ตอนที่ 3 หนังสือชีวประวัติฯ พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร: ปฏิปทา กิจวัตรประจำวัน บำบัดอาพาธด้วยธรรมโอสถ และคำเตือนสติศิษย์ผู้ออกสแวงหาวิเวก (หน้า 14-26)

ตอนที่ 3 หนังสือชีวประวัติฯ พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร: ปฏิปทา กิจวัตรประจำวัน บำบัดอาพาธด้วยธรรมโอสถ และคำเตือนสติศิษย์ผู้ออกสแวงหาวิเวก (หน้า 14-26)

ปฏิปทา

เมื่อแรกอุปสมบท ท่านพำนักอยู่วัดเลียบ เมืองอุบลเป็นปกติ ออกไปอาศัยอยู่วัดบูรพาราม เมืองอุบลบ้างเป็นบางคราว ในระหว่างนั้นได้ศึกษาข้อปฏิบัติเบื้องต้น อันเป็นส่วนแห่งพระวินัย คืออาจาระ ความประพฤติ มารยาท อาจาริยวัตต์ และอุปัชฌายวัตต์ ปฏิบัติได้เรียบร้อยดี จนเป็นที่ไว้วางใจของพระอุปัชฌาย์อาจารย์และศึกษาข้อปฏิบัติอบรมจิตใจ คือเดินจงกลม นั่งสมาธิกับสมาทานธุดงควัตรต่างๆ.

ในสมัยต่อมา ได้แสวงหาวิเวกบำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่าง ๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง หุบเขา ซอกห้วย ธารเขา เงื้อมเขา ท้องถ้ำ เรือนว่าง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง แล้วลงไปศึกษากับนักปราชญ์ทางกรุงเทพ ฯ จำพรรษาอยู่วัดปทุมวัน หมั่นไปสดับธรรมเทศนากับเจ้าพระคุณพรอุบาลี ฯ (สิริจันทเถร จันทร์) ๓ พรรษา แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือถ้ำสาลิกา เขาใหญ่ นครนายก ถ้ำไผ่ขวางเขาพระงาม และถ้ำสิงโต ลพบุรี จนได้รับความรู้แจ่มแจ้งในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัยในสัตถุศาสนา จึงกลับมาภาคอีสาน ทำการอบรมสั่งสอนสมถวิปัสสนาแก่สหธรรมิก และอุบาสกอุบาสิกาต่อไป มีผู้เลื่อมใสพอใจปฏิบัติตามมากขึ้นโดยลำดับ มีศิษยานุศิษย์แพร่หลายกระจายทั่วภาคอีสาน.

ในกาลต่อมาได้ลงไปพักจำพรรษาที่วัดปทุมวัน กรุงเทพฯ อีก ๑ พรรษา แล้วไปเชียงใหม่กับเจ้าพระคุณพระอุบาลี ฯ (สิริจันทรเถร จันทร์) จำพรรษาวัดเจดีย์หลวง ๑ พรรษา แล้วออกไปพักตามที่วิเวกต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้น ๆ นานถึง ๑๑ ปี จึงได้กลับมาจังหวัดอุดรธานีตามคำอาราธนาของเจ้าพระคุณ พระธรรมเจดีย์ พักจำพรรษาอยู่ที่วัดโนนพระนิเวศน์เพื่ออนุเคราะห์สาธุชนในที่นั้น ๒ พรรษา แล้วมาอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร จำพรรษาที่วัดป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมืองสกล ๓ พรรษา จำพรรษาที่วัดป่าหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณนานิคม ๕ พรรษา เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในถิ่นนั้น มีผู้สนใจในธรรมปฏิบัติได้ติดตามมาศึกษาองตมจิตใจมากมาย ศิษยานุศิษย์ของท่านได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทยยังเกียรติคุณของท่านให้ฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไป.

ธุดงควัตรที่ท่านถือปฏิบัติเป็นอาจิณ ๔ ประการ
๑. ปํสุกูลิกังคธุดงค์ ถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุล นับตั้งแต่วันอุปสมบทมาตราบกระทั่งถึงวัยชรา จึงได้ผ่อนใช้คณหบดีจีวรบ้าง เพื่ออนุเคราะห์แก่ผู้ศรัทธานำมาถวาย.
๒. ปิณฺฑปาติกังคธุดงค์ ถือภิกขาจารวัตรเที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์ แม้อาพาธไปในละแวกบ้านไม่ได้ ก็บิณฑบาตในเขตวัด บนโรงฉัน จนกระทั่งอาพาธลุกไม่ได้ ในปัจฉิมสมัยจึงงดบิณฑบาต
๓. เอกปตฺติกังคธุดงค์ ถือฉันในบาตรใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์ จนกระทั่งถึงสมัยอาพาธหนักในปัจฉิมสมัยจึงงด.
๔. เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์ตลอดมา แม้ถึงอาพาธหนักในปัจฉิมสมัยก็มิได้เลิกละ.
ส่วนธุดงควัตรนอกนี้ ได้ถือปฏิบัติเป็นครั้งคราวที่นับว่าปฏิบัติได้มากก็คือ อรญฺญิกังคธุดงค์ ถืออยู่เสนาสนะป่าห่างบ้านประมาณ ๒๕ เส้น หลีกเร้นอยู่ในที่สงัดตามสมณะวิสัย เมื่อถึงวัยชราจึงอยู่ในเสนาสนะป่าห่างบ้านพอสมควร ซึ่งพอเหมาะกับกำลังที่จะภิกขาจารบิณฑบาตเป็นที่ที่ปราศจากเสียงอื้ออึง ประชาชนเคารพยำเกรงไม่รบกวน.

นัยว่า ในสมัยที่ท่านแข็งแรง ได้ออกจาริกโดดเดี่ยวแสวงวิเวกไปในป่าดงพงลึก จนสุดวิสัยที่ศิษยานุศิษย์จะติดตามไปถึงได้ก็มี เช่นในคราวไปอยูทางภาคเหนือ เป็นต้น ท่านไปวิเวกบนเขาสูงอันเป็นที่อยู่ของพวกมูเซอร์ ม้งชาวมูเซอร์ซึ่งพูดไม่รู้เรื่องกัน ให้บังเกิดสัทธาในพระศาสนาได้.

กิจวัตรประจำวัน

ท่านปฏิบัติกิจประจำวันเป็นอาจิณณวัตร เพื่อเป็นแบบอย่างแก่สานุศิษย์ และพร่ำสอนสานุศิษย์ให้ปฏิบัติเป็นอาจิณณวัตรต่อไปนี้
เวลาเช้าออกจากุฏิทำสรีระกิจ คือ ล้างหน้า บ้วนปาก นำบริขารสู่โรงฉัน ปัดกวาดลานวัดแล้วเดินจงกรม พอได้เวลาภิกขาจารก็ขึ้นสู่โรงฉัน นุ่งห่มเป็นปริมณฑล สะพายบาตรเข้าสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต กลับจากปิณฑบาตรแล้วจัดแจงบาตรจีวร แล้วจัดอาหารใส่บาตร นั่งพิจารณาอาหารปัจจเวกขณทำภัตตานุโมทนาคือ ยถาสัพพีเสร็จแล้วฉันจังหัน ฉันเสร็จแล้วล้างบาตรเก็บบริขารขึ้นกุฎี ทำสรีระกิจ พักผ่อนเล็กน้อยแล้ว ลุกขึ้นล้างหน้า ไหว้พระสวดมนต์ และพิจารณาธาตุ-อาหารปฏิกูล-ตังขณิก-อดีตปัจจเวกขณะ แล้วชำระจิตจากนิวรณ์ นั่งสมาธิพอสมควร เวลาบ่าย ๓-๔ โมง กวาดลานวัด ตักน้ำใช้ น้ำฉันมาไว้ อาบน้ำชำระกายให้สะอาดปราศจากมลทินแล้วเดินจงรมจนถึงพลบค่ำจึงขึ้นกุฎี.

เวลากลางคืนตั้งแต่พลบค่ำไป สานุศิษย์ก็ทยอยกันขึ้นไปปรนนิบัติ ท่านได้เทศนาสั่งสอนอบรมสติปัญญาแก่สานุศิษย์พอสมควรแล้ว สานุศิษย์ถวายการนวดฟั้นพอสมควรแล้ว ท่านก็เข้าห้องไหว้พระสวดมนต์นั่งสมาธิ แล้วพักนอนประมาณ ๔ ชั่วทุ่ม เวลา ๓.๐๐ น. ตื่นนอน บ้วนปากแล้วปฏิบัติกิจอย่างในเวลาเช้าต่อไปกิจบางประการ เมื่อมีลูกศิษย์มากและแก่ชราแล้วก็อาศัยศิษย์เป็นผู้ทำแทน เช่น การตักน้ำใช้ น้ำฉันเพราะเหน็ดเหนื่อยเนื่องจากชราภาพ ส่วนกิจอันใดเป็นสมณะประเพณีและเป็นศีลวัต กิจนั้นท่านปฏิบัติเสมอเป็นอาจิณ มิได้เลิกละ ท่านถือคติว่า “เมื่อมีวัตต์ก็ชื่อมีศีล ศีลเป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติ” ท่านกล่าวว่า “ต้นดี ปลายก็ดี ครั้นผิดมาแต่ต้น ปลายก็ไม่ดี” ดังคำว่า “ผิดมาตั้งแต่ต้น ฮวงเม่าบ่มี” อุปมารูปเปรียบเหมือนอย่างว่า “การทำนา เมื่อบำรุงรักษาลำต้นข้าวดีแล้ว ย่อมหวังได้แน่ ซึ่งผลดังนี้” ท่านจึงเอาใจใส่ตักเตือนสานุศิษย์ ให้ปฏิบัติศีลวัตต์อันเป็นส่วนเบื้องต้นให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ไว้เสมอ

บำบัดอาพาธด้วยธรรมโอสถ

เมื่อคราวท่านลงไปจำพรรษาที่วัดปทุมวัน กรุงเทพ ฯ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑ ก่อนไปเชียงใหม่ ข้าพเจ้าผู้เรียงประวัตินี้พึ่งได้อุปสมบทใหม่ ๆ กำลังสนใจศึกษาทางสมถวิปัสสนา ได้ทราบคำกิตติศัพท์ของท่านว่าเป็นผู้ปฏิบัติเชี่ยวชาญทางสมถวิปัสสนา จึงเข้าไปศึกษาสดับฟังธรรมเทศนาของท่าน ได้ความเชื่อความเลื่อมใสถวายตัวเป็นศิษย์ของท่านแล้ว ท่านเล่าเรื่องวิธีระงับอาพาธด้วยธรรมโอสถให้ฟังว่า เมื่อคราวท่านไปจำพรรษาที่ถ้ำสาริกาเขาใหญ่นครนายกนั้นเกิดอาพาธ ธาตุกำเริบ ไม่ทำการย่อยอาหารที่บริโภคเข้าไปถ่ายออกมาก็เป็นเหมือนเมื่อแรกบริโภค ชั้นแรกได้พยายามรักษาด้วยยาธรรมดา จนสุดความสามารถอาพาธก็ระงับ จนวันหนึ่ง ขณะที่แสวงหายากรากไม้ เพื่อมาบำบัดอาพาธนั้นได้ความเหน็ดเหนื่อยมาก เพราะยังมิได้ฉันจังหัน ครั้นได้ยาพอและกลับมาถึงถ้ำที่พักแล้ว บังเกิดความคิดขึ้นว่า เราพยายามรักษาด้วยยาธรรมดามาก็นานแล้ว อาพาธก็ไม่ระงับ เราจะพยายามรักษาด้วยยาธรรมดาต่อไปก็คงไร้ผลเหมือนแต่ก่อน บัดนี้อาพาธก็กำเริบยิ่งขึ้น ควรระงับด้วยธรรมโอสถดูบ้าง หากไม่หายก็ให้มันตายด้วยการประพฤติธรรมดีกว่า ครั้นแล้วก็เข้าที่นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติสัมปชัญญะ กำหนดพิจารณา กายคตาสติกรรมฐาน ไม่นานก็ได้ความสงบจิต อาพาธก็ระงับหายวันหายคืนโดยลำดับ จนร่างกายแข็งแรงดังเก่า จึงย้ายไปทำความเพียรอยู่ถ้ำไผ่ขางเขาพระงาม และถ้ำสิงโต ลพบุรี จนได้ความแกล้วกล้าอาจหาญในพระธรรมวินัยดังเล่ามาแล้ว.

อีกครั้งหนึ่ง เมื่อท่านอาศัยอยู่ห้วยน้ำกิงอันเป็นอรัญญสุขวิหารราวป่าชัฏ ก่อนจะไปอยู่ที่นั่น ท่านได้พิจารณาธาตุขันธ์ได้ความว่าอาพาธจะกำเริบ และจะระงับได้ในสถานที่นั้น พอตกกลางคืนอาพาธอันเป็นโรคประจำตัวมาแต่ยังเด็กก็กำเริบ คือปวดท้องอย่างแรงนั่งนอนไม่เป็นสุขทั้งนั้น จึงเร่งรัดพิจารณาวิปัสสนาประมาณ ๑ ชั่วโมง อาพาธก็สงบ ปรากฏว่าร่างกายนี้ละลายพึบลงสู่ดินเลย จึงปรากฏบาทคาถาขึ้นว่า “นาญฺญตฺรโพชฺฌา ตปสา นาญฺญตฺร ปฏินิสฺสคฺคา” พิจารณาได้ความว่า ธรรมอื่นเว้นโพชฌงค์เสยแล้วจะเป็นเครื่องแผดเผามิได้มีดังนี้.

อีกครั้งหนึ่ง เมื่อท่านอาพาธเป็นไข้มาเลเรียขึ้นสมอง เจ้าคุณพระเทพโมลี (ธมฺมธโร พิมพ์) อาราธนามารักษาที่วัดเจดีย์หลวงเชียงใหม่ ท่านก็ยินยอมให้รักษาดู ท่านเจ้าคุณจึงไปเชิญหมอแผนปัจจุบันมารักษาฉีดหยูกยาต่าง ๆ จนสุดความสามารถหมอ วันหนึ่งหมอกระซิบบอกท่านเจ้าคุณว่า หมดความสามารถแล้ว พอหมอไปแล้ว ท่านอาจารย์จึงนิมนต์เจ้าคุณพระเทพโมลีไปถามหมอว่าอย่างไร? ท่านเจ้าคุณก็เรียนให้ทราบตามตรง ท่านอาจารย์จึงบอกว่าไม่ตายดอกอย่าตกใจ แล้วจึงบอกความประสงค์ให้ทราบว่าท่านได้พิจารณาแล้วรู้ว่า อาพาธครั้งนี้จะระงับได้ด้วยธรรมโอสถ ณ สถานที่แห่งหนึ่งคือ ป่าเปอะ อันเป็นสถานที่วิเวกใกล้นครเชียงใหม่ ท่านจะไปพักที่นั่น เจ้าคุณพระเทพโมลีก็อำนวยตามความประสงค์ ท่านไปพักทำการเจริญกายคตาสติกรรมฐาน เป็นอนุโลมปฏิโลม เพ่งแผดเผาภายในอยู่ทั้งกลางวันกลางคืนไม่นานอาพาธก็สงบ จึงปรากฏบาทคาถาขึ้นว่า “ฌายี ตปติ อาทิจฺโจ” พิจารณาได้ความว่า “ฌาน แผดเผาเหมือนดวงอาทิตย์ฉะนั้น.”

อีกครั้งหนึ่ง เมื่อจากนครเชียงใหม่ มาสู่อุดรธานี ตามคำนิมนต์ของเจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ พักที่วัดโนนพระนิเวศน์ ๒ พรรษา เพื่อสงเคราะห์สาธุชน ณ ถิ่นนั้น แล้วมาสกลนครตามคำนิมนต์ของนางนุ่ม ชุวานนท์ พักที่วัดป่าสุทธาวาส เพื่อสงเคราะห์ พอสมควรแล้วเลยออกไปพักที่เสนาสนะป่าบ้านนามน และบ้านนาสีนวนบ้าง ในคราวไปพักที่เสนาสนะป่าบ้านนาสีนวนนั้นอาพาธกำเริบ เป็นไข้และปวดท้องได้พิจารณาตามโพชฌงค์มิท้อถอฌ เมื่อพิจารณาโพชฌงค์พอแล้ว ได้อยู่ด้วยความสงบ ไม่นานอาพาธก็สงบ จึงปรากฏบ้างว่า จึงปรากฏบาทคาถาขึ้นว่า “ฌายี ตปติ อาทิจฺโจ” พิจารณาได้ความเหมือนหนหลัง

คราวที่พักอยู่เสนาสนะป่าบ้านห้วยแคน อาพาธก็กำเริบอีก ได้พยายามระงับด้วยธรรมโอสถ โดยพิจารณามรรค ๘ กับธุดงค์ ๑๓ เมื่ออาพาธสงบแล้วจึงปรากฏบาทคาถาขึ้นว่า “อฎฺฐ เตรส” พิจารณาได้ความว่า “มรรค ๘ กับธุดงค์ ๑๓ ประชุมลงเป็นสามัคคีกัน” อาพาธครั้งนี้ ๗ วันจึงระงับ.

คำเตือนสติศิษย์ผู้ออกสแวงหาวิเวก

เมื่อมีศิษย์รูปใดไปอำลาท่าน เพื่อออกแสวงหาที่วิเวกบำเพ็ญสมณธรรม ท่านย่อมตักเตือนศิษฐ์รูปนั้นให้ยึดเอาสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นตัวอย่าง เป็นแบบฉบับเสมอ แล้วเล่าเรื่องที่ท่านเคยเป็นมาแล้วให้ฟังว่า เมื่อคราวแสวงหาวิเวกเพื่อบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ทางภาคเหนือได้ออกวิเวกไปองค์เดียว ถูกโลกธรรมกระทบกระทั่งนา ๆ ประการ พิจารณาอยู่ ๓ วัน จึงได้ความว่าต้องยกธง ๓ สี อุปมาด้วยธงแห่งสยามประเทศ แล้วมีพระบาลีซึ่งมิได้เคยสดับมาปรากฏขึ้นต่อไปว่า “สุตาวโต จ โข ภิกฺขเว อสุตาวตา ปถุชฺชเนนาปิ ตสฺสานุโรธา อถวา วิโรธา เวทุปิด ตถาคตํ คจฺฉนฺติ ภควํมูลกา โน ภนเต ภควา ภควํเนตฺติกา ภควํปฏิสฺสรณา สาธุ วต ภนฺเต ภควาเยว ปฏิกาตุ” แล้วพิจารณาได้ความว่า “ระหว่างพระอริยบุคคลผู้ได้สดับแล้ว กับปุถุชนผู้มิได้สดับ ก็ย่อมถูกโลกธรรมกระทบกระทั่งเช่นเดียวกัน แม้พระตถาคตก็ได้ถูกโลกธรรมกระทบกระทั่งมาแล้วแสนสาหัส ในคราวทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา และการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยนั้น พระองค์มิได้ตรัสสอนให้เอาพระสาวกองค์นั้นองค์นี้เป็นตัวอย่าง ตรัสสอนให้เอาพระองค์เองเป็นตัวอย่างเป็นเนตติแบบฉบับเป็นที่พึ่งเสมอด้วยชีวิต” ดังนี้.

อ่านต่อ ตอนที่ 4 หนังสือชีวประวัติฯ พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร: สำเร็จปฏิสัมภิทานุสาสน์ ไตรวิธญาณ คติพจน์ บำเพ็ญประโยชน์ ปัจฉิมสมัย (หน้า 26-40)

ย้อนกลับไป ตอน 1, 2, 3, 4, 5, …

อ่านฉบับเต็ม e-book และ ไฟล์ดาวน์โหลดหนังสือหลวงปู่มั่นได้ ที่นี่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *