที่ราบสูงโคราช พื้นที่ภาคอีสาน ภูมิศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทฤษฏีแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ และอายุสมัยของแผ่นเปลือกโลกที่ปรากฏในแพลทต่างๆ

และในช่วงประมาณ 70 ล้านปีก่อน ได้เกิดการชนกันของแผ่นทวีปอินเดียกับแผ่นทวีปยูโรเชีย (ยุโรป + เอเชีย) ตะกอนในแอ่งถูกแรงกระทำจากขบวนการกำเนิดเทือกเขาหิมาลัย (Himalayan Orogeny) จึงเกิดการยกตัวขึ้นสูงเป็น “ที่ราบสูงโคราช” และเกิดการยกตัวของแนวเทือกเขาภูพาน ในแนวตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นอิทธิพลของกระบวนการคดโค้ง (folding) เป็นรูปกระทะคว่ำ (anticline) และเกิดแอ่งโคราชกับแอ่งสกลนครเป็นรูปกระทะหงาย (Syncline) (กรมทรัพยากรธรณี, 2555)

ข้อสังเกตความสัมพันธ์ด้านธรณีวิทยากับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อีสาน

จากปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาดังกล่าว ทำให้ที่ราบสูงโคราชโดยเฉพาะภาคอีสานนั้น ประกอบไปด้วยภูเขาหินทรายเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่มีภูเขาหินปูนอยู่บริเวณจังหวัดเลย จังหวัดหนองบัวลำภู บางส่วนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เป็นต้น

แผ่นเปลือกโลกอินโดจีน ที่ราบสูงโคราช พื้นที่ภาคอีสาน ภูมิศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่กายภาพภาคอีสาน
ภูเขาหินทรายที่ภูทอก บึงกาฬ ตอนบนของภาคอีสาน
ภูเขาหินทรายที่อุทยานแห่งชาติน้ำพอง ขอนแก่น ตอนกลางของภาคอีสาน
แผ่นเปลือกโลกอินโดจีน ที่ราบสูงโคราช พื้นที่ภาคอีสาน ภูมิศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่กายภาพภาคอีสาน
ภูเขาหินทรายในอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ มุกดาหาร
แผ่นเปลือกโลกอินโดจีน ที่ราบสูงโคราช พื้นที่ภาคอีสาน ภูมิศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่กายภาพภาคอีสาน
ภูเขาหินปูน บริเวณสวนหินผางาม-ผาสวรรค์ จังหวัดเลย
แผ่นเปลือกโลกอินโดจีน ที่ราบสูงโคราช พื้นที่ภาคอีสาน ภูมิศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่กายภาพภาคอีสาน
ทรายละเอียดตามพื้นทางเดินบนภูเขาหินทราย น้ำตกเจ็ดสี บึงกาฬ

การที่ภาคอีสานมีภูเขาหินทรายอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีพของผู้คนบนที่ราบสูงโคราช โดยเมื่อภูเขาหินทรายเมื่อเกิดการกัดกร่อนทั้งจากแรงน้ำและแรงลมแล้ว ตะกอนทรายได้ถูกพัดพาเข้าครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งภาคอีสาน การสะสมของตะกอนทราย จึงเป็นข้อสังเกตถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ที่พยายามออกแบบและประยุกต์ใช้ประโยชน์ เพื่อการเข้าถึงการใช้ทรัพยากรในการหาอยู่หากิน โดยเฉพาะในยุคที่มนุษย์เริ่มต้นทำการเพาะปลูก ภายใต้ข้อจำกัดของความอุดมสมบูรณ์ของที่ราบสูงโคราช คือมีดินทรายปะปนมาก ทำให้ผืนดินอุ้มน้ำน้อย ขาดแร่ธาตุ อีกทั้งบางพื้นที่ยังประสบปัญหาดินมีความเค็มสูง (เกิดจากการซึมหรือการแพร่ขึ้นมาบนผิวดินของเกลือในหน้าแล้งที่มาจากชั้นเกลือหินใต้ดิน ซึ่งเกลือหินนี้เกิดการสะสมจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่กายภาพของแผ่นเปลือกโลก กระทั่งมีน้ำทะเลไหลเข้ามาในแอ่งโคราช และสะสมทับถมกันหลายร้อยล้านปี) นอกจากนี้ยังมีฤดูกาลที่ผันผวน ฝนช้าบ้าง มาเร็วบ้าง แม้ว่าจะมีแม่น้ำสายใหญ่ อย่างเช่น แอ่งโคราช มีแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี แอ่งสกลนคร มีแม่น้ำสงคราม เป็นต้น ทั้งยังมีกุด ห้วย หนอง ที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำสายหลักอยู่มากมาย แต่บางครั้งเมื่อแล้ง น้ำก็แห้งเหือดหายไป หากปีไหนแล้งก็จะแล้งนานต่อเนื่องกันไปหลายปี จนมีคำกล่าวเปรียบเทียบความทุกข์ยากในความรู้สึกของผู้คนว่า “แล้งเจ็ดปีเจ็ดเดือน” หรือแม้หากมีฝนตกชุกก็ไม่อาจจะอุ้มน้ำไว้ได้นาน

