โดย นายสัทธา อินทรพาณิช
(ปี พ.ศ.2524, ความบางตอนจากหนังสือ ประวัติสกุล อินทรพาณิช)
ความที่เล่ากันมาในหมู่ผู้ไทกะปอง ซึ่งข้าพเจ้าจะนำมาเล่าอีกต่อหนึ่งดังต่อไปนี้..
วันหนึ่งจะเป็นเดือนปีใดไม่ปรากฏ ก็เห็นจะประมาณปี พ.ศ.2387 เพราะพระมหาสงครามกับเจ้าอุปราชยกทัพกลับเมื่อ พ.ศ.2386 มีเจ้านายฝ่ายเมืองนครพนมไปถึงเมืองกะปอง เกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองและกรมการเมืองให้พาราษฎรข้ามแม่น้ำของ(แม่น้ำโขง) มาอยู่ทางฝั่งขวา เมื่อมาแล้วจะไปตั้งบ้านเมืองอยู่ที่ใดก็ไม่ว่า ผู้ที่เคยเป็นเจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร และตำแหน่งกรมการใด ๆ มาก่อน ก็จะให้เป็นเจ้านายครองตำแหน่งเดิม การที่จะอยู่ในเมืองเดิมต่อไปนั้นเป็นการลำบากหลายประการ เป็นต้นว่า ญวนมักจะมารบกวนบ่อย ๆ กว่าทางกรุงจะยกมาช่วยก็ไม่ทันการณ์เพราะอยู่ไกล อีกประการหนึ่งทางเมืองเดิมนี้อดอยากกันดาร มีป่าเขาหาที่ทำไร่ทำนากันก็ยาก ปูปลาอาหารก็หากินยาก เมื่อผู้คนมากขึ้นก็จะยิ่งลำบากกันมากขึ้น แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการบังคับเหมือนคราวก่อน ๆ แต่ขอให้ปรึกษาหารือกับบ่าวไพร่ราษฎรให้พร้อมก่อน จะให้เวลาพิจารณากัน 7 วัน แล้วตอบให้ทราบเพื่อจะได้จัดทหารมาคุ้มกันช่วยเหลือเมื่อเวลาเดินทาง
เมื่อเจ้านายหมู่นั้นเคลื่อนย้ายไปเมืองอื่น ขณะนั้นเมืองกะปองไม่มีเจ้าเมือง เพราะเจ้าเมืองเดิมคือท้าวไชยเชษฐ์ที่อพยพไปก่อน และไปตั้งอยู่ที่เมืองส่องนาง แล้วยังคงเหลือกรมการผู้ใหญ่อยู่ แต่เจ้าอุปฮาดกับท้าวแก้ว ลูกชายเจ้าเมืองและญาติพี่น้องกับเจ้าราชนิกูล ซึ่งเป็นเขยของเจ้าเมืองเดิมและกรมการผู้น้อยที่ไม่ถูกกวาดต้อนครั้งก่อนเท่านั้น ท่านเหล่านี้ได้ประชุมกันว่าจะไปตามที่เจ้านายฝ่ายไทยมาชักชวนหรือไม่ ที่ประชุมเห็นควรไปตามคำชักชวนพวกหนึ่ง จึงเป็นอันว่า ใครจะไปก็ตามใจ ใครจะอยู่ก็ตามใจ พอเลิกประชุมเจ้าอุปฮาดก็แต่งคนไปเมืองญวน เพื่อแจ้งเหตุให้ญวนรู้และมาขัดขวาง
เหตุผลที่ฝ่ายจะไปนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันว่า ญวนเคยยกทหารมากวาดต้อนเอาผู้คนที่เป็นหนุ่มสาวไปเป็นทาสมันที่เมืองญวนทุกๆ ปี ใครหนีทันก็รอดใครหนีไม่ทันก็ถูกญวนจับเอาตัว ถ้ามันสืบรู้ว่าเรือนใดมีคนหนี มันก็จะบังคับให้พ่อแม่ติดตามมาให้ ถ้าไม่ได้มันก็จับเด็กมัดใส่ครก แล้วเอาสากตำจนตายไปต่อหน้าพ่อแม่ ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่มีเป็นต้นว่า วัวควาย ข้าวเปลือก ข้าวสาร ไก่ กา หมู หมา มันกวาดเอาไปจนหมด บางคนที่พอจะฉลาดหน่อยเวลาทำไร่ได้ข้าวแล้วจะไม่นำมาเก็บในบ้าน แปลว่าต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เพราะไม่รู้ว่าญวนจะมาเมื่อไร การที่ญวนมาข่มเหงได้นั้น มันอ้างว่าเจ้าอนุวงศ์ยกแผ่นดินตอนนั้นให้ญวน แล้วใครอยู่ในแผ่นดินนั้นก็ต้องเป็นขี้ข้าญวนหมด อีกประการหนึ่ง ว่าอาหารการกินก็แสนจะอดอยาก ไปหาปลาทั้งวันได้มาไม่พอจะป่น วันหนึ่ง ๆ ไม่มีงานอะไร นอกจากพากันไปหากินใส่ปากใส่ท้องเท่านั้น ที่ทำนามีน้อย ห้วยหนองคลองบึงก็มีแต่ขนาดเล็ก ๆ พอตกหน้าแล้งน้ำก็แห้งขอด พื้นดินทั่ว ๆ ไปก็เป็นแต่หินแฮ่และดินทราย พลเมืองต้องทำไร่เลื่อนลอยพอได้ ปลูกข้าวเผือกมันกินไปปีเดียว ก็ทิ้งไปทำที่ใหม่ เหตุผลเหล่านี้จึงทำให้ผู้สมัครใจหนีไปตายเอาดาบหน้า คราวนั้นมีผู้สมัครใจหนีเป็นส่วนมากและตกลงใจจะคอยให้คำตอบต่อเจ้านายไทย และเตรียมตัวเก็บข้าวของที่มีไปด้วย แต่พอรู้ว่าเจ้าอุปฮาดใช้คนไปบอกญวน และระยะทางเมืองกะปองไปยังเมืองญวนเวลานั้นก็เพียงเดินเท้าแค่ 3 คืนเท่านั้น หากเป็นเรื่องด่วนอาจเร็วเข้ากว่านั้น หากชักช้าอยู่ ญวนมาถึงก็มีหวังตายกันหมด ดังนั้นท้าวแก้วกับเจ้าราชนิกูลจึงรวบรวมพรรคพวกพี่น้องเอาเท่าที่จะไปกันได้ทันทีเท่านั้น ได้ผู้คนทั้งหมดคราวนั้นประมาณ 300 คน พากันไปทั้งกลางคืนของวันที่ประชุมนั้นเอง การหนีคราวนั้นได้แต่ตัวกับทรัพย์พอที่จะหาบจะคอนมาได้เท่านั้น ส่วนแม่วัวตัวควายหมูหมาเป็ดไก่ไม่ได้มาเลย ต้องเดินทางอย่างรีบด่วนเป็นเวลาถึง 3 คืน จึงถึงฝั่งน้ำของตรงข้ามกับเมืองธาตุพนม ทางฝ่ายไทยจึงจัดเรือไปรับข้ามฟากมาได้ และนำตัวไปมอบแก่พระสุนทรราชวงศาที่เมืองนครพนม พระสุนทรราชวงศาจึงจัดให้พามาอยู่ที่เมืองสกลนคร
เมื่อมาถึงเมืองสกลนครแล้ว เจ้าเมืองจัดให้ครัวอพยพไปตั้งชมรมอยู่ชายหนองหานทางทิศเหนือของเมืองสกลนคร ตรงที่เป็นที่ตั้งโรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล และเรือนจำขณะนี้ พื้นที่ตรงนั้นเวลานั้นพอตกหน้าฝนมา น้ำจะขึ้นมาแฉะไปหมด ทำให้ผู้ไทที่เคยอยู่แต่ตามที่สูงมาก่อนเกิดความเดือดร้อนเจ็บป่วยล้มตายกันมาก ความเดือดร้อนทั้งนี้ เจ้าราชนิกูลเคยนำไปร้องเรียนต่อท่านเจ้าเมือง ขอขยับขยายไปตั้งอยู่นอกเมือง เพื่อให้ราษฎรได้มีที่ทำกินและพ้นจากต้องมาแช่น้ำอยู่อย่างนั้น แต่เจ้าเมืองไม่อนุญาต และถือว่าผู้ไทเหล่านี้เป็นเชลย ไม่มีสิทธิจะร้องเรียนใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากผู้ไทกะปอง ยังมีพวกไทโย้ย เมืองภูวา อีกพวกหนึ่งที่มีสภาพเหมือนกัน พวกผู้ไทและไทโย้ย สู้ทนลำบากอยู่อย่างนั้นตั้ง 3 ปี ในระยะนั้น ผู้หญิงต้องมีหน้าที่ตำข้าวขึ้นโฮงเจ้านาย พอได้ส่วนแบ่งไปเลี้ยงครอบครัวบ้าง ผู้ชายต้องไปเกี่ยวหญ้ามาเลี้ยงม้าเจ้านายเป็นประจำ คือ ถูกใช้อย่างเชลยนั่นเอง มียกเว้นบ้างก็เฉพาะผู้เป็นหัวหน้าเท่านั้น
เมื่อเหลืออดเข้าเจ้าราชนิกูล หัวหน้าผู้หนึ่งของผู้ไท กับท้าวจารย์คำ หัวหน้าผู้หนึ่งของไทโย้ย ได้พาสมัครพรรคพวกที่พอใจจะไปด้วย หนีจากเมืองสกลนคร โดยไม่ต้องรออนุญาตจากเจ้าเมืองออกไปทางตะพานหิน เจ้าเมืองให้คนมาห้ามปราม แต่เจ้าราชนิกูลและท้าวจารย์คำไม่ยอมหยุด พาพวกไปจนได้ พวกผู้ไทได้พากันไปอยู่ที่ห้วยบ้านพุ่มเชิงเขาภูพาน พวกไทโย้ยยกไปตั้งอยู่ที่กุดแอ่(บ้านแอ่) เมื่อปี พ.ศ.2400 ให้ครอบครัวที่ติดตามมาพักอยู่ที่นั้น ๆ เป็นการชั่วคราว แล้วหัวหน้าทั้ง 2 จึงพากันไปหาพระสุนทรราชวงศา ที่เมืองยโสธร ทวงความหลังที่ว่าจะขอตั้งเมืองให้ คอยมาด้วยความทรมานเป็นเวลาหลายปีแล้ว ไม่เห็นท่านจัดการให้แต่อย่างใด พระสุนทรราชวงศาก็ดีใจหาย จัดแจงขอตั้งเมืองให้ทันที โดยขอตั้งที่เมืองวาริชภูมิให้ที่บ้านหนองหอย และขอตั้งเมืองวานรนิวาสให้ที่บ้านกุดลิงชุมแสง ขึ้นกับเมืองยโสธร ทั้งสองท่านคอยอยู่จนได้รับตราภูมิตั้งเมืองแล้วจึงพากันกลับมาหาพรรคพวก พอมาถึงทราบว่าเจ้านายเมืองสกลนครให้คนตามไปจับเอาชายฉกรรจ์จากพวกผู้ไทและพวกไทโย้ยเข้าไปกักตัวไว้ที่เมืองสกลนครหมด พวกที่ถูกจับต้องทำงานหนักรับใช้เจ้านาย เช่น ตักน้ำ ตำข้าว หาหญ้ามาเลี้ยงช้างเลี้ยงม้า หาหลัวหาฟืนมาให้เจ้านายใช้ ท่านหัวหน้าทั้งสองจึงติดตามเข้าไปพร้อมทั้งนำตราภูมิเข้าไปอ้างอิงด้วย ชายฉกรรจ์เหล่านั้นจึงถูกปล่อยตัว แต่เจ้าเมืองยึดตราภูมิไว้เสีย โดยมีข้ออ้างว่าคนทั้งสองก่อการกบฏต่อเมืองสกลนคร ท่านทั้งสองจึงหนีจากอาณาเขตเมืองสกลนคร ข้ามน้ำอูนอันเป็นเขตแดนเมืองสกลนครกับเมืองหนองหานในสมัยนั้น พวกผู้ไทพากันไปอยู่ที่ฝั่งลำห้วยปลาหาง ที่นั้นมีหนองน้ำเล็ก ๆ อยู่หนองหนึ่งมีชื่อว่า หนองหอย และท้าวจารย์คำก็พาพรรคพวกไปอยู่ที่บริเวณใกล้ๆ กับกุดลิง ซึ่งห่างจากที่ตั้งบ้านอยู่ประมาณ 1 กิโลเมตร ไม่ได้พากันไปอยู่ในที่ที่พระสุนทรราชวงศากำหนดให้และบางทีอาจไม่รู้ว่าตำแหน่งทั้งสองนั้นอยู่ที่ใด กอปรทั้งพวกผู้ไทและไทโย้ยเวลานั้นก็เหลือน้อยคนแล้ว ครั้นจะย้ายไปอยู่ไกลที่ที่เคยอยู่ก็ไม่รู้ว่าจะดีไปกว่าแถบที่เคยเห็นมาแล้วนี้ อีกทั้งเข้าใจว่าเมืองพวกตัวมันน้อยคน ไปอยู่ที่ใหม่ ซึ่งพลเมืองส่วนมากเป็นไทลาว ก็ไม่ค่อยจะเข้ากันนักกับผู้ไทและไทโย้ย จึงไม่พากันไปอยู่ที่บ้านหนองคอยและกุดลิงชุมแสง
เมื่อหนีเข้าไปอยู่ในเขตเมืองหนองหานแล้ว ท้าวราชนิกูลจึงได้ไปขอขึ้นกับเมืองหนองหาน พระพิทักษ์เขตขันธ์เจ้าเมืองหนองหานก็รับไว้ และแต่งให้เจ้าราชนิกูลเป็นแม่กองปกครองชาวผู้ไท
เจ้าราชนิกูลมีลูกชายอยู่คนหนึ่งที่มีความรู้ดี โดยได้ไปเรียนหนังสือไทยอยู่ที่เมืองขอนแก่น พอโตเป็นหนุ่มจึงกลับมาช่วยราชการกับบิดา ท่านผู้นี้ชื่อ ท้าวสุพรหม
ส่วนผู้ไทและไทโย้ยที่ไม่ได้หนีจากเมืองสกลนครนั้น ฝ่ายผู้ไทมีท้าวแก้วลูกชายเจ้าเมืองกะปองเป็นหัวหน้า ฝ่ายไทโย้ยก็มีท้าวเทพกันยาเป็นหัวหน้า ท่านทั้งสองนี้ต่อมาได้ขอแยกครอบครัวชาวผู้ไทและไทโย้ยจากเมืองสกลนคร และได้รับอนุญาตโดยดี ผู้ไทพวกท้าวแก้วพากันมาอยู่ที่บ้านนาเหมืองและบ้านพังโคน ส่วนท้าวเทพกันยาได้พาพรรคพวกมาตั้งอยู่ที่บ้านโพธิ์สว่างริมฝั่งน้ำปลาหาง ต่อมาท่านทั้งสองได้เป็นเจ้าเมือง คือ ท้าวแก้ว ต้นสกุล “วงศ์ประทุม” ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระบำรุงประชาราษฎร์ ยกบ้านนาเหมืองเป็นเมืองจำปาชนบท ท้าวเทพกันยาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระสิทธิ์ศักดิ์ภักดี ยกบ้านโพธิ์สว่างเป็นเมืองสว่างแดนดิน แต่เมืองทั้งสองนี้มีการต้องยุบต้องย้าย คือ เมืองจำปาชนบทถูกยุบจากบ้านนาเหมือง เพราะอยู่ใกล้กับเมืองพรรณานิคมเกินไป เจ้าเมืองคนใหม่ซึ่งมีนามตามนามของบิดาคือ พระบำรุงประชาราษฎร์ ได้อพยพญาติพี่น้องใกล้ชิดไปตั้งอยู่ที่บ้านม่วง และขอตั้งเมืองที่นั่น พอดีกับขณะนั้นทางราชการได้ระงับการตั้งเมืองใหม่ จึงไม่ได้เป็นเมือง ต่อมาเมื่อประมาณ 10 ปีมานี้ บ้านม่วงจึงได้รับการยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอขึ้นกับวานรนิวาสและต่อมาได้รับยกฐานะเป็นอำเภอบ้านม่วงบัดนี้ ส่วนเมืองสว่างแดนดินก็ถูกยุบก็เพราะเหตุเดียวกัน เจ้าเมืองได้ย้ายเมืองไปตั้งอยู่ที่บ้านดื่อศรีคันชัย ริมฝั่งแม่น้ำยม ถูกทักท้วงว่ายังใกล้กับเมืองพรรณนาอยู่ จึงย้ายอีกทีไปตั้งที่บ้านหันและคงเป็นอำเภอสว่างแดนดินจนบัดนี้ ส่วนเมืองทางวาริชภูมินั้นไม่ได้เป็นเมืองเต็มรูป คือ ยังไม่มีที่จะตั้งเมืองให้แน่นอนทั้ง ๆ ที่เมืองทั้งสี่ คือ เมืองจำปาชนบท เมืองสว่างแดนดิน เมืองวานรนิวาส และเมืองวาริชภูมิ ได้รับพระราชทานให้ตั้งเมืองได้แล้แต่ปี 2410 เมื่อหาที่จะตั้งไม่ได้ก็ดื้อแพ่งอยู่ที่เดิมไปพลางๆ แต่ก็ยังขึ้นกับเมืองหนองหานอยู่ตามเดิม
ครั้นในปี พ.ศ.2416 ทางกรุงเทพ ฯ ได้รับรายงานจากเมืองหลวงพระบางว่า ฮ่อพวกหนึ่งจำนวนประมาณ 2,000 คน ยกพวกมาปล้นเอาเมืองแถนได้ และว่าจะยกเลยลงมาตีเอาเมืองหลวงพระบางด้วย และรายงานจากเมืองหนองคายเมื่อปี พ.ศ.2417 ว่าฮ่อได้มาตีปล้นเอาเมืองเชียงขวางได้ เจ้าอุปฮาดเมืองเชียงขวางต่อสู้กับฮ่อจนตายในที่รบ และว่าจะยกลงมาตีปล้นเอาเมืองเวียงจันทน์และหนองคายด้วย พอดีขณะนั้นพระยามหาอำมาตยาธิบดี(ชื่น กัลยานมิตร) มาเป็นข้าหลวงใหญ่ภาคอีสานกำลังสักเลก (คัดเลือกทหาร) ฉกรรจ์อยู่ที่เมืองอุบล ได้รับคำสั่งให้เป็นแม่ทัพใหญ่ไปปราบฮ่อโดยให้เกณฑ์ไพร่พลจากเมืองในภาคอีสานทั้งหมด ซึ่งเวลานั้นมีไม่กี่เมือง คือ เมืองอุบล ยโสธร ร้อยเอ็ด สุวรรณภูมิ ขอนแก่น สกลนคร นครพนม หนองหาน หนองคาย เป็นทัพหน้า และให้เมืองนครราชสีมา สุรินทร์ นางรอง ขุขันธ์ เป็นทัพหนุน ให้เกณฑ์ส่งโดยด่วน ท่านแม่ทัพใหญ่ไปรอรับทัพหัวเมืองอยู่ที่หนองคาย โดยเฉพาะเมืองหนองหานได้ถึง 5,000 คน พอกองทัพหน้าพร้อมแล้ว ก็ยกจากเมืองหนองคายเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2418 ตรงไปเวียงจันทน์ทันที พอดีขณะนั้นฮ่อได้ยกมายึดเมืองเวียงจันทน์ได้แล้ว และตั้งค่ายอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์นั่นเอง โดยแบ่งเป็นสามค่าย เตรียมจะยกมาเมืองหนองคาย คือ ตั้งอยู่ที่วัดจันทน์ค่ายหนึ่ง ที่บ้านสีฐานค่ายหนึ่ง ที่โพนพานาเลาอีกค่ายหนึ่ง พอกองทัพไทยไปถึง ก็ยกเข้าตีทันทีพร้อมกันทั้ง 3 ค่าย การรบครั้งนั้นถึงขั้นตะลุมบอน ลิวสีโก๊ะ แม่ทัพ ลีสีโป รองแม่ทัพฮ่อถูกไทยฆ่าตายในที่รบที่ค่ายวัดจันทน์ กวานซาย น้องชายแม่ทัพแตกมาจากค่ายสีฐานจะมาหาพี่ชายที่ถูกจับเป็นได้ หัวหน้าค่ายโพนทานาเลาชื่อ มกสีโก๊ะ ถูกปืนไทยตายในที่รบ พวกที่เหลือตายก็พาหนีไปค่ายใหญ่ที่ทุ่งเชียงคำ หมดพอดี ขณะนั้นกองทัพฝ่ายเหนือ ซึ่งขึ้นไปช่วยเมืองหลวงพระบางมาช่วย จึงสมทบกับกองทัพของพระยามหาอำมาตย์ยกไปตีฮ้อที่ทุ่งเชียงคำ ค่ายฮ่อที่ทุ่งเชียงคำก็แตกและพากันหนีเข้าไปในแดนญวนหมด กองทัพของพระยามหาอำมาตย์จึงยกกำลังมาพักฟังเหตุการณ์อยู่ที่เมืองหนองคาย
ในระหว่างพักรบอยู่ที่เมืองหนองคายนั้น ท้าวสุพรหม ผู้แทนเจ้ากองทัพไทยจากบ้านหนองหอย ซึ่งนำพลรบไปสมทบกับเมืองหนองหานจำนวน 30 คน ได้รับข่าวว่าเจ้าราชนิกูล ผู้เป็นบิดาป่วยหนักจึงขอลาท่านแม่ทัพไปเยี่ยม ก็พอดีท่านบิดาถึงแก่กรรม เมื่อได้ทำการฌาปนกิจศพบิดาแล้ว จึงกลับไปเมืองหนองคาย และเข้ารายงานตัวต่อท่านแม่ทัพ ท่านแม่ทัพชมเชยว่าท้าวสุพรหมเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีดีมาก ทั้งเป็นผู้กล้าหาญในการปราบฮ่อด้วยเป็นที่โปรดปรานของท่านแม่ทัพมาก ในจังหวะนั้นเองท้าวสุพรหมก็นำเรื่องเมืองวาริชภูมิเข้าหารือกับพระพิทักษ์เขตขันธ์ เจ้าเมืองหนองหาน ขอให้ความช่วยเหลือด้วย พระพิทักษ์เขตขันธ์จึงนำเรื่องเมืองวาริชภูมิกราบเรียนท่านแม่ทัพ ท่านแม่ทัพจึงเรียกบรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่มาในกองทัพหารือสอบสวนข้อเท็จจริง โดยมีท้าวสุพรหมเป็นผู้ให้การ ท้าวสุพรหมได้เล่าเรื่องเดิมแต่ครั้งอยู่เมืองกะปองจนถึงที่สุดให้ท่านที่ประชุมฟัง ซึ่งขณะนั้นมีเจ้าเมืองหนองคาย เจ้าเมืองหนองหาน เจ้าเมืองมุกดาหาร เจ้าเมืองชัยบุรี เจ้าเมืองท่าอุเทน และเจ้าเมืองกาฬสินธุ์รับรองว่าเป็นความจริงทุกประการ แต่เจ้าเมืองสกลนครนิ่งเสีย เมื่อการสอบสวนได้ความดังนี้ ท่านแม่ทัพคือ พระยามหาอำมาตย์ก็รับรองว่าจะดำเนินการเรื่องนี้ให้สำเร็จ แต่จะขอให้ไปตั้งเมืองวาริชภูมิอยู่ที่บ้านป่าเป้า เมืองไพร ในเขตเมืองหนองหาน และให้ขึ้นเมืองหนองหานต่อไป ต่อมาในปี พ.ศ.2420 ก็ได้รับตราภูมิใหม่ ให้ตั้งเมืองวาริชภูมิที่บ้านป่าเป้า ขึ้นกับเมืองหนองหาน พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ท้าวสุพรหมเป็นพระสุรินทรบริรักษ์ เจ้าเมืองวาริชภูมิแต่นั้นมา แต่ถ้าจะว่าไปแล้วการที่เมืองวาริชภูมิได้ย้ายเมืองไปอยู่ที่บ้านป่าเป้า ขึ้นอยู่กับเมืองหนองหานนั้น นับว่าขัดต่อพระบรมราชโองการอย่างยิ่ง คือ เมื่อขอตั้งเมืองก็ได้รับความสนับสนุนจากเจ้าเมืองหนองหาน โดยรับว่าจะไปตั้งเมืองที่บ้านป่าเป้าจนได้รับพระราชทานยศถาบรรดาศักดิ์ในฐานะที่เป็นเจ้าเมืองป่าเป้า พอได้มาแล้วกลับไม่ปฏิบัติตาม คือไม่ยอมย้ายเมืองไปอยู่ที่บ้านป่าเป้าจริง เมืองวาริชภูมิอาจเป็นเมืองใหญ่มากคือพื้นที่ตรงนั้นว่างมาก และห่างจากเมืองต่างๆ ดังนี้ ห่างจากเมืองหนองหานทางประมาณ 80 กิโลเมตร จากเมืองสว่างแดนดินเดินทางประมาณ 40 กิโลเมตร ห่างจากเมืองโพนพิสัยทางประมาณ 40 กิโลเมตร ที่ดินอุดมสมบูรณ์มีที่ทำไร่ทำนากว้างขวาง มีลำน้ำสงครามซึ่งมีปลาชุกชุม จะขัดข้องก็แต่ทางคมนาคมเท่านั้น แต่ถ้าเป็นเมืองอยู่จนบัดนี้เรื่องขัดข้องนี้จะหมดไป น่าเสียดายอยู่
เมื่อได้เป็นเจ้าเมืองเต็มตัวแล้ว พระสุรินทรบริรักษ์ปูนบำเหน็จแก่ญาติพี่น้องที่อุตส่าห์ติดตามกันมาแต่เมืองกะปอง และได้ร่วมทุกข์อย่างแสนสาหัสมาด้วยกันโดยทั่วหน้า บำเหน็จที่ท่านให้ไม่ใช่ยศถาบรรดาศักดิ์หรือทรัพย์สินเงินทองแต่อย่างใด แต่เป็นการรื้อฟื้นถึงเชื้อสายของต้นตระกูลเดิมแต่เมื่ออยู่เมืองกะปอง แล้วอพยพมาด้วยกันทนทุกข์ทรมานด้วยกัน จนกระทั่งได้บ้านได้เมืองอยู่กินเป็นปึกแผ่น บุคคลเหล่านี้เป็นผู้เสียสละเพื่ออนาคตของลูกหลานโดยแท้ สมควรที่จะให้มีนามปรากฏแก่ลูกหลานไว้เป็นที่รำลึก ดังนั้นท่านจึงให้แต่ละคนที่ยังเหลืออยู่ว่าต้นนั้นสืบเชื้อสายมาจากผู้ใด ให้พยายามสืบไปให้ถึงเมืองกะปอง และให้ถือว่าคนที่เมืองกะปองนั้นเป็นต้นเหง้าของเชื้อสายของตน เมื่อได้ความแล้ว ท่านจึงตั้งนามให้แก่ผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ที่สุดในเชื้อนั้นเสียใหม่ ผู้ที่มีเชื้อเจ้าเมืองมาก็ให้มีคำหน้าว่า ท้าว แล้วมีชื่อตั้งแต่ท้าวไปอีกที เช่น ท้าวไชยกุมาร ท้าวไชยสุริยง ท้าวเทพสุริวงศ์ ท้าวไชยจักร เป็นต้น และตั้งกรรมการเมืองครบตามตำแหน่งอย่างธรรมเนียมของข้าราชการทางฝ่ายลาว เช่น อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร เมืองแสน เมืองจันทน์ ซาเนต ซานนท์ เป็นต้น ผู้ดำรงตำแหน่งกรมการเมืองเหล่านี้ก็เลือกจากคนสำคัญที่กล่าวมาแล้ว
เมื่อได้ตั้งเมืองแล้ว นึกว่าเมืองวาริชภูมิจะสิ้นเคราะห์กรรมเสียทีแต่ยังไม่สิ้นจนได้ คือ เมื่อทางรัฐบาลได้จัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้น เมืองวาริชภูมิถูกยุบเป็นอำเภอ พระสุรินทรบริรักษ์เป็นนายอำเภอคนแรก ต่อมาท่านลาออกจากราชการเพราะชรามาก ทางราชการจึงตั้งให้พระบริบาล ฯ มาเป็นนายอำเภอ ครั้งถึง พ.ศ.2455 อำเภอวาริชภูมิก็ถูกยุบเป็นตำบลวาริชภูมิ ขึ้นกับอำเภอพรรณนานิคม พระสุรินทรบริรักษ์ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อ พ.ศ.2457 ภายหลังที่เมืองถูกยุบแล้ว เป็นตำบลอยู่ 14 ปี พ.ศ.2469 ได้ยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอวาริชภูมิ ขึ้นกับอำเภอพรรณนานิคม เป็นกิ่งอยู่นาน 17 ปี จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ เมื่อ พ.ศ.2496 ขึ้นกับจังหวัดสกลนคร เห็นจะสิ้นกรรมเสียทีกระมัง
ขอให้ผู้ไทกะปองทั้งหลายจงจำเอาไว้ว่า การที่ผู้ไทกะปองอพยพมาจากเมืองกะปองครั้งนั้น ไม่ได้ถูกกวาดต้อนมา ไม่ได้เป็นเชลยของกองทัพ แต่มาด้วยความสมัครใจมาสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงสยาม คือมาอย่างมีเกียรติ แต่เพราะเรามากันครั้งนั้นเป็นคนกลุ่มน้อยจึงเสียงไม่ดัง แต่ด้วยความซื่อสัตย์ กล้าหาญ และอดทน เราจึงตั้งตัวได้ ผู้เฒ่าเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อยกมาอยู่ที่บ้านนาหอยครั้งแรกนั้น เรายังไม่ได้ทำไร่ไถนา ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องอดอยากจึงพากันไปหาของป่า ไปแลกข้าวเปลือกกับชาวบ้านโต้น บ้านม่วง เอาของฝากแล้วบอกให้ไปฝัดเอาข้าวปัดลาน ที่เขาฝัดเอาแล้ว 3 หน คิดดูเถิดว่าเขาฝัดเอาแล้วตั้ง 3 หน มันจะเหลืออีกเท่าไร แต่ด้วยมานะพยายามต่อมาชาวบ้านโต้นบ้านม่วงก็อพยพหนีผู้ไท เวลานี้ไม่รู้ว่าไปอยู่ที่ใด ที่นำเกร็ดนิทานมาเล่านี้ ประสงค์จะให้ลูกหลานผู้ไทกะปองมีตับมีบีอย่าเป็นคนเกียจคร้าน อย่าเป็นคนชั่ว ถ้าคิดจะทำชั่วก็ขอให้ละอายบรรพบุรุษของเราด้วย
ของดเล่าเรื่องความหลังของผู้ไท ที่เล่ามาแต่โดยย่อที่สุดไว้เพียงแค่นี้ หากลูกหลานผู้ใดต้องการทราบรายละเอียดกว่านี้ ก็ขอให้ไปค้นคว้าจากหนังสือพงศาวดารล้านช้าง พงศาวดารโยนก พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี หนังสือฝั่งขวาแม่น้ำโขง ของนายเติม สิงหัษฐิต หนังสือประวัติผู้ไทย เรียบเรียงโดย นายถวิล เกสรราช เท่านี้ก็เห็นจะพอ เพราะหนังสือที่อ้างนี้ ต่างก็ได้รวบรวมมาจากหนังสือมากมายหลายเล่ม.