ภาพสัตว์ในสิมอีสาน วัดยางทวงวราราม(วัดบ้านยาง) มหาสารคาม

ภาพสัตว์ในสิมอีสาน วัดยางทวงวราราม(วัดบ้านยาง) มหาสารคาม

วัดยางทวงวราราม หรือ วัดบ้านยาง อ.บรบือ มหาสารคาม ผู้เขียนสนใจนำเสนอในส่วนของภาพวาด “สัตว์ในสิม” ซึ่งน่าสนใจมาก ถือว่าเป็นวัดหนึ่งที่มีสิมมีภาพสัตว์ป่าในธรรมชาติรอบตัวในขณะนั้นของหมู่บ้านได้อย่างละเอียดกระทั่งสายพันธุ์สัตว์ ทั้ง เก้ง กวาง เสือ ค้างคาว หมูป่า นก ฯลฯ โดยเฉพาะนก ไม่ว่าจะเป็น แซงแซวหางบ่วง นกกระปูด เหยี่ยว นกฮูก เป็นต้น ทำให้มองเห็นว่าช่างภาพเป็นผู้ที่มีความละเอียด รัก และสังเกตธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเป็นอย่างมาก แต่ก็มีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ค่อนข้างชัดเจนในเรื่องภาพสัตว์ตามธรรมชาติที่นกบางชนิดก็ชอบหากินตัวเดียว อยู่เป็นคู่ หรืออยู่เป็นกลุ่ม โดยช่างชอบที่จะเขียนภาพนกคู่ หันปากเข้าหากัน ทั้งยังวาดบริเวณที่นกชอบเกาะเช่นหางหงส์ของบ้าน หรือตามต้นไม้ใหญ่ โดยวาดตัวใหญ่เกินปกติให้สังเกตเห็นชัดเจนไปเลย แต่กลับกัน สัตว์อื่นๆ ไม่ได้วาดให้โดดเด่นเท่านก เป็นอันว่าช่างน่าจะชอบนกเป็นพิเศษ ส่วนในด้านลายเส้นที่วาดไม่เหมือนใครมีเอกลักษณ์โดดเด่นของช่างท้องถิ่นเป็นอย่างมาก และไม่ใช่เพียงภาพสัตว์ที่หยิบยกขึ้นมาให้เห็นเท่านั้น ยังมีภาพเรื่องเล่าต่างๆ ทั้งพุทธประวัติ พุทธชาดก นิทานหมู่บ้าน ประเพณีและพิธีกรรมโบราณ โดยเฉพาะพุทธประวัติ ตอน พระพุทธเจ้าทรงรับบิณฑบาตครั้งสุดท้าย ที่ไม่พบเห็นง่ายในจิตรกรรมฝาผนังของภาคอีสาน และ นางอรพิมในเรื่องท้าวปาจิตนางอรพิมฉบับหมู่บ้าน ที่วาดสวยงามตัวใหญ่กว่าทุกๆ คนที่ปรากฏบนสิมอีกด้วย

(โปรดคลิ๊กที่ภาพ เพื่อขยาย)

 

สิมนี้ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยกับคุณลุงอายุประมาณ 50 กว่า ทำร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่หมู่บ้านถัดไปทางกู่บัวมาศ เล่าว่าเห็นมาตั้งแต่เกิดตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ฝีมือเป็นของคนบ้านแดง มาวาดให้บ้านยางทวง พ่อลุงบางทีก็ไปบรรยายเวลามีคนมา

ข้อมูลจาก กรมศิลป์ กล่าวถึงว่า สิมมีมาตั้งแต่ก่อนปี 2464 เพราะปีดังกล่าวนี้เป็นปีซ่อมแซม โดยทุบผนังสิมเก่าลงหมด แล้วก่อใหม่ถมทราย เทปูนทับ เสร็จทาด้วยน้ำปูนขาวแล้วเขียนรูป โดยมีช่างเขียนคือ ช่างหน่ายเป็นผู้ร่างภาพ ลูกมือเขียนสีคือ หลวงพ่อผุย ครูก่อง อาจารย์หลง อาจารย์หื่น กระบวนการคือช่างหน่ายร่างบนกระดาษก่อน และแปะปรุเส้นลงบนผนัง แล้วเขียนภาพใช้สีน้ำมัน จัดองค์ประกอบใช้เส้นดำแบ่งกลุ่มภาพออกเป็นตอนแต่ละห้องภาพ (สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น, 2543, สิมพื้นบ้านวิหารพื้นถิ่น)

พระพุทธเจ้า บิณฑบาต ครั้งสุดท้าย
พระพุทธเจ้ารับบิณฑบาตครั้งสุดท้าย
ฉาก ขโมยนางอรพิม
ฉาก ขโมยนางอรพิม
นางอรพิม
นางอรพิม

 

เรื่องและภาพ โดย สุทธวรรณ บีเวอ

การเดินทางของอีสานเอ็กซ์พลอเรอ

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *