ตอนที่ 4 หนังสือชีวประวัติฯ พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร: สำเร็จปฏิสัมภิทานุสาสน์ ไตรวิธญาณ คติพจน์ บำเพ็ญประโยชน์ ปัจฉิมสมัย (หน้า 26-40)
สำเร็จปฏิสัมภิทานุสาสน์
ตามประวัติเบื้องต้น ได้เล่าสุบินนิมิตของท่านและการพิจารณาสุบินนิมิตของท่านได้ความว่า ท่านจะสำเร็จปฏิสัมภิทานุสาสน์ ฉลาดรู้ในเทศนาวิธี และอุบายทรมานแนะนำสั่งสอนสานุศิษย์ให้เข้าใจในพระธรรมวินัยและอุบายฝึกฝนจิตใจ แต่จะไม่ได้จตุปฏิสัมภิทาญาณ ดังนี้
คุณสมบัติส่วนนี้ ย่อมประจักษ์ชัดแก่ศิษย์ทั้งหลายสมจริงอย่างที่ท่านพยากรณ์ไว้ คือท่านฉลาดในเทศนาวิธี ท่านเคยเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ท่านได้พยายามศึกษาสำเหนียกวิธีเทศนาอันจะสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ฟังได้ความขึ้นว่า เทศนาวิธีต้องประกอบด้วย
๑. อุเทศ คือ กำหนดอุเทศก่อน โดยวิธีทำความสงบใจหน่อยหนึ่ง ธรรมใดอันเหมาะแก่จริตนิสสัยของผู้ฟัง ซึ่งมาคอยฟังในขณะนั้น ธรรมนั้นจะผุดขึ้น ต้องเอาธรรมนั้นมาเป็นอุเทศ ถ้าเป็นภาษาไทยต้องแปลเป็นบาลีก่อน
๒. นิเทศคือเนื้อความ เพื่ออธิบายความของอุเทศนั้นให้กว้างขวางออกไปตามสมควร เมื่อเนื้อความปรากฏขึ้นในขณะนั้นแจ่มแจ้งแก่ใจอย่างไรแสดงอย่างนั้น
๓. ปฏินิเทศ คือกำหนดใจความ เพื่อย่อคำให้ผู้ฟังจำได้ จะได้นำไปไตร่ตรองในภายหลัง
เทศนาวิธีของท่านอาจารย์ย่อมเป็นไปตามหลักดังกล่าวมานี้ บาลีอุเทศที่ท่านยกขึ้นมาแสดงบางประการ ท่านไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก่อน ย่อมมาปรากฏขึ้นในเวลาแสดงธรรมนั้นเอง จึงสมกับคำว่า ปฏิสัมภิทานุศาสน์แท้ เป็นการแดสงธรรมด้วยปฏิภาณญาณจริงๆ จึงถูกกับจริตอัธยาสัยของผู้ฟัง ยังผู้ฟังให้เกิดความสว่างแจ่มใส เบิกบานใจ และเกิดฉันทะในอันประพฤติปฏิบัติศีลธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป สมด้วยคำชมของเจ้าพระคุณพระอุบาลี (สิริจันทเถร จันทร์) ว่าท่านมั่นแสดงธรรมด้วยมุตโตทัยเป็นมุตโตทัย ดังนี้ ซึ่งข้าพเจ้าเอามาเป็นชื่อธรรมกถาของท่านอาจารย์ที่พิมพ์เผยแพร่แล้ว ส่วนจตุปฏิสัมภิทาญาณนั้น ท่านว่าท่านจะไม่ได้สำเร็จ เพราะมิได้เปิดดูในตู้พระไตรปิฎก เมื่อสังเกตดูเทศนาโวหารของท่านแล้ว ก็จะเห็นสมจริงดังคำพยากรณ์ของท่าน เพราะปฏิสัมภิทาญาณมี 4 ประการ คือ
๑.ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ ปรีชาแตกฉานในธรรม คือ หัวข้อธรรมหรือหลักธรรมหรือเหตุปัจจัย
๒. อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ปรีชาแตกฉานในอรรถคือเนื้อความ หรือคำอธิบายหรือผลประโยชน์
๓. นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ ปรีชาแตกฉานในภาษาที่ใช้พูดกันในหมู่ชนอันเป็นตันติภาษา โดยก็คือรู้ภาษาบาลีอันเป็นแม่ภาษา และภาษาของตนอันจะใช้อธิบายธรรมในหมู่ชนนั้นๆ รู้คำสูงต่ำหนักเบาและรู้ความหมายของคำนั้น ๆ ชัดแจ้ง ฉลาดในการเลือกคำพูดมาใช้ประกอบกันเข้าเป็นประโยคให้ได้ความกระทัดรัด และไพเราะสละสลวยเป็นสำนวนชาวเมืองไม่ระเคืองคายโสตของผู้ฟัง.
๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ปรีชาแตกฉานในการกล่าวธรรมด้วยปฏิภาณญาณ มีไหวพริบทนคนในการโต้ตอบปัญหา มีปรีชาผ่องแผ้วแกล้วกล้าไม่ครั่นคร้ามในท่ามกลางบริษัท อาจปริวัติเทศนาไปตามจริตอัธยาศัยด้วยเทศนานัยมีประการต่าง ๆ ได้ดี.
ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ ประการนี้ ต้องได้ครบบริบูรณ์ทั้ง ๔ ประการ จึงจะเรียกว่าสำเร็จจตุปฏิสัมภิทาญาณ ถ้าได้แต่เพียงบางส่วนบางประการไม่เรียกว่าสำเร็จ แต่ถ้าได้ทั้ง ๔ ประการนั้น หากแต่ไม่บริบูรณ์เป็นแต่เพียงอนุโลม ก็เรียกว่าจตุปฏิสัมภิทานุโลมญาณ ท่านอาจารย์น่าจะได้ในข้อหลังนี้ จึงฉลาดในเทศนาวิธี และอุบายวิธี แนะนำสั่งสอนสานุศิษย์ดังกล่าวมาแล้ว
ไตรวิธญาณ
ท่านอาจารย์เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่าการกำหนดรู้อะไรต่าง ๆ เช่น จิตต์ นิสสัย วาสนาของคนอื่น และเทวดา เป็นต้น ย่อมรู้ได้ด้วยอาการ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง
๑. เอกวิธัญญา กำหนดพิจารณากายนี้อันปรากฏชัด จิตต์วางจากอุคคหนิมิตรวมลงถึงฐีติจิตต์ คือจิตต์ดวงเดิม พักอยู่พอประมาณ จิตต์ถอยออกมาพักเพียงอุปจาระก็ทราบได้ว่าเหตุนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้.
๒. ทุวิธัญญา กำหนดพิจารณาเหมือนข้อ ๑. พอจิตต์ถอยออกมาถึงอุปจาระ จะปรากฏนิมิตภาพเหตุการณ์นั้น ๆ ขึ้น ต้องวางนิมิตนั้นเข้าจิตต์อีกครั้งหนึ่ง ครั้นถอยออกมาอีกก็ทราบเหตุการณ์นั้น ๆ ได้.
๓. ติวิธัญญา ปฏิบัติเหมือนในข้อ ๑. พอจิตต์ถอยออกมาถึงขึ้นอุปจาระจะปรากฏนิมิตภาพเหตุการณ์ขึ้น ต้องวิตกถามเสียก่อน แล้วจึงวางนิมิตนั้น แล้วเข้าจิตต์อีก ถอยออกมาถึงขั้นอุปจาระก็จะทราบเหตุการณ์นั้นได้.
ความรู้โดยอาการ ๓ นี้ ท่านอาจารย์ว่า จิตต์ที่ยังเป็นฐิติขณะเป็นเอกทัคคตา มีอารมณ์เดียว มีแต่สติกับอุเบกขา จะทราบเหตุการณ์ไม่ได้ต้องถอยจิตต์ออกมาเพียงขั้นอุปจาระจึงมีกำลังรู้ได้ หากถอยออกมาถึงขั้นขณิก หรือจิตต์ธรรมดาก็ทราบเหตุการณ์ไม่ได้เหมือนกัน เพราะกำลังอ่อนเกินไป
ท่านอาจารย์ยังคงอาศัยไตรวิธญาณนี้เป็นกำลังในการหยั่งรู้หยั่งเห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งที่เป็นส่วนอดีต ปัจจุบัน อนาคต และกำหนดรู้จิตใจ นิสสัย วาสนาของศิษยานุศิษย์ พร้อมทั้งอุบายวิธีทรมานศิษยานุศิษย์ด้วย ปรีชาญาณหยั่งรู้โดยวิธี ๓ ประการนี้ จึงควรเป็นเนคติของผู้จะเป็นครูอาจารย์ของผู้อื่นต่อไป
คติพจน์
คำเป็นคติ อันท่านอาจารย์กล่าวอยู่บ่อย ๆ เพื่อเป็นหลักวินิจฉัยความดีที่ทำด้วย กาย วาจา ใจ แก่ศิษยานุศิษย์ดังนี้:-
๑. ดีใดไม่มีโทษ ดีนั้นชื่อว่าดีเลิศ
๒. ได้สมบัติทั้งปวงไม่ประเสริฐเท่าได้ตน เพราะตัวตนเป็นที่เกิดแห่งสมบัติทั้งปวง
เมื่อท่านอธิบาย ตจปัญจกกรรมฐานจบลงมักจะกล่าวเตือนขึ้นเป็นคำกลอนว่า “แก้ให้ตกเนอ แก้บ่อตก คาพกเจ้าไว้ แก้บ่อได้แขวนคอนำต่องแต่ง แก้บ่อพ้นคาก้นย่างยาย คาย่างยายเวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม ภพทั้งสามเป็นเฮือนเจ้าอยู่” ดังนี้
เมื่อคราวท่านเทศนาสั่งสอนพระภิกษุผู้เป็นสานุศิษย์ถือลัทธิฉันเจ ให้เข้าใจทางถูก และละเลิกลัทธินั้น ครั้นจบลงแล้วได้กล่าวคำเป็นคติขึ้นว่า “เหลือแต่เว้าบ่เห็นบ่อนเบาหนัก เดินบ่อไปตามทางสิถึกดงเสือฮ้าย” ดังนี้
บำเพ็ญประโยชน์
การบำเพ็ญประโยชน์ของท่านอาจารย์ประมวลลงในหลัก ๒ ประการดังนี้
๑. ประโยชน์ของชาติ ท่านอาจารย์ได้เอาธุระเทศนาอบรมสั่งสอนศีลธรรมอันดีงามแก่ประชาชนพลเมืองของชาติ ในทุก ๆ ถิ่นที่ท่านได้สัญจรไป คือภาคกลางบางส่วน ภาคเหนือเกือบทั่วทุกจังหวัด ภาคอีสานเกือบทั่วทุกจังหวัด และบางส่วนของต่างประเทศ เช่น ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงของประเทศลาว ไม่กล่าวสอนให้เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองของประเทศ ทำให้พลเมืองของชาติ ผู้ได้รับคำสั่งสอน เป็นคนมีศีลธรรมดี มีสัมมาอาชีพ ง่ายแก่การปกครองของผู้ปกครอง ชื่อว่าได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ชาติตามควรแก่สมณะวิสัย
๒. ประโยชน์ศาสนา ท่านอาจารย์ได้บรรพชาและอุปสมบทเข้ามาในพระพุทธศาสนานี้ด้วยความเชื่อและความเลื่อมใสจริง ๆ ครั้นบวชแล้วก็ได้เอาธุระศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัยด้วยความอุตสาหะพากเพียรจริงๆ ไม่ทอดธุระในการบำเพ็ญสมณธรรม ท่านปฏิบัติธุดงควัตรเคร่งครัดถึง ๔ ประการ ดังกล่าวแล้วในเบื้องต้น ได้ดำรงรักษาสมณกิจไว้มิให้เสื่อมศูนย์ ได้นำหมู่คณะฟื้นฟูปฏิบัติธรรมวินัยให้ถูกต้องตามพระพุทธบัญญัติและพระพุทธโอวาท หมั่นอนุศาสน์สั่งสอนศิษยานุศิษย์ให้ฉลาดอาจหาญในการฝึกฝนอบรมจิตใจ ตามหลักสมถวิปัสสนาอันสมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสสอนไว้ เป็นผู้มีน้ำใจเด็ดเดี่ยวอดทนไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม แม้จะถูกกระทบกระทั่งด้วยโลกธรรมอย่างไร ก็มิได้แปรเปลี่ยนไปตาม คงมั่นอยู่ในธรรมวินัย ตามที่พระบรมศาสดาประกาศแล้วตลอดมา ทำตนให้เป็นทิฏฐานุคติแก่ศิษยานุศิษย์เป็นอย่างดี ท่านได้จาริกไปเพื่อแสวงวิเวกตามที่ต่างๆ คือบางส่วนของภาคกลางเกือบทุกจังหวัดในภาคเหนือ เกือบทุกจังหวัดของภาคอีสาน และแถมบางส่วนของต่างประเทศอีกด้วย นอกจากเพื่อวิเวกในส่วนตนแล้ว ท่านมุ่งไปเพื่อสงเคราะห์ผู้มีอุปนิสัยในถิ่นนั้นๆ ด้วย ผู้ได้รับสงเคราะห์ด้วยธรรมจากท่านแล้ว ย่อมกล่าวได้ด้วยความภูมิใจว่า ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา
ส่วนหน้าที่ในวงการคณะสงฆ์ ท่านอาจารย์ได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระพระสังฆราชเจ้า ในฐานะเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตติกาให้เป็นพระอุปัชฌาย์ในคณะธรรมยุตติกาตั้งแต่อยู่จังหวัดเชียงใหม่ และได้รับตั้งเป็นพระครูวินัยธร ฐานานุกรมของเจ้าพระคุณพระอุบาลีฯ (สิริจันทเถร จันทร์) ท่านก็ได้ทำหน้าที่นั้นโดยเรียบร้อยตลอดเวลาที่ยังอยู่เชียงใหม่ ครั้นจากเชียงใหม่มาแล้ว ท่านก็งดหน้าที่นั้น แม้ข้าพเจ้าขอร้องให้ทำในเมื่อมาอยู่สกลนคร ท่านก็ไม่ยอมทำ โดยอ้างว่าแก่ชราแล้ว ขออยู่ตามสบาย ข้าพเจ้าก็ผ่อนตามด้วยความเคารพและหวังความผาสุกสบายแก่ท่านอาจารย์
งานศาสนาในด้านวิปัสสนาธุระ นับว่าท่านได้ทำเต็มสติกำลัง ยังศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ให้อาจหาญรื่นเริงในสัมมาปฏิบัติตลอดมา นับแต่พรรษาที่ ๒๓ จนถึงพรรษาที่ ๕๙ อันเป็นปีสุดท้ายแห่งชีวิตของท่าน อาจกล่าวได้ด้วยความภูมิใจว่า ท่านอาจารย์เป็นพระเถระที่มีเกียรติคุณเด่นที่สุดด้านวิปัสสนาธุระ รูปหนึ่งในยุคปัจจุบัน
ปัจฉิมสมัย
ในวัยชรานับแต่ พ.ศ.๒๔๘๔ เป็นต้นมา ท่านมาอยู่จังหวัดสกลนคร เปลี่ยนอิริยาบถไปตามสถานที่วิเวกผาสุกวิหารหลายแห่ง คือ ณ เสนาสนะป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมืองบ้าง ที่ใกล้ ๆ แถวนั้นบ้าง ครั้น พ.ศ.๒๔๘๗ จึงย้ายไปอยู่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร จนถึงปีสุดท้ายแห่งชีวิต
ตลอดเวลา ๘ ปี ในวัยชรานี้ ท่านได้เอาธุระอบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ทางสมถวิปัสสนาเป็นอันมาก ได้มีการเทศนาอบรมจิตใจศิษยานุศิษย์เป็นประจำวัน ศิษย์ผู้ใกล้ชิดได้บันทึกธรรมเทศนาของท่านไว้และได้รวบรวมพิมพ์ขั้นเผยแผ่แล้วให้ชื่อว่า “มุตโตทัย” ครั้นมาถึง ปี พ.ศ.๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีที่ท่านมีอายุย่างขึ้น ๘๐ ปี ท่านเริ่มอาพาธเป็นไข้ ศิษย์ผู้อยู่ใกล้ชิดก็ได้เอาธุระรักษาพยาบาลไปตามกำลังความสามารถอาพาธก็สงบไปแล้วบ้างเป็นครั้งคราว แต่แล้วก็กำเริบขึ้นอีกเป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนจวนออกพรรษาอาพาธก็กำเริบมากขึ้น ข่าวนี้ได้กระจายไปโดยรวดเร็ว พอออกพรรษาศิษยานุศิษย์ผู้อยู่ไกลต่างก็ทยอยกันเข้ามาปรนนิบัติพยาบาล ได้เชิญหมอแผนปัจจุบันมาตรวจและรักษา แล้วนำมาพักที่เสนาสนะป่าบ้านภู่ อำเภอพรรณนานิคม เพื่อสะดวกแก่ผู้รักษา และศิษยานุศิษย์ที่จะมาเยี่ยมพยาบาล อาการอาพาธมีแต่ทรงกับทรุดลงโดยลำดับ ครั้นเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๒ ได้นำท่านมาพักที่วัดป่าสุทธาวาสใกล้เมืองสกลนคร โดยพาหนะรถยนต์ มาถึงวัดเวลา ๑๒.๐๐ น.เศษ ครั้งถึงเวลา ๒.๒๓ น. ของวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ศกเดียวกัน ท่านก็ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ ในท่ามกลางศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย มีเจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ เป็นต้น ศิริชนมายุของท่านอาจารย์ได้ ๘๐ ปี เท่าจำนวนที่ท่านได้กำหนดไว้แต่เดิม การที่ศิษยานุศิษย์และผู้เคารพนับถือ ได้นำท่านอาจารย์มาที่วัดป่าสุทธาวาสนี้ก็ให้เป็นไปตามเจตนาเดิมของท่านอาจารย์ คือ เมื่อเริ่มป่วยหนักท่านแน่ในใจว่าร่างกายนี้จะต้องเป็นไปตามธรรมดาของเขาแล้ว จึงปรารถกับศิษย์ผู้ใหญ่รูปหนึ่งว่า ถ้าตายลง ณ บ้านหนองผือนี้ สัตว์ก็จะต้องตายตามมิใช่น้อย ถ้าตายที่วัดสุทธาวาสก็ค่อยยังชั่วเพราะมีตลาดดังนี้ นอกจากมีความเมตตาสัตว์ที่จะต้องถูกฆ่าแล้ว คงมุ่งหมายฝากศพแก่ชาวเมืองสกลนครด้วย ข้าพเจ้าอดที่จะภูมิใจแทนชาวเมืองสกลนครในการที่ได้รับเกียรติอันสูงนี้ไม่ได้ อุปมาดังชาวมัลลกษัตริย์กรุงกุสินาราราชธานีได้รับเกียรติจัดการพระบรมศพ และถวายพระเพลิงพุทธสรีระฉะนั้น เพราะท่านอาจารย์เป็นเคารพนับถือของคนมาก ได้เที่ยวไปหลายจังหวัดของประเทศไทย ครั้นถึงวัยชราท่านก็เลือกเอาจังหวัดสกลนครเป็นที่อยู่อันสบายและทอดทิ้งสรีระกายไว้ประหนึ่งจะให้เห็นว่า เมืองสกลนครเป็นบ้านเกิดเมืองตายของท่านฉะนั้น ในสมัยทำการฌาปนกิจศพของท่านอาจารย์นั้น ชาวเมืองสกลนครยังจะมีเกียรติได้ต้อนรับศิษยานุศิษย์ผู้ใหญ่ของท่าน อันมาจากทิศต่างๆ มากมายหลายท่านอีกด้วย
ธรรมอันน่าอัศจรรย์ในท่านอันประจักษ์แก่ศิษยานุศิษย์ที่ไม่ควรลืมก็คือ ในสมัยอาพาธหนัก เมื่อยังพูดได้ ท่านได้แสดงธรรมให้ฟังอยู่ตลอดมาไม่มีการสทกสะท้านต่อมรณภัยแต่ประการใด ยังกล่าวท้าทายศิษย์ทั้งหลายด้วยว่า “ใครจะสามารถรดน้ำให้ไม้แก่นล่อนกลับมีใบขึ้นมาได้อีก ก็ลองดู” ในเมื่อศิษย์ขอรักษาพยาบาลแต่เพื่ออนุเคราะห์ท่านก็ยินยอมให้รักษาพยาบาลไปตามเรื่อง ครั้งเวลาอาพาธหนักถึงที่สุด สังขารร่างกายไม่ยอมให้โอกาสท่านพูดจาได้เลย เพราะเสมหะเฟื่องปิดลำคอยากแก่การพูด จึงมิได้รับปัจฉิมโอวาทอันน่าจับใจแต่ประการใด คงเห็นแต่อาการอันแกล้วกล้าในมรณาสันนกาลเท่านั้นเป็นขวัญตา ศิษยานุศิษย์ต่างก็เต็มตื้นไปด้วยปิติปราโมทย์ในอาการนั้น ซึ่งหาได้ไม่ง่ายนัก และต่างก็ปลงธรรมสังเวช ในสังขารอันเป็นไปตามธรรมดาของมัน ใคร ๆ ไม่เลือกนหน้าเกิดมาแล้วจะต้องแก่เจ็บตายเหมือนกันหมด ไม่มีใครล่วงพ้นไปได้สักคนเดียว มีแต่อมฤตธรรม คือพระนิพพานเท่านั้น ที่พ้นแล้วจากความเกิดแก่เจ็บตายโดยสิ้นเชิง ผู้บรรลุถึงอมฤตธรรมนั้นแล้ว แม้ต้องทอดทิ้งสรีระไว้อย่างสามัญชนทั้งหลาย ก็คงปรากฏนามว่า ผู้ไม่ตาย อยู่นั่นเอง
……..
อ่านฉบับเต็ม e-book และ ไฟล์ดาวน์โหลดหนังสือหลวงปู่มั่นได้ ที่นี่