ผญาอีสาน: สุภาษิตอีสานในภาพจิตรกรรมชั้น 5 พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวงพระอารามหลวง ขอนแก่น
ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ชั้น 5 ของพระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวงพระอารามหลวง จังหวัดขอนแก่น ได้บรรจุเรื่องราวของผญาหรือสุภาษิตอีสาน ซึ่งมีทั้งเกี่ยวข้องกับการอยู่อย่างไรให้มีความสุข ความสำเร็จ วิถีชีวิต และธรรมะ เป็นต้น โดยมีผู้วาดคือ อาจารย์ธรรมรงค์ แก้วโบราณ และได้รับความกรุณาในการอธิบายความหมายโดย ผศ.บุญธรรม ทองเรือง ข้าราชการบำนาญ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, ผศ.สุดใจ บุญอารีย์ อดีตผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, อาจารย์ธรรมรงค์ แก้วโบราณ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชมนาด บุญอารีย์ คณะมนุษยศาสตร์และสัมคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และอาจารย์ประภาพร สมภักดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอขอบพระคุณทุกท่านเป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้
ภาพที่ 1 กวางกินหมากขามป้อม ซางไปคาคอมั่ง มั่งขี่บ่อออก สามมื้อกระต่ายตาย เห็นอ้มกะเน่านำ
(กวางเป็นผู้กินมะขามป้อม แต่ไปติดคอละมั่ง ละมั่งถ่ายไม่ออก สามวันกระต่ายตาย อีเห็นก็พลอยเน่าไปด้วย)
หากทำไม่ดี คนรอบข้างหรือครอบครัวพลอยเดือดร้อน เป็นทุกข์ หรือ ได้รับผลกระทบไปด้วย แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะไม่ได้ร่วมทำผิดก็ตาม
ภาพที่ 2 ยามเมื่อเจ้ายังน้อย ให้ฮีบหมั่นเฮียนคุณ ลางเทือบุญพามี สิยศสูงเทียมฟ้า ลางเทือไปข้างหน้า สิหาเงินได้ง่าย ยามเมือเข้าป่าไม้ วิชาใช้เพิงตน
(เมื่อเจ้าอายุยังน้อย ให้รีบขยันหมั่นเพียรเรียนวิชา บางทีบุญจะพาให้มียศสูงและวันข้างหน้าก็จะหาเงินได้ง่ายกว่าคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เมื่อเข้าป่าดงการมีวิชาก็จะทำให้รอดตายได้)
ให้รีบศึกษาหาความรู้ ตั้งแต่อายุยังน้อย ความรู้จะช่วยให้เราดำรงชีวิตได้ดีในหลายๆ สถานการณ์
ภาพที่ 3 ให่เจ้าลองซีมส่ม หมากนาวสีหวานเหว่อ ต้นต่างต้นมันส่มต่างกัน
(ให้เจ้าลองชิมความเปรี้ยวของมะนาวและหมากเหว่อ ต้นต่างกัน มันเปรี้ยวต่างกัน)
อย่าคิดว่ามีสิ่งดีหรือมีคุณค่าเพียงสิ่งเดียว เพราะอาจจะมีสิ่งอื่นที่ดีกว่า หรือดีต่างกันออกไป เปรียบเหมือนมะนาวต่างสายพันธุ์ก็มีรสชาติเปรี้ยวต่างกันไป
ภาพที่ 4 ความฮู้หน่อย อย่าคิดการเมือง นุ่งผ้าเหลืองอย่าคิดการบ้าน ใกล้คนหัวล้านอย่าเว้าเรื่องนกกะซุม
(ความรู้น้อย อย่าคิดการเมือง นุ่งผ้าเหลืองอย่าไปยุ่งเรื่องทางโลก ใกล้คนหัวล้านก็อย่าคุยเรื่องนกตะกรุม)
ความรู้น้อย อย่าไปคิดเรื่องการเมือง เป็นสมณะเพศอย่าไปยุ่งเรื่องของทางโลก คนหัวล้านก็ให้คุยเรื่องอื่น อย่าคุยพาดพิงนกตะกรุมซึ่งหัวล้าน จะผิดใจกัน
ภาพที่ 5 เสือกะว่าเสือดี หมีกะว่าหมีหาญ ฟานกะว่าฟานกล้า ม่ากะม่าแล่นหัน
(เสือก็ว่าตัวเองดี หมีก็ว่าตัวเองอาจหาญ เก้งก็ว่าตัวเองใจกล้า ม้าก็ว่าตัวเองวิ่งเร็วมาก)
ต่างคนต่างคิดว่าตัวเองดี ว่าตัวเองเก่ง แต่ที่จริงแต่ละคนถนัดคนละอย่าง ซึ่งเปรียบเทียบกันไม่ได้
ภาพที่ 6 ใจปะสงค์สร่าง กลางดงกะว่าทง แต่ว่า ใจขี่คร่าน กลางบ้านกะว่าดง
(ใจอยากจะทำ กลางป่าก็ว่าเป็นไร่นา แต่ถ้าใจขี้เกียจ กลางหมู่บ้านก็ว่าเป็นกลางป่า)
ความตั้งใจมีความสำคัญ ถ้าตั้งใจดี แม้อยู่ท่ามกลางความลำบาก ก็รู้สึกไม่ลำบาก แต่ถ้าใจท้อถอย สิ่งที่ง่ายๆ ก็เห็นว่ายาก
ภาพที่ 7 เมื่อเราหาทรัพย์มาได้ให้นำไปใช้ดังนี้ 1.ใช้หนี้เก่า 2.ใช้เลี้ยงงูเห่า 3.ให้เขากู้ 4.เอาไปถิ่มลงส่าง 5.เอาไปฝังดินไว้
(เมื่อเราหาทรัพย์มาได้ให้นำไปใช้ดังนี้ 1.ใช้หนี้เก่า 2.ใช้เลี้ยงงูเห่า 3.ให้เขากู้ 4.เอาไปทิ้งลงบ่อน้ำ 5.เอาไปฝังดินไว้)
เมื่อหามาได้ให้ใช้หนี้เก่า คือ ทดแทนบุญคุณบิดามารดาที่เลี้ยงเรามา “ใช้เลี้ยงงูเห่า” หมายถึง เพื่อนฝูง คนรอบข้าง ที่ใช้คำว่างูเห่าคืออาจจะทะเลาะกันเมื่อไหร่ก็ได้ “ให้เขากู้” หมายถึง ใช้เลี้ยงดูลูกหลาน ส่วนที่ว่าให้เขากู้ก็คือไม่รู้เขาจะคืนให้เมื่อไหร่ “เอาไปทิ้งลงบ่อน้ำ” หมายถึง ได้มาแล้วก็ซื้ออาหารรับประทาน และสุดท้ายเอาไป “ฝังดินไว้” หมายถึง เก็บออม ฝากธนาคาร
ภาพที่ 8 ควายมันบ่อกินหญ่า แสนสิข่มกะเขาหัก.. หมูมันบ่อกินฮำ แสนสิตีก็ดังเว้อ..
(ควายมันไม่กินหญ้า ถึงแม้จะพยายามข่มเขา เขาก็จะหัก หมูมันไม่กินรำ จะพยายามตีมันจนจมูกเจ่อ มันก็ไม่กิน)
แต่ละคนมีทางของตัวเอง อย่าบังคับจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
ภาพที่ 9 อย่าได้ติดตามซ่น นำคนท่องหยึ่ง มันสิตดใส่เจ้า ให่ดังเว้อบื่งเหม็น..
(อย่าได้ตามหลัง คนที่ท้องอืด มันจะตดใส่ ให้จมูกเจ่อเพราะเหม็น)
อย่าไปคบคนที่ไม่ดี จะทำให้เดือดร้อน
ภาพที่ 10 เฮ็ดนาอย่าแพงก้า ไปค้าอย่าแพงทุน
(ทำนาอย่าหวงกล้า ไปค้าขายอย่าหวงทุน)
ทำกิจการใดอย่าตระหนี่ ต้องยอมลงทุนให้เพียงพอ
ภาพที่ 11 ทุกข์เพิ่นบ่ว่าดี มีเพิ่นจั่งว่าเหล่า ลุงป้าจั่งว่าหลาน
(ทุกข์ยากเขาว่าไม่ดี มีเงินเขาถึงนับว่าเป็นญาติ ลุงป้าจึงนับว่าเป็นหลาน)
ถ้าเป็นคนจนก็ไม่อยากมีใครคบค้าสมาคมด้วย แม้แต่ญาติก็ไม่อยากนับญาติ ฉะนั้นต้องพยายามไม่ทำให้ตัวเองยากจน
ภาพที่ 12 บ้านใกล้บ่อผั่นอึดเกือ บ้านใกล้ท่าเรือผั่นอึดปลาแดก
(บ้านใกล้บ่อเกลือกลับขาดเกลือ บ้านใกล้ท่าเรือกลับไม่มีปลาร้า)
มีสิ่งที่ดี แต่ไม่รู้จักขวนขวายนำเอามาใช้ประโยชน์
ภาพที่ 13 ความรู้คือแสงเทียน ความเพียรคือเข็มทิศ ความคิดคือทางเดิน
(ความรู้เปรียบดั่งแสงเทียน ความเพียรเปรียบดั่งเข็มทิศ ความคิดเปรียบดั่งทางเดิน)
ความรู้ ความเพียร และความคิด เป็นสิ่งประเสริฐที่สุดในการดำรงชีวิต
ภาพที่ 14 คนเฮาต้องฮู้จัก เบิ่งเจ้าของให้ออก บอกเจ้าของให้ได้ ใช่เจ้าของให้เป็น เถิงสิดีแมนบ่
(คนเราต้องรู้จัก ดูตนเองให้ออก บอกตัวเองให้ได้ ใช้ตัวเองให้เป็น ถึงจะดีถูกไหม)
คนเราต้องรู้จักตัวเอง และกำกับควบคุมชีวิตของตนเองได้จึงจะดี
ภาพที่ 15 ขนบ่ทันปกท้าย กะอย่าเหินมาแข่งแล่น ปีกบ่ทันได้หุ้มก้น ซามาท้า ว่าแข่งขัน
(ขนและปีกยังขึ้นไม่หมด อย่าเพิ่งไปท้าแข่งวิ่ง ปีกยังไม่ทันหุ้มก้น ก็อย่าไปท้าเขาแข่งขัน)
อย่าไปแข่งขันกับเขา ถ้าความรู้เรายังน้อย
ภาพที่ 16 กะบวยบ่มีด้าม สิเอาหยังมาค้างแอ่ง เขาสิเอิ้นกะโป๋หมากพร้าว บ่มีเอิ้นว่ากะบวย สั่นดอกวา
(กระบวยยังไม่มีด้าม จะเอาอะไรมาค้างอยู่ปากโอ่ง อย่างนั้นเขาเรียก กะลามะพร้าว ไม่ได้เรียกกระบวย ด้วยประการฉะนี้แล)
ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีองค์ประกอบพร้อม ไม่อย่างนั้นจะทำประโยชน์ไม่ได้
ภาพที่ 17 คันว่าเฮาขี่หล้ายไห่หมอบอยู่คือกบ เห็นคนมาโตนป๋อมลงน้ำ
(ถ้าเรายังขี้เหร่ให้หมอบอยู่เหมือนกบ พอเห็นคนมาก็กระโดดป๋อมลงน้ำ)
หากเรามีความรู้ความสามารถไม่พอ ก็อย่าไปอวดอ้างตัวเอง มีแต่ผลเสีย ให้อยู่นิ่งๆ หรือหลบหลีก ไว้ก่อน ให้รู้จักเจียมเนื้อเจียมตัว
ภาพที่ 18 นาดีถามหาข้าวปลูก ลูกดีถามหาพ่อแม่
(ถ้าทำนาได้ผลผลิตดีเขาก็ถามหาเมล็ดพันธุ์ ถ้าเป็นลูกที่ดีเขาก็ถามหาว่าพ่อแม่เป็นใคร)
ผลผลิตที่ดีมาจากต้นตอที่ดี ลูกจะดีมาจากพ่อแม่ที่ดี
ภาพที่ 19 แนวมันมีบักเขือหำม่า บ่หาแต่ได้ก้า มันหากเกิดขึ่นเอง
(มะเขือยาวเป็นไปตามพันธุ์ ไม่ต้องเพาะก็เกิดมาเอง)
คนมีลักษณะตามเผ่าพันธุ์ แม้มิได้ปลูกฝังก็เป็นไปเอง
ภาพที่ 20 ดึกค้อนกายหมากม่วง
(ขว้างค้อนเลยมะม่วง)
ใช้พลังเกินเป้าหมาย ทำให้พลาดเป้าหมาย
ภาพที่ 21 ได้อย่าหย่าม บ่อได้อย่าหลาบ
(พอได้แล้วก็อย่าย่ามใจ ถ้าไม่ได้ก็อย่าท้อแท้)
ให้รู้จักพอเพียงเมื่อได้มา และอดทนไม่ท้อแท้เมื่อยังไม่ได้มา
ภาพที่ 22 เฮ็ดแนวได๋ กะได้แนวนั่น เช่น ปลูกแตงโม เฮากะสิได้หมากแตงโม
(ทำอะไร ก็ได้สิ่งนั้น เช่น ปลูกแตงโม ก็จะได้แตงโม)
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
ภาพที่ 23 ของกิน บ่อกินมันเนา ของเก่า บ่เล่ามันลืม
(ของกิน ถ้าไม่กินมันเน่า ของเก่า ถ้าไม่เล่ามันลืม)
ถ้าไม่ฝึกฝนหรือทบทวนบ่อยๆ ก็จะลืม
ภาพที่ 24 นุ่งผ้าลาย หมาเห่า เล่าความเก่า มันผิดกัน
(นุ่งผ้าลาย หมาเห่า ถ้าพูดเรื่องเก่า มันจะทะเลาะกัน)
ถ้าทำอะไรผิดปกติ คนก็จะติฉินนินทา ถ้าพูดเรื่องเก่าที่ทำให้บาดหมางกัน ก็จะทำให้ทะเลาะกัน
ภาพที่ 25 ได้เต่าอย่าลืมหมา ได้ปลาอย่าลืมแห
(ได้เต่าอย่าลืมบุญคุณหมา ได้ปลาอย่าลืมบุญคุณแห)
อย่าลืมบุญคุณ ได้ดีแล้วอย่าลืมคนข้างหลังที่มีบุญคุณต่อเรา
ภาพที่ 26 ตกว่าเป็นเสือแล้ว ลายบ่ลายเขากะตู่ ให่ฟ่าวหามินหม่อ มาแต้มตื่มลาย
(ถ้าเป็นเสือแล้ว จะมีลายหรือไม่มีลายเขาก็เรียกเสือ ให้รีบหาขี้เถ้าก้นหม้อ มาเขียนลายเสือเพิ่ม)
เมื่อได้เป็นเสือ (เป็นคนที่มีอำนาจ) แล้ว แม้ว่าจะมีลาย (แสดงอำนาจออกมาหรือไม่) คนก็ยังมองว่าเราเป็นเสืออยู่เช่นเดิม ดังนั้นให้เร่งรีบหาทางสร้างเสริมอำนาจขึ้นมาให้มากยิ่งขึ้น
ภาพที่ 27 แนวว่าเป็นเด็กน้อย ตากอๆ ควมคึดมอ.. ได้กอ ขอ ข่อหล่อ ความเว่าผั่นอยู่ดาว ผั่นนา ผั่นหน่า
(อันว่าเป็นเด็กน้อย ตายังกลม ๆ ใสๆ ความคิดก็มีสั้นๆ ความรู้แค่ ก.ข.นิดหน่อย แต่คำพูดเพ้อฝันราวกับอยู่บนดวงดาว ใช่ไหม ใช่ไหม)
ถ้าเป็นเด็ก ความรู้ยังน้อย ๆ ก็อย่าเพิ่งอวดเก่ง
ภาพที่ 28 ขี่เหล่ากินเปี้ยว ขี่เหนียวกินเค็ม ขี่เล็มกินซ่า ขี่ซากินหวาน ขี่ค่านกินดู๋
(ขี้เหล้ากินเปรี้ยว ขี้เหนียวกินเค็ม ขี้เล็ม(พวกชอบกินทีละนิด) กินช้า ขี้กัญชากินหวาน ขี้เกียจกินบ่อย)
ทุกนิสัยใจคอของมนุษย์จะมีพฤติกรรมที่ส่อให้เห็นได้ เราอาจจะดูนิสัยได้จากพฤติกรรมที่เขาแสดงบ่อยๆ เช่น การกิน
ภาพที่ 29 ลูกนกเค้า ท่วงตาแม่
(ลูกนกเค้าแมว ทักตาแม่)
มีแต่มองคนอื่น ไม่ดูตัวเอง เหมือนดั่งลูกนกเค้า ไปมองดูแม่ว่าทำไมตาโต ลืมดูว่าตนเองก็โตเหมือนกัน
ภาพที่ 30 ลิงต่างลิงซิงกันขึ่นหมากไม้ บัดสิได้แมนบักโกกนาโถ
(ลิงแต่ละตัวต่างแย่งชิงกันขึ้นต้นผลไม้ แต่คนที่ได้กลับเป็นพญาลิง)
ต่างคนต่างแย่งชิงผลประโยชน์ แต่คนที่ได้กลับเป็นผู้มีอำนาจเหนือเขาเหล่านั้น
ภาพที่ 31 หนูกินหม้อน จั่งคิดฮอดคุณแมว ลูกแขวนแอว จั่งเห็นคุณพ่อแม่
(หนูกินตัวไหม จึงได้คิดถึงบุญคุณแมว มีลูกคาดเอว (เป็นภาระ) จึงได้เห็นบุญคุณพ่อแม่)
จะสะกิดใจหรือฉุกคิดได้ ก็ต่อเมื่อได้เจอปัญหากับตัวเอง เช่น เรื่องของบุญคุณ
ภาพที่ 32 หาบซ่างซาแมว ตำแจ่วโฮยแม่น้ำ
(หาบช้างคนละข้างกับแมว ตำแจ่วโรยแม่น้ำ)
ทำมากแต่ได้ผลน้อย ทำงานหนักเท่าช้างแต่ผลที่ได้รับกับหนักเท่าแมว เหมือนกับตำแจ่วแล้วเอาไปละลายแม่น้ำ แม่น้ำมีปริมาณมาก แจ่วมีปริมาณน้อย เมื่อเอาแจ่วลงไปในแม่น้ำย่อมถูกเจือจางจนไม่เหลือแจ่วให้เห็น ทำแล้วไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
ภาพที่ 33 คันเจ้าได้ขี่ช้างกั่งฮ่มสัปทน อย่าสิลืมคนจน พู่ย่างนำฮอยซ่าง
(ถ้าเจ้าได้ขี่ช้างกางร่มสัปทน ก็อย่าลืมคนจน ที่เคยเดินตามรอยเท้าช้าง)
เมื่อได้มั่งมีศรีสุข อย่าลืมคนข้างหลังที่เคยช่วยเหลือสนับสนุน
ภาพที่ 34 ชนะความทุกข์ ด้วยการอดทน ชนะความยากจนด้วยการประหยัด
(อยากชนะความทุกข์ต้องอดทน อยากชนะความจนต้องประหยัด)
ให้มีความอดทนและประหยัด
ภาพที่ 35 ผู้กินกินพอฮาก ผู้อยาก อยากพอตาย
(คนมีกินกินจนอาเจียน คนจนอยากกินแทบตาย แต่ก็ไม่มี)
คนมีความเหลื่มล้ำกันมาก คนมีทรัพย์ ก็มีมากจนล้นหลาม แต่อีกคนมีไม่พอกินพอใช้
ภาพที่ 36 อย่าอายเฮ็ดเวียก อย่าเลียกแนวกิน อย่าหมิ่นเงินได้หน่อย อย่ารอคอยวาสนา อย่านั่งถ่าคนซอยเหลือ
(อย่าอายทำงาน อย่าเลือกกิน อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่ารอคอยวาสนา อย่านั่งรอคนมาช่วยเหลือ)
อย่าเป็นคนหยิบโหย่ง หนักไม่เอาเบาไม่สู้ รอแต่ให้คนมาช่วยเหลือ
ภาพที่ 37 ไปป่าอย่ามาดาย หักไม้ตายมาแก้งก้นหม้อ
(เมื่อมีโอกาสไปป่า ก็อย่ากลับมามือเปล่า หักกิ่งไม้มาใส่ก้นหม้อ (ทำฟืน))
มองเห็นประโยชน์ของสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ไม่ดูดาย
ภาพที่ 38 หมกปลาแดกต้องมีครู จี่กะปูต้องมีวาด
(หมกปลาร้าต้องมีครู ปิ้งปูต้องมีกลวิธี)
จะทำอะไรได้ดี ต้องมีขั้นตอนหรือกลวิธี
ภาพที่ 39 ตามใจน้ำสิไหลไปตามฮอม บ่หอนไหลเผ่นขึ่นเมืองฟ้ายอดดอย
(ธรรมชาติของน้ำจะไหลลงไปตามร่องน้ำ ยากที่จะไหลขึ้นไปบนฟ้าหรือยอดดอย)
บางอย่างพยายามเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ เพราะเป็นเรื่องธรรมชาติ
ภาพที่ 40 ได้จ้ำแจ่วไห่ย่องแจ่วนัวๆ ได้กินลาบงัวไห้ย่องลาบงัวแซบๆ
(ได้จิ้มแจ่วให้ยอคนทำว่าแจ่วรสชาติดี ได้กินลาบวัวให้ยอคนทำว่าลาบวัวอร่อย)
พูดแต่สิ่งที่เป็นบวก จะทำให้ทุกคนมีความสุข
…..
ภาพโดย ทิม บีเวอ
คณะทำงาน สุทธวรรณ บีเวอ และทิม บีเวอ