ศาลเจ้าพ่อมเหศักดิ์ บริเวณริมบึงแก่นนคร จังหวัดขอนแก่น

ศาลเจ้าพ่อมเหศักดิ์ บริเวณริมบึงแก่นนคร จังหวัดขอนแก่น

ท้าวเพียเมืองแพน ได้สร้างศาลเจ้าพ่อมเหศักดิ์ขึ้น ตั้งเป็นเสาบือบ้าน ศูนย์กลางของบ้านเมือง ตามความเชื่อของชาวอีสานในฮีตสิบสองคองสิบสี่ที่กล่าวถึง “สมบัติคูนเมือง” ซึ่งเป็นคองของเจ้าเมืองไว้ 14 ข้อ ใน 14 ข้อ มีใจบ้านหรือศูนย์กลางบ้านเมือง และอีก 1 ข้อ คือ “เมมเมือง” ซึ่งหมายถึง เทพารักษ์ มเหสักข์ เทวดาผู้ยิ่งใหญ่ปกป้องคุ้มครองเมืองขอนแก่นให้ร่มเย็นเป็นสุข โดยรูปแบบของปราสาทศาลเจ้าพ่อมเหศักดิ์นั้นสร้างมาจากศิลปะของขอม เหมือนกับที่ได้เห็นในสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง เช่น ปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทหินพิมาย

จากข้อมูลของทางศาลเจ้าพ่อมเหศักดิ์ได้อ้างอิงข้อมูลประวัติไว้ว่า แต่เดิม “ศาลเจ้าพ่อมเหศักดิ์” เป็นศาลไม้ ต่อมาในปี พ.ศ.2536 ได้มีการสร้างใหม่ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ดูทรงพลังงดงามเข้มขลัง

ศาลเจ้าพ่อมเหศักดิ์ ศาลเจ้าปู่มเหศักดิ์ บือบ้าน บึงแก่นนคร ขอนแก่น
ภาพศาลเจ้าพ่อมเหศักดิ์ที่สร้างขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2539 (ภาพจากหนังสือ สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม นำเที่ยวขอนแก่น, 2541, หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดขอนแก่น)

ศาลเจ้าปู่มเหศักดิ์ บึงแก่นนคร ขอนแก่น

ศาลเจ้าปู่มเหศักดิ์ บึงแก่นนคร ขอนแก่น

ศาลเจ้าปู่มเหศักดิ์ บึงแก่นนคร ขอนแก่น

“เจ้าพ่อมเหศักดิ์” เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญอีกสถานที่หนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ส่วนมากคนขอนแก่นมีความเชื่อว่าการมาขอพรที่นี่นั้นมักจะประสบความสำเร็จในเรื่องของหน้าที่การงาน เรื่องของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย การสอบเข้าโรงเรียน โดยเมื่อการขอพรนั้นสำเร็จ ก็จะมีการมาแก้บนด้วยการไหว้องค์เจ้าพ่อที่อยู่บนสวรรค์ด้วยของหวาน ผลไม้ หมากพลู เหล้าขาว พวงมาลัย ดาบ ช้าง ม้า ม้าลาย ดังจะเห็นได้จากบริเวณทางขึ้นบันไดด้านหน้าศาล ที่ทั้งสองข้างจะมีรูปปั้นอยู่เต็มบริเวณรอบพื้นทางขึ้น สำหรับวิธีการแก้บนนั้นเชื่อกันว่าจะต้องรอจนกว่าธูปจะดับถึงจะสามารถกลับได้และก็สามารถนำอาหารที่นำมาแก้บนนำกลับไปรับประทานต่อได้เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
สำหรับการบนบานของชาวอีสานนั้นจะเรียกกันว่า “บ๋า” ซึ่งมีลักษณะการขอพรเหมือนการบนบานโดยทั่วไปที่ใช้ดอกไม้ธูปเทียนมาขอพร เมื่อบนบานสำเร็จผลก็จะนำสิ่งที่ตัวเองได้บนเอาไว้มาแก้บน เพราะมีความเชื่อกันว่าหากไม่ไปแก้บนคนที่บนหรือครอบครัวก็จะต้องมีอันเป็นไป ในลักษณะที่ลืมแก้บทหรือยังไม่ได้ไปแก้บนตามช่วงเวลาที่บนบานเอาไว้คนอีสานก็จะเรียกว่า ‘บ๋าหลง’

ศาลเจ้าปู่มเหศักดิ์ บึงแก่นนคร ขอนแก่น
ภายในองค์ปรางค์
ศาลเจ้าปู่มเหศักดิ์ บึงแก่นนคร ขอนแก่น
หากท่านใดที่ต้องการถวายดาบ พวงมาลัย ช้าง ม้า ที่ศาลเจ้าปู่มเหศักดิ์ มีจุดบริการด้านข้าง

บริเวณภายในศาลเจ้าพ่อมเหศักดิ์ ที่สามารถเข้าไปขอพรโดยจุดธูป 9 ดอก ข้างในมีก้อนหินเสี่ยงทาย การเสี่ยงเซียมซีและมีใบเซียมซีให้ โดยผู้ที่เข้าไปกราบไหว้ สามารถบูชาได้ตามจิตศรัทธา

นอกจากนี้บริเวณด้านหลังของปรางค์ ยังมีศาลไม้ที่ทำจากไม้ยูคา ต่อมาหลังจากศาลไม้ผุพัง จึงมีการสร้างองค์ศาลทั้ง 7 ขึ้นมาใหม่ ใช้สีแดงซึ่งเป็นสีของเจ้าพ่อมเหศักดิ์ โดยใช้วัสดุไม้เนื้อแข็งมงคล 9 ชนิดเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้สักการะ ประกอบไปด้วย ขนุน สักทอง ตะเคียนทอง ยมหอม ราชพฤกษ์ พยุง กันเกรา ทรงบาดาล และจำปา ดำเนินการสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2553

ศาลเจ้าพ่อมเหศักดิ์ ศาลเจ้าปู่มเหศักดิ์ บือบ้าน บึงแก่นนคร ขอนแก่น
ภาพศาลไม้ในอดีต (ภาพจากหนังสือ อีสานคดี, 2540, มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาเขตขอนแก่น, พิมพ์เป็นที่ระลึก เนื่องในงานครบรอบ 200 ปี วัดธาตุ(พระอารามหลวง) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 28-30 เมษายน 2540)
ศาลเจ้าปู่มเหศักดิ์ บึงแก่นนคร ขอนแก่น
ศาลไม้มงคล
ศาลเจ้าปู่มเหศักดิ์ บึงแก่นนคร ขอนแก่น
บริเวณทางเข้าด้านหน้า ติดถนนรอบบึงแก่นนคร ทิศตะวันตกของบึงแก่นนคร

แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่น่าสนใจโดยรอบบึงแก่นนคร จังหวัดขอนแก่น ติดตามได้ใน หัวข้อ “แหล่งท่องเที่ยวสถานที่ศักดิ์สิทธิ์รอบบึงแก่นนคร จ.ขอนแก่น: ประวัติศาสตร์การหาอยู่หากิน ปรัชญาชีวิต และพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ศูนย์รวมจิตใจ”

…………

ขอขอบคุณ

พี่แหม่ม ผู้ดูแลศาลเจ้าปู่มเหศักดิ์ ที่คอยช่วยเหลือและตอบคำถามให้พวกเราบ่อยๆ นะคะ

ศาลเจ้าปู่มเหศักดิ์ บึงแก่นนคร ขอนแก่น
พี่แหม่ม ผู้ดูแลศาลเจ้าปู่มเหศักดิ์

อ้างอิง

รายงานข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวโดยรอบบึงแก่นนคร, 2561, โดยนักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สนับสนุนการจัดทำข้อมูลโดย อีสานเอ็กซ์พลอเรอ

สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม นำเที่ยวขอนแก่น, 2541, หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดขอนแก่น

อีสานคดี, 2540, มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาเขตขอนแก่น, พิมพ์เป็นที่ระลึก เนื่องในงานครบรอบ 200 ปี วัดธาตุ(พระอารามหลวง) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 28-30 เมษายน 2540

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *