บันทึกการเดินทางเส้นทางจักรยาน EuroVelo 6 ในฝรั่งเศส และส่วนหนึ่งของเส้นทางคณะราชทูตอยุธยาโกศาปานไปปารีส (ตอน 2)
หากต้องการกลับไปตอนที่ 1 คลิ๊ก ที่นี่
สำหรับตอนที่ 2 จะเป็นการบันทึกในเส้นทางการปั่นจักรยานตั้งแต่วันที่ 6 ถึง วันที่ 9 ของการเดินทางในเส้นทาง EuroVelo หมายเลข 6 ในฝรั่งเศส จากเมือง แวร์คดัง ซูร์ เลอ ดู (Verdun sur le Doubs) ไปเมืองซาน เบฮา ซูร์ ดูน (Saint Bérain sur Dheune), เมืองปาเคร เลอ โมเนียอัลล์ (Paray le Monial) และเมืองบูร์บง ล็องซี (Bourbon-Lancy) จำนวน 4 คืน (พักเมืองปาเคร เลอ โมเนียอัลล์ 2 คืน) รวมระยะทางช่วงนี้ประมาณ 183 กิโลเมตร (หมายเหตุชื่อภาษาฝรั่งเศสที่เป็นภาษาไทย แอดมินพยายามถอดคำอ่านแล้ว หากผิดพลาดประการใดขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ)
Day 6 เมืองแวร์คดัง ซูร์ เลอ ดู ไปเมืองซาน เบฮา ซูร์ ดูน
เริ่มต้นการเดินทางวันที่ 6 (ตรงกับวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2567) ที่เมือง แวร์คดัง ซูร์ เลอ ดู (Verdun sur le Doubs) เมืองที่มีแม่น้ำสองสายมาบรรจบกันคือ แม่น้ำดู (Doubs) และแม่น้ำโซน (Saône) เส้นทางที่เราปั่นออกจากเมืองจะตามแม่น้ำโซนไปเรื่อยๆ แต่เดือนพฤษภาคมเจอน้ำท่วมทาง เส้นทางปิด มีป้ายแจ้งเตือนให้ใช้ทางเบี่ยงเข้าหมู่บ้านแทน
ระหว่างวันแดดดีมาก มีฝนอยู่ราวๆ ชั่วโมง ไร่มัสตาร์ดที่กว้างใหญ่เมื่อวานหายไปแล้ว แทนที่ด้วยผืนดินออกสีแดงดำที่กำลังเตรียมแปลงปลูกที่ไม่รู้ว่าจะปลูกพืชอะไร มองเห็นสีดินและผิวดินที่ร่วนซุยดูอุดมสมบูรณ์ ไม่มีรอยการเผาบนพื้นที่การเกษตร คาดว่าเสร็จแปลงก็ไถกลบเป็นปุ๋ย วนเป็นวัฏจักรการเพาะปลูกเช่นนี้ทุกปี อากาศเลยดีมาก ตลอดตามทางที่ผ่านมาถ้าไม่ใช่พื้นที่ป่าข้างแม่น้ำก็ยังไม่เห็นพื้นที่เกษตรถูกปล่อยทิ้งร้างไว้เลย
เรามาทานข้าวเที่ยงที่เมืองชาลง ซูร์ โซน (Chalon sur Saône) เมืองใกล้แม่น้ำโซน เป็นอาหารฮาลาน แล้วก็ปั่นเที่ยวในเมือง ที่นี่มีวิหารและจัตุรัสสวยงาม เมืองนี้น่าสนใจตรงที่เรียกกันว่าเป็นเมืองประวัติศาสตร์และศิลปะ เพราะว่ามีอาคารโบราณที่ใช้เทคนิคแบบ half-timbered houses อยู่เยอะ อาคารกึ่งไม้กึ่งปูนนี้เป็นที่นิยมในยุโรปช่วงยุคกลางไปจนถึงศตวรรษที่ 18 ผนังอาคารจะโชว์ให้เห็นไม้ค้ำทำจากไม้โอ๊คทำเป็นโครงสร้างที่เชื่อมต่อกันในแนวตั้ง แนวนอน และแนวทะแยง และเติมเต็มช่องว่างระหว่างไม้ค้ำด้วยวัสดุผสม เช่น ปูนพลาสเตอร์ ไม้ระแนง อิฐ หรือเทคนิคการสานและโปะดิน (wattle and daub) คือ สานกิ่งไม้แล้วโปะฉาบผิวด้วยวัสดุผสมให้เกิดความเหนียวอย่างพวกดินเหนียว โคลน ทราย เยื่อไม้จากมูลสัตว์ ฟาง ฯลฯ ผนังภายนอกมองเห็นโครงสร้างไม้ค้ำที่สร้างความแข็งแรง ผนังถูกฉาบเรียบเนียนสีตุ่นๆ ทำให้กลายเป็นผนังตึกที่มีเสน่ห์ การสร้างตึกแบบนี้ในอดีตเป็นที่นิยมหลายประเทศในยุโรป
เรามาถึงเมืองซาน เบฮา ซูร์ ดูน (Saint Bérain sur Dheune) อยู่ใกล้แม่น้ำดูน จากเมื่อเช้าปั่นมาได้ระยะทางประมาณ 65 กม. เราพักที่โรงแรมชื่อว่า Les 4 vents ลักษณะเป็นบ้านตึกในชนบทที่มีเจ้าของพูดได้เพียงภาษาฝรั่งเศส ดูเป็นมิตรมาก เจ้าของบ้านให้การต้อนรับแล้วพาเข้าไปด้านใน พอผ่านประตูก็มองเห็นบันไดขึ้นชั้นบนอยู่แทบตรงหน้า มองไปด้านซ้ายขวาเห็นเหมือนเป็นที่พักเจ้าของบ้าน และเป็นพื้นที่ทานอาหารเช้าของเราในวันถัดมาด้วย ที่ชั้นสองมีห้องนั่งเล่น เราเอาอาหารเย็นที่เป็นขนมเค้กมาทานที่นี่กัน เจ้าของบ้านจัดชุดชาให้ทำเอง แล้วให้ใช้จานชามแก้วที่เตรียมไว้ในลิ้นชักตู้ได้ตามสบาย เจ้าของบ้านพาชมพื้นที่เลี้ยงไก่เล็กๆ ที่อยู่ด้านหลังบ้าน บริเวณเลี้ยงไก่ปิดล้อมด้วยตาข่าย มีบ้านไม้หลังเล็กๆ ให้ไก่นอน สูงประมาณหนึ่งเมตร กว้างยาวประมาณเมตรกว่า มีประตูทางเข้าด้านเดียว ด้านหน้ามีเหมือนเทอร์โมมิเตอร์ ติดฮีตเตอร์ไว้ให้ไก่สบาย ตอนเช้าเจ้าของบ้านเอาไข่สดๆ จากหลังบ้านมาต้มให้ใหม่ๆ ขนาดฟองเล็กเท่าๆ ไก่บ้านแถวบ้านเรา
Day 7 เมืองซาน เบฮา ซูร์ ดูน ไปเมืองปาเคร เลอ โมเนียอัลล์
ออกจากเมืองซาน เบฮา ซูร ดูน (Saint Bérain sur Dheune) แต่เช้า เจ้าของบ้านออกมาส่งที่หน้าประตู ฉันยกมือไหว้ แล้วก็อธิบายว่า เป็นการไหว้ขอบคุณแบบคนไทย เจ้าของบ้านหน้ายิ้มกว้างพร้อมหัวเราะ เส้นใยความประหม่าทางภาษาที่กั้นอยู่ดูเหมือนจะจางไปแล้ว การไหว้อย่างไทยในทัศนคติฉัน เจ้าของบ้านดูจะให้ความหมายกับสิ่งนี้มากกว่าคำว่า Thank you เฉยๆ เสียอีก
เราจูงจักรยานออกมาได้สักหน่อย ฉันเลยถ่ายรูปอะไรเล็กน้อยระหว่างทาง มองมาอีกทีไม่เห็นสามีแล้ว ปั่นมาถึงทางแยกเลยเลี้ยวขวาลงเนินเขาอัตโนมัติเพราะเมื่อวานเราตามแม่น้ำคลองน้ำตลอด จักรยานที่กำลังไหลลงไปตามเนินราวสองกิโลเมตร สายลมปะทะใบหน้าอย่างสดชื่น ใช่ค่ะ..ผิดทาง! สามีส่งตำแหน่งที่อยู่มาให้ ถึงได้รู้ว่าต้องตรงขึ้นเนินไป ปกติในการเดินทางเราจะแชร์ตำแหน่งกันในกลูเกิลแมป แต่ทริปนี้เนื่องจากปั่นตามกันตามคลองน้ำเรื่อยๆ และประหยัดแบตเตอรี่โทรศัพท์ ก็เลยไม่ได้แชร์ กว่าจะปั่นกลับมาเจอสามีที่ล่วงหน้าไปแล้วหลายกิโลเมตร ก็ทำเอาเหงื่อตก พอเจอกันเราก็พากันเข็นจักรยานไต่ขึ้นเนินเขาไปอีก แต่ละเนินก็ชันอยู่บ้าง ดีว่าฝึกเข็นในทริปเชียงใหม่ไปแม่ฮ่องสอนมาแล้ว ซึ่งเส้นสะเมิงก็ลำบากกว่าหลายเท่าตัว เรื่องเข็นขึ้นเนินฝรั่งเศสเส้นนี้ มันจิ๊บๆ
พอมาถึงยอดเนิน มองกลับลงไปเป็นวิวหมู่บ้านชนบท ฟาร์มม้า วัว ลา สองข้างทางเป็นพุ่มไม้เตี้ยๆ กระต่ายป่าฝูงเล็กๆ วิ่งตัดหน้าไปมา วันนี้ปั่นแล้วปวดเข่าซ้าย จักรยานคันที่เช่ามา กว่าร่างกายจะปรับตัวทั้งก้นและเข่าไม่ให้ปวด ต้องใช้เวลาหลายวันทีเดียว
เราถึงเมืองปาเคร เลอ โมเนียอัลล์ (Paray le Monial) ในตอนเย็น ระยะทางวันนี้ประมาณ 72 กม. ที่พักคืนนี้เราขอจองเพิ่มต่ออีกหนึ่งคืน เพราะเมืองที่คาดว่าจะปั่นไปถึงไม่ว่าไกลหรือใกล้ในวันพรุ่งนี้ ล้วนห้องเต็มในวันหยุดยาว (วันหยุดชัยชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 และวันต่อมาเป็นวันหยุดพระเยซูเสด็จกลับสวรรค์) ร้านอาหารมีแต่เครื่องดื่มขาย ไม่มีอาหารเลย ได้มันฝรั่งทอดมาตอนหกโมงเย็น ที่ยุโรปมีวันหยุดเยอะ ทั้งวันอาทิตย์ วันสำคัญ วันหยุดประท้วง ฯลฯ วันหยุดทีไรทุกอย่างแทบหยุดเคลื่อนไหว ถ้าไม่เช็คอัพเดทวันหยุดให้ดี หวุดหวิดจะไม่มีที่นอนและไม่มีอะไรให้กิน ถ้าไม่ใช่อยู่ในเมืองใหญ่ แถวสถานีรถไฟ หรือใกล้ตู้อาหารขนมหยอดเหรียญ อาหารเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีการวางแผนที่ดี บางทีก็ต้องซื้อล่วงหน้าไว้ วันหยุดครั้งก่อนให้ขนมพลังงานกับคนไร้บ้านที่นั่งขออยู่ข้างทาง ดูลุงแกดีใจมากกว่าได้เงินเหรียญในวันอาทิตย์ที่เขาหยุดร้านกันหมด
Day 8 เที่ยวเมืองปาเคร เลอ โมเนียอัลล์
เมืองปาเคร เลอ โมเนียอัลล์ (Paray le Monial) แคว้นเบอร์กันดี (Burgundy) ของฝรั่งเศส เห็นมีคนมาท่องเที่ยวกันมากพอสมควร เป็นเมืองที่มีตึกเก่าเยอะ ร้านรวงไม่มาก มีโบสถ์คาทอริคที่สวยงามอย่าง “Basilica of the Sacred Heart of Jesus”
หลังจากท่องเที่ยวในฝรั่งเศสได้ซักระยะ ด้วยการสื่อสารทางภาษาที่เราไม่เข้าใจกันเลย ไม่ว่าจะพูดอังกฤษหรือภาษาไทยด้วยก็มีค่าเท่ากัน ดังนั้นภาษามือ สายตา และการแสดงออกทางสีหน้า มันจะได้ใช้ก็คราวนี้ (ต้องเข้าใจว่าบางทีสถานการณ์ก็ไม่เอื้อให้คู่สนทนาเปิดใจรอเราใช้กลูเกิลเพื่อแปลภาษา)
วันนี้ฉันเข้าร้านขนม ร้านนี้คนเยอะ มีของแปลกๆ หลายอย่าง ฉันมองไปเห็นถั่วอัลม่อนเคลือบน้ำตาลในโถน่ากินมาก กำลังเล็งว่าจะเอายังไง มีที่ตักไหม ถุงอยู่ไหน วนหาซักพักก็เลยเจอในช่อง พอหยิบขึ้นมา พนักงานมองเห็นแล้วพูดรัวๆ พร้อมทำมือโบ๊ๆเบ๊ๆ หลังจากฝึกปรือมาหลายประเทศ สมองก็เริ่มแปรสัญญานเราต้องทำอะไรผิดซักอย่าง ให้มีสติทันทีว่า อย่าตกใจจนกะละมังถังแตก มันจะอดกิน วิธีการคือ หนึ่ง เจ้าจงวางถุงนั้นลงก่อน สองถามออกไปว่า “ดูยูสปิ๊กอิงลิส” สามถ้าอยู่บนความโชคดีเมื่อเขาบอกว่า ได้นิดหน่อย (มันจะนิดหน่อยจริงๆ) รีบชิงถามไปว่า อยากได้ของในขวดนั้น แล้วชี้ไป ไม่ว่าเขาจะเข้าใจหรือไม่ ก็จะได้ของในกระปุกนั้นแน่นอน ข้อสี่ พนักงานไม่รู้ว่าเราต้องการเท่าไร โดยเฉพาะตัวเลขออกเสียงไม่เหมือนกัน ชูนิ้วบอกก็ไม่น่ารอด ร้านนี้ชำนาญเดินมาที่โต๊ะเขียนตัวเลขจำนวนกรัมบนกระดาษ แล้วสบตาถาม เราตอบโอเคและยิ้มพยักหน้า นางเดินมาหยิบถุงใส่ถั่วไปชั่งให้ คนหนึ่งได้ตังค์ คนหนึ่งได้ขนม มีรอยยิ้มบานๆ ทั้งสองคน ก็ดูเหนื่อยอยู่นะกว่าจะได้กิน(ฮา)
สำหรับร้านอาหาร เป็นประสบการณ์เราเอง เมื่อเข้าประตูไปแล้ว ให้ยืนรอบริเวณประตูซักพัก (เห็นโต๊ะว่างก็อย่าเพิ่งนั่ง แนะนำให้รอถามก่อนถ้าไม่ใช่ร้านฟาสต์ฟูด) บางร้านเห็นมีป้ายจองทุกโต๊ะไปหมด (จริงๆ ก็อาจจะว่าง) แม้พนักงานที่ยืนอยู่อาจยังไม่มาต้อนรับ อย่าเพิ่งคิดว่าเขาไม่ต้อนรับ อาจกำลังมีการแบ่งงานว่าใครเป็นคนต้อนรับอยู่ ให้สบตาพนักงานทัก “บองชู” ไปก่อน พอเขามา ค่อยบอกจำนวนคนไป บางที่ก็จะเห็นเขาหรือเธอยกป้ายจองที่โต๊ะออกให้แล้วเชิญนั่ง(ร้านจัดระเบียบลูกค้านี่เอง) ถ้าโชคดีอาจมีเมนูเป็นภาษาอังกฤษ ถ้าไม่มีให้จำคำศัพท์ เนื้อ ปลา ไก่ หรือเวจจี้ จะหาหน้านั้นได้ง่าย (แม้จะมีพี่กลูช่วยแปลให้แล้วก็ยังเพิ่มความเร็วได้มากอยู่) แต่ส่วนมากสามารถเลือกอาหารได้ตั้งแต่ก่อนเข้าร้าน เพราะเขาจะติดเมนูอาหารและราคาที่บริเวณหน้าร้านไว้ให้แล้ว และร้านอาหารในฝรั่งเศสมักจะยกน้ำดื่มมาให้ฟรีเสมอ ส่วนประเทศอื่นๆ ในยุโรปค่าน้ำเปล่าขวดใหญ่เกือบ 2 ยูโร
และสุดท้ายในวัฒนธรรมการกินพิซซ่าที่ฝรั่งเศส แม้คนอเมริกันจะมีวิถีของพิซซ่าโดยใช้มือ แต่พอมาเที่ยวฝรั่งเศสก็จะแอบดูเหมือนกันว่าเขากินพิซซ่ากันแบบไหน ดูไปดูมาก็เหมือนใช้มีดกับส้อม แต่สุดท้าย(อาจจะเป็นนักท่องเที่ยวเหมือนกัน) เห็นใช้มือ ก็เลยตามเลยคนอื่นแล้วกัน อันที่จริงใช้มีดก็ดีแล้ว มันไม่เปื้อน (คนไทยอย่างฉันคิด)
อธิบายโครงสร้างบ้าน ซึ่งเป็นโครงสร้างไม้ประกอบด้วยองค์ประกอบพื้นฐาน 3 อย่างคือ เสา (แนวตั้ง วางโหลดจากระดับบนลงล่าง) คานหรือแผ่นพื้น (แนวนอนรองรับเพดานและพื้น นอกเหนือจากการถ่ายน้ำหนักไปยังเสา) แบบเฉียงหรือทะแยง (รับผิดชอบต่อความแข็งแกร่งของการก่อสร้าง) แต่ละชิ้นประกอบเข้ากันด้วยเดือยไม้
Day 9 จากเมืองปาเคร เลอ โมเนียอัลล์ ไปเมืองบูบง ลองซี
วันที่ 10 พฤษภาคม เราออกจากเมืองปาเคร เลอ โมเนียอัลล์ ประมาณ 9 โมงเช้า การเดินทางวันนี้เรียบๆ เลาะริมคลองน้ำ ไม่มีฝน ปั่นไปได้ไม่นานเริ่มร้อนจนต้องถอดเสื้อกันลมออก แล้วหันมาใส่เป็นเสื้อกันแดดบางๆ แทน
เรามาได้ประมาณหนึ่งส่วนสามของเส้นทางในวันนี้ ก็มาถึงเมืองดีกวน (Digoin) มองเห็นคลองน้ำข้ามฟากสำหรับเรือสัญจร (Le pont canel) ที่ถูกออกแบบให้ยกระดับเหนือแม่น้ำลัวร์ ช่วยให้เรือเล็กสามารถข้ามแม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลเชี่ยวกรากได้อย่างง่ายดาย สิ่งก่อสร้างนี้มีมาตั้งแต่ปี 1838 (เกือบสองร้อยปีก่อน) ใช้เวลาก่อสร้างอยู่ 4 ปีถึงสร็จ มีความยาว 243 เมตร มี 11 ซุ้มโค้ง สะพานอยู่เหนือแม่น้ำราว 12 เมตร ความกว้างของคลองน้ำไม่มากแค่ 6 เมตร มองดูแคบๆ แต่เรือก็ผ่านได้
วันนี้ปั่นประมาณ 46 กม. ตั้งแต่เก้าโมงครึ่งมาถึงเมืองบูร์บง ล็องซี (Bourbon-Lancy) ราวบ่ายสาม โรงแรมที่จะพักคืนนี้ เป็นโรงแรมขนาดใหญ่ที่ดูหรูหราเก่าแก่ชื่อว่า Grand Hôtel การที่เมืองนี้มีโรงแรมโบราณขนาดใหญ่ อาจจะมาจากการที่เมืองบูร์บง ล็องซี เป็นที่นิยมในการมาพักผ่อน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ชอบการทำสปา เพราะเมืองนี้มีธุรกิจที่มีชื่อเสียงในการทำโรงอาบน้ำร้อนที่ได้น้ำจากน้ำพุร้อน และมีคอร์สการทำสปาธรรมชาติเพื่อสุขภาพและการบำบัดอย่างทันสมัยมาตั้งแต่ในอดีต
การไปชมบ้านเรือนยุคโบราณของเมืองบูร์บง ล็องซี เนื่องจากโรงแรมเราอยู่ตีนเขาลูกเตี้ยๆ ก็เลยต้องไต่ตามทางเดินแคบๆ ขึ้นเขาไป เดินไปได้ไม่นานเราก็พบกับกลุ่มอาคารโบราณที่เหมือนกับเมืองในเทพนิยาย บางส่วนผุพังตามกาลเวลา เจ้าของอาคารเลือกที่จะอนุรักษ์ไว้แบบปูนเปลือย ก็เลยทำให้มองเห็นเทคนิคการสร้างบ้านแบบโบราณชัดเจน ตามถนนหนทางของเมืองถูกปูด้วยหินกรวด บรรยากาศบ้านเรือนผู้คนเงียบสงบ ร้านรวงก็ยังไม่เปิด เลยมีพื้นที่ให้ดื่มด่ำกับศิลปะเล็กๆ น้อยๆ ที่ประดับอยู่ตามอาคารอย่างเต็มที่ และเมื่อเราเดินไปสุดทาง ผ่านประตูหินออกไปด้านนอก เบื้องหน้าก็เผยให้เห็นวิวทิวทัศน์ด้านล่าง ซึ่งเป็นอีกฝั่งของเมือง