วัดธาตุ พระอารามหลวง บริเวณริมบึงแก่นนคร จังหวัดขอนแก่น (Wat That, Muang Khon Kaen)
เรียบเรียงข้อมูลโดย สุทธวรรณ บีเวอ
สามารถติดตามรายละเอียดวัดธาตุเป็นภาษาอังกฤษได้ใน English Version
เมื่อแรกสถาปนาวัดธาตุ พระนครศรีบริรักษ์ได้สร้างวัดราวปี พ.ศ.2332 โดยสร้างตามแบบศิลปะล้านช้าง สันนิษฐานว่า เมื่อแรกสร้างนั้น ได้สร้างอุโบสถสำหรับพระสงฆ์ทำสังฆกรรม กุฏิสงฆ์ สำหรับเป็นเสนาสนะสำหรับพระสงฆ์ ล้วนแต่เป็นอาคารที่สร้างด้วยไม้เป็นส่วนใหญ่ หรือจะสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดอีกหรือไม่ ก็หาทราบได้ไม่ ด้วยไม่มีหลักฐานบันทึกไว้ ส่วนสำคัญที่สุดของวัดธาตุ ก็คือ พระธาตุอันเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ ด้วยสมัยก่อนมีพระธาตุอยู่ในวัดธาตุแห่งนี้หลายองค์ จึงเป็นที่มาของชื่อวัดธาตุเช่นเดียวกับวัดมหาธาตุในเมืองสำคัญๆ ในเขตประเทศไทยแห่งนี้ ก็ด้วยว่ามีพระธาตุอยู่หลายองค์ด้วยกัน จึงไม่สามารถกำหนดได้ว่าพระธาตุดั้งเดิมองค์ใด ซี่งเป็นพระธาตุที่แท้ที่พระนครศรีบริรักษ์ ปฐมเจ้าเมืองขอนแก่นเป็นผู้สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองขอนแก่น ดังนั้นวัดธาตุนี้จึงได้เรียกชื่อว่า “วัดธาตุ” ตามเหตุผลดังกล่าว (ข้อมูลจากป้ายนิเทศก์ เดิมเคยจัดแสดงรอบพระเจดีย์)
ปัจจุบันวัดธาตุ เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ มีเนื้อที่ 12 ไร่
ตั้งอยู่เลขที่ 237 ถนนกลางเมือง บ้านเมืองเก่า ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
สิ่งที่น่าสนใจในวัดธาตุ พระอารามหลวง
หลวงพ่อพระลับ (พระศรีสัตนาคนหุต)
หลวงพ่อพระลับ หรือ พระศรีสัตนาคนหุต เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยสัมฤทธิ์ทั้งองค์และฐานขนาดหน้าตักกว้าง 10 นิ้ว สูง 29 นิ้ว ประทับนั่งขัดสมาธิบนแท่นสัมฤทธิ์รูปสัปคับช้าง (แหย่งช้าง) องค์พระจะเอนไปทางด้านหลังเล็กน้อย หลวงพ่อพระลับ จัดอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปศิลปะลาว “สกุลช่างเวียงจันทน์” คล้ายพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ระเบียงหอพระแก้ว กรุงเวียงจันทน์ มีอายุราวพุทธวรรษที่ 22-24
ตามประวัติเล่าว่า เมื่อ พ.ศ.1794 เมืองล้านช้าง (เวียงจันทน์) เป็นอิสระจากการปกครองของขอม พร้อมทั้งเมืองล้านนา กษัตริย์ล้านช้างจึงได้สถาปนาเมืองเวียงจันทน์ขึ้นเป็นเมืองหลวง เมื่อปี พ.ศ.2058 ขนานนามว่า “กรุงศรีสัตนาคนหุต” แปลว่า เมืองมีช้างล้านตัว หรือ มีช้างร้อยคนหุต (1 นหุต เท่ากับ 10,000)
เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 1 ขึ้นครองสิริราชสมบัติ พระองค์มีนโยบายที่จะขยายอาณาเขตออกไปทั่ว อาณาจักรโคตรบูรณ์และอาณาจักรล้านนา เพื่อหาสมัครพรรคพวกไว้สู้กับขอม การดำเนินนโยบายดังกล่าวพระองค์เห็นว่า ประชาชนในอาณาจักรเหล่านี้นับถือ พระพุทธศาสนาลัทธิหินยาน (เถรวาท) พระองค์จึงได้อาศัยพระพุทธศาสนาเป็นสื่อสัมพันธ์ เพื่อให้เมืองต่าง ๆ อ่อนน้อมและยอมเป็นเมืองขึ้นของพระองค์ พระองค์ได้หล่อพระพุทธรูปสัมฤทธิ์และพระแก้วขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อมอบให้แก่เจ้าเมืองต่าง ๆ นำไปสักการะบูชา พระพุทธรูปสัมฤทธิ์นี้ชาวเมือง เรียกว่า “พระพุทธศรีสัตนาคนหุต” หรือ “พระศรีสัตนาคนหุต” ส่วนพระพุทธรูปที่หล่อด้วยแก้ว ชาวเมืองนิยมเรียกว่า “พระแก้วล้านช้าง”
เหตุที่มีชื่อว่า “พระลับ” ก็สืบเนื่องมาจากครั้งเวียงจันทน์กับกรุงธนบุรีเป็นคู่อริกัน พระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระบัญชาให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปตีเวียงจันทน์ ทำสงครามอยู่ 4 เดือน ในที่สุดเวียงจันทน์แตก สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้จัดการปกครองเวียงจันทน์ใหม่ เสร็จแล้วได้อัญเชิญพระแก้วมรกต พระบาง พระสุก พระใส พระเสริม กลับกรุงธนบุรี โดยผ่านมาอุดรธานี ขอนแก่น และนครราชสีมา ขณะนั้นพระวอที่อยู่พระนครจำปาศักดิ์ทราบข่าว จึงแจ้งมายังท้าวศักดิ์ผู้เป็นหลานให้เก็บพระพุทธศรีสัตนาคนหุตและพระแก้วล้านช้างให้มิดชิด และให้ถือเป็นความลับ ท้าวศักดิ์และพระราชครูหลวงได้ปฏิบัติตาม โดยก่อเจดีย์ขึ้นที่วัดใต้ จำนวน 9 องค์ (วัดธาตุ ตามประวัติศาสตร์อยู่ปลายน้ำชี จึงเรียก วัดใต้ ส่วนวัดหนองแวง เรียกว่า วัดเหนือ เพราะอยู่ต้นน้ำชี ที่ไหลผ่านบึงบอนไปยังทุ่งสร้าง) โดยสร้างให้พระธาตุหรือเจดีย์ มีรูปเหมือนกันเพื่อพรางสายตาผู้คน แล้ววัดใต้ ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดธาตุ” เพราะได้สร้างเจดีย์พระธาตุนครเดิมขึ้นครอบพื้นที่เก็บซ่อน “หลวงพ่อพระลับ” เอาไว้ (ข้อมูลจากป้ายนิเทศก์ ด้านหน้าพระเจดีย์)
พระอุโบสถ
สร้างขึ้นใหม่ทดแทนหลังเดิม มีขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 29 เมตร เทคอนกรีตผสมเหล็ก ฝาผนังก่อด้วยอิฐ โดยใช้เงินที่เหลือจากงานพระราชทานเพลิงศพพระครูวิเวกธรรมปฏิบัติ เป็นต้นทุนแรกเริ่ม เพื่อถวายเป็นอนุสรณ์แก่ท่าน ปี พ.ศ.2539 ทำการบูรณะพระอุโบสถครั้งใหญ่ขึ้น โดยเพิ่มฝาผนังให้สูงขึ้น เปลี่ยนเครื่องบน หน้าบันแต่เดิมเป็นรูปพระธาตุได้เปลี่ยนเป็นตราสัญลักษณ์พระราชพิธีกาญจนาภิเษก ฉลองสิริราชครบ 50 พุทธศักราช 2539
สำหรับด้านในพระอุโบสถ จะมีพระประธาน คือ “พระเจ้าใหญ่สมปรารถนา พระพุทธธรรมขันตโสภิตมหามงคล” พุทธลักษณะมีหน้าตักกว้าง 7 ศอก สูง 9 ศอก
พระเจดีย์พระธาตุนครเดิม
“เจดีย์พระธาตุนครเดิม” มีความหมายว่า พระเจดีย์ คือ องค์พระเจดีย์ ซึ่งปรากฏอยู่นี้ คำว่า พระธาตุ หมายถึง พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้บรรจุไว้ตั้งแต่สมัยพระเจดีย์องค์เดิม คำว่า นคร หมายถึง เมืองขอนแก่น และคำว่า เดิม หมายถึง วัดธาตุ ซึ่งตั้งอยู่บ้านเมืองเก่า ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น
เนื่องจากวัดใต้ (วัดธาตุ) เป็นวัดสำหรับเจ้าเมือง มีเจ้าอาวาสผู้ปกครองวัดสืบต่อกันมามากกว่าศตวรรษ วัดธาตุมีบูชนียสถานคือ พระธาตุเจดีย์หลายองค์ แต่ชำรุดทรุดโทรมพังทลายเกือบหมด จนไม่สามารถสังเกตได้ว่าองค์ไหนเป็นพระธาตุดั้งเดิมที่เพียเมืองแพน เจ้าเมืองเป็นผู้สร้างขึ้น อย่างไรก็ตามสรุปตามหลักฐานประมาณได้ว่า พระธาตุองค์นี้สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2332
ต่อมาในปี พ.ศ.2513 วัดจึงให้นายช่างถวิล อัคฮาค หัวหน้าคณะช่าง ออกแบบสร้างพระธาตุองค์ใหม่ขึ้นครอบองค์เดิมไว้ทั้งหมด ปี พ.ศ.2517 นายช่างชัชวาล พร้อมคณะ ได้วางฐานโครงสร้างพระเจดีย์ให้กว้างออกไป โดยสร้างให้ใหญ่และสูงกว่าเดิม วัดรอบเจดีย์ได้ 25 เมตร มีส่วนสูงวัดจากยอดลงมา 45 เมตร พ.ศ.2521 นายช่างเคน อมตราช พร้อมด้วยคณะได้ก่ออิฐองค์พระเจดีย์ตามโครงร่างที่เทไว้แล้วนั้น ให้เป็นพระเจดีย์ และได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในคราวยกฉัตรบนยอดพระเจดีย์ ในวันที่ 3 เมษายน 2524 โดยกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชให้เสด็จไปเป็นประธาน อย่างไรก็ตามเนื่องจากสมเด็จพระสังฆราชไม่สามารถที่เสด็จไปเป็นประธานได้ เพราะทางกรุงเทพฯ มีเหตุการณ์ไม่ปกติ เครื่องบินซึ่งจัดเป็นยานพาหนะ เพื่อให้ไปเป็นประธาน ไม่สามารถที่จะบินไปสายขอนแก่นได้ คณะสงฆ์ 16 จังหวัด จึงพร้อมกันยกให้พระราชปริยัติเมธี รองเจ้าคณะภาค 8 วัดมัชฌิมาวาส อุดรธานี ซึ่งมีตำแหน่งสูงกว่าบรรดาเจ้าคณะจังหวัดให้เป็นประธานยกฉัตรบนยอดเจดีย์
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระเจดีย์
พระเจดีย์องค์นี้วัดรอบฐานได้ 25 เมตร สูง 45 เมตร เท่ากับพระวัสสาของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ฉัตรสูงอีก 5 เมตร จึงเป็นความสูงทั้งองค์พระธาตุ และฉัตรสูง 50 เมตร พระธาตุนี้สร้างตามแบบพระธาตุสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ ส่วนท่อนบนสร้างตามแบบพระธาตุนครศรีธรรมราช เพราะต้องการอยากให้มีความสูงถึง 45 เมตร และเจดีย์พระธาตุนครเดิมนี้หุ้มหรือปิดด้วยกระเบื้องเคลือบทั้งองค์ โดยสั่งกระเบื้องเคลือบจากบริษัท ฮกเฮงเจริญ กรุงเทพฯ บันไดทั้งสามด้าน สร้างเป็นรูปนาคตามขอบบันได ข้างละ 1 ตัว มีความยาวและสวยงามรอบองค์พระธาตุ สร้างวิหารคดรอบองค์พระเจดีย์ทั้งสี่ด้าน โดยจำลองรูปแบบวัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร เสร็จสมบูรณ์เป็นองค์เมื่อต้นปี พ.ศ.2524
พระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่ในพระเจดีย์
ในส่วนของพระบรมสารีริกธาตุนั้น พระธรรมวิสุทธาจารย์(เหล่ว สุมโน) เจ้าอาวาสวัดธาตุ พระอารามหลวงรูปก่อนได้รับถวายมาจาก 3 แหล่งสำคัญ คือ
1. พระบรมสารีริกธาตุ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จำนวน 60 องค์ ได้มาจากพระเทพรัตนโมลี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมและเจ้าคณะจังหวัดนครพนม
2. พระบรมสารีริกธาตุที่มอบถวาย โดย ดร.จิณวิภา มุ่งการดี จำนวน 500 องค์
3. พระบรมสารีริกธาตุจากตระกูลสิงหเสนี สกุลของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ผู้ได้รับการขนานนามว่า “เจ้าพระยาปราบฮ่อ” โดยท่านได้รับมองพระพุทธรูปเชียงแสน ครั้งเมื่อไปหัวเมืองเหนือ แต่ไม่ทราบว่าในเศียรของพระพุทธรูปนั้น บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ คุณหญิงเจือ นครราชเสนี ทายาทตระกูลเป็นผู้พบ แล้วนำมาถวายหลวงปู่ พระธรรมวิสุทธราจารย์ เพื่อสืบทอดพระศาสนา (ไม่ระบุจำนวน)
การบรรจุพระบรมสารีธาตุได้ประกอบพิธี 2 ครั้ง คือ
ครั้งที่ 1 บรรจุไว้ที่ยอดฉัตรพระเจดีย์พระสารีริกธาตุ ณ พระเจดีย์พระธาตุนครเดิม เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2524 ซึ่งการยกฉัตรพระเจดีย์ในครั้งนี้ นับเป็นสิริมงคลน่าภาคภูมิใจ เพราะยกฉัตรพระเจดีย์พระธาตุในท่ามกลางพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 16 จังหวัด และข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ทายกทายิกา พระภิกษุ สามเณรมีจำนวนมาก เมื่อฉัตรถึงยอดพระธาตุตรงกับเวลา ทางราชการประกาศเรื่องเหตุการณ์ทางกรุงเทพฯ ให้ชาวไทยให้ทราบทั่วถึงกันว่า เหตุการณ์ได้สงบลงแล้ว บรรดาพระสงฆ์และทุกคนให้อนุโมทนาสาธุการแด่ความสงบสุขของประเทศชาติและการยกฉัตรสำเร็จลงด้วยดี โดยไม่มีอุปสรรคอะไรเลย ด้วยความเป็นสิริมงคล
ครั้งที่ 2 เป็นการประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระเจดีย์พระธาตุนครเดิม เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2540 เวลา 9.00 น.โดย พลเอกชวลิต ยกใจยุทธ เป็นประธานในพิธีบรรจุ
องค์ประกอบสำคัญ คือ บุษบกที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ คุณชิน โสภณพนิช เจ้าของธนาคารกรุงเทพ จำกัด มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์ เพื่อจัดสร้างรวมทั้งผอบ 7 ชั้น ทำด้วยไม้มงคลและธาตุอย่างดี ได้แก่ ไม้จันทร์หอม ทองคำ ทองนาค เงิน ทองแดง ทองเหลือง หินอ่อน ชั้น 8 (ชั้นนอก) เป็นทองเหลืองขัดเงาโดยมีคำปวารณาสลักไว้ที่ฐานตั้งด้านทิศตะวันออกของพระบุษบทภายในองค์พระเจดีย์
สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ
โรงเรียนพระปริยัติธรรมวิเวกธรรมประสิทธิ์วิทยา วัดธาตุ พระอารามหลวง
เป็นโรงเรียนระดับมัธยม นอกจากนี้วัดธาตุยังมีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร วิทยาเขตขอนแก่น) ปัจจุบันย้ายไปตั้งอีกที่หนึ่งแล้ว
อนุสาวรีย์พระนครศรีบริรักษ์
อนุสาวรีย์พระนครศรีบริรักษ์ ที่วัดธาตุ พระอารามหลวง ซึ่งเป็นที่บำเพ็ญกุศลของเจ้าเมือง
วิหารพระลับ
ได้ริเริ่มก่อสร้างวิหารพระลับขึ้น ในปี พ.ศ.2556 โดยได้ทุนเริ่มแรกจากงานกฐินพระราชทานโดย นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ร่วมกับคณะผู้บริหารพนักงาน กลุ่มธนชาต และผู้มีจิตศรัทธา
ประตูทางเข้าวัด
ประตูทางเข้าวัดด้านหลังสร้างเมื่อ ปี พ.ศ.2510 มีสัญลักษณ์รูปพระปิดทวาร 9 หมายถึง ไม่ยินดียินร้ายกับกิเลสทั้งหลาย หมายถึงดับสนิท อาสวะกิเลสต่างๆ ไม่อาจที่จะเข้ามาแผ้วพานได้เลย โดย พระธรรมขันต์โอสถ ขอนแก่น เป็นผู้สร้าง ซึ่งนายโบ ตราชู เจ้าของร้านพระธรรมขันต์โอสถ พร้อมกับ นายถาวร นายเรืองชัย(ตุ๊) ตราชู ได้ถวายตึกโรงพิมพ์พระธรรมขันต์กับโรงงานต่าง ๆ บ้านพร้อมที่ดินทั้งหมดเป็นสมบัติของวัดธาตุร่วมด้วย
แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่น่าสนใจโดยรอบบึงแก่นนคร จังหวัดขอนแก่น ติดตามได้ใน หัวข้อ “แหล่งท่องเที่ยวสถานที่ศักดิ์สิทธิ์รอบบึงแก่นนคร จ.ขอนแก่น: ประวัติศาสตร์การหาอยู่หากิน ปรัชญาชีวิต และพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ศูนย์รวมจิตใจ”
…..
ขอขอบพระคุณ
ข้อมูลจากป้ายนิเทศก์ของ วัดธาตุ พระอารามหลวง
ภาพถ่ายพระลับองค์จริง โดย คุณภพพล เกษมสันต์ ณ อยุธยา
เรื่องและภาพโดย สุทธวรรณ บีเวอ อีสานอินไซต์
ภาพถ่ายหน้าบทความ โดย ทิม บีเวอ