นอกจากนี้ถัดจากชั้นดิน บางพื้นที่มีหินอยู่มาก ขุดไปก็มักจะเจอหิน บางที่เป็นหินทรายด้านล่าง ขณะที่บางที่ก็เป็นหินตะกอนจำพวกหินศิลาแลง หรือ หินแม่รัง โดยสังเกตได้จากไม้ยืนต้นที่ขึ้นอยู่เป็นระยะห่างๆ กัน ซึ่งชั้นหินตะกอนนี้ได้มีบทบาทช่วยเก็บความชื้นของชั้นใต้ดินเอาไว้อย่างมาก

แผ่นเปลือกโลกอินโดจีน ที่ราบสูงโคราช พื้นที่ภาคอีสาน ภูมิศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่กายภาพภาคอีสาน
ดินที่ปะปนทรายเป็นจำนวนมาก ทำให้ดินที่ดอนหรือโคกในอีสานตอนกลางแห้งแล้ง ชาวบ้านจึงหันไปปลูกพืชจำพวกมันสำปะหลังซึ่งอาศัยน้ำน้อยแทน
แผ่นเปลือกโลกอินโดจีน ที่ราบสูงโคราช พื้นที่ภาคอีสาน ภูมิศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่กายภาพภาคอีสาน
การทำนาในที่ลุ่ม มักให้ผลดี เพราะได้ตะกอนสะสมจากลุ่มน้ำ โดยมากมักอยู่ในอีสานใต้ เขตลุ่มแม่น้ำมูล

ความพยายามในเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากที่ราบสูงโคราช เพื่อการหาอยู่หากิน

ในที่ราบสูงโคราชนั้น ยังมีความหลากหลายของพื้นที่ทางกายภาพ ซึ่งอาจไม่ใช่เผชิญปัญหาด้านความแห้งแล้งเพียงอย่างเดียว น้ำท่วมก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งโดยเฉพาะพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำ ดังนั้นความพยายามของคนโบราณในการแก้ไขปัญหาการจัดการพื้นที่ราบสูงโคราชคาดว่ามีมาตั้งแต่เริ่มการเพาะปลูกพืชแล้ว ซึ่งอาจใช้ทั้งการสังเกตธรรมชาติผนวกกับความเชื่อหรือคตินิยมในช่วงเวลานั้นๆ มาใช้ในการจัดการพื้นที่ เพื่อที่จะเข้าถึงการใช้ประโยชน์ได้ เช่น ในวัฒนธรรมทวารวดีอีสาน มีการขุดคูน้ำทำคันดินรอบชุมชนเพื่อการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ วัฒนธรรมขอมขุดทำบาราย ซึ่งอาจใช้เพื่อควบคุมและจัดการน้ำในการเกษตรหรือใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง เป็นต้น ในขณะที่ยุคปัจจุบันเองก็มีการแก้ไขพื้นที่ที่ราบสูงโคราชให้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น โดยการจัดทำแหล่งชลประทานทั้งขุดสระ ทำฝาย ทำเขื่อน แก้ปัญหาดินเค็ม ซึ่งปรากฏการแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่เห็นอย่างเด่นชัดสามารถศึกษาได้ในโครงการพระราชดำริต่างๆ ทำให้ที่ราบสูงโคราชมีความอุดมสมบูรณ์และสามารถเพาะปลูกได้เพิ่มมากขึ้นดังเช่นที่เห็นได้ในปัจจุบัน

สภาพวัวควาย เผยให้เห็นการขาดแคลนอาหารในช่วงฤดูแล้งในพื้นที่แบบดั้งเดิมของที่ราบสูงโคราช อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี (ภาพ 17 มีนาคม 2562)
แผ่นเปลือกโลกอินโดจีน ที่ราบสูงโคราช พื้นที่ภาคอีสาน ภูมิศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่กายภาพภาคอีสาน
การจัดการพื้นที่ในที่ราบสูงโคราชเพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภคในทุกฤดูกาล ยุควัฒนธรรมทวารวดีอีสาน บ้านคอนสวรรค์ ชัยภูมิ
แผ่นเปลือกโลกอินโดจีน ที่ราบสูงโคราช พื้นที่ภาคอีสาน ภูมิศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่กายภาพภาคอีสาน
การจัดการพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตรของวัฒนธรรมขอมโบราณ-บาราย ปราสาทหินเมืองต่ำ บุรีรัมย์
แผ่นเปลือกโลกอินโดจีน ที่ราบสูงโคราช พื้นที่ภาคอีสาน ภูมิศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่กายภาพภาคอีสาน
ความอุดมสมบูรณ์ของต้นข้าวที่อาศัยระบบชลประทาน ภาพวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ขอนแก่น

อย่างไรก็ตาม ยังมีพื้นที่การเกษตรอีกมาก ที่ยังไม่มีการชลประทานเข้าถึง ทำให้เรามองเห็นและเข้าใจพื้นที่ที่ราบสูงโคราชในลักษณะที่มีมาแต่ดั้งเดิมได้ โดยผู้อาศัยอยู่และทำการเกษตรเพื่อการยังชีพต้องเพาะปลูกโดยอาศัยฝนตามธรรมชาติ ภายใต้ลักษณะภูมิอากาศที่ผันผวนตามฤดูกาล ซึ่งมีฝนมาช้าบ้าง เร็วบ้าง การควบคุมปริมาณน้ำในการเพาะปลูกในพื้นที่ดินปนทราย จึงเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะการปลูกข้าวซึ่งเป็นพืชอาหารหลัก การหาอยู่หากินของผู้คนในพื้นที่ที่ราบสูงโคราช จึงมีการปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงตาม เพื่อการเอาตัวรอด

สำหรับการเอาตัวรอดในยุคนี้ ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2561 พื้นที่ภาคอีสานตอนกลางแห้งแล้งมาก มีฝนตกน้อย ผืนดินแห้ง หลายหมู่บ้านข้าวยืนต้นตาย ชาวบ้านต้องเกี่ยวข้าวที่กำลังยืนต้นตายไปให้วัวควายกินแทน ชาวบ้านครัวเรือนหนึ่งเล่าว่า พอจะยังมีข้าวเก่าจากปีก่อนทดแทนข้าวปีนี้ไปได้อีกเพียงครึ่งปี ส่วนครึ่งปีหลังเมื่อไม่ได้ข้าวก็จำเป็นจะต้องซื้อข้าวกิน ในขณะที่ปี 2562 สถานการณ์ความแห้งแล้งมากกว่าปี 2561 ชาวนาส่วนหนึ่ง เช่น ทางหมู่บ้านแถวปราสาทหินพนมรุ้งและปราสาทหินเมืองต่ำ เมื่อมีน้ำในการเพาะปลูกข้าวไม่พอ เพื่อที่จะชะลอการตายของต้นข้าว ชาวนาจึงตัดใบข้าวทิ้งทั้งแปลงเพื่อให้แตกยอดใหม่เมื่อได้น้ำในภายหลัง ซึ่งต้องสอดคล้องกับการติดตามสภาพภูมิอากาศว่าจะมีฝนเข้ามาหรือไม่ เพราะถ้าตัดเลยโดยที่ไม่มีน้ำ ข้าวก็จะตาย ส่วนชาวนาทางอีสานตอนกลาง ส่วนหนึ่งตัดสินใจไม่ทำอะไร เพราะหญ้าขึ้นแซงข้าวเป็นจำนวนมาก บางนาก็ถูกปล่อยทิ้งร้างเพราะน้ำไม่เพียงพอ

นาข้าว ปลูกข้าว บุรีรัมย์ นาหว่าน
ชาวนา ระหว่างทางไปปราสาทเมืองต่ำ เมื่อฝนไม่มาซักที ไม่มีน้ำ จึงตัดสินใจตัดใบของข้าวทิ้ง เพื่อรอน้ำฝนให้แตกใหม่ ซึ่งก็น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดี เพราะวันถัดมา ก็เริ่มมีอิทธิพลพายุเข้า นำฝนเล็กๆ มาโปรยปรายทั่วถึงกัน (ภาพ ปลายเดือนสิงหาคม 2562)

บทความโดย:

สุทธวรรณ บีเวอ

อ้างอิง:

ธรณีวิทยาภาคอีสาน: อธิบายธรณีวิทยาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะกลไกการคดโค้ง(folding) ของแอ่งโคราชกับแอ่งสกลนคร ที่มา: https://home.kku.ac.th/peangta/structure-ques-q18-Khorat.pdf

รายงานวิชาการอนุรักษ์ธรณีวิทยา 1/2555 เรื่อง การสำรวจและประเมินแหล่งธรณีวิทยา จังหวัดขอนแก่น โดย สำนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี

https://www.researchgate.net/figure/Tectonic-subdivision-of-Thailand-and-adjacent-regions-of-Sundaland-showing-the-principal_fig5_259330670

Mid-Cretaceous inversion in the Northern Khorat Plateau of Lao PDR and Thailand, 2016, Download form http://sp.lyellcollection.org

USGS Energy Program

ผังเมืองในประเทศไทย: ผังชุมชนและการใช้ที่ดินสายอารยธรรมเขมรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย  ดร.ธาดา สุทธิธรรม ปี 2544

การเดินทางอีสานเอ็กซ์พลอเรอ Isan Explorer

เพิ่มเติม:

*การซึมหรือการแพร่ขึ้นมาบนผิวดินของเกลือ ศึกษาต่อในเรื่องของ หลักการของโครมาโทกราฟี Chromatography การแยกสาร

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *