บันทึกการเดินทางเส้นทางจักรยาน EuroVelo หมายเลข 6 ในฝรั่งเศส และส่วนหนึ่งของเส้นทางคณะราชทูตอยุธยาโกศาปานไปปารีส (พ.ศ.2229)

บันทึกการเดินทางเส้นทางจักรยาน EuroVelo หมายเลข 6 ในฝรั่งเศส และส่วนหนึ่งของเส้นทางคณะราชทูตอยุธยาโกศาปานไปปารีส (พ.ศ.2229)

พวกเราเริ่มต้นปั่นจักรยานจากเมืองมัลลูส (Mulhouse) ฝรั่งเศส ใกล้ชายแดนสวิสเซอร์แลนด์และเยอรมนีไปยังเมืองอองเฌ (Angers) ใกล้ทะเลเคลติก (Celtic Sea) ระยะทางประมาณ 1,000 กิโลเมตร ตามเส้นทางทางแม่น้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำดู (Le Doubs) และแม่น้ำลัวร์ (Le Loire) ตามหมุดลูกศรที่ชี้ไว้ ส่วนเส้นสีแดงคือเส้นทางจักรยาน EuroVelo หมายเลข 6 ที่เชื่อมโยงหลายประเทศ และกรอบสีดำคือส่วนหนึ่งของเส้นทางข้างแม่น้ำลัวร์ที่คณะราชทูตโกศาปานใช้เดินทางไปปารีส

หมุดเมืองต่างๆ ในอดีตจากเมืองแบร็สต์ Brest ไปเมืองปารีส Paris ตามบันทึกชื่อเมืองที่คณะราชทูตอยุธยาโกศาปานได้เดินทางผ่านเมื่อสามร้อยกว่าปีก่อน ในหนังสือ จดหมายเหตุ โกศาปานไปฝรั่งเศส เขียนโดย มองซิเออร์ เดอ วีเช ปีตีพิมพ์ พ.ศ.2229 สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมืองที่ตั้งอยู่ในเส้นทางแม่น้ำลัวร์ คือเมือง นองต์(Nante) – อ็องเฌ(Angers) -ตูร์(Tours) – บลัว(Blois) – ออร์เลอ็อง(Orléans) ซึ่งอยู่ในเส้นทางจักรยาน EuroVelo หมายเลข 6 (หากใครสนใจหน้าตาเส้นทางของโกศาปานเป็นเช่นไรเร็วๆ ให้ข้ามไปวันที่ 10 ของการเดินทางนะคะ)

Day 1 เมืองมัลลูส ไป เมืองมงเบลียาร์

2 พฤษภาคม 2567 ยังอยู่ในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิซึ่งกำลังจะเข้าฤดูร้อนในอีกไม่กี่สัปดาห์ หลังจากที่เดินทางจากประเทศไทยมายุโรปเจอกับสภาพอากาศหนาวเย็นเมื่อสองเดือนที่ผ่านมา เราจึงได้จังหวะที่เริ่มปั่นจักรยานในเดือนนี้ ปกติในช่วงหน้าร้อนจะเป็นช่วงที่คนนิยมปั่นจักรยานท่องเที่ยวกันมาก และแค้มป์ไซต์ต่างๆ ก็จะเปิดให้บริการเต็มที่

(**เนื่องจากเป็นการเดินทางท่องเที่ยว ศูนย์ยื่นวีซ่าจึงต้องการให้เราจองโรงแรมทุกวัน แต่การเดินทางระยะยาวในการปั่นจักรยานนี้อาจมีความคลาดเคลื่อนในการเข้าพักอยู่มากทั้งจากสาเหตุสภาพอากาศ เส้นทาง จักรยาน และคนปั่น การยื่นขอวีซ่าเชงเก้นเราจึงใช้วิธียื่นจดหมายอธิบายเหตุผลที่ไม่สามารถจองโรงแรมทุกวันได้เป็นภาษาอังกฤษ รวมถึงแผนที่การเดินทาง กำหนดการปั่นแต่ละเมือง เอกสารจองโรงแรมที่จะพักล่วงหน้าไปประมาณหนึ่งอาทิตย์กว่า นอกเหนือไปจากเอกสารอื่นๆ ที่ส่งไป ทั้งนี้การขอวีซ่าเชงเก้นครั้งนี้เราได้ประสานขอคำแนะนำเรื่องจองที่พักทั้งจากศูนย์ยื่นวีซาร์ กงสุลฝรั่งเศส และสถานทูตสวิสเซอร์แลนด์(ที่เครื่องจะไปลง) โดยฝรั่งเศสเป็นประเทศที่จะอยู่นานสุด จึงขอวีซ่าเชงเก้นกับฝรั่งเศส ซึ่งได้รับวีซ่ากลับมาในเวลาไม่นาน ขอขอบพระคุณในความอนุเคราะห์ช่วยเหลือและให้คำแนะนำต่างๆ ของทุกท่านมา ณ โอกาสนี้ค่ะ)

การเดินทางปั่นจักรยานของเรา ทริปนี้เริ่มต้นที่เมืองบาเซิล (Basel) สวิสเซอร์แลนด์ เพราะอยู่ใกล้บ้านป้ารหัสสมัยเรียนมหาวิทยาลัยขอนแก่น เราเช่าจักรยาน (สัปดาห์ละ 100 CHF) แทนการเอามาจากไทย ซึ่งค่าขนส่งค่อนข้างแพงกว่า 3 สัปดาห์ที่เราจะเช่า เราออกเดินทางจากเมืองบาเซิลโดยใช้รถไฟไปฝรั่งเศส ลงที่สถานีรถไฟเมืองมัลลูส (Mulhouse) แล้วปั่นไปตามคลองส่งน้ำและแม่น้ำดู (Le Doubs) ตามเส้นทางยูโรเวลโล่หมายเลข 6 ซึ่งมีป้ายสัญลักษณ์บอกทางเป็นหมายเลขโดยตลอด

รถไฟสวิตเซอร์แลนด์ออกจากบาเซิลไปยังเมืองมัลลูส ฝรั่งเศส
เริ่มเข้าสู่เส้นทาง EuroVelo หมายเลข 6 ที่เมืองมัลลูส จะเห็นว่ามีสัญลักษณ์เป็นเลข 6 ที่มีดาวล้อมรอบ เส้นทางนี้เลาะแม่น้ำสายหลักต่างๆ ไปได้ไกลถึง 10 ประเทศ จากฝรั่งเศสไปจนถึงทะเลดำที่บัลแกเรีย

เส้นทางจักรยานในฝรั่งเศสเป็นทางสายสงบสำหรับจักรยานและคนเดินโดยเฉพาะ ไม่ค่อยบู๊ขอบถนนใหญ่เหมือนบ้านเรา เราเลยได้ยินเสียงนกร้องและสัมผัสธรรมชาติที่อยู่รอบตัวชัดเจน ทางสำหรับวันนี้ก็เป็นเช่นนั้นในช่วงแรก ยกเว้นอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมา เม็ดฝนก็เริ่มโปรยปรายบวกกับอากาศหนาวเย็นเริ่มปะทะเข้ามาเรื่อยๆ ลมต้านแรงปั่นจนลำบาก ฝนเม็ดแหลมทิ่มแทงหน้า ถุงมือเริ่มเปียกชื้นยะเยือก ยังดีที่เสื้อกันฝนยังทำหน้าที่ให้ตัวอุ่น และแน่นอนมาได้แค่ 26 กม. ต้องตัดสินใจหาหมู่บ้านแล้วไปใช้รถไฟท้องถิ่นต่อ เพื่อไปยังจุดหมายคือ เมืองมงเบลียาร์ (Montbéliard) ที่ห่างออกไปราว 30 กม.

