อนุสาวรีย์พระนครศรีบริรักษ์ ริมบึงแก่นนคร เมืองขอนแก่น (Pra Nakhon Sri Borirak Monument, Khon Kaen)
ประวัติอนุสาวรีย์พระนครศรีบริรักษ์
อนุสาวรีย์พระนครศรีบริรักษ์ ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบึงแก่นนคร เมืองขอนแก่น บริเวณสี่แยกหน้าสำนักประชาสัมพันธ์เขต 1 ขอนแก่น
ประชุมพงศาวดาร ภาค 70 ตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉบับพระยามหาอำมาตยาธิบดีกล่าวว่า เจ้าหน่อกษัตริย์ พระนัดดาหรือพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช เจ้านครเวียงจันทน์ ครั้งราชาภิเษกแล้ว สมณพราหมณาจารย์ ท้าวพระยาทั้งปวงถวายพระนามว่า “เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูร” เป็นเจ้าเอกราชครองราชสมบัติ ตามโบราณราชประเพณี กษัตริย์ในมาลาประเทศแล้ว เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูร จึงให้ทำระเนียดไม้เนื้อแก่นสร้างเป็นเมืองขึ้น ที่ตำบลศรีสุมังแล้วเปลี่ยนพระนามเมืองซึ่งเดิมชื่อ “นครกาลจำปากนาคบุรีศรี” เป็น “นครจำปาบาศักดิ์นาคบุรีศรี” แล้ว เจ้าแก้วศรีสมุทพุทธางกูร ก็จัดแจงราชการบ้านเมือง ตั้งเจ้านายและแสนท้าวพระยา ให้ได้ตำแหน่งอย่างนครเวียงจันทน์ “พระยาเมืองแสน” เป็นเสนาฝ่ายขวา พระยาปลัดขวา พระยาเชียงเหนือ พระยาเมืองฮามนามฮุงศรีสอง เมืองสมุห์บัญชี สุวอกรมหนึ่ง และมาจนถึงตำแหน่ง “สี่ท้าวช้าง” ซึ่งมี นาเหนือ นาใต้ หมื่นนา “เมืองแพน” คงจะเป็นตำแหน่ง “จตุลังคบาท” นายทหารประจำ 4 เท้าช้าง ของพระมหากษัตริย์ เมื่อทรงเสด็จออกราชการสงคราม เมื่อ พ.ศ.2256
ปี พ.ศ.2322 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงรวมอาณาจักรล้านช้าง เข้ามาอยู่ในขอบขัณทสีมาของอาณาจักรสยาม มีสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพ ได้อพยพไทเวียงจันทน์ ไทหลวงพระบาง ไทจำปาศักดิ์ ราษฎรให้ไปอยู่หัวเมืองปริมณฑล คือ สระบุรี เพชรบุรี และจันทบุรี เชื้อพระวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ให้เข้าไปอยู่นครหลวงกรุงธนบุรี นางคำแว่นธิดาเพียเมืองแพน รับราชการอยู่ในพระราชสำนักนครเวียงจันทน์ ได้ไปอยู่และเป็นภรรยาของสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก
เพียเมืองแพน บิดาของนางคำแว่นได้พาผู้คนสมัครพรรคพวกข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่บ้านชีโหล่น (บ้านดอนบม อบต.เมืองเก่า อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น) แขวงเมืองสุวรรณภูมิ (เมืองสุวรรณภูมิ มีอาณาเขต จรดเมืองภูเวียง)
ปี พ.ศ.2325 เกิดเหตุการณ์จลาจลขึ้นในกรุงธน สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ทำการปราบปรามจราจลในกรุงธนบุรีจนบ้านเมืองสงบ ประชาชนจึงกราบทูลพระองค์ขึ้นปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325
เพียเมืองแพนที่มีธิดา(นางคำแว่น) เป็นพระสนมเอก มีศักดิ์เป็นเจ้าจอมได้ทราบข่าวว่าท้าวคำพาวหรือเมืองแสนขอตั้งเมืองชลบท (ชนบท) จึงปรึกษากับเจ้าจอมคำแว่น จะขอแยกเมืองออกจากเมืองสุวรรณภูมิ และขอขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร เมื่อธิดารับว่าจะกราบทูลโปรดเกล้าฯ ให้
ปี พ.ศ.2332 เพียเมืองแพนได้พาผู้คนสมัครพรรคพวกประมาณ 330 คน อพยพจากบ้านชีโหล่น (บ้านดอนบม) มาอยู่บ้านบึงบอน บ้านโนนกะยอม บ้านโนนกะเทียม ซึ่งเป็นหมู่บ้านติดกันมีระยะห่างจากบ้านดอนบมประมาณ 100 เส้น แล้วขอตั้งเมืองต่อพระยานครราชสีมา จากนั้นเพียเมืองแพน ก็ได้ตั้งเสาบือบ้าน ศาลมเหศักดิ์(เทวดาผู้ยิ่งใหญ่) สร้างวัดหนองแวง วัดกลาง ปฏิสังขรณ์วัดธาตุโนนทอง ซึ่งเข้าใจว่าสร้างพร้อมกันกับวัดโพธิ์บ้านโนนทัน ให้ครบ 3 วัด ตามประเพณีสร้างโฮงการ (ที่ว่าราชการ) อยู่ทิศเหนือวัดกลาง
ปี พ.ศ.2340 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมยกบ้านบึงบอนขึ้นเป็นเมืองขอนแก่น ยกฐานนันดรศักดิ์เพียเมืองแพนขึ้นเป็นพระนครศรีบริรักษ์ เจ้าเมืองขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร
วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2524 นายชัยเฉลิม นาคประเวศน์ (ขุนนาคประเวศศึกษาการ) เริ่มก่อสร้างอนุสาวรีย์ พระนครศรีบริรักษ์ (เพียเมืองแพน) ขึ้นบนพื้นที่ซึ่งเคยตั้งเมืองขอนแก่นมาก่อน วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2525 ทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์
อนุสาวรีย์พระนครศรีบริรักษ์(เพียเมืองแพน) ตั้งอยู่ในมุมที่มีต้นไม้ปกคลุมไม่สมกับเป็นบุคคลสำคัญของบ้านเมือง นายพีระพล พัฒนพีระเดช นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ได้จัดทำประชาพิจารณ์หลายครั้ง จึงได้ข้อยุติ คือ ควรจัดปรับแต่งองค์อนุสาวรีย์ให้อยู่ในตำแหน่งเช่นปัจจุบัน
วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2545 เทศบาลนครขอนแก่น ได้เริ่มปรับปรุงองค์ประกอบให้มีสภาพภูมิทัศน์ที่สวยงาม พร้อมเคลื่อนย้ายองค์อนุสาวรีย์พระนครศรีบริรักษ์ (เพียเมืองแพน) มาประดิษฐานอยู่บนที่เด่นเป็นสง่า สมกับบรรพบุรุษผู้สร้างเมืองขอนแก่น ให้ลูกหลานชาวเมืองดอกคูนเสียงแคนได้รำลึกถึงคุณประโยชน์อันมหาศาลที่ท่านได้สร้างไว้ วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2545 เทศบาลนครขอนแก่นได้ทำพิธีเปิดและสักการะดวงวิญญาณของท่าน เพื่อให้ประชาชนเข้าไปกราบไหว้ บูชา และศึกษาประวัติท่านสืบไป (ข้อมูลจากป้ายที่อนุสาวรีย์พระนครศรีบริรักษ์)
……………….