น้ำตกบ๋าหลวงและเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างนางลอย จ.ขอนแก่น
การปั่นไปน้ำตกบ๋าหลวง อ.กระนวน จ.ขอนแก่นนี้ เป็นส่วนหนี่งของการเดินทาง 18 วัน จากขอนแก่น-สกลนคร-ขอนแก่น ในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2564 และเป็นวันแรกของการเดินทางที่เราจะไปพักที่น้ำตกบ๋าหลวง ซึ่งช่วงที่ไปน้ำตกบ๋าหลวงยังพอมีน้ำไหลบ้าง เพราะเป็นเส้นทางน้ำของลำห้วยยางที่มีต้นกำเนิดอยู่ที่ภูเขาสวนกวาง ก่อนจะรวมกับลำห้วยอื่นๆ และไหลลงลำปาวต่อไป ทำให้น้ำตกบ๋าหลวงแม้ในช่วงฤดูแล้งก็ยังคงมีความสวยงามและมีบรรยากาศที่เงียบสงบ เหมาะสำหรับมากางเต็นท์พักผ่อนกับเพื่อนและครอบครัว
น้ำตกบ๋าหลวงห่างจากตัวเมืองขอนแก่นเพียง 70 กม. เท่านั้น แต่จากการที่เราปั่นจักรยานไป จึงเลือกเส้นทางชนบทเป็นส่วนใหญ่และแวะเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ตามเส้นทางไปด้วย ทำให้ระยะทางไปบ๋าหลวงครั้งนี้จึงปั่นจริงประมาณ 98 กม. โดยออกเดินทางตอนตีห้าครึ่งและไปถึงน้ำตกบ๋าหลวงก่อนตะวันคล้อยประมาณห้าโมงเย็น เส้นทางไม่มีทางสูงลาดชันและถนนก็เป็นทางลาดยาง สะดวกพอสมควร
น้ำตกบ๋าหลวง เดิมชาวบ้านเรียก น้ำตกตาดโตน แต่เพราะชื่อซ้ำกันมาก น้ำตกจึงถูกตั้งชื่อให้ใหม่เป็น บ๋าหลวง เนื่องจากบริเวณนี้ในสมัยก่อนเป็นที่จัดงานรื่นเริงและพบปะสังสรรค์ (เรียกภาษาถิ่นว่า “บ๋า”) เป็นที่เลี้ยงปู่ตาและเคยมีชุมชนอาศัยอยู่ ภายหลังเมื่อประกาศเป็นวนอุทยานบ๋าหลวงแล้ว จึงไม่ได้มีการจัดกิจกรรมอีก และนอกจากบริเวณน้ำตกซึ่งเป็นลานน้ำตกกว้างเล่นน้ำได้หลายจุดแล้ว ที่นี่ยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติผ่านป่าเบญจพรรณและเหล่าต้นไม้น้อยใหญ่บนพลาญหินทรายที่สวยงาม และในเส้นทางยังได้พบกับพื้นที่ประวัติศาสตร์ในบริเวณที่เรียกว่า บ๋าหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติการและเส้นทางยุทธศาสตร์ของกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย เป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างภูพานและภูเก้า-ภูพานคำอีกด้วย
สำหรับการลงเล่นน้ำที่น้ำตกแห่งนี้ มีเวลาทำการคือ 8.30-16.30 น.
เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างนางลอย
เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างนางลอยมีระยะทางไม่ไกลเดินได้ทุกวัย เริ่มต้นที่บริเวณลานกางเต็นท์ ซึ่งจะใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงกว่าๆ ในการเดินเท้ามีบางช่วงเดินผ่านโขดหินแต่ไม่ได้ปีนป่ายมากนัก นับว่าเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่มีทางเดินสะดวกสบายพอสมควรและมีป้ายชัดเจน ช่วงเวลาที่หมาะสำหรับออกเดินป่า ถ้าไปเดินแต่หกโมงเช้า จะได้ยินเสียงนกร้องดังมาก เส้นทางนี้เราสามารถเดินดูได้ทั้งป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งก่อนออกสู่ทุ่งหญ้าและป่าเต็งรัง โดยสิ้นสุดของเส้นทางเราจะกลับมายังน้ำตกบ๋าหลวง
ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก
ที่วนอุทยานฯ มีลานกางเต็นท์ แต่ไม่มีห้องพัก ที่ลานกางเต็นท์มีห้องน้ำสะอาดแยกชายหญิง อาบน้ำง่ายๆ ไม่มีน้ำอุ่น บริเวณที่เรากางเต็นท์โชคดีมากที่คืนนั้นไม่มีคนมาพัก เราเลยมีโต๊ะ มีแคร่ และได้กางเต็นท์ในโซนที่สะดวกที่สุดคือไม่ไกลจากห้องน้ำมากนัก และบริเวณที่กางก็เป็นพื้นทรายแน่นๆ ไม่ลาดเอียงมาก ทำให้นอนสบายๆ เราทำอาหารกินเองแบบง่ายๆ โดยใช้เตาแก็สเล็กๆ สำหรับที่วนอุทยานฯ เห็นมีร้านค้าสวัสดิการ แต่ไม่มีทำอาหารจำหน่าย เข้าใจว่าคงจะมีมาม่าและน้ำดื่มขายแน่นอน พอดีเราไปร้านปิดแล้ว การมาพักที่นี่ควรมีน้ำดื่มและอาหารมาเองจะสะดวกสุด.
……………………………….
บทความและภาพโดย สุทธวรรณ บีเวอ อีสานอินไซต์