เราไปรอรถไฟท้องถิ่นประมาณชั่วโมงกว่า โชคดีว่ามีห้องสมุดอยู่ใกล้ๆ ที่ขอใช้ห้องน้ำได้ สำหรับการนำจักรยานขึ้นรถไฟในฝรั่งเศสอาจต้องจองตั๋วของจักรยานด้วย จะแยกกันคนละเว็ปไซต์กับตั๋วรถไฟยูเรลพาส (Eurail Pass)

คลองส่งน้ำ (Canal de Rhône au Rhin)
มีประตูน้ำเป็นระยะในคลองนี้ เรือท่องเที่ยวมีไม่มาก
ชนบทฝรั่งเศสในวันนี้เห็นมีการเลี้ยงวัวอยู่บ้าง วัวยืนฉ่ำรวมกลุ่มกันเพื่อความอบอุ่นอยู่กลางทุ่ง
หมู่บ้านแห่งหนึ่งในระหว่างทางที่ตัดสินใจขึ้นรถไฟท้องถิ่น
มาถึงเมืองมงเบลียาร์ พักที่ Hotel De Balance ที่พักคืนนี้ค่อนข้างสบาย แต่ช่วงนี้เปิดฮีตเตอร์ไม่ค่อยได้แล้วเพราะใกล้หน้าร้อน(แต่ก็ยังหนาวสำหรับเราอยู่) ผ้าที่ซักก็จะแห้งยากหน่อย
เราเลือกที่พักที่มีที่จอดจักรยานด้วยเป็นหลัก ที่ยุโรปถ้าจอดด้านนอกตามริมถนนมีโอกาสหายง่ายๆ แม้จะมีล็อคที่ดีแค่ไหนก็ตาม
อาหารเช้าเป็นปิคนิคระหว่างทาง เป็นที่นิยมมากในฝรั่งเศสเรียกว่า “คีช” (Quiche) ที่เห็นนี้เป็นคีชผักขม ส่วนชีสน่าจะเป็นชีสจากนมแพะ ออกกลิ่นรสสาบๆ กินไม่ได้มาก (ฮา)
แซนวิชต่างๆ เป็นที่นิยมเช่นกัน และกูฟ์ (Gaufres) หรือวาฟเฟิล
ปราสาทมงเบลียาร์ (The Château de Montbéliard) เป็นปราสาทมีชื่อเสียงของเมือง และมีพิพิธภัณฑ์อยู่ด้านใน สร้างในศต.ที่ 13 และ 19 อายุ 700 กว่าปีแล้ว อายุใกล้ๆ ช่วงพ่อขุนรามคำแหง
เขาวงกตในสวนสาธารณะ Parc du Près-la-Rose

Day 2 เมืองมงเบลียาร์ ไปเมืองแว

ออกจากเมืองมงเบลียาร์ ไปเมืองแว(Vaire) ฝรั่งเศส ระยะทางประมาณ 80 กม. วันนี้ไม่มีฝน ผ่านฟาร์มวัว ม้า แกะ เจอสัตว์ป่าบนภูเขา ได้ยินเสียงทั้งนกทั้งกบอย่างชัดเจน ตลอดเส้นทางจักรยานจะอยู่เลียบคลองชลประทาน (Le canal du Rhône au Rhin) และแม่น้ำดู (Doubs) ซึ่งไหลขนาบอยู่ใกล้ๆ ตามเส้นทาง EuroVelo 6

เมืองแวเป็นเมืองเล็กๆ ที่ไม่มีทั้งร้านอาหารและร้านค้า แต่มีชื่อเสียงเรื่องน้ำแร่ธรรมชาติที่มีรสชาติและคุณภาพดีมาก จนขุนนางสมัยก่อนต้องให้คนรับใช้เดินทางจากปราสาทอย่างไกล เพื่อมาขนเอาน้ำแร่ที่หมู่บ้านนี้ไปเป็นน้ำดื่มโดยเฉพาะ เราได้ดื่มจากก๊อกแล้วก็รู้สึกสดชื่นอย่างที่อวดไว้จริงๆ

ที่พักคืนนี้เป็นอพาร์ทเม้นท์มีที่เก็บจักรยาน ใจนึกว่าเป็นตึกเล็กๆ ที่เขาแบ่งห้องไว้ให้เช่า พอมาถึงเจ้าของบ้านพาชมมี 2 ห้องนอน พร้อมด้วยห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ ห้องนั่งเล่น และห้องครัว บ้านนี้อายุ 200 กว่าปี รีโนเวตได้น่าอยู่มาก เจ้าของน่ารักเป็นกันเอง พูดสลับไปมาระหว่างภาษาอังกฤษกับฝรั่งเศส เราก็เดากันไปหัวเราะกันไปสนุกดี ตอนนี้แม้ไม่เก่งภาษาอังกฤษก็ไม่เป็นปัญหาแล้ว (ฮา)

บรรยากาศระหว่างทางจากเมืองมงเบลียาร์ ไปเมืองแว ฝรั่งเศส
เส้นทางนอกจากเลียบตามลำน้ำ ก็จะเริ่มลัดเลาะผ่านหมู่บ้านชนบท
ร้านอาหารในชนบทมีน้อย ที่เจอบ่อยเปิดเฉพาะเที่ยง ปิดในไม่กี่ชั่วโมง และ/หรือ เปิดเฉพาะตอนเย็นหลังหกโมงเย็น นอกจากนี้ยังไม่ค่อยเห็นวัยรุ่นทำพาร์ทไทม์เหมือนในอเมริกา เจ้าของร้านมักทำเองอาจเพราะมีลูกค้าไม่มากและเปิดไม่กี่ชั่วโมง
ชีสเบอร์เกอร์ ถ้าไปร้านอาหารฝรั่งเศสมีอาหารมังสวิรัตน์ให้เลือกน้อยส่วนใหญ่มีแค่สลัด ชาวฝรั่งเศสดูเหมือนนิยมหอยทากและเนื้อประเภทต่างๆ ทางรอดมังสวิรัตน์ คือ ร้านเอเชีย อินเดีย อิตารี ร้านขนมปัง ฯลฯ
ที่พักในเมืองแว ได้แบบ guest cottage เจ้าของแบ่งห้องด้านล่างให้แขก
ห้องนั่งเล่น
ที่พักแบบนี้เราจะมีส่วนร่วมเหมือนคนอยู่อาศัยด้วย เช่น ถ้วยจานล้างคืนเจ้าของ ช่วยแยกขยะเอาไปทิ้งด้านนอก เอาผ้าปูที่ใช้แล้วใส่ตะกร้า ฯลฯ แต่ละจุดเจ้าของอยากให้ทำอะไรก็จะเขียนป้ายบอกไว้
ทางเข้าหมู่บ้านแวจะมีธารน้ำไหลธรรมชาติ น้ำใสสะอาดมาก

Day 3 เมืองแว ไป เมืองเบอซ็องซง

ภาพระหว่างทางไปเมืองเบอซ็องซง (Besançon) ยังคงขี่เลียบแม่น้ำดู จากเมืองแวไปเมืองเบอซ็องซง แค่ 20 กม.

เมืองเบอซ็องซงเป็นเมืองที่มีป้อมปราการโบราณอยู่ยอดหน้าผาสูงชัน เบื้องล่างผาคือทางจักรยานเลียบแม่น้ำดู เบอซ็องซงเป็นเมืองที่สร้างไปตามรูปร่างที่โค้งไปมาของแม่น้ำดู ที่นี่มีโบสถ์โบราณบรรยากาศแบบโลกเวทมนต์ สิ่งหนึ่งที่เมืองนี้มีชื่อเสียงมากคือ นาฬิกาดาราศาสตร์อันเก่าแก่ อยู่ที่ Cathédrale St. Jean de Besançon แต่ตอนไปเสียดายที่ปิดซ่อมแซม และเมืองนี้ยังเป็นศูนย์กลางการทำนาฬิกาที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส มีร้านขายนาฬิกาคุณภาพและมีการออกแบบที่สวยงามทันสมัยอยู่ในย่านตัวเมือง

หมู่บ้านระหว่างทางไปเมืองเบอซ็องซง
ทางเลียบแม่น้ำดู เบื้องหน้าที่ยอดเขาเป็นอดีตป้อมปราการที่มียุคมืดมนสุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นที่คุมขังเชลยศึก ตอนนี้เป็นพิพิธภัณฑ์สำคัญของเมืองเบอซ็องซง
ในบ้านคนที่ริมทางมีดอกไม้เหมือนดอกคูน เจอในเส้นทางนี้แค่ครั้งเดียว
ประตูเหล็กดัดสวยงาม พบเห็นโดยทั่วไปตามเมืองเก่า
ซากโบราณสถานใจกลางเมืองเบอซ็องซง
Saint Maurice Church สร้างในศตวรรษที่ 18
เมืองเบอซ็องซง
ขนมเมอแรง(meringue) ต้นกำเนิดยังถกเถียงกันอยู่ แต่ที่แน่ๆ เป็นของหวานที่นิยมในฝรั่งเศส
บุฟเฟ่ต์อาหารอินเดีย ทานมังสวิรัตน์สบาย
โรงแรมที่เราพักคืนนี้ชื่อ โฮเต็ล เดอ ปารี (Hôtel de Paris) มีที่ล็อคจักรยานข้างตึกแต่ก็อยู่ภายในรั้ว มีอาหารเช้าดี ห้องพักสบายมีเสน่ห์
ห้องอาหารเช้าของโรงแรม โฮเต็ล เดอ ปารี

Day 4 เมืองเบอซ็องซง ไป เมืองด็องปารี

วันนี้อากาศดี ไม่มีฝน มีผู้ร่วมทางเยอะเพราะเป็นวันหยุด ระหว่างทางเจอครอบครัวที่ขนกันมาปิคนิค ผู้ปกครองผูกลา 2 ตัวไว้กับรถเข็น เด็กๆ บางคนขี่ลา บางคนนั่งในรถไม้ที่ลาลาก เสียงหัวเราะดังอย่างสนุกสนาน บางจุดตามทางก็มีกิจกรรมพายเรือเป็นกลุ่มหรือปีนผา และเนื่องจากเป็นวันอาทิตย์ที่ทุกคนจะออกไปเที่ยวหรือพักผ่อน มันก็น่าจะรวมถึงครอบครัวเจ้าของร้านค้าที่ปิดไปหมดด้วย ถ้าโชคดีเราอาจจะเจอร้านสะดวกซื้อซักแห่งที่เปิด..

ถ้าทางจักรยานอยู่ร่วมกับถนนรถยนต์ ก็จะมีแบ่งเขตให้ชัดเจน
ผ่านทุ่งเกษตรมองเห็นเนินเขากว้างๆ สลับซับซ้อนเป็นลอนลูกคลื่น
บางครอบครัวก็มาปีนหน้าผา ที่ปีนอยู่เป็นเด็กอายุราวสิบปีได้
บางครั้งริมถนนจะมีต้นเนทเทิล (Nettle) มักขึ้นเป็นกลุ่มๆ ระวังหนามเล็กๆ ตามใบและต้น สามารถทะลุกางเกง แสบร้อนมาก ปล่อยไว้ซักห้านาทีอาการค่อยหายไปโดยไม่ต้องทำอะไร
อาหารเที่ยงระหว่างทาง ส่วนใหญ่เราจะได้ขนมปังบาแก็ต ถั่ว เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ผลไม้พวกลูกแพร์หรือแอปเปิ้ล อร่อยมากๆ สำหรับสายมังสวิรัตน์

มาถึงเมืองโดล์(Dole) เมืองใหญ่เอาตอนเย็น ร้านรวงปิดเกือบหมด โชคยังดีเจออยู่ 1 ร้านเป็นของคนเวียดนามที่ไม่หยุดตามกติกาสังคมยุโรป ร้านนี้ขายพวกข้าวผัด ปอเปี๊ยะผัก ฯลฯ อาหารกล่องไม่แพง กล่องเล็กๆ พออิ่มราคาประมาณ 7-8 ยูโร (ถ้านั่งร้านอาหารธรรมดาทั่วไปจะอยู่ที่จานละประมาณ 15 ยูโร) ร้านอาหารเอเชียที่เราเจอในเส้นทางนี้ มักจะมีเจ้าของร้านเป็นคนเวียดนาม แน่นอนว่าการพูดฝรั่งเศสของเวียดนามคล่องกว่าไทยหรือจีน ดูแล้วเลยไม่ค่อยมีคู่แข่งร้านอาหารเอเชียไปโดยปริยาย เมืองโดล์เป็นเมืองที่ดูอาร์ตๆ ฉันชอบความราบเรียบของผนังปูนสีเหลืองนวลและทรงตึกเหมือนภาพวาดโบราณ ถนนหนทางคนเดินพักผ่อนกันอย่างเงียบๆ บรรยากาศเมืองนี้ตอนกลางคืนคงจะดีมาก เสียดายว่าเราจองที่พักไว้แล้ว จุดหมายคือเมืองด็องปารี(Damparis) เป็นเมืองชนบทเล็กๆ ที่ไกลออกมาจากเมืองโดล์ประมาณสิบกิโลเมตร ที่พักคืนนี้น่าจะเป็นเจ้าของไร่นา โรงแรมมีสองชั้นมีห้องไม่มากอยู่ริมถนนชนบท เป็นที่พักที่สะอาดและสงบ เจ้าของตั้งใจต้อนรับแขกมาก มีเลี้ยงสัตว์น่ารักให้ดูเล่นอย่างแพะและกระต่าย สรุปวันนี้เราปั่นจากเมืองเบอซ็องซง มาถึงเมืองด็องปารี ประมาณ 75 กม.

คลองน้ำ Canal du Rhône au Rhin ในเส้นทาง Euro Velo 6 เกือบถึงเมืองโดล์ ต้นไม้ขนาดสองสามคนโอบขนาบข้างคลอง เป็นสถานที่ร่มรื่นสวยงามมาก
เบื้องหน้าคือเมืองใหญ่ คือเมืองโดล์(Dole)
เมืองโดล์
เมืองโดล์
ศิลปะแลนมาร์คอีกจุดของเมืองโดล์
บ้านโบราณระหว่างทางจากเมืองโดล์ไปเมืองด็องปารี
โรงแรมเดอเมน เดอ ลา บอด (DOMAINE DE LA BORDE) เมืองด็องปารี
โรงแรมเดอเมน เดอ ลา บอด
โรงแรมเดอเมน เดอ ลา บอด

Day 5 เมืองด็องปารี ไปเมืองแวร์คดัง ซูร เลอ ดู

วันนี้ฝนตกตั้งแต่เช้า เรายังอยู่รอให้ฝนซาในห้องอาหารที่อบอุ่นของโรงแรมเดอเมน เดอ ลา บอด ห้องอาหารนี้อยู่ชั้นล่าง มีอาหารเช้าเหมือนโรงแรมในฝรั่งเศสทั่วไป หลักๆ จะเป็นขนมปังบาแก็ต(baguette) ขนมปังแบบอื่นๆ แยม โยเกริ์ต ชา-กาแฟร้อน และผลไม้ ถ้าพิเศษหน่อยบางทีก็จะได้ไข่ต้ม มองไปอีกโต๊ะเห็นมีนักปั่นอีกคนนั่งรอเหมือนกัน ตัวใหญ่สูงจนหัวเกือบชิดเพดานราวสองเมตร ดูไม่ค่อยเหมือนคนฝรั่งเศส สำหรับคนฝรั่งเศสทั่วไป ฉันเห็นรูปร่างความสูงใกล้เคียงกับคนไทย ผู้ชายสูงราว 175 ซม. ผู้หญิงก็จะราวๆ 165 ซม. ใช้ฝรั่งเศสเป็นภาษาหลัก ภาษาอังกฤษแทบจะไม่เข้าใจเลย ทำยังไงดี นึกถึงตอนพาชาวต่างชาติไปเที่ยวในหมู่บ้านอีสาน ชาวบ้านชอบมาจับแขนมาพูดด้วย แม้จะรู้ว่าต่างคนคุยกันไม่เข้าใจ อาศัยแค่คำใบ้โบเบ้ แล้วก็หัวเราะขำกันไป ทำให้เรารู้สึกถึงความเป็นมิตรของทุกคน แม้ฝรั่งเศสมีคนบอกว่าไม่ค่อยยิ้มง่าย แต่ที่เราเจอมาก็ยิ้มกันเยอะมาก มีเจอหนึ่งคนไม่ยิ้มเลย แต่สุดแสนจะใจดีกับเรา นี่เองที่เรียกว่าบางครั้งดูหน้าไม่รู้ใจแต่รับรู้ได้ที่การกระทำ

สำหรับเส้นทางวันนี้ เปียก.. มีฝนทั้งวัน 7 ชั่วโมง ระยะทางกว่า 60 กิโลเมตร มีไฮไลต์เส้นทางคือสองข้างทางเป็นทุ่งมัสตาร์ดสุดลูกหูลูกตา ช่วงนี้มัสตาร์ดมีดอกสีเหลืองอยู่บ้างตามกิ่งก้าน แต่ส่วนใหญ่มีฝักแล้วแค่ยังไม่แก่ ฝรั่งเศสนอกจากไร่องุ่นแล้ว ไร่มัสตาร์ดนี่แหล่ะที่เราเห็นเป็นพืชเกษตรอันดับต้นๆ ในเส้นทาง ถึงเมืองแวร์คดัง ซูร เลอ ดู (Verdun-sur-le-Doubs) ช่วงเย็น เมืองนี้พิเศษคือแม่น้ำลัวร์กับแม่น้ำโซน(La Saône) ไหลมาบรรจบกัน มีสะพานข้ามมองเห็นชัดๆ ที่พักวันนี้เป็นชาวฝรั่งเศสเปิดบ้านทำ Bed and Breakfast แบ่งบางห้องให้แขกพักมีอาหารเช้าให้ บ้านหลังนี้น่ารักมาก ห้องพักถึงขั้นมีอ่างน้ำใจกลางห้อง เสียดายกลัวเป็นหวัด ไม่งั้นคงนอนแช่น้ำเล่น เป็นห้องที่เหมาะกับคู่รัก ถ้ามากับเพื่อนไม่แน่ใจ เพราะไม่มีม่านห้องน้ำเลย ฮา..

ที่หลบฝนระหว่างทางมีไม่มาก ถ้าโชคดีเราก็จะอยู่ใต้สะพาน
กางเกงกันฝนได้จาก Decathlon กันได้ดีมาก น้ำหนักเบา
แม่น้ำดู
ตึกที่ทำการรัฐในชนบทอายุกว่าร้อยปี เหมือนสไตร์โคโลเนียลฝีมือช่างเวียดนามที่สร้างในอีสานตอนบน มีหน้าต่างโค้งและทรงตึกคล้ายกัน
อาคารเก่าๆ คล้ายโรงนาในชนบทฝรั่งเศส
ไร่มัสตาร์ดสุดลูกหูลูกตา บริเวณนี้นิยมปลูกกันมาก เส้นทางตัดทุ่งมัสตาร์ดแลดูเวิ้งว้าง แต่ยังมีป้าย EuroVelo 6 ให้อุ่นใจอยู่
ต้นมัสตาร์ดกำลังออกฝัก
บ้านชนบทที่เราผ่าน หมู่บ้านนี้ทำลักษณะแปลกคือมีบันไดขึ้นชั้นสองอยู่ภายนอกตรงกลางเห็นอยู่หลายหลังเลยทีเดียว แต่ตึกสไตร์นี้ส่วนใหญ่ผุพังเกือบหมดแล้ว
เมืองแวร์คดัง ซูร เลอ ดู (Verdun-sur-le-Doubs)
เมืองแวร์คดัง ซูร เลอ ดู (Verdun-sur-le-Doubs)
เมืองแวร์คดัง ซูร เลอ ดู (Verdun-sur-le-Doubs)
L’ESCALE Chambres et table d’hôtes เมืองแวร์คดัง ซูร เลอ ดู (Verdun-sur-le-Doubs)
เจ้าของบ้านสื่อสารได้เพียงฝรั่งเศส แต่ก็พยายามอธิบายเราเป็นภาษาฝรั่งเศสช้าๆ แม้ฉันจะไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่แยมผลไม้เกือบสิบชนิดที่เขาทำเองก็อร่อยมิใช่ย่อย แถมตอนกลับยังให้มาอีกขวดหนึ่งด้วย น่ารักสุดๆ

ตอนที่ 2 โปรดคลิ๊ก ที่นี่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *