
ปราสาทกลางน้ำซุลลี ซูร ลัวร์ และอาหารแห่งชนชั้นของฝรั่งเศสในยุคกลาง
* บันทึกนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเส้นทางจักรยาน EuroVelo 6 ในฝรั่งเศส (ตอนที่ 5)

ออกเดินทางในวันฝนตก…
เช้านี้ที่ตึกประตูน้ำของเมืองชาตียง ซูร ลัวร์ (Châtillon-sur-Loire) หรือเมืองชาตียงริมแม่น้ำลัวร์ เราต้องรอจนฝนซา กว่าจะได้ไปก็เริ่มสาย แขกที่มาพักที่นี่ดูเหมือนทุกคนจะปั่นจักรยานมากันหมด
ต่างคนก็ต่างจัดแจงเตรียมสัมภาระเพื่อออกเดินทาง แต่ละคนดูมีอุปกรณ์เสริมเพื่อกันฝน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแจ็คเก็ตกันฝน เสื้อกั๊กสะท้อนแสง กระเป๋าติดจักรยานกันน้ำ ส่วนผ้ากันฝนพลาสติกไม่เห็นใครใช้(แต่ฉันก็พกไว้) อุปกรณ์ทุกอย่างดูสรรหาเพื่อเตรียมรับศึกจากน้ำฝน
ดูแล้วหากใครอยากเปิดร้านขายอุปกรณ์กลางแจ้ง อุปกรณ์ที่ขายนักปั่นจักรยานได้ วัสดุจะต้องมีความทนทานต่อสภาพอากาศ น้ำหนักเบา ผูกติดกับจักรยานได้ และกันน้ำ ถึงจะขายดี


เส้นทางวันนี้ เริ่มจากถนนจักรยานเล็กๆ ลัดเลาะไปตามคลองน้ำในป่า ต้นไม้สีเขียวสดด้วยความชื้นของละอองน้ำฝนที่ปกคลุม รอบตัวมีเหล่านกกินปลาเกาะกิ่งไม้ตาเล็งลงคลอง
จากป่าก็ออกมาสู่แม่น้ำลัวร์อีกครั้ง เพื่อที่จะข้ามฟากไปอีกฝั่ง ในที่สุดเราก็ได้เห็น สะพานคลองน้ำเบอริอา (Briare Aqueduct) อยู่ใกล้เมืองเบอริอา ที่เขาสร้างขึ้นเพื่อใช้งานแทนประตูน้ำเก่าที่เราไปนอนพักเมื่อคืน






น้ำมันเรฟซีดจะต่างจากน้ำมันคาโนลา ตรงที่ต้นคาโนลาแม้อยู่ในสกุลต้นเรฟซีด แต่มีการปรับปรุงพันธุ์ และใช้เมล็ดเพื่อทำน้ำมันคาโนลา
(คำว่า Canola มาจากสองคำคือ Canada ประเทศที่คิดค้น และ ola แปลว่า น้ำมัน)


เฮเซลนัทอุดมไปด้วยโปรตีน วิตามิน ไขมัน และแร่ธาตุต่างๆ ช่วยร่างกายได้หลายอย่าง


เราปั่นจักรยานมาถึงเมืองซุลลี ซูร ลัวร์ (Sully-sur-Loire) หรือเมืองซูลลีริมแม่น้ำลัวร์ อันเป็นที่พักของเราในวันนี้ ตลอดระยะทางราว 46 กม. ฝนตกปรอยเกือบทั้งวัน โชคดีอากาศไม่หนาวมาก และถึงมีลมบางช่วงก็ไม่แรงจนสะท้าน
เมืองซุลลี ซูร ลัวร์ มีปราสาทสำคัญที่อยู่กลางน้ำ เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 13 เป็นที่นิยมมาพักผ่อนของราชวงศ์และผู้มีชื่อเสียง ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีการนำสิ่งของต่างๆ เข้ามาจัดแสดง เพื่อให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นสูง




สิ่งสำคัญที่ปราสาทมีโดดเด่นนอกจากเรื่องสถาปัตยกรรมแล้ว การจัดแสดงที่ว่าด้วยเรื่องอาหารชนชั้นต่างๆ ก็น่าสนใจ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้เองบวกกับความขาดแคลนอาหารของชนชั้นล่าง ทำให้ขนมปังกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุสำคัญ ที่นำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ.1789
ดูเผินๆ แค่เรื่องขนมปัง ทำไมกลายเป็นเรื่องใหญ่ไปได้?
การไม่อิ่มปากอิ่มท้อง ทำให้อารมณ์ของชาวยุโรปกับขนมปังนั้น ก็ไม่ต่างจากที่เราต้องกินข้าวทุกวัน..
ฉันเองที่แต่ละมื้อพยายามหาของกินแบบมังสวิรัตน์ ซึ่งมีอะไรที่กินได้ไม่กี่อย่าง และหนึ่งในนั้นที่เป็นหลักก็คือ ขนมปัง ที่หาได้จาก “ร้านขนมปัง”
ร้านขนมปังของที่นี่ขายแต่ขนมปังจริงๆ จังๆ เหมือนร้านขายก๋วยเตี๋ยวที่ไม่ได้ขายคู่กับกาแฟ ร้านขนมปังจะเน้นการอบขนมปังและมีขนมปังขายหลายๆ แบบ
น่าสนใจที่ว่า ข้าวสาลีหรือธัญพืชอื่นๆ เมื่อผสมกับเกลือ น้ำ และยีสต์ที่ช่วยในการหมัก มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรสชาติและเนื้อสัมผัสที่แตกต่างกันมาก จนทำให้ขนมปังที่ได้บางชนิดก็เหมาะจะทานกับบางอย่าง หรือแม้จะทานแต่ขนมปังเองก็อิ่มท้อง
ในยุคกลางฝรั่งเศส ขนมปังเป็นมากกว่าอาหาร มันยังแสดงให้เห็นถึงฐานะของผู้คนและสภาพความเป็นอยู่ ชนชั้นสูงจะรับประทานขนมปังขาวที่ทำจากข้าวสาลีชั้นดี ซึ่งอบแล้วจะมีกลิ่นหอมและเนื้อสัมผัสนุ่ม ส่วนคนยากจนวัตถุดิบจะเป็นข้าวสาลีผสมข้าวไรย์
ขนมปังที่ผสมข้าวไรย์นี้ ฉันได้มีโอกาสชิมอยู่ครั้งหนึ่ง พอเอาเข้าปากเคี้ยว ได้กลิ่นออกสาบๆ เนื้อสัมผัสหยาบๆ จืดๆ ไม่ค่อยอร่อย
ตัดกลับมาที่ปัจจุบัน ข้าวไรย์ดันตอบโจทย์สายสุขภาพได้ดีกว่า เพราะช่วยคุมระดับน้ำตาลในเลือด มีกากใยสูง แถมราคาก็สูงกว่าข้าวสาลีซะอีก
การจัดโต๊ะอาหารอย่างหรูหรา ณ ห้องโถงขนาดใหญ่ของปราสาท ซึ่งครั้งหนึ่งห้องแห่งนี้เคยถูกใช้เป็นห้องครัวขนาดใหญ่ ที่นี่ได้จัดโต๊ะที่ปูด้วยผ้าสีขาวสะอาดทำจากผ้าลินิน ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เฉพาะชนชั้นสูงที่จะมีอยู่บนโต๊ะ แล้วก็จะมีผ้าคลุมอีกชั้นที่เรียกว่า ลงชิแอรค์ (longière) ทำจากผ้าลินินเช่นกัน ใช้เช็ดมือ เช็ดปาก เพราะสมัยนั้นไม่มีช้อนส้อม


ในส่วนของเนื้อสัตว์ ชนชั้นสูงจะทานเนื้อสัตว์ป่าที่ได้จากการล่า ซึ่งถือเป็นกิจกรรมสำคัญของชนชั้นนี้ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงอำนาจและความแข็งแกร่ง อาหารจานหลักในโต๊ะอาจมีเนื้อกวาง หมูป่า นกกระสา ไก่ฟ้า ฯลฯ เนื้อเหล่านี้จะใช้วิธีปรุงอาหารโดยการปิ้งย่าง
ส่วนชาวนาชาวบ้านจะทานพวกสัตว์เลี้ยง หมู วัว แกะ แต่เป็นพวกเนื้อเค็มและเนื้อวัวมากกว่า เพราะวัวเป็นสัตว์ที่เรียบง่ายสอดคล้องกับเงื่อนไขของวิถีชาวนา วิธีการปรุงอาหารจะใช้วิธีการต้ม ทานกันได้ทั้งบ้าน
นอกจากนี้อาหารยุคกลางยังมีความหลากหลายด้วยสี กลิ่น และรสชาติ มีไขมันต่ำ มีการใช้ซอสที่มีรสเปรี้ยวและเผ็ด
ส่วนเครื่องเทศถูกใช้มากในยุคนี้เช่นกัน เพื่อทำหน้าที่ปรุงแต่งสีสันหรือเพิ่มรสชาติอาหาร แต่ด้วยความที่หายากและมีราคาแพง ถึงขั้นสามารถใช้เป็นสกุลเงินแลกเปลี่ยนได้ ก็จะอยู่ในห้องครัวของชนชั้นสูง เครื่องเทศที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ อบเชย พริกไทย ขิง กระวาน และหญ้าฝรั่นที่มาจากประเทศที่ห่างไกล
พวกผักและผลไม้ คนยากจะมีผัก เช่น กะหล่ำปลี กระเทียมหอม ผักอบแห้ง ฯลฯ ส่วนใหญ่ใช้ทำซุป
ส่วนผลไม้หายากและราคาแพง มักจะอยู่บนโต๊ะของขุนนางมากกว่า
ในส่วนของเครื่องดื่มนั้น ในยุคกลางจะดื่มไวน์เป็นหลัก เด็กจะดื่มนมถึงประมาณห้าขวบแล้วก็ดื่มไวน์และน้ำ การดื่มน้ำเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะไม่ค่อยมีน้ำให้ดื่มและยังทำให้เกิดโรคได้ การดื่มไวน์คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.5 ลิตรต่อวันต่อคน
ส่วนเครื่องดื่มอื่นๆ ที่นิยมบริโภคในท้องถิ่นก็มี ไซเดอร์ เบียร์ และเพอร์รี่ (perry)
ถ้าจำกันได้ในบทความก่อนหน้า ฉันได้เล่าถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่เราไปเยือน ขุนนางถึงขั้นต้องส่งคนมาเอาน้ำ แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลแค่ก็ตาม น้ำสะอาดที่ดื่มได้แถมรสชาติดีถือเป็นสิ่งพิเศษและหายากสำหรับยุคนั้น
….
ที่พักของเราวันนี้อยู่ไม่ไกลจากปราสาท ชื่อว่า Hostellerie du Grand Sully เป็นที่พักที่ดูโบราณ (ไม่รู้ว่าเป็นแบบนี้อยู่แล้วเพราะเก่า หรือตั้งใจตกแต่งแบบวินเทจ) แต่แม้จะดูเก่าก็ไม่มีกลิ่นอับของพรม ที่นี่มีอาหารเช้า รวมถึงมีที่เก็บจักรยานด้วย




นอนสบายไปอีกหนึ่งคืน พรุ่งนี้เราจะเข้าสู่บริเวณเมือง Orléans ใครรอติดตามชมเมืองในเส้นทางแม่น้ำลัวร์ที่คณะราชทูตอยุธยาโกศาปานใช้ไปปารีส จากนี้ไปก็น่าจะเริ่มเห็นบรรยากาศเส้นทางดังกล่าวแล้ว
……………
จบ ตอนที่ 5
………….