ชีวประวัติของพระธรรมวิสุทธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดหนองแวงพระอารามหลวง ณ จิตรกรรมฝาผนัง ชั้น 4 พระมหาธาตุแก่นนคร:

ชีวประวัติของพระธรรมวิสุทธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดหนองแวงพระอารามหลวง ณ จิตรกรรมฝาผนัง ชั้น 4 พระมหาธาตุแก่นนคร:

(ภาพบน หุ่นขี้ผึ้งของพระธรรมวิสุทธาจารย์ ในพระมหาธาตุแก่นนคร ชั้น 1)

ชีวประวัติของพระธรรมวิสุทธาจารย์(หลวงพ่อคูณ ขันติโก) เจ้าอาวาสวัดหนองแวงพระอารามหลวง  ผู้ก่อตั้งการสร้างพระมหาธาตุแก่นนคร ได้จัดแสดงผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ชั้น 4 ของพระมหาธาตุแก่นนคร โดยมี อาจารย์ธรรมรงค์ แก้วโบราณ เป็นผู้วาดและเขียนเรื่องราวกำกับไว้ในแต่ละภาพตามคำบอกเล่าของหลวงพ่อคูณ ขันติโก เริ่มทำการวาดภาพชีวประวัติฯ นี้ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2560 และเสร็จสิ้นเมื่อปลายปี พ.ศ.2562

ภาษาอังกฤษ English Version คลิ๊ก ที่นี่ 

ภาพจิตรกรรมฝาผนังอันมีเอกลักษณ์และทรงคุณค่านี้ จะนำพาให้เรามองเห็นการดำเนินชีวิตของหลวงพ่อคูณตั้งแต่ครั้งยังเป็นฆราวาสกระทั่งเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ท่ามกลางเรื่องราวของการดำเนินชีวิตตั้งแต่ครั้นเยาว์วัยที่เคลื่อนไหวไปตามประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของคนอีสาน และสอดแทรกส่วนสำคัญด้วยการถ่ายทอดความทรงจำของหลวงพ่อคูณที่เด่นชัดในด้าน “การขวนขวายเพื่อการศึกษา” และจากความพากเพียรต่อการเรียนหนังสือนี้เอง จึงเป็นเหตุแห่งการนำพาท่านมาสู่วัดหนองแวงในสมัยของหลวงปู่พระครูปลัดบุษบา สุมโน กระทั่งได้มีโอกาสเรียนหนังสือในที่สุด ต่อมาภายหลังหลวงพ่อคูณจึงได้เป็นพระอุปัชฌาย์ และเป็นเจ้าอาวาสของวัดหนองแวงพระอารามหลวง ซึ่งในสมัยของหลวงพ่อคูณ วัดหนองแวงได้รับโปรดเกล้าพระราชทานเป็นวัดพระอารามหลวง และได้รับรางวัลเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างหลายปี ปัจจุบันหลวงพ่อคูณได้มรณภาพแล้ว เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563

และด้วยเจตนาแห่งการเล็งเห็นความสำคัญและคุณค่าทางการศึกษานี้เอง จึงได้สะท้อนเจตนารมย์ของหลวงพ่อคูณที่สร้างคุณูปการทางการศึกษาแด่ พระภิกษุสงฆ์ สามเณร เด็กและเยาวชน อันเป็นอนาคตของชาติ โดยจัดสร้างโรงเรียนและวัดหลายแห่ง อาทิ โรงเรียนปริญัติธรรม โรงเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลาย ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนประถมวัย และยังได้สร้างวัดไทย วัดเจริญธรรม เมืองรึกเด สหพันธรัฐเยอรมนี สร้างวัดป่าพุทธญานันทาราม รัฐเวกัส อเมริกา เป็นต้น เพื่อเป็นที่พึ่งให้แก่สาธุชนที่อาศัยอยู่ต่างแดน นอกจากนี้หลวงพ่อคูณยังได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเจ็บไข้ได้ป่วย การรับการรักษาพยาบาลของผู้สูงวัย ทำให้ท่านได้สร้างโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งอยู่ติดกับวัดหนองแวงอีกด้วย

ชีวประวัติของ พระธรรมวิสุทธาจารย์ (หลวงปู่คูณ ขฺนติโก) ดังนี้

หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 1
ในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2472 คุณแม่ตา ภรรยาคุณพ่อลี สุยอย ได้ให้กำเนิดบุตรชาย ที่บ้านอุปราช ต.ท่าสองคอน อ.เมือง จ.มหาสารคาม และตั้งชื่อให้ว่า “เด็กชายคูณ สุยอย” (เป็นคนที่ 4 ใน 9 คน)
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 2
เด็กชายคูณ สุยอย พอผ่านชั้นเรียน มูล ข. และ มูล ก. ก็ได้เข้าเรียนในชั้น ป.1 ถึงชั้น 4 ที่ ร.ร.บ้านท่าสองคอน ผลการสอบ เด็กชายคูณ มักจะได้ที่ 1 อยู่เสมอๆ ตอนสอบไล่ ป.4 สอบได้คะแนนสูงสุดของตำบลเลยทีเดียว จากนั้นคุณพ่อลีได้ย้ายถิ่นฐาน จากบ้านอุปราช ไปอยู่บ้านท่าสองคอน เนื่องจากใกล้ที่นามากกว่าเดิม
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 3
ในตอนเลิกเรียน เพื่อนๆ ต่างพากันเล่นตามประสาเด็ก แต่เด็กชายคูณต้องไปหาบน้ำมาขายให้คุณครู เพื่อช่วยบิดา-มารดา และเป็นค่าไปโรงเรียน โดยมีรายได้ คือ น้ำใช้(จากแม่น้ำชี) หาบละ 1 สตางค์ และน้ำดื่ม (จากบ่อทุ่งมะค่า บ้านโนนแต้) ราคาหาบละ 2 สตางค์ วันไหนมีพลังมากๆ สามารถทำเงินได้ถึง 6 สตางค์
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 4
เมื่อตอนท่านหลวงพ่อ อายุได้ 8 ขวบ พร้อมพี่สาว และพี่ชาย เดินทางกลับจากนาตอนพลบค่ำ ต้องเดินผ่านป่าช้าหนาทึบ(ที่ตั้งวัดป่าสันติวันพันชาติ ทุกวันนี้) ได้ผจญกับเสือปลา(เสือคือ) โผล่ออกมาขู่ เหมือนจะเข้ามากัด และจ้องอยู่สักครู่ใหญ่ๆ จึงเดินจากไป นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้โยมพ่อต้องย้ายบ้านถิ่นฐาน
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 5
เมื่อพี่สาวออกเรือนไป พี่ชาย-น้องชายก็บวชเป็นพระเณรกันแล้ว ภารกิจต่างๆ ก็ตกเป็นของหลวงพ่อทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ตักน้ำ ตำข้าว เอาฟืน ปั่นด้าย(เข็นฝ้าย เป็นงานสตรี) และหลวงพ่อก็ไม่มีสิทธิ์ได้เรียนต่อ เพราะรายได้ของครอบครัวไม่แน่นอน
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 6
ในช่วงที่หลวงพ่อเข้าสู่วัยรุ่น งานประจำก็คือ ช่วงหน้าฝนก็ทำนา ทำสวน หน้าแล้งก็ทำไร่ ปลูกฟัก ปลูกแฝง แตงโม ยาสูบ ฯลฯ ร่วมกับบิดา-มารดา อยู่เสมอ
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 7
เมื่อว่างจากการทำสวน ทำนา ทำไร่ ก็ต้องเลื่อยไม้ไว้ต่อเติมบ้านให้โยมพ่อ โยมแม่ และเผาถ่านขาย
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 8
เมื่อได้โอกาสดี ก็กลายสภาพเป็นนายฮ้อย (พ่อค้า) ซื้อ-ขาย ข้าวเปลือก ตามหมู่บ้านต่างๆ และจังหวัดใกล้เคียง ตามโอกาสอันควร
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 9
การหารายได้อีกทางคือ เมื่อแม่น้ำชีลดลงมากๆ ในฤดูแล้ง ก็จะพากันไปงมหอยที่ก้นแม่น้ำ ได้หอยทราย หอยจิ๊บจี้ หากหาได้มากๆ ก็จะใส่ตะกร้าไปขายในหมู่บ้าน และหมู่บ้านแถวๆ นั้น
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 10
ต่อมารัฐบาลส่งเสริมความเจริญแก่บ้านเมืองแบบใหม่ เรียกว่า “รัฐนิยม” หนุ่มๆ สาวๆ ชาวบ้านก็นิยมรำวงกัน(รำโทน) ในตอนกลางคืน เราก็ไปเป็นกองเชียร์รำวง ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งความสุข (แต่ต้องมีสติ)
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 11
(วัยบวช) เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ โยมพ่อ โยมแม่ ก็ตกลงให้เราบวชในงานบุญบั้งไฟ โดยท่านพระครูสารกิจประยุตเป็นพระอุปัชฌาย์ ณ พันธสีมา วัดใหญ่โพธิ์ชัย บ้านท่าสองคอน อ.เมือง จ.มหาสารคาม วันที่ 20 พฤษภาคม 2492 นามว่า พระภิกษุคูณ ฉายา ขฺนติโก (ขันติโก) ในการบวชครั้งนั้น มีนาคบวชพระพร้อมกันถึง 32 นาค (ในงานประเพณีบุญเดือนหก)
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 12
พอหลวงพ่อบวชได้ 1 พรรษา ก็สอบนักธรรมตรีได้ และยังท่องจำเทศน์อนิสงส์ต่างๆ จนชำนาญ ได้รับกิจนิมนต์อยู่เสมอ แต่พอถึงปี พ.ศ.2493 พรรษาที่ 2 ก็เลยย้ายไปจำพรรษา อยู่ที่วัดบ้านขามเฒ่า อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม เพื่อเรียนและฝึกการเทศน์คู่ กับท่านพระอาจารย์คำสิงห์ จนได้ออกงานหลายต่อหลายงาน คนก็เริ่มรู้จักมากขึ้น
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 13
พอได้พรรษาที่ 3 หลวงพ่อก็เห็นว่าบวชแล้วก็ไม่ได้เรียนหนังสือตามเจตนาของตน ครั้งจะเข้ากรุงเทพฯ ก็ขาดปัจจัย จึงเตรียมจะลาสิกขา หาแนวทางชีวิตด้านใหม่ แต่แล้วก็ได้เจอกับพระอนันต์(ญาติฝ่ายพี่เขยหลวงพ่อ) ได้ชักชวนว่า หลวงพี่ไปอยู่วัดหนองแวง ขอนแก่น กับผมไหม” หลวงพ่อเลยตัดสินใจลองเสี่ยงไปตามพระอนันต์ที่แนะนำมา และเพื่ออนาคตที่มุ่งหวัง
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 14
การเดินทางมาที่วัดหนองแวงนี้ ในสมัยนั้นต้องนั่งรถยนต์ จาก จ.มหาสารคาม ไปที่ อ.บ้านไผ่ ก่อน แล้วจึงขึ้นรถไฟไปตัวเมืองขอนแก่น รถไฟสมัยนั้นมีคนใช้บริการมาก ต้องตัดสินใจปีนป่ายขึ้นทางหน้าต่าง จึงได้โดยสารมาลงสถานีขอนแก่น แล้วก็มุ่งหน้าสู่วัดหนองแวงดังมุ่งหมาย
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 15
เมื่อเราลงจากรถไฟ ก็เดินทางเข้าสู่วัดหนองแวงเมืองเก่า(วัดเหนือ) ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น เข้ากราบเจ้าอาวาสคือ หลวงปู่พระครูปลัดบุษบา สุมโน พร้อมกับเจรจาขอมาอยู่วัดด้วยเพื่อเรียนหนังสือ แต่ก็ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนจากหลวงปู่ แต่ก็ตัดสินใจเข้าไปอยู่กุฏิกับเณรหลังสุดที่ท้ายวัด(กุฏิกกยม) (ในปี พ.ศ.2494 วัดหนองแวงยังมีสภาพเช่นนี้)
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 16
พอรุ่งเช้าหลังจากบิณฑบาตกลับมา คุณแม่เคน จันทร์ศรี พอถามดูรู้ว่าเรามาอยู่วัดจริงๆ ก็จัดการหาโยมอุปัฏฐากให้คือ คุณพ่อเต็ม-คุณแม่มุม เถื่อนแก้วสิงห์ และคุณพี่เสรี-คุณพี่เซ็ง ประเทศไทย ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นตามลำดับ หลวงพ่อจึงรักเคารพและศรัทธาทั้งสองครอบครัวมาก เหมือนเป็นดั่งพี่น้องร่วมท้องเดียวกันจริงๆ
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 17
ต่อมาอีกไม่นาน ท่านหลวงปู่บุษบา ท่านเมตตา สั่งให้เรามาอยู่ร่วมห้องกับพระผู้เป็นพระอุปัฏฐากท่านในกุฏิของท่านเอง ทำให้อาตมาดีใจมากที่สุดเลย และหลังจากนั้น พระอาจารย์ปุ้ย จาริโณ รองเจ้าอาวาสวัดหนองแวง ท่านก็ได้มอบหมายให้เรา เป็นผู้ดูแล พระ เณร และลูกศิษย์วัดแทนท่าน ซึ่งเราถือว่าเป็นงานหนักและท้าทายมาก แต่ก็ต้องทนเพราะต้องการเรียนหนังสือ
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 18
ในปี พ.ศ.2495 เราได้กลับไปรับเอาเณรจันทร์ ผู้เป็นน้องชายมาอยู่เรียนหนังสือด้วยกัน ได้โยมอุปัฏฐาก คือ พ่อใหญ่คำภู-แม่ใหญ่วาฬ โยมบุตร จนสอบ ป.ธ.3 ได้พร้อมกัน (2497) ต่อมาท่านเจ้าคุณสารคามมุนี วัดมหาชัย จ.มหาสารคาม ได้เรียกเราเข้าพบพร้อมกับพระมหาจันทร์(น้องชาย) ท่านบอกให้เรากลับมาพัฒนาบ้านเมืองเรา แต่เราก็ขอผลัดท่านไปก่อน “เรียนหนังสือก่อนถึงจะกลับกระผม” จนป่านนี้ยังเป็นหนี้ท่านอยู่ ฮ่า ฮ่า..
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 19
ในปี พ.ศ.2497 วัดหนองแวงได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ท่านหลวงปู่บุษบา สุมโน จัดการวางศิลาฤกษ์ สร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ มีนายทองสุข เศรษฐภูมิรินทร์ เป็นนายช่าง และมอบให้เรา(หลวงพ่อคูณ ขันติโก) เป็นผู้ดูแล ควบคุมการก่อสร้าง
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 20
ต่อจากนั้น ท่านหลวงปู่พระครูปลัดบุษบา ก็ล้มป่วยลงด้วยความชราภาพ เราและพระลูกวัดอื่นๆ ต่างก็พากันดูแลอย่างใกล้ชิด และแล้ววันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2498 ก็เป็นวัน “มหาวิปโยคของวัดหนองแวง เมืองเก่า” คือ ท่านหลวงปู่พระครูปลัดบุษบา(บง) ได้มรณภาพจากไป ตั้งแต่นั้นมาภารกิจต่างๆ ก็ตกเป็นของเราทั้งหมด ทั้งวัด
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 21
เมื่อบำเพ็ญกุศลงานหลวงปู่บุษบา 7 วันแล้ว คณะสงฆ์อำเภอเมืองขอนแก่นจึงเรียกประชุมกันที่ วัดธาตุ ขอนแก่น เพื่อสรรหาเจ้าอาวาสวัดหนองแวง
แล้วมติคณะสงฆ์ก็แต่งตั้งให้ ท่านเจ้าคุณพระราชสารธรรมมุนีวัดศรีนวล(ข.ก.) ให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองแวง และให้เรา พระมหาคูณ ขันติโก เป็นเจ้าอาวาสผู้ช่วย (เพราะที่ประชุมว่า “พรรษายังน้อย อายุยังเยาว์ การปกครองไม่เคยผ่าน กลัวว่าจะเกิดปัญหา สั่นดอกวา” เพิ่นว่า) จนถึง พ.ศ.2511 จึงได้เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองแวงเต็มรูปแบบ และได้เป็นพระอุปัชฌาย์ในที่สุด
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 22
หลวงพ่อได้รับการแต่งตั้ง เป็นองค์เผยแพร่พุทธศาสนาของจังหวัดขอนแก่น เทศน์ตามหมู่บ้านต่างๆ เทศน์ออกรายการวิทยุ-รายการโทรทัศน์ช่อง 4 ขอนแก่น ให้การอบรม นักเรียน – นักศึกษา – ประชาชน ตามโรงเรียน มหาวิทยาลัยบ้าง เรือนจำบ้าง เป็นพระธรรมทูตของอำเภอเมือง ฝึกอบรมปฏิบัติกัมมัฏฐานต่างๆ ให้กับข้าราชการและประชาชนทุกหมู่เหล่าอยู่เสมอ ทั้งยังเป็นผู้รักษาวัฒนธรรมดั้งเดิม (ฮีต 12 คอง 14) ของคนอีสาน จนได้เป็นผู้มีผลงานดีเด่น ประจำจังหวัดขอนแก่น รับโล่รางวัลกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายศักดา อ้อพงษ์ ปี พ.ศ.2536
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 23
นอกจากการพัฒนาวัด จนเจริญขึ้นทุกด้าน หลวงพ่อยังได้สร้างโรงเรียนมัธยมต้น, มัธยมปลาย, ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนประถมวัย เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน อันเป็นอนาคตของชาติ ต่อไป สร้างศูนย์สร้างสุขผู้สูงอายุ พระธรรมวิสุทธาจารย์ (คูณ ขันติโก) รพ.ผู้สูงวัยมารักษาสุขภาพนั้นเอง กิจกรรมต่างๆ ที่หลวงพ่อยกขึ้นมาอ้างนั้น หลวงพ่อล้วนได้รับความร่วมมือจากอุบาสก-อุบาสิกา ทายก ทายิกา สานุศิษย์ ข้าราชการ พ่อค้า แม่ค้า ประชาชน ทุกภาคส่วน เป็นอย่างดี และขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วย
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 24
การพัฒนาด้านกิจการสงฆ์ นอกจากการปกครองพระภิกษุ สามเณรลูกวัดให้อยู่ในวินัยของสงฆ์ หลวงพ่อยังได้สร้างโรงเรียน “ปริญัติธรรม” ขึ้นภายในวัดหนองแวง โดยเปิดสอน 3 แผนก คือ 1.บาลี 2.นักธรรม 3.สามัญ เพื่อให้พระ-เณร ในวัดเลือกเรียนได้ตามความสมัครใจ ตามความสามารถของตน นอกเหนือจากนั้น หลวงพ่อยังสนับสนุนมอบทุนการศึกษา แก่พระ-เณร ที่เรียนเก่ง เรียนดี สอบเรียนต่อได้ จบปริญญา สอบเปรียญธรรม ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ อยู่เสมอมา
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 25
หลวงพ่อได้เป็น “พระธรรมทูต” เผยแผ่พุทธศาสนาเข้าอารยประเทศ เพื่อให้ชาวต่างชาติได้เข้าใจ และเข้าถึงแก่นแท้ ของพุทธโอวาท อันเป็นความสุขที่ยั่งยืน เช่น สร้างวัดไทย “วัดเจริญธรรม” เมืองรึกเด สหพันธรัฐเยอรมนี สร้างวัดป่าพุทธญานันทาราม รัฐเวกัส อเมริกา เป็นต้น และยังทำให้ชาวพุทธในต่างประเทศได้สร้างกุศลง่ายขึ้น
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 26
ภารกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ หลวงพ่อได้เข้าปฏิบัติศาสนกิจให้กับคณะเถรสมาคม คณะสงฆ์ส่วนกลาง และรับนโยบายการบริหารการจัดการองค์ความรู้ต่างๆ มาพัฒนาบุคลากร-ชุมชน ให้เข้ากับยุคทันสมัยอยู่เสมอมา จนวัดหนองแวงได้รับรางวัล วัดพัฒนาตัวอย่าง ปี 2524 วัดพัฒนาดีเด่น ปี 2526 และได้รับโปรดเกล้าพระราชทานเป็นวัดพระอารามหลวงเมื่อ 27 สิงหาคม 2527
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 27
หลวงพ่อได้เข้ารับพระราชทานรางวัล “เสาเสมาธรรมจักรทองคำ” เนื่องในสัปดาห์ ส่งเสริมพระพุทธศาสนา วันวิสาขบูชา ประจำปี 2547 ที่กรุงเทพมหานคร จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 28
หลวงพ่อได้รับเสด็จ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งพระองค์ท่านดำรงตำแหน่ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร หลวงพ่อได้น้อมถวาย “พระพุทธปฏิมามหาจักรแก่นนคร” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำวัดหนองแวง เมืองเก่า ขอนแก่น ในบริเวณลานไทร พ.ศ.2528

ภาพที่ 29-35
อยู่บนบันไดทางขึ้นชั้น 5

หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 29
คณะอุบาสก อุบาสิกาในชุมชน
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 30
ชาวญาติธรรมวัดหนองแวงพระอารามหลวง
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 31
มูลเหตุการณ์สร้างพระมหาธาตุแก่นนครฯ
1. สมเด็จพระสังฆราช(วาสนามหาเถระ) วัดราชบพิธฯ ประทานพระบรมสารีริกธาตุไว้ให้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2522
2. หลวงพ่อได้ตั้งปณิธาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2497 (คูณ ขันติโก)
3. ได้รับพระบรมสารีริกธาตุ ตามนิมิตจากประเทศพม่า พ.ศ.2528
4. เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ประทานปัจจัยเป็นทุนสร้างเริ่มต้นจำนวน 18,500 บาท เมื่อ 5 พฤษภาคม 2528
5. เมืองขอนแก่น มีอายุครบ 200 ปีพอดี และวัดก็มีที่ว่างเหมาะแก่การสร้างพอดี
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 32
ต่อมาจนถึงปี 2532 หลวงพ่อได้ปรึกษากับคณะบุคคลหลายๆ ฝ่าย เรื่องรูปแบบการสร้างพระธาตุ โดยใช้จินตนาการเขียนแบบตามความคิดที่หลวงพ่อต้องการ จนได้งานสถาปัตยกรรมเปิด เป็นรูปพระมหาธาตุ 9 ชั้น ซึ่งถูกใจหลวงพ่อมาก จึงตัดสินใจดำเนินการสร้าง โดยวางเสาเอก เสาโท 8-12 ธันวาคม พ.ศ.2532 โดยมอบให้โยมมัคนายกคุณโยมสมชาย สุนีย์ เป็นผู้รับเหมา ตั้งงบไว้ที่ 32,000,000 บาท
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 33
จากการระดมบุคลากรทุกแขนง ทุกภาคส่วน และทุนทรัพย์ด้วยแรงศรัทธาอธิษฐานอันแรงกล้า จึงทำให้การก่อสร้างดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยหลวงพ่อคูณเป็นผู้คอยดูแล บางครั้งก็มีการปรับแบบบ้าง เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้สอย และรักษาเอกลักษณ์อีสานให้มากที่สุด ภายใน 5 ปี การก่อสร้างเสร็จถึง 80 เปอร์เซ็นต์เลยนะ และหลวงพ่อยังมอบหมายให้โยมพ่อติแก แซ่เล็ก ช่วยเป็นผู้ดูแลและการก่อสร้างอีกคน
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 34
จนถึง วันที่ 2 พฤศจิกายน 2540 พระมหาธาตุแก่นนคร ก็ได้ปรากฏรูปลักษณ์อันสง่าแก่สายตาชาวโลก โดยการตกแต่ง-ลวดลาย-งานแกะสลัก-งานประติมากรรมปั้น-หล่อ เป็นหน้าที่หลักของคุณพ่อช่างอุทัยทอง จันทกรณ์ ศิลปินเอกแห่งลุ่มน้ำโขงเป็นผู้ดำเนินงานทั้งหมด ส่วนภาพเขียน ภาพแกะสลักตามบานประตู หน้าต่าง หลวงพ่อก็ให้ทำเรื่องนิทานพื้นบ้าน ตามฝาผนังก็เป็นภาพการกำเนิดเมืองขอนแก่น และฮีต-คองต่างๆ
หลวงปู่คูณ ขันติโก วัดหนองแวง ขอนแก่น ประวัติ ชีวประวัติ พระมหาธาตุแก่นนคร
ภาพที่ 35
เมื่อเปิดให้บุคคลได้เข้ามานมัสการและชมพระมหาธาตุแล้ว มหาชนก็เริ่มอยากรู้ อยากเห็นมากขึ้นๆ ทุกวันๆ จนพระมหาธาตุกลายเป็นเอกลักษณ์ของเมืองขอนแก่น ที่ใครๆ ก็กล่าวว่า “ใครที่มาเมืองขอนแก่น แล้วไม่มาไหว้พระมหาธาตุ แสดงว่าไม่ถึงหรือฮอดเมืองขอนแก่น” เพราะว่าพระมหาธาตุนี้ ยังเป็นศูนย์รวมแห่งบุญ เป็นศูนย์แห่งวัฒนธรรมอีสาน เป็นศูนย์ตำนานของสาธุชน เป็นการสร้างกุศลต่อองค์พระศาสดา และพระราชาของไทย.

ติดตามข้อมูลอื่นๆ ของพระมหาธาตุแก่นนครแต่ละชั้นได้ ที่หัวข้อ วัดหนองแวง พระอารามหลวง

——-

คณะผู้จัดทำบทความ

บรรณาธิการ: สุทธวรรณ บีเวอ

ผู้ถ่ายภาพ: ทิม บีเวอ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *