จากตึกร้างสู่แรงบันดาลใจในงานศิลป์ ลา ชาริติ ซูร ลัวร์

จากตึกร้างสู่แรงบันดาลใจในงานศิลป์ ลา ชาริติ ซูร ลัวร์

*บันทึกนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเส้นทางจักรยาน EuroVelo 6 ในฝรั่งเศส (ตอนที่ 4)

วันที่ 13 พฤษภาคม ออกจากเมืองเนอแวร์ ปั่นไปได้ไม่นานเส้นทางขาดเพราะน้ำท่วมฝั่ง ทำให้ต้องย้อนกลับไป

วันนี้เองที่เจอกับต้นไม้ต้นเหตุของนุ่นที่ลอยฟุ้งกระจายไปทั่วทั้งเมือง มันคือต้น Cottonwood

ต้นคอตตอนวู๊ดเป็นพวกไม้ป๊อบล่า (Poplar) เนื้ออ่อนทำฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านได้อีกชนิดหนึ่ง ปุยของมันลอยละลิ่วปลิวละล่องตามลมไปไกล ตกตามพื้นสองข้างทางจนเป็นสีขาวราวกับปุยหิมะในช่วงที่อากาศเริ่มอบอุ่น

ดูเผินๆ ดอกของมันคล้ายดอกฝ้าย แต่ใยละเอียดและเบากว่ามาก น่าเสียดายที่ไม่เห็นประโยชน์เจ้าปุยนุ่นถึงขั้นทำผ้าห่ม

ในอดีตมีคนใช้น้ำยางที่เหมือนกาวสำหรับทาหัวลูกศร เคลือบพวกจักสานหรือถังน้ำ ใช้ไม้ทำ sweat lodge poles หรือโครงสร้างไม้สำหรับทำกระโจม ส่วนใบก็เป็นปุ๋ยได้ดี

แต่บางคนไม่ชอบก็เลยตัดทิ้งเพราะปุยดอกรบกวน แม้ปุยคอตตอนวู๊ดเป็นตัวดักจับเกสรดอกไม้ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ ลดปริมาณเกสรดอกไม้ ช่วยคนเป็นภูมิแพ้ได้บ้าง (เค้าว่าเช่นนั้น)

ต้นคอตตอนวู๊ดเป็นไม้โตเร็ว ชอบอยู่ใกล้พื้นที่ชุ่มน้ำ สามารถกันการกัดเซาะของดินริมฝั่งได้ดี
ปุยของมันที่ดูคล้ายๆ ดอกฝ้าย
Cottonwood Fluff เป็น female cottonwood seeds เมล็ดตัวเมียที่มีประจุลบปลิวลอยดักจับเกสรตัวผู้ที่มีประจุบวกที่ปลิวตามลมจากต้นตัวผู้ เพื่อผสมพันธุ์กัน ธรรมชาติคัดสรรวิธีการแปลกๆ เพื่อให้ไปเกิดในที่ใหม่ๆ ไม่ต้องเบียดต้นแม่ต้นพ่อ ผสมพันธุ์แล้วก็ปลิวไปตามลม
เข้าฤดูร้อน เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ก็จะมีปุยต้นคอตตอนวู๊ดล่องลอยไปทั่ว

เราเดินทางมาถึงเมือง ลา ชาริติ ซูร ลัวร์ (La Charite-sur-Loire) สรุปวันนี้ปั่นไม่ไกลประมาณ 34 กิโลเมตร

สำหรับ ลา ชาริติ ซูร ลัวร์ เป็นเมืองเล็กที่อยู่ริมฝั่งของแม่น้ำลัวร์ ที่นี่มีศิลปินหลายคนมาเปิดร้าน

อาจกล่าวได้ว่าวงการศิลปะเล็งเห็นความสวยงามของเมืองนี้ ตึกที่มีรอยปุปะผนัง พร้อมกับโครงสร้างที่อาจดูจะพังเหล่มิพังแหล่ ไม่ต่างจากสีที่ดูเก่าคร่ำคร่าถลอกปอกเปิกจนหลุดร่อน จนเห็นเปลือกซีเมนต์ชั้นต่างๆ สิ่งนี้แหล่ะที่เป็นสีสันแห่งเสน่ห์อันเป็นอัตลักษณ์ของเมือง

และเมืองนี้ก็ยังมีชื่อเสียงในการจัดงานเทศกาลหนังสือประจำปี ตามตรอกซอกซอยต่างๆ ร้านรวงต่างเปิดแผงขายหนังสือ ขายงานหัตถกรรมทำมือ มีดนตรี ขายอาหาร เครื่องดื่ม ฯลฯ ไปทุกแห่งหน

ที่พักวันนี้ชื่อว่า Le Bon Laboureur ตั้งอยู่บนเกาะขนาดใหญ่กลางแม่น้ำลัวร์ เป็นพื้นที่ราบที่มีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ ที่บริเวณใกล้กับโรงแรม มีร้านขายเครปฝรั่งเศสแบบแป้งนิ่มๆ หอมอร่อยมาก

โรงแรม Le Bon Laboureur
ที่นี่มีอาหารเช้าเป็นบาเก็ตขนมปังฝรั่งเศส นอกนั้นก็เป็นขนมปังหวานๆ ทานกับกาแฟ และโยเกิร์ต

เราจอดรถจักรยานไว้ที่พัก อาศัยสองเท้าเดินชมบรรยากาศของเมือง เราเดินข้ามสะพานใหญ่ เบื้องหน้าที่เห็นเป็นเมืองลา ชาริติ ซูร ลัวร์ ที่มีตึกเรียงรายตามริมแม่น้ำลัวร์อย่างสวยงาม

บนสะพานมีรถคลาสสิกวิ่งอยู่หลายคัน ท้องฟ้าดูขมุกขมัวบวกกับอากาศที่หนาวด้วยแรงลมจากแม่น้ำลัวร์ ทำให้ต้องใส่เสื้อกันหนาวหลายชั้น

บันทึกภาพได้รถโบราณ ถ้าไม่ผิดคงเป็น Citroën 2CV ผลิตช่วงปี 1948-1990 เกือบแปดสิบปีก่อน ซีตรองรุ่นนี้เป็นที่นิยมมาก จนมีการผลิตถึง 3.8 ล้านคัน เป็นรุ่นขับเคลื่อนล้อหน้าคันแรกของโลกที่มียอดขายทะลุล้านคัน
เมือง ลา ชาริติ ซูร ลัวร์ ริมฝั่งแม่น้ำลัวร์

พอเดินเข้าเมืองมา สภาพตามถนนสองข้างทางผิดกับเมืองอื่นๆ ตึกรามบ้านช่องมีไม้ตอกปิดทางเข้าออกราวกับถูกทิ้งร้างมานาน..

ประตูเหล็กที่มีสีสนิมเขลอะ ประตูบางบานผุ ดีว่าตึกทำจากอิฐและหินเลยไม่เพพัง แต่โครงสร้างที่ดูแข็งแกร่งจากภายนอก ภายในก็สุดรับรู้ได้

ตึกที่ไม่ใคร่จะมีใครบูรณะ อาจจะเป็นด้วยค่าซ่อมแพงหรือชอบความอาร์ต
ประตูเหล็กของตึกต่างๆ แม้จะมีสนิมเกาะ แต่ก็ทำให้รู้ว่าในอดีตผู้คนเมืองนี้มีฐานะพอสมควร ปัจจุบันเหลือคนอาศัยอยู่ที่นี่แค่ราวหกพันกว่าคน นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่

ตามทางเดินในเมือง มีร้านเล็กๆ ที่ดูน่ารัก เช่น ร้านหนังสือแบบโบราณ ร้านเสื้อผ้าสีอึมครึม มีแกลเลอรีภาพ พื้นที่แสดงงานศิลปะ แกลเลอรีหัตถกรรม เช่น เป่าแก้ว เห็นช่างวนทำงานอยู่คนสองคน

ทั้งเมืองดูเหงาตามบรรยากาศท้องฟ้า แถมร้านอาหารก็ยังไม่ถึงเวลาเปิด ที่พอเห็นนั่งกันอยู่ มักเป็นร้านจิบกาแฟเงียบๆ ริมถนนง่ายๆ ถ้านั่งอยู่ก็คงง่วงๆ ไปด้วย

หนึ่งในร้านขายหนังสือที่มีอยู่หลายร้าน หน้าตาแบบนี้ช่างมีเสน่ห์
ตึกทรงสวยงามที่หัวมุมถนนภายในเมือง
ใจกลางเมืองมีโบสถ์แซงปิแยร์ (l’église Saint-Pierre) โบสถ์โบราณ ปัจจุบันเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะหมุนเวียน
ภายในโบสถ์แซงปิแยร์ เพดานทำจากโครงไม้ มีจิตรกรรมภาพเทวดาสีจางหาย โบสถ์เป็นศิลปะแบบโรมาเนสก์ สมัยต่อมาอาจมีการต่อเติมบางส่วน เลยมีลักษณะเป็นแบบกอธิค
โบสถ์แซงปิแยร์ด้านข้าง หน้าต่างทรงโค้งแหลมแบบกอธิค (Pointed arches)
ภายในเมืองลา ชาริติ ซูร ลัวร์

วันนี้มีโมเมนต์น่ารัก กำลังเดินลงจากบันไดหน้าโบสถ์โบราณนอเทรอดามไปที่ถนน ไม่ทันระวังเกือบชนคุณป้าที่เดินตัดหน้ามา ต่างคนต่างหยุดแล้วหัวเราะ คุณป้าหันมายิ้มให้ เลยได้ทักทั้งบองชู เมอซี่ เต้งกิ้ว แกเดินคล้อยหลังไปนิดหน่อย เหมือนนึกอะไรได้ หมุนตัวกลับมาพร้อมภาษาฝรั่งเศสรัวๆ

แต่พอแกรู้ว่าเราได้แค่ภาษาอังกฤษ แกเลยพยายามอธิบายปนกันทั้งสองภาษา จับใจความได้ว่า เห็นเราถ่ายรูปกับบ้านหลังเล็กๆ ที่ข้างโบสถ์โบราณนอเทรอดาม เลยบอกว่าที่นั่นเป็นบ้านคนแคระ.. ตำนานเมืองเลยแหล่ะ

เรารู้สึกดีใจมากที่มีคนบอก คุณป้าอัธยาศัยดีและน่ารักมาก จะว่าไปตั้งแต่ปั่นจักรยานในฝรั่งเศสมา เจอแต่คนเป็นมิตรทักบองชูกันทั้งวัน

แต่ก็มีที่เจอคนหัวร้อนในเมืองหนึ่ง มีแค่คนเดียวในตลอดสามเดือนที่เดินทางในยุโรป นับว่าเป็นตัวเลขที่น้อยมากๆ ถ้าเทียบกับประชากรหลายหมื่นหลายพันคนที่เราเดินผ่าน

เหตุการณ์คือลุงฝรั่งเจ้าของร้านเวียดนาม คุยกันไม่รู้เรื่องเพราะแกพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เราสั่งปอเปี๊ยะผักในเมนูกับเด็กร้าน แต่ดันได้เป็นหมูมา แม้เรากดมือถือเพื่อแปลและอธิบาย แต่หาได้ยินสิ่งที่เราพยายามสื่อสาร เอาแต่พูดฝรั่งเศสรัวๆ ดูทรงแล้วน่าจะบ่น สุดท้ายเลยได้แต่นั่งและยืนฟัง พอหาช่องว่างได้ เลยพูดว่า ขอโทษค่ะ แล้วก็โค้งลาจากแกไปอย่างสุภาพ มื้อนี้เลยได้ไปนั่งกินพิซซาในร้านอิตาลีแทน ซึ่งอาหารอิตาลีสำหรับมังสวิรัตน์แล้ว พึ่งพาได้เสมอ

บ้านคนแคระที่แปะกับผนังโบสถ์โบราณนอเทรอดาม (Notre Dame church) ประตูเล็กๆ ภายในมีสองชั้น แต่ละชั้นไม่สูงเท่าไหร่
โบสถ์โบราณนอเทรอดามสร้างขึ้นราวศตวรรษที่ 10 อยู่ในประกาศยูเนสโกปี 1998 ช่วงที่มาเยือนกำลังมีการแสดงศิลปะ ด้านในเป็นพื้นที่โล่งๆ ที่จัดแสดงงานและขายหนังสือ

สถานีประตูน้ำโบราณ ที่พักโรแมนติกแห่งเมือง ชาตียง-ซูร์-ลัวร์

เช้าวันถัดมาคือวันที่ 14 พฤษภาคม ออกจากเมือง ลา ชาริติ ซูร ลัวร์ (La Charite-sur-Loire) เส้นทางผ่านพื้นที่ชุ่มน้ำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบริเวณริมฝั่งแม่น้ำลัวร์

มองทางฝั่งขวามือ เห็นมีพวกพืชทนน้ำท่วมขึ้นอยู่ในที่ฉ่ำน้ำแฉะๆ ดูแล้วอุดมไปด้วยแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่หลบกระแสน้ำอันไหลอันเชี่ยวของแม่น้ำลัวร์ได้เป็นอย่างดี

ในเส้นทางยังผ่านโรงงานพลังไฟฟ้านิวเคลียร์ บริเวณรอบๆ เป็นธรรมชาติมาก รายล้อมพื้นที่ด้วยพื้นที่กสิกรรม แต่ก็ไม่ค่อยมีบ้านเรือนผู้คน ตลอดเส้นทางได้ยินเสียงนกร้องเซ็งแซ่ ลมพัดเย็นสบาย

เบื้องหน้าคือโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์
ระหว่างทาง ถนนจักรยานพาเราลัดเลาะไปตามดงดอกไม้ป่าสองข้างทาง

วันนี้โชคดีเจอทั้งไก่ฟ้าคอแหวนและหมูป่าลายๆ ตัวเล็กๆ หรือที่เรียกว่า Marcassin (the boar piglet) และตลอดทั้งวันมีโอกาสเห็นสัตว์หลากหลายสายพันธุ์แปลกตา

ควายตัวนี้อาจเป็น Italian Mediterranean buffalo ปกติในฝรั่งเศสไม่มีควายพื้นเมือง พวกนี้ใช้นมทำชีสมอซซาเรลลาได้
ไก่ฟ้าคอแหวน (Ring-necked Pheasant) ในป่าข้างทาง มีในฝรั่งเศส ประเทศกลุ่มยุโรป และในอเมริกา
แพะพันธุ์อัลไพท์ (Alpine goat) มีแหล่งกำเนิดคือเทือกเขาเอลป์ในฝรั่งเศส (French Alps) เป็นแพะที่ให้น้ำนมมากและยาวนาน ผลิตภัณฑ์ที่ได้จึงเป็นนมแพะ
โคพันธุ์ไฮแลนด์ (Highland cattle) มีขนสองชั้นเพื่อปกป้องความหนาวเย็นและลมแรง
ม้าพันธุ์เล็ก (Pony)
ลามา

ช่วงบ่ายเรามาถึงที่พักชื่อว่า Le Relais de Mantelot ใกล้เมือง ชาตียง ซูร ลัวร์ (Châtillon-sur-Loire) ของฝรั่งเศส ราวบ่ายสอง ใช้เวลาเกือบ 4 ชม. กับระยะทาง 61 กม. ซึ่งถือว่าดีมาก เพราะส่วนใหญ่ปั่นลงพื้นที่ต่ำกว่าและเป็นทางเรียบ

ที่พักแห่งนี้เคยเป็นตึกที่ทำการ คอยดูแลประตูน้ำโบราณ (ช่วงปี 1838-1896) ปัจจุบันเป็นโรงแรมเล็กๆ เป็นที่นิยมของชาวจักรยานยูโรเวลโล แต่ที่พักก็มีห้องไม่มาก ทำให้ที่นี่ต้องจองมาก่อนหลายเดือน เช่นเดียวกันการจองที่พักอื่นๆ ตามเส้นทางจักรยาน ถ้าตรงไหนฮิตและไม่มีโรงแรมมาก ถ้าไม่จองก่อน บางทีก็หวุดหวิดจะไม่มีที่นอน โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนที่คนออกมาปั่นจักรยานท่องเที่ยวกันเยอะ

นอกจากที่พักแล้ว ยังมีอนุสรณ์ประตูน้ำเก่าที่เคยใช้เป็นทางออกสู่แม่น้ำลัวร์ เพื่อไปเข้าประตูน้ำชื่อ Les Combes ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ซึ่งเรือจะต้องล่องไปตามช่องทางน้ำในแม่น้ำลัวร์ด้วยระยะทางยาวกว่า 1 กิโลเมตร ถึงจะสามารถเข้าประตูน้ำอีกฝั่งได้

ต่อมาเพื่อลดเวลาและขจัดปัญหาต่างๆ จึงได้มีการสร้างสะพานคลองบะรีอา (Briare) เพื่อยกเรือให้ข้ามฟากแม่น้ำแทน ประตูน้ำนี้จึงปิดตัวลงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อาคารที่พัก
ภายในห้องนอน ท่อนไม้ที่เปลือยอยู่ ทำให้เห็นโครงสร้างอาคารอย่างน่าสนใจ
ด้านในตึกเป็นพื้นไม้และบันไดเวียนขึ้นแคบๆ
ประตูน้ำโบราณเป็นเหล็ก แม้จะไม่ได้ใช้แล้วกว่าร้อยสามสิบปี ก็ยังมีสภาพที่ดูดีมาก
แผนที่ตำแหน่งประตูน้ำเก่าของเมืองชาตียง ซูร ลัวร์ และสะพานคลองน้ำสำหรับเรือข้ามฟากแม่น้ำลัวร์ ณ เมืองบะรีอา เปิดใช้งานในปี 1896

ตอนเย็นเราพากันปั่นเข้าเมืองหาข้าวกิน ขึ้นเนินไปกลับอีกราว 6 กม. แต่ร้านอาหารก็ยังไม่ถึงเวลาเปิด

โชคดีมีร้านค้าสะดวกซื้อที่ปั๊มน้ำมัน พอที่จะได้บาเก็ต ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ลูกแพร แอปเปิ้ล สลัดตะบูเล่ะ (Tabule salad หรือ Taboulé ในภาษาฝรั่งเศส) ใช้คูสคูส (couscous) ใส่พวกพลาสเล่ย์ (Parsley) มินท์ (Mint) มะเขือเทศ และน้ำมะนาว สลัดชนิดนี้มังสวิรัตน์ทานได้ เป็นอาหารของเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก

อาหารที่ขายนอกนั้นต้องประกอบอาหารด้วยการต้มหรือไมโครเวฟ ซึ่งปกติร้านสะดวกซื้อก็ไม่มีไมโครเวฟอยู่แล้ว โชคดีที่ที่พักมีอาหารเช้าเลยไม่ต้องตุนเสบียงมากนัก ซึ่งเสบียงมังสวิรัตน์ก็หนีไม่พ้นขนมปัง ถั่ว และผลไม้ เกือบครบหมู่แล้ว ยกเว้นไม่มีไข่ เพราะไม่มีใครขายไข่ต้มในซุปเปอร์มาร์เก็ต

ส่วนผลไม้ได้ของสดชั่งกิโลขายราคาไม่แพงดูดีกว่าทางอังกฤษในเมืองที่เคยไป ที่อังกฤษหาง่ายในร้านซุปเปอร์ฯ แต่เขาหั่นแช่เย็นแพ็คใส่กระปุกไว้ในช่องเย็นให้เลือกหยิบ สงสัยน่าจะอยู่ในนั้นหลายวัน พอชิมเข้าไปมันก็ไม่สดแล้ว

เส้นทางในตอนที่ 4 จากเมืองเนอแวร์ ไปยังเมือง ชาตียง ซูร ลัวร์

…………

จบ ตอนที่ 4

………..

อ่านต่อตอนอื่นๆ ไปที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8(ตอนจบ)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *