บุญผะเหวด: พิธีกรรมแบบอีสานและมงคลแห่ง “น้ำ” ในที่ราบสูงโคราช ณ วัดบ้านลาน ขอนแก่น
จากภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ทรงคุณค่าของวัดบ้านลาน จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดก พระชาติสุดท้ายที่บำเพ็ญบารมี ก่อนประสูติเป็นพระโคตมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่โดยรอบสิมหรืออุโบสถเก่าแบบอีสานพื้นบ้านโบราณ โดยเฉพาะผนังด้านทิศใต้ที่เน้นวาดภาพแห่ “ผะเหวด” หรือ “พระเวสสันดร” กลับเข้าเมือง และตอนดังกล่าวนี้เองที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของงานบุญผะเหวดหรือบุญพระเวสสันดรที่มีต่อชีวิตชาวอีสานใน “พื้นที่ราบสูงโคราช” ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่เสริม “ความเป็นมงคล” ที่เกี่ยวข้องกับ “น้ำ” เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ในพิธีกรรมของพุทธศาสนาแบบท้องถิ่นอีสาน ณ วัดบ้านลาน ขอนแก่น
ในบทความนี้ผู้เขียนจะขอเล่าเป็นลำดับตามพิธีกรรมในงานบุญผะเหวด และจะอธิบายถึง มงคลของน้ำ ในแต่ละขั้นตอนที่ผสมอย่างกลมกลืนในประเพณีบุญผะเหวดพื้นบ้านอีสาน โดยเฉพาะที่ วัดบ้านลาน จังหวัดขอนแก่น ตามข้อสังเกตของผู้เขียนที่สนใจการหาอยู่หากินของผู้คน ความเชื่อ ที่สัมพันธ์กันอยู่ ภายใต้พื้นที่กายภาพ ที่ราบสูงโคราช
การเดินทางเพื่อศึกษาพิธีกรรมบุญผะเหวดของวัดบ้านลาน ได้รับการอนุเคราะห์และเมตตาจากพระอาจารย์เต๋า วัดบ้านลาน ผู้นำชุมชนและชาวบ้านลานทุกท่าน พ่อจารย์สนิท เข็มลา พี่เครือและครอบครัว ทำให้ข้อมูลพิธีกรรมบุญผะเหวดเป็นประโยชน์ต่อการเผยแพร่ให้แก่ผู้ที่สนใจ ผู้เขียนจึงขอกราบขอบพระคุณทุกท่านมา ณ โอกาสนี้
เฉพาะลำดับพิธีกรรมบุญพระเวสสันดรเป็นภาษาอังกฤษ และภาพของผ้าผะเหวดโบราณให้ดูที่ English Version ที่นี่
กำหนดการของวัดบ้านลานในปี 2562 (ฤกษ์จากพระ)
วันที่ 26 มีนาคม 2562 เตรียมงานบุญผะเหวด วัดบ้านลาน
วันที่ 27 มีนาคม 2562 เชิญพระเวสสันดรและพระนางมัทรีกลับเข้าเมือง กลางคืนสวดพระปริตร(ตั้งบุญคุน) และสวดพระมาลัย
วันที่ 28 มีนาคม 2562 แห่ข้าวพันก้อน เทศน์สังกาส และเทศน์มหาชาติ
วันเตรียมงานบุญ
ก่อนวันเชิญพระเวสสันดรและพระนางมัทรีกลับเมืองหนึ่งวัน ในช่วงเช้าจะมีกลุ่มแม่บ้านมาทำ “ตำเมี่ยง” อยู่ที่วัด ตำเมี่ยงนี้เป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของ “เครื่องคาย” หรือ “เครื่องบูชา” คาถาพัน หรือ สวดมหาชาติ ที่ต้องจัดเตรียมไว้ตามจำนวนเท่ากับพระคาถา คือ หนึ่งพันพระคาถา ตำเมี่ยงหนึ่งพันคำจะนำแยกใส่ถุงหรือตะกร้าไว้ตามจำนวนพระคาถาของแต่ละกัณฑ์ โดยมีทั้งหมด 13 กัณฑ์
ตำเมี่ยงจะมีวิธีทำและปรุงคล้ายกับส้มตำอีสาน ถือเป็นของว่างกินเล่น บางท่านว่าตำเมี่ยงนี้เป็นบรรพบุรุษของส้มตำก่อนที่จะมีมะละกอเข้ามาปลูกที่บ้านเรา โดยตำเมี่ยงนั้นจะตำกล้วยดิบผสมกับ ลูกยอ (เอาผลลูกยอที่เนื้อแข็งๆ ใกล้สุกมาตำ) ลำอ่อนของข่า มะขามเปรี้ยว เครื่องปรุงมี ปลาร้า พริก น้ำตาล (นิดหน่อย) ปรุงให้อร่อย แล้วห่อเป็นคำเมี่ยงด้วยใบมะยม เสร็จแล้วเสียบไม้รวมกันเอาไว้
นอกจากตำเมี่ยงแล้ว ยังมีเครื่องคายอื่นๆ เท่ากับจำนวนพระคาถาในถุงนั้นร่วมด้วย ได้แก่ ยาเส้น หมากพลู(จัดเป็นชุดมีหมาก สีเสียด ใบพลูที่ทาปูน มัดรวมกัน) และมัดเทียนซึ่งเขียนหมายเลขพระคาถากำกับเพื่อให้จำได้ว่ามัดไหนกัณฑ์ใด เพราะมัดเทียนนั้นจะถูกนำออกจากถุงมาวางรวมกันไว้ที่ถาด จากนั้นจึงค่อยทยอยจุดทีละมัดตามลำดับเมื่อขึ้นต้นเทศน์แต่ละกัณฑ์
ตลอดหลายวันที่ผ่านมา กลุ่มแม่บ้านตกแต่งศาลาการเปรียญ โดยใช้เชือกขึงเสาโยงรอบธรรมมาสน์คล้ายกับสร้างเขตปริมณฑลแห่งการประกอบพิธีกรรมสำคัญ ซึ่งจะประดับห้อยแต่ละสิ่งอย่างตามเชือกนั้น บางอย่างก็มาจากปีก่อนๆ พอจะใช้งานใหม่ก็นำมาซ่อมแซมหรือทำขึ้นเพิ่มบ้าง อาทิ ยุ่ง(ใย)แมงมุม มาลัย พวงมาลัยดอกสะแบง หญ้าคาที่ฟั่นหรือมัดทำเป็นเส้นเชือกเส้นใหญ่ขึงรอบตามเชือก ปลาและนก และยุ่ง(ใย)รวงข้าวสี่ทิศ เป็นต้น
สิ่งมงคลทั้งหมดนี้ มีนัยทั้งการปกป้องพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมไม่ให้สิ่งที่ไม่ดีเข้ามา และยังประกอบเอาสัญลักษณ์มงคลของความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พื้นที่พิธีกรรมด้วย เฉกเช่นจินตนาการของความอุดมสมบูรณ์นั้น ควรจะมีทั้ง “นก” และ “ปลา” อยู่มากมาย (แต่ไม่มีสัตว์อื่นเป็นหลักในพิธีกรรมอีก) ซึ่งหากสังเกตจากอุปนิสัยการดำรงชีพของสัตว์ทั้งสองชนิดที่ต้องอาศัย “แหล่งน้ำ” เป็นหลักในการหาอยู่หากินแล้ว พื้นที่ใดสังเกตได้ว่ามีปลาและนกมาก ก็อาจจะหมายถึงความบริบูรณ์พูนสุขของชีวิต คือมีทั้งแหล่งอาหารและน้ำในการบริโภค อุปโภค และการเพาะปลูก ได้ตลอดปี เป็นพื้นที่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานดำรงชีพอยู่ เพราะสิ่งเหล่านี้คือลมหายใจและความมั่นคงของชีวิต
สำหรับที่วัดบ้านลานในปีนี้มีการเทศน์มหาชาติประยุกต์ เป็นการเทศน์โต้ตอบคล้ายกับตัวละครคุยกัน จึงจัดที่นั่งไว้ทั้งหมด 3 ธรรมมาสน์ มีคณะสงฆ์จำนวน 3 รูปขึ้นเทศน์ โดยแต่ละรูปแบ่งตัวละครกัน ต่างจากการเทศน์แบบโบราณคือเป็นการเทศน์ตามใบลานที่มีธรรมมาสน์เดียว ขึ้นเทศน์ต่อเนื่องกันทีละรูปจนจบเรื่อง การเทศน์แบบเก่านี้จะใช้เวลาค่อนข้างนาน ทำให้เกิดการเทศน์แบบประยุกต์ขึ้นมา ท่านว่าสามารถย่นย่อเรื่องราวให้เสร็จเร็วขึ้นภายใน 5-6 ชั่วโมง
สำหรับในบริเวณใจกลางของพื้นที่ประกอบพิธีกรรมนั้น จะมีโอ่งใส่น้ำอยู่สองใบ ใบหนึ่งปลูกกอดอกบัวแดง ส่วนโอ่งอีกใบหนึ่งมีน้ำเช่นกัน บนปากโอ่งมีตะแกรงโดยประยุกต์ใช้ตะแกรงด้านหน้าพัดลมเพื่อเผาเทียนให้หยดลงไปในโอ่งน้ำ ซึ่งเทียนที่นำมาเผานั้นก็เป็นมัดเทียนที่ได้จากถุงเครื่องคายของแต่ละกัณฑ์ ระหว่างโอ่งทั้งสองใบมีรางจุดเทียนและธูปให้เจ้าภาพแต่ละกัณฑ์เป็นผู้จุดบูชาเมื่อเริ่มต้นสวดกัณฑ์ใหม่ทุกครั้ง ใกล้กันนั้นมีบั้งใส่น้ำวางตั้งอยู่ใช้ในกัณฑ์ฉกษัตริย์ประกอบ “ฝนตก” คือสัญลักษณ์ของฝนโบกขรพรรษจากพระอินทร์ที่ทำให้กษัตริย์ทั้งหกที่สลบฟื้นตื่นขึ้นมา
ศาลาการเปรียญหลังนี้หันหน้าไปทางด้านทิศใต้ นอกจากบริเวณใจกลางศาลาที่เสมือนเป็นส่วนปะรำพิธีกรรมแล้ว ในด้านทิศตะวันออกของศาลาการเปรียญ ถูกใช้เป็นพื้นที่สำหรับตักบาตรและจัดเตรียมอาหาร บริเวณนี้ได้ห้อยผ้าผะเหวดหรือผ้าพระเวสสันดรผืนใหม่มีอายุประมาณ 5-6 ปี ผ้าผืนนี้ใช้ในการประดับเท่านั้น เมื่อมีการแห่ทางวัดใช้อีกผืนหนึ่ง และในด้านทิศเหนือของศาลาการเปรียญ จัดเป็นโต๊ะหมู่บูชา อาสนะสงฆ์ เพื่อประกอบพิธีกรรมและพระฉันภัตตาหารร่วมกัน
วันเชิญ พระเวสสันดร และ พระนางมัทรี กลับเข้าเมือง
การเชิญพระเวสสันดร จะไปเชิญที่ “ข้างน้ำ” คำว่าข้างน้ำนั้น พ่อจารย์สนิท เข็มลา พราหมณ์ผู้นำพิธีกรรมอธิบายว่า พระเวสสันดรจะอยู่ข้างน้ำ พิธีกรรมเชิญพระเวสสันดรจึงจัดอยู่บริเวณ “โนนไฮ่” หรือเนินตั้งอยู่กลางทุ่งนาข้าว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากลำห้วยท้ายหมู่บ้าน เนินที่มีต้นไม้ปะปรายนี้ ชาวบ้านเล่าว่าเป็นวัดเก่ามาก่อน เมื่อมองไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของโนนไฮ่ บริเวณไม่ไกลนั้นก็เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านเดิมข้างห้วยก่อนอพยพมาเนื่องจากน้ำท่วม แต่สำหรับในช่วงเดือนมีนาคม ลำห้วยดังกล่าวกลับขาดน้ำ แม้จะมีฝายกั้นก็ตาม บริเวณทุ่งนาที่ไถไว้แล้วขาดความชุ่มชื้นปรากฏให้เห็นเป็นฝุ่นทรายแป้งละเอียด บ้างจับตัวเป็นก้อนตามรอยไถ
ขบวนเชิญพระเวสสันดรกลับเมือง เริ่มต้นที่วัดในเวลาประมาณบ่ายสี่โมงเย็น โดยอาศัยเสียงเพลงจากรถแห่ที่มาถึง เรียกคนให้มาชุมนุมกันอย่างเป็นอัตโนมัติ หัวขบวนเป็นกลุ่มผู้นำชุมชนซึ่งเป็นชาย อัญเชิญพระพุทธรูปปางสมาธิแห่ไปยังโนนไฮ่ ตามมาด้วยฆ้อง รถแห่พระสงฆ์ รถแห่พระเจ้าสญชัยและพระนางผุสดี บิดามารดาของพระเวสสันดร กัณหาและชาลี ลูกของพระเวสสันดรและพระนางมัทรี ชูชกผู้มาขอลูกพระเวสสันดรไปเป็นทาส
การคัดเลือกคนที่มาเป็นพระเวสสันดรนี้ เลือกเอาครอบครัวที่สามีภรรยามีความรักใคร่กันดี ส่วนกัณหากับชาลี ชาวบ้านบางคนว่าเป็นพี่น้องกัน แต่ในการแห่นี้กัณหาและชาลีมาจากคนละครอบครัว มีการเลือกโดยเวียนหมู่กัน เพราะวัดบ้านลานมีหมู่ที่ทำพิธีกรรมร่วมกันคือ หมู่ 4 5 และ 6 ส่วนชูชกเป็นคนเดิมเข้าปีที่ 4 แล้ว ลักษณะของชูชกที่ได้รับเลือกต้องมีเป็นคนที่มีพุงใหญ่ อุปกรณ์ของชูชกจะต้องมีไม้เท้า มีถุงย่ามใส่เชือกที่ใช้ล่ามกัณหาและชาลี มีของกินระหว่างการเดินทาง และมีเหล้า การแต่งตัวของกษัตริย์เป็นทรงเครื่องอย่างเรียบร้อย ได้เสื้อผ้าจากร้านเช่าชุดและไปแต่งตัวกันที่ร้านเสริมสวย ส่วนชูชกนั้นจะแต่งตัวที่วัด มีเพียงแต่ผ้าขาวสำหรับนุ่งห่มเหมือนพราหมณ์ และทาแป้งสีขาวทั้งตัวเขียนลายทั้งตัวเพื่อความสนุกสนาน
สำหรับขบวนแห่กษัตริย์และชูชกจะนั่งรถไป ไม่ได้เดินแห่ เนื่องจากระยะทางจากวัดไปโนนไฮ่กลางทุ่งนาประมาณห้าร้อยเมตร ประกอบกับอากาศที่ร้อนระอุในปลายเดือนมีนาคม ซึ่งไม่เอื้อให้กับการแต่งกายอย่างสวยงามแต่อย่างใด เมื่อไปถึงใกล้กับที่ประกอบพิธีกรรมคณะจึงค่อยๆ ลงจากรถ ให้ชูชกเดินลากกัณหาและชาลีเข้ามายังอาศรมพระเวสสันดรสมมุติที่โนนไฮ่ ปิดท้ายขบวนด้วยชาวบ้านเต้นรำกันมาอย่างสนุกสนานตามเสียงเพลงที่มาจากรถแห่ ระหว่างเคลื่อนขบวนก็จะมีการจุดตะไลเล็กขึ้นฟ้าตามหลังอยู่เป็นระยะ
เมื่อทุกคนพร้อม ผู้นำพิธีกรรมจึงได้นำสวดไตรสรณคมน์ อาราธนาศีลห้าและรับศีลจากพระสงฆ์ จากนั้นพราหมณ์จึงได้เริ่มทำหน้าที่แหล่เป็นภาษาอีสานอยู่เบื้องหน้าพระเวสสันดรและพระนางมัทรี ท่ามกลางพระสงฆ์ กัณหา ชาลี พระเจ้าสญชัยผู้เป็นพระบิดา พระนางผุสดีผู้เป็นพระมารดา และชาวบ้านที่โอบล้อมอยู่ โดยมีเรื่องราวเกี่ยวกับเมื่อครั้งพระเวสสันดรและพระนางมัทรีได้พบหน้าลูกทั้งสองและพระบิดามารดา กัณฑ์แหล่นี้ทำให้ผู้ฟังมองเห็นความสำคัญของการได้อยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาของครอบครัว กษัตริย์ทั้งหกเมื่อพลัดพรากจากกันนานเมื่อได้มาพบกันต่างก็มีความยินดีจนพากันสลบไปกันหมด พระอินทร์เห็นดังนั้น จึงได้บันดาลให้ฝนโบกขรพรรษตกลงมาเพื่อให้หกกษัตริย์ฟื้น ในช่วงเวลานี้พราหมณ์ก็ได้โบกมือให้สัญญาณสาดน้ำจากถังใส่ฝูงชนที่มาเฝ้ารอรับจนเปียกกันไปตามๆ กัน คล้ายกับการเล่นสงกรานต์อย่างสนุกสนาน ซึ่งการสาดน้ำแบบนี้มีอยู่สามถึงสี่รอบในพิธีกรรมหากมีการกล่าวถึงสิ่งที่เกี่ยวกับน้ำ ไม่ว่าจะเป็น การมาถึงสระโบกขรณี(สระบัว) และ มีฝนโบกขรพรรษ(ฝนที่ตกแล้วแต่ใครอยากเปียกก็จะเปียก ไม่อยากเปียกก็ไม่เปียก)
ชมคลิป ฝนโบกขรพรรษ เพื่อให้หกกษัตริย์ฟื้น
ในการนี้พราหมณ์ได้จัดเครื่องคายให้กับพระเวสสันดรและพระนางมัทรีร่วมด้วย ซึ่งตามธรรมเนียมเดิม ได้แก่ ขันหมากเป็งซ้าย-ขวา 1 คู่ ขันธ์ห้ามีดอกไม้ 5 คู่ เทียน 5 คู่ ผ้าเปลี่ยนชุดให้กับพระเวสสันดรเป็นกางเกงขาวเสื้อขาว 1 ชุด พระนางมัทรีเป็นผ้าซิ่งหรือผ้าถุง 1 ตัว เสื้อขาว 1 ตัว และมีเงิน 5 บาท(รวมกับขันธ์ห้า ดังว่าขันธ์ห้าอยู่ที่ไหนมักจะมีเงิน 5 บาทอยู่ที่นั่น) อย่างไรก็ตาม ปีนี้ไม่ได้มีผู้เตรียมมา ความเปลี่ยนแปลงในปีนี้จึงเหลือแต่เพียงขันธ์ห้าเท่านั้น
เมื่อพิธีกรรมเสร็จสิ้นแล้ว จึงได้มีการโปรยทาน แล้วตั้งขบวนแห่ออกจากเขาวงกตสมมติ โดยมี พระพุทธ คณะฆ้อง คณะสงฆ์ และหกกษัตริย์นำหน้า ตามด้วยขบวนชาวบ้านถือผ้าผะเหวดความยาวกว่า 30 เมตร แห่เรื่องราวของมหาชาติชาดก อ้อมไปยังอีกฝั่งของหมู่บ้าน ก่อนเข้าสู่วัดบ้านลาน และเวียนรอบศาลาการเปรียญ จากนั้นพระสงฆ์โปรยทานอีกครั้งเมื่อเสร็จสิ้นพิธีกรรมเชิญกษัตริย์กลับเข้าเมือง หลังจากนั้นจึงมีการนัดหมายเวลา สวดตั้งบุญคูน (สวดพระปริตรทำน้ำมนต์) และสวดพระมาลัยในตอนกลางคืน
พิธีกรรมในช่วงค่ำ ประมาณหนึ่งทุ่ม ในวันเดียวกัน
พระสงฆ์และชาวบ้านมารวมกันทำพิธีตั้งบุญคูน โดยเจ้าอาวาส หลวงปู่ละไมย์ จุดเทียนธูป ผู้นำพิธีกรรมฝ่ายฆราวาสนำสวดคำอาราธนาพระปริตร จากนั้นพระสงฆ์สวดพระปริตร โดยโยงด้ายสายสิญจน์จากพระพุทธรูปมาที่บาตรที่บรรจุน้ำสำหรับทำน้ำมนต์และพระสงฆ์ทุกรูป ระหว่างสวดมนต์เจ้าอาวาสจุดเทียนให้น้ำตาเทียนไหลลงสู่บาตรน้ำมนต์ และเมื่อสวดจบจึงม้วนสายสิญจน์คืน
หลังจากนั้นจึงมีการสวดพระมาลัย โดยมีผู้นำพิธีกรรมฝ่ายฆราวาสกล่าวคำอัญเชิญเทวดามาชุมนุมพร้อมกันเป็นภาษาอีสาน เพื่อบูชาพระธาตุจุฬามณี ซึ่งได้จัดเตรียมเครื่องบูชามีทั้งเทียนธูปและเครื่องประดับสีต่างๆ งดงามมากมายอย่างเพียบพร้อมแล้ว และขอเทวดาช่วยปกป้องอย่าได้มีเสลด(ภัย) ทั้งหลายมารบกวนงานบุญกับปวงข้าทั้งหลาย
จากนั้น พระสงฆ์ที่ได้รับมอบหมายให้สวดพระมาลัยบนธรรมมาสน์ จึงได้ขึ้นเทศน์เกี่ยวกับเรื่องราวของพระมาลัย พระมหาเถระเจ้าที่ลงไปโปรดสัตว์ในนรกให้ได้พ้นทุกข์ขึ้นสวรรค์เทวโลก และพวกเขาเหล่านั้นจะพ้นทุกข์ก็ด้วยการอนุโมทนาบุญที่ได้มาจากการทำทานและศีลของญาติพี่น้องที่ทำให้ และกล่าวถึงชายผู้บูชาดอกบัวให้แด่พระมาลัยโดยย่อ หลังจากเสร็จพิธีกรรมในภาคค่ำ ได้มีการนัดหมายแห่ข้าวพันก้อนก่อนรุ่งสางตอนตีห้าของวันรุ่งขึ้น
วันที่สอง
พิธีกรรมแห่ข้าวพันก้อน
เวลาเช้ามืดตีห้า มีคนมาร่วมพิธีกรรมนี้เพียง 6-7 คน ชาวบ้านเล่าว่าแต่ก่อนมีมาก อาจเป็นเพราะเมื่อคืนฝนตก และยังกล่าวถึงฝนตกในบุญผะเหวดนี้ดี เชื่อว่าน้ำท่าน่าจะดีปีนี้ เพราะปีที่แล้วฝนไม่ตกในบุญผะเหวดก็แล้งมาก และตั้งแต่ออกพรรษาปีที่ผ่านมา ฝนก็ยังไม่ตก จนกระทั่งเมื่อคืนนี้มีฟ้าร้องฟ้าแลบอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน คือ ทิศทางด้านทุ่งนาและลำห้วยที่ไปเชิญพระเวสสันดรและพระนางมัทรีเข้าเมืองนั่นเอง
พิธีกรรมแห่ข้าวพันก้อนของบ้านลาน เป็นการสมมติข้าวพันก้อน พิธีกรรมจริงคือปั้นข้าวเหนียวใส่ในตะแกรงไม้ไผ่เพื่อถวายพระพุทธในสี่มุมของศาลาการเปรียญ โดยใช้การเวียนสามรอบพร้อมกับการสวดคาถาพัน และยังเพิ่ม “เสียง” ของหมาป่า ที่ร้อง “โจกๆๆ” คล้ายกับเสียงฝนตกหนักเข้ามาด้วย เพื่อให้เป็นมงคลของการมีฝนตกดี สำหรับคำกล่าวแห่ข้าวพันก้อนของบ้านลาน คือ “นะโม นะไม ดวงใจพระไตรปิฎก ยกขึ้นมาเทศนาธรรม ขันหมากเบ็งงามสะพาด ข้าวพันก้อนถวย(ถวาย)อาชญ์บูชา ซาเฮาซา สามดวงยอดแก้ว ผู้ข้าไหว้แล้วถวยอาชญ์บูชา โจกๆๆๆ โจกๆๆๆ ”
หลังจากจบพิธีกรรมแห่ข้าวพันก้อนแล้ว จึงพากันขึ้นศาลา และหลวงปู่ละไมย์เจ้าอาวาสขึ้นเทศน์สังกาส ประวัติของ “พระโคตมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ซึ่งเทศน์สังกาสจะเลือกกล่าวถึงบางตอนที่สำคัญในพุทธประวัติ เช่น ตอนพญามารใช้ลูกสาวสามคนมาลวงพระพุทธเจ้า ก่อนจะพ่ายแพ้ไปกลายเป็นหญิงชรามีหนังยานเหลือแต่กระดูก และตอนมารผจญที่พระแม่ธรณีปีบมวยผมหลั่งน้ำให้พญามารพ่ายแพ้ไป รวมถึงมีการกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้คนในสังคมพุทธศาสนาที่ค่อยๆ เสื่อมลงตามช่วงเวลาต่างๆ กระทั่งเข้าสู่การสิ้นสุดของยุคพระสมณโคดม เพื่อเป็นการไม่ให้ประมาท ตั้งตนอยู่ในศีลในธรรม
เวลาประมาณหกโมงเช้า..
พระตีกลองใหญ่บอกเวลา ชาวบ้านเริ่มพากันมาที่วัดเพื่อจัดเตรียมถวายภัตตาหารและตักบาตรทำบุญ สวดมนต์ ถวายข้าวพระพุทธ ถวายภัตตาหาร ถวายสังฆทาน รับศีล รับพร กรวดน้ำแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับ โดยมีพิธีกรรมเหมือนเช่นดังวันพระตามปกติ(วันนี้ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 4) ก่อนที่จะเริ่มขึ้นเทศน์พระเวสสันดรในเวลาประมาณสิบโมงเช้า เนื่องจากรอคณะสงฆ์นักเทศน์แหล่พระเวสสันดรแบบประยุกต์ ซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดมหาสารคามโดยมีจำนวน 3 รูปด้วยกัน
พิธีกรรมเทศน์ประยุกต์พระเวสสันดร เริ่มที่พระสงฆ์จะบูชาพระพุทธเจ้าด้วยคู่บายศรีที่ชาวบ้านได้จัดเตรียมไว้ให้ และมีการกล่าวแนะนำตนเอง รวมถึงแต่ละรูปจะขึ้นแหล่เป็นตัวละครใด เช่น รูปไหนจะเป็นพระนางมัทรี รูปไหนเป็นพระอินทร์ หรือ เป็นพระเวสสันดร เป็นต้น ใช้การสนทนากันด้วยบทพูดร้อยแก้วและบทแหล่อีสานทำนองต่างๆ ของแต่ละกัณฑ์ มีทั้งการแสดงความรู้สึกและบรรยายเกี่ยวกับบทที่กำลังดำเนินไป นอกจากนี้ในบางกัณฑ์ยังมีกิจกรรมเพิ่มขึ้นมา ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องราวของแต่ละกัณฑ์นั้นๆ เช่น กัณฑ์ชูชก กล่าวถึงชูชกได้รับเงินทองทรัพย์สมบัติมากมาย ก็จะมีผู้คนจำนวนมากออกมาทำบุญให้กับพระภิกษุ เพื่อรับเอาพรในกัณฑ์ของชูชกมากกว่าทำบุญในกัณฑ์อื่นๆ ส่วนในกัณฑ์มัทรี มีแหล่เสียงสะอื้นของพระนางมัทรีที่คิดถึงลูกจนสลบ พอฟื้นตื่นขึ้นมา ก็ได้มีทำบายศรีสู่ขวัญให้กับพระนางมัทรี โดยผู้เฒ่าผู้แก่ลุกขึ้นเดินไปหาพระ เพื่อเอาฝ้ายไปผูกแขนให้พระด้วย และในกัณฑ์ที่สำคัญเช่น กัณฑ์ฉกษัตริย์ หรือ กัณฑ์ที่ 12 คือ เหล่ากษัตริย์ได้พบหน้ากัน ดีใจสลบไปกันหมด พระอินทร์จึงช่วยบันดาลให้ฝนโบกขรพรรษตกเพื่อให้หกกษัตริย์ฟื้น ในกัณฑ์นี้เมื่อพระแหล่ก็จะมีผู้นำเอากระบอกน้ำที่เตรียมมา เทน้ำทำเหมือนฝนตกลงไปในอ่าง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของฝนโบกขรพรรษ เป็นสิริมงคลให้มีฝนฟ้าที่ดีตกต้องตามฤดูกาล
และเมื่อมีการเริ่มในแต่ละกัณฑ์ใหม่ เจ้าภาพจะจุดบูชากัณฑ์นั้นๆ ส่วนมัดเทียนที่ถูกเตรียมไว้ตามจำนวนกัณฑ์ที่นำมาจากถุงเครื่องคาย จะมีผู้นำพิธีกรรมเป็นผู้จุดบูชาให้เทียนที่มัดรวมกันไว้นั้นหยดลงไปในโอ่งน้ำ เมื่อจบแต่ละกัณฑ์จะมีการแหล่ลง และทำการลั่นฆ้องสาธุการทุกครั้งไป โดยน้ำในโอ่งนี้ภายหลังจากพิธีกรรมเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะใช้นำไปบูชาหรืออาบเพื่อเป็นสิริมงคล
เมื่อพิธีกรรมช่วงสุดท้ายมาถึงภายหลังจากเสร็จสิ้นการเทศน์พระเวสสันดร ทุกคนจึงพากันถวายสังฆทานและรับพร เพื่อให้ได้เกิดในยุคของพระศรีอาริยเมตไตรย พระพุทธเจ้าองค์สุดท้ายในภัทรกัป ดังปรารถนา เป็นอันเสร็จพิธีกรรมในช่วงเย็นของวันนั้น
มุมมองเพิ่มเติมโดยผู้เขียน
บุญผะเหวด หรือ บุญพระเวสสันดร เป็นงานบุญใหญ่เพียงบุญเดียวในรอบปี ที่จะได้มีโอกาสฟังประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและมหาชาติชาดกโดยครบถ้วนสมบูรณ์ในคราวเดียวกัน ซึ่งความเชื่อดั้งเดิมของชาวอีสาน หากได้มีโอกาสฟังจนจบแล้ว ก็หวังจะได้ไปเกิดใต้ร่มของพระพุทธศาสนาอีกครั้งในยุคของพระศรีอาริย์ นอกจากนี้หากมองในมุมของนิเวศวิทยาแล้ว นอกเหนือจากการฟังเทศน์ฟังธรรมตามความเชื่อนั้น ยังสังเกตได้ว่าเรื่องราวของพระเวสสันดร มีความเกี่ยวข้องกับ “น้ำ” ในหลายลักษณะมาก ซึ่งมีมากกว่าทศชาติเรื่องอื่น ๆ แม้กล่าวถึงพราหมณ์ต่างเมืองที่เข้ามาขอช้างมงคลกับพระเวสสันดร เพื่อที่จะให้ฝนตก ก็จะแหล่ได้สื่อถึงความรู้สึกของความทุกข์ของชาวเมืองจากภัยแล้ง ท่ามกลางความโกรธแค้นของชาวเมืองของพระเวสสันดรที่ให้มงคลเกี่ยวกับน้ำ คือ ช้าง กับเมืองอื่นไป ขณะที่เมื่อกล่าวถึงพระเวสสันดร ก็จะประกอบเอาสิ่งแวดล้อมที่มีความอุดมสมบูรณ์เข้ามาสมมติเพิ่มเติมในพื้นที่ประกอบพิธีกรรมนั้น ๆ ด้วย ซึ่งมีทั้งสระน้ำที่มีดอกบัวแดง อยู่บริเวณอาศรมของพระเวสสันดรและพระนางมัทรีในเขาวงกต หรือ การเกิดฝนโบกขรพรรษ ฝนมงคลที่ได้รับจากพระอินทร์อยู่หลายครั้ง หรือแม้กระทั่งการคัดเลือก “ตอน” หรือ “กัณฑ์” ที่สำคัญคือ การเชิญพระเวสสันดรและพระนางมัทรีกลับเข้าเมือง เพื่อให้ “ฝนตก” มงคลดังกล่าวในบุญพระเวสสันดรนี้ จึงอาจเป็นมูลเหตุหนึ่งที่ทำให้อีสานบางหมู่บ้านจัดพิธีกรรมนี้ขึ้นในช่วงเวลา “ฤดูแล้ง” ในเดือนสี่หรือเดือนมีนาคม หรือแม้จะไม่ตรงกันทุกหมู่บ้านตามการเปลี่ยนแปลงและความสะดวก แต่ก็มักจะจัดในฤดูแล้งอยู่เสมอ และหากมีฝนตกในบุญผะเหวด ก็นับเป็นฤกษ์ดีของปี เป็นกำลังใจให้กับชาวเกษตรกรว่าปีนี้ฝนจะตกให้มีน้ำท่าอย่างพอเพียงแก่การทำนาที่ได้ผลผลิต นับเป็นการสังเกตธรรมชาติในแต่ละปีด้วยตนเอง จากเหตุดังกล่าวและการจัดงานเมื่อครบรอบปีเวียนมาถึง ซึ่งสัมพันธ์กับฤดูกาลตามธรรมชาติของพื้นที่ ทำให้ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพิธีกรรมบุญผะเหวดเป็นส่วนหนึ่งของปฏิทินพิธีกรรมในรอบปีที่เกี่ยวข้องกับฤดูกาลและลักษณะทางนิเวศวิทยาของพื้นที่
น่าสนใจว่า บุญผะเหวด ในอีสานนี้ อาจสะท้อนให้เห็นมุมมองที่นอกเหนือไปจากพิธีกรรมที่เกิดขึ้นจากการให้ความสำคัญทางพุทธศาสนาและเรื่องของการทำ “ทาน” หรือ การเป็นผู้ให้ ตามท้องเรื่องของมหาชาติชาดก แต่ยังทำให้มองเห็นมุมมองความจริงของลมหายใจแห่งชีวิตที่ให้ความสำคัญในเรื่อง “น้ำ” ที่มีอย่างพอเพียง โดยเฉพาะสำหรับผู้คนที่อาศัยหาอยู่หากินทางการเกษตรที่ต้องพึ่งพาความเป็นไปตาม “ธรรมชาติ” ในดินแดนอันเป็นดินปนทรายของที่ราบสูงโคราชแห่งนี้.
ผู้เขียน สุทธวรรณ บีเวอ
อีสานอินไซต์
อ้างอิง
การสังเกตพิธีกรรมบุญผะเหวดหรือบุญพระเวสสันดร ณ วัดบ้านลาน จังหวัดขอนแก่น
ระหว่างวันที่ 25-28 มีนาคม 2562
ฟังเสียงหมาจอกหรือหมาจิ้งจอกในอีสาน (เสียง โจกๆๆๆ) ได้ที่ เสียงหมาไน หมาจิ้งจอก ที่ทุ่งกะมัง