ตอนที่ 2 หนังสือชีวประวัติฯ พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร: ชาติสกุล รูปร่างลักษณะและนิสสัย การศึกษา การบรรพชา (หน้า 10-14)

ตอนที่ 2 หนังสือชีวประวัติฯ พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร: ชาติสกุล รูปร่างลักษณะและนิสสัย การศึกษา การบรรพชา (หน้า 10-14)

ชีวประวัติ

ของ

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร

หลวงปู่มั่น

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร ซึ่งเป็นอาจารย์สอนธรรมทางวิปัสสนา มีศิษยานุศิษย์มาก มีคนเคารพนับถือมาก มีชีวประวัติควรเป็นทิฏฐานุคติแก่บุลบุตรได้ผู้หนึ่ง ดังจะเล่าต่อไปนะ-

ชาติสกุล

ท่านกำเนิดในสกุลแก่นแก้ว โดย นายคำด้วง เป็น บิดา นางจันทร์ เป็น มารดา เพียแก่นท้าว เป็นปู่ ชาติไทย นับถือพุทธศาสนา เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๐ เดือน พ.ศ.๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง ตำบล อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๙ คน ท่านเป็นบุตรคนหัวปี บุตร ๖ คน ตายเสียแต่เล็ก ยังเหลือน้องสาว ๒ คน คนสุดท้องชื่อหวันจำปาศิลป์

รูปร่างลักษณะและนิสสัย

ท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวขาวแดง แข็งแรง ว่องไว สติปัญญาดีมาแก่กำเนิด ฉลาด เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายในทางที่ถูก ไม่ยอมทำตามในทางที่ผิด

การศึกษาสามัญ

ท่านได้เรียนอักษรสมัยในสำนักของอาว์ คือเรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย อักษรธรรม และอักษรขอม อ่านออกเขียนได้ นัยว่าท่านเรียนได้รวดเร็ว เพราะมีความทรงจำดี และมีความขยันหมั่นเพียร ชอบการเล่าเรียนศึกษา

การบรรพชา

เมื่อท่านอายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักวัดบ้านคำบง ใครเป็นบรรพชาจารย์ไม่ปรากฏ ครั้นบวชแล้วได้ศึกษาความรู้ทางพระศาสนา มีสวดมนต์และสูตรต่างๆ ในสำนักบรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว อาจารย์เมตตาปราณีมาก เพราะเอาใจใส่ในการเล่าเรียนดี ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ เมื่ออายุท่านได้ ๑๗ ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขา เพื่อช่วยการงานทางบ้าน ท่านก็ได้ลาสิกขาออกไปช่วยการงานของบิดามารดาเต็มความสามารถ.
ท่านเล่าว่าเมื่อลาสิกขาไปแล้วยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่ลืมเลย คงเป็นเพราะมีอุปนิสัยในทางบวชมาแต่ก่อนอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า “เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก” คำสั่งของยายนี้ คอยสะกิดใจอยู่เสมอ.

การอุปสมบท

ครั้นอายุท่านได้ 22 ปี ท่านเล่าว่า มีความอยากบวชเป็นกำลัง จึงอำลาบิดามารดาบวช ท่านทั้งสองก็อนุญาตตามประสงค์ ท่านได้เข้าศึกษาในสำนักท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถร วัดเลียบ เมืองอุบล จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับอุปสมบทกรรมเป็นภิกษุภาวะในพระพุทธศาสนา ณ วัดศรีทอง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌายะ พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๖ พระอุปัชฌายะขนามนามมคธให้ว่า ภูริทัตฺโต เสร็จอุปสมบทกรรมแล้วได้กลับมาสำนักศึกษาวิปัสสนาธุระกับพระอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถร ณ วัดเลียบต่อไป.

สุบินนิมิต

ท่านเล่าว่า เมื่อกำลังศึกษากรรมฐานภาวนาในสำนักพระอาจารย์เสาร์ กันตสีลเถร ณ วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานีนั้น ชั้นแรกยังใช้บริกรรมภาวนาว่าพุทฺโธ พุทฺโธอยู่ อยู่มาวันหนึ่งจะเป็นเวลาเที่ยงคืน หรืออย่างไรไม่แน่บังเกิดสุบินนิมิตรว่า ได้เดินออกจากหมู่บ้าน ๆ หนึ่ง มีป่า เลยป่าออกไป ก็ถึงทุ่งเวิ้งว้างกว้างขวาง จึงตามทุ่งไป ได้เห็นต้นชาติต้นหนึ่ง ที่บุคคลตัดให้ล้มลงแล้ว ปราศจากใบ ตอของต้นชาติ สูงประมาณ ๑ คืบ ใหญ่ประมาณ ๑ อ้อม ท่านขึ้นสู่ขอนชาตินั้น พิจารณาดูอยู่รู้ว่าผุพังไปบ้าง และจักไม่งอกขึ้นได้อีก ในขณะที่กำลังพิจารณาอยู่นั้นมีม้าตัวหนึ่ง ไม่ทราบว่ามาจากไหน มาเทียมขอนชาติ ท่านจึงขึ้นขี่ม้าตัวนั้น ม้าพาวิ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเต็มฝีเท้า ขณะที่ม้าพาวิ่งไปนั้นได้แลเห็นตู้ใบหนึ่งเหมือนตู้พระไตรปิฎกตั้งอยู่ข้างหน้า ตู้นั้นวิจิตรด้วยเงินสีขาวเลื่อมเป็นประกายผ่องใสยิ่งนัก ม้าพาวิ่งเข้าไปสู่ตู้นั้น ครั้งถึงม้าก็หยุดและหายไป ท่านลงจากหลังม้า ตรงตู้พระไตรปิฎกนั้น แต่มิได้เปิดดูตู้ ไม่ทราบว่ามีอะไรอยู่ในนั้น แลดูไปข้างหน้า เห็นเป็นป่าชัฏเต็มไปด้วยขวากหนามต่าง ๆ จะไปต่อไปไม่ได้เลย รู้สึกตัวตื่นขึ้น.
สุบินนิมิตนี้ เป็นบุพพนิมิตรบอกความมั่นใจในการทำความเพียรของท่าน ท่านจึงตั้งหน้าทำความเพียรประโยคพยายามมิได้ท้อถอย มีการเดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง ข้อวัตต์ปฏิบัติต่าง ๆ ก็มิได้ทอดทิ้ง คงดำเนินตามข้อปฏิบัติอันท่านโบราณบัณฑิตทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ทรงบำเพ็ญตามทางแห่งอริยมรรค.
ครั้นต่อมาท่านจึงหวนไปพิจารณา สุบินนิมิตนั้น จึงได้ความว่า การที่ท่านออกมาบวชในพระพุทธศานาและปฏิบัติตามอริยมรรคนั้น ชื่อว่าออกจากบ้าน ๆ นั้น คือ ความผิดทั้งหลาย และป่านั้นคือกิเลส ซึ่งเป็นความผิดเหมือนกัน อันความที่บรรลุถึงทุ่งอันเวิ้งว้างนั้น คือละความผิดทั้งหลายประกอบแต่ความดีความงาม ขอนชาติได้แก่ชาติ ความเกิด ม้าได้แก่ตัวปัญญาวิปัสสนาจักมาแก้ความผิด การขึ้นสู่ม้าแล้วม้าพาวิ่งไปสู่ตู้พระไตรปิฎกนั้น คือเมื่อพิจารณาไปแล้วจักสำเร็จเป็นปฏิสัมภิทานุสาสน์ ฉลาดรู้อะไร ๆ ในเทศนาวิธีทรมานแนะนำสั่งสอนสานุศิษย์ทั้งหลายให้ได้รับความเย็นใจ และเข้าใจในข้อปฏิบัติทางจิตต์ แต่จะไม่ได้ในจตุปฏิสัมภิทาญาณเพราะไม่ได้เปิดดูตู้นั้น ส่วนข้างหน้าอันเต็มไปด้วยขวากหนามนั้นได้ความว่า เมื่อพิจารณาเกินไปจากมรรค จากสัจจะ ก็คือความผิดนั่นเอง เมื่อพิจารณาได้ความเท่านี้แล้ว ก็ถอยจิตต์ คืนมาหาตัว พิจารณากาย เป็นกายคตาสติภาวนาต่อไป.

สมาธินิมิตร

ท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อท่านเจริญกรรมฐานภาวนาอยู่วัดเลียบเมืองอุบลนั้น ในชั้นแรกยังบริกรรมภาวนาว่า พุทฺโธ ๆ อยู่ วาระแรกมีอุคคหนิมิตร คือเมื่อจิตต์รวมลงได้ปรากฏรูปอสุภะภายนอกก่อน คือเห็นคนตายอยู่ข้างหน้า ห่างจากที่นั่งประมาณ ๑ วา ผินหน้ามาทางท่าน มีสุนัขตัวหนึ่งมาดึงเอาไส้ออกไปกินอยู่ เมื่อเห็นอย่างนั้นท่านก็มิได้ท้อถอย คงกำหนดนิมิตรนั้นให้มาก ออกจากที่นั่งแล้วจะนอนอยู่ก็ดี จงกรมก็ดี เดินไปมาอยู่ก็ดี ก็ให้ปรากฏนิมิตรอยู่อย่างนั้น ครั้นนานวันมาก็ขยายให้ใหญ่ ขยายให้เน่าเปื่อยผุพัง เป็นจุณวิจุณไป กำหนดให้มากให้มีทั้งตายเก่าและตายใหม่ จนกระทั่งเต็มหมด ทั้งวัดวามีแร้งกาหมายื้อแย่งกันกินอยู่ ท่านก็ทำอยู่อย่างนั้นจนอสุภะนั้นได้กลับกลายเป็นวงแก้ว วาระที่ ๒ เมื่อร่างอสุภะทั้งหมดได้กลับกลายมาเป็นวงแก้วแล้ว จึงเพ่งอยู่ในวงแก้วอันขาวเลื่อมใสสะอาด คล้ายวงกสิณสีขาว ท่านก็เพ่งพินิจพิจารณาอยู่ในวงนั้นเรื่อยไป. วาระที่ ๓ เมื่อกำหนดพิจารณาต่อไป จึงแลไปเห็นอะไรอย่างหนึ่งคล้ายภูเขาอยู่ข้างหน้า จึงนึกขึ้นในขณะนั้นว่าอยากไปดู บางทีจะเป็นหนทางข้อปฏิบัติกระมัง ? จึงได้เดินไปดู ปรากฏว่าภูเขานั้นเป็นพักอยู่ ๕ พัก จึงก้าวขึ้นไปถึงพักที่ ๕ แล้วหยุดแล้วกลับคืน ขณะที่เดินไปนั้นปรากฏว่าตัวท่านสะพายดาบอันคมกล้าเล่ม ๑ และที่เท้ามีรองเท้าสวมอยู่ ในคืนต่อมาก็เป็นไปอย่างนั้นอีก และปรากฏนิมิตรคืบหน้าต่อไปเป็นกำแพงขวางหน้าอยู่ ที่กำแพงมีประตูจึงอยากเข้าไปดูว่าข้างในมีอะไรอีก จึงเอามือผลักประตูเข้าไปปรากฏว่ามีทางสายหนึ่งตรงไป ท่านจึงเดินตามทางนั้นไป ข้างทางขวามือเห็นมีที่นั่งและที่อยู่ของพระภิกษุ ๒-๓ รูป กำลังนั่งสมาธิอยู่ ที่อยู่ของพระภิกษุนั้นคล้ายประทุนเกวียน ท่านมิได้เอาใจใส่คงเดินต่อไป ข้างทางทั้งสองข้างมีถ้ำมีเงื้อมผาอยู่มาก ได้เห็นดาบสตนหนึ่ง อาศัยอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง ท่านก็มิได้เอาใจใส่อีก ครั้นเดินต่อไปก็ถึงหน้าผาสูงมากจะไปก็ไปไม่ได้ จึงหยุดเพียงนั้นแล้วกลับออกมาทางเก่า คืนต่อมาก็ไปอีกอย่างเก่า ครั้นไปถึงหน้าผาแห่งนั้น จึงปรากฏยนตร์คล้ายอู่ มีสายหย่อนลงมาแต่หน้าผา ท่านจึงขึ้นสู่อู่ พอนั่งเรียบร้อย อู่ก็ชักขึ้นไปบนภูเขาลูกนั้น ครั้นขึ้นไปแล้วจึงเห็นสำเภาใหญ่ลำหนึ่งอยู่บนภูเขาลูกนั้น ขึ้นไปดูในสำเภาเห็นโต๊ะ ๔ เหลี่ยม บนโต๊ะมีผ้าปู เป็นผ้าสีเขียวเนื้อละเอียดมาก มองดูทั้ง ๔ ทิศ มีดวงประทีปติดสว่างรุ่งโรจน์อยู่ ประทีบนั้นคล้ายติดด้วยน้ำมัน ปรากฏว่าตัวท่านขึ้นนั่งบนโต๊ะนั้น และปรากฏว่าได้ฉันจังหันที่นั่นด้วย เครื่องจังหันมีแตงกับอะไรอีกหลายอย่าง ครั้นฉันจังหันเสร็จแล้วมองไปข้างหน้า ปรากฏเห็นเป็นฝั่งโน้นไกลมาก จะไปก็ไปไม่ได้เพราะมีเหวลึก ไม่มีสะพานข้ามไป จึงกลับคืนมาเหมือนอย่างเก่า วาระที่ ๔ ก็เพ่งไปน้อมจิตต์ไปอย่างเก่านั้นแล ครั้นไปถึงสำเภาแห่งนั้น จึงปรากฏเห็นมีสะพานน้อยๆ ข้ามไปยังฝั่งโน้น จึงเดินไป พอไปถึงฝั่งโน้นแล้ว ก็ปรากฏเห็นกำแพงใหญ่มากสูงมาก ประกอบด้วยค่ายคูประตูและหอรบอันมั่นคง ที่หน้ากำแพงมีถนนใหญ่ไปทางทิศใต้และทิศเหนือ นึกอยากเข้าไปมากจึงเดินไปผลักประตู ประตูไม่เปิด จึงกลับคืนมา วาระที่ ๕ ทำอย่างเก่าอีก ปรากฏไปอย่างเก่าสะพานจากสำเภาใหญ่ไปยังฝั่งโน้น ปรากฏว่าใหญ่กว่าเก่ามาก ครั้นเดินตามสะพานนั้นไปได้ครึ่งสะพาน ปรากฏว่าเห็นท่านเจ้าพระคุณพระอุบาลี ฯ (สิริจันทเถร จันทร์) เดินสวนมา และกล่าวว่า “อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค” แล้วต่างก็เดินต่อไป พอไปถึงประตูก็แลเห็นประตูเล็กอีกประตูหนึ่ง จึงเดินไปผลักประตูเล็กนั้นออกได้ แล้วไปเปิดประตูใหญ่ได้ เข้าไปข้างในกำแพงปรากฏมีเสาธงทองตั้งอยู่ท่ามกลางเวียงนั้น-สูงตะหง่าน ต่อไปทางข้างหน้าปรากฏมีถนนเป็นถนนดีสะอาดเตียนราบมีเครื่องมุงมีประทีบโคมไฟติดเป็นดวงไปตามเพดานหลังคาถนน มองไปข้างหน้าเห็นมีโบสถ์หลังหนึ่งตั้งอยู่ จึงเดินเข้าไปในโบสถ์ ภายในโบสถ์มีทางจงกรม ที่สุดทางจงกรมทั้งสองข้างมีดวงประทีปตามสว่างรุ่งโรจน์ นึกอยากเดินจงกรม จึงได้เดินจงกรมไป ๆ มา ๆ อยู่ และต่อมาปรากฏมีธรรมาสน์อันหนึ่งวิจิตต์ด้วยเงิน จึงขึ้นไปนั่งบนธรรมาสน์นั้น บนธรรมมาสน์มีบาตรลูกหนึ่งเปิดดูในบาตรมีมีโกนเล่มหนึ่ง พอมาถึงตรงนี้ก็อยู่ไม่ปรากฏอะไรต่อไปอีก วันต่อมาก็เข้ามาถึงตรงนี้อีกทุกๆ วัน ทุกครั้งที่เข้าไปก็ปรากฏว่าในตัวท่านมีดาบสะพายอยู่เล่ม ๑ กับมีรองเท้าสวมอยู่ ปรากฏเป็นอย่างนี้อยู่ถึง ๓ เดือน ครั้นต่อมาเมื่อออกจากที่แล้ว (คือจิตต์ถอนออกจากสมาธิ) เห็นอารมณ์ภายนอกก็ยังกระทบกระทั่งอยู่ร่ำไป สวยก็เกิดรัก ไม่ดีก็ชัง เป็นอยู่อย่างนี้ ท่านจึงพิจารณาว่าการที่เราพิจารณาอย่างนี้ มันยังเป็นนอกอยู่ ไม่หยุดอยู่กะที่ และครั้นกระทบอารมณ์ก็ยังหวั่นไหวอยู่ นี้เป็นจะไม่ใช่ทางเสียแล้วกระมัง ? เมื่อพิจารณาได้ความอย่างนี้ จึงเริ่มแก้ด้วยอุบายวิธีใหม่ จึงตั้งต้นพิจารณากายนี้ทวนขึ้นและตามลงไป อุทฺธํ อโธ ติริยญฺจาบี มชฺเฌ เบื้องบนแต่ปลายเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป และด้านขวางสถานกลางโดยรอบ ด้วยการจงกรม เวลาจะนอนก็นอนเสีย ไม่นั่งให้มันรวมเหมือนอย่างเก่า ใช้อุบายนี้ทำประโยคพยายาม พากเพียรอยู่โดยมิท้อถอย ตลอด ๓ วันล่วงแล้ว จึงนั่งพิจารณาอีก ทีนี้จิตต์จึงรวมลง และปรากฏว่ากายนี้ได้แตกออกเป็นสองภาค พร้อมกับรู้ขึ้นในขณะนั้นว่า เออทีนี้ถูกแล้วละ เพราะจิตต์ไม่น้อมไป และมีสติรู้อยู่กับที่ นี้เป็นอุบายอันถูกต้องครั้งแรก ตั้งแต่นั้นมาก็พิจารณาอยู่อย่างนั้น ครั้งออกพรรษาตกฤดูแล้ง ก็ออกเที่ยวแสวงหาวิเวกไปอยู่ในที่สงัดปราศจากคนพลุกพล่านตามหมู่บ้าน ห่างจากหมู่บ้านพออาศัยภิกขาจารวัตต์ ตามเยี่ยงอย่างพระพุทธเจ้า และพระอริยสาวกเจ้าที่ดำเนินมาก่อนแล้วทั้งหลาย ไปทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง ในคราวไปวิเวกถิ่นนครพนม ได้เจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ (พนฺธุโล จูม) กับเจ้าคุณพระสารภาณมุนี (จันทร์) ไปเป็นศิษย์ศึกษาเล่าเรียน ทั้งทางสมถะวิปัสสนา ทั้งทางปริยัตติธรรม ณ เมืองอุบลก่อน แล้วส่งลงไปศึกษาเล่าเรียนทางกรุงเทพ พระมหานคร จนได้กลับมาทำประโยชน์ เป็นพระเถระผู้ใหญ่ในภาคอิสาณปัจจุบันบัดนี้.
ส่วนอาจารย์เมื่ออายุพรรษาพอสมควรแล้ว จึงได้ลงไปศึกษาทางกรุงเทพ พระมหานคร อันเป็นแหล่งแห่งนักปราชญ์ สำนักที่วัดปทุมวัน หมั่นไปสดับธรรมเทศนาอบรมปัญญากับเจ้าพระคุณพระอุบาลี ฯ (สิริจันทเถร จันทร์) ที่วัดบรมนิวาส ในวันหนึ่งเมื่อกลับจากวัดบรมนิวาส เดินตามถนนหลวงไปกับสหธรรมมิก ๔-๕ รูป กำหนดพิจารณาไปพลาง พอไปถึง ร.ร.กรมแผนที่ (วังกรมพระสวัสดิ์เก่า) จึงได้อุบายแห่งวิปัสสนาเอา ร.ร.นั้นเป็นนิมิตว่า “ของอะไรทั้งหมดเกิดจากของที่มีอยู่ (ดินหนุนดิน)” ตั้งแต่นั้นมาก็กำหนดพิจารณาเพียรอยู่ที่เขาพระงาม (ถ้ำไผ่ขวาง) ถ้ำสิงโต จึงพอได้รับความเข้าใจในพระธรรมวินัย อันพระตถาคตเจ้าทรงประกาศแล้ว.
ครั้งพรรษาได้ ๒๓ จึงกลับมาหาหมู่คณะทางภาคอิสาณ มีพระเณรมาศึกษาด้วยมากขึ้นโดยลำดับ มีพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นต้น จนพรรษาได้ ๓๘ จึงได้จากหมู่คณะไปจำพรรษาวัดปทุมวัน กรุงเทพ ฯ แล้วเลยไปเชียงใหม่กับเจ้าพระคุณ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันทเถร จันทร์) พักวัดเจดีย์หลวง ๑ พรรษาแล้วไปวิเวกตามที่ต่าง ๆ บ้าง กลับมาจำพรรษาวัดเจดีย์หลวงบ้าง รวมเวลา ๑๑ ปี จึงได้กลับมาภาคอิสาณ เพื่อสงเคราะห์สาธุชนตามคำนิมนต์ของเจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ จนถึงปัจฉิมสมัย..

อ่านต่อ ตอนที่ 3 หนังสือชีวประวัติฯ พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร: ปฏิปทา กิจวัตรประจำวัน บำบัดอาพาธด้วยธรรมโอสถ และคำเตือนสติศิษย์ผู้ออกสแวงหาวิเวก (หน้า 14-26)

ไปตอน 1, 2, 3, 4, 5, …

อ่านฉบับเต็ม e-book และ ไฟล์ดาวน์โหลดหนังสือหลวงปู่มั่นได้ ที่นี่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *