คฤหาสน์โคลส์ ลูซิ (Château of Clos Lucé) บ้านหลังสุดท้ายของเลโอร์นาโด ดา วินชี ที่เมืองอ็องบวซ (Amboise)

คฤหาสน์โคลส์ ลูซิ (Château of Clos Lucé) บ้านหลังสุดท้ายของเลโอร์นาโด ดา วินชี ที่เมืองอ็องบวซ (Amboise)

“Details make perfection and perfection isn’t just a detail.

รายละเอียดทำให้เกิดความสมบูรณ์แบบ และความสมบูรณ์แบบไม่ใช่แค่รายละเอียดเพียงอย่างเดียว” เลโอนาร์โด ดา วินชี

*บันทึกนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเส้นทางจักรยาน EuroVelo 6 ในฝรั่งเศส และบางส่วนของเส้นทางคณะราชทูตอยุธยาโกศาปานไปปารีส พ.ศ.2229 (ตอน 7)

เรามักรู้จักเลโอนาร์โดในฐานะนักวาดภาพที่มีชื่อเสียงของโลก ไม่ว่าจะเป็นภาพโมนาลิซา (Mona Lisa) ซึ่งวาดอยู่บนไม้เศรษฐกิจอย่างไม้ป๊อบล่า (poplar wood ไม้ชนิดนี้อยู่ในบทความตอนที่ 2 ) จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ฝรั่งเศส และอาหารค่ำมื้อสุดท้าย (The Last Supper) ที่วาดบนผนังที่ Basilica di Santa Maria delle Grazie เมืองมิลาน อิตาลี วันนี้เราจะพาไปเยี่ยมบ้านหลังสุดท้ายของเลโอนาร์โดกันค่ะ..

วันที่ 18 พฤษภาคม เรายังอยู่ในเมืองที่ตั้งอยู่บนเส้นทางจักรยาน EuroVelo 6 เช้านี้เราเดินสำรวจเมืองไปตามทางด้านหลังปราสาท Château Royal d’Amboise ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลัวร์ในเมืองอ็องบวซ (เมืองนี้ห่างจากปารีสประมาณสองร้อยกว่ากิโลเมตร รถไฟมาได้สะดวก)

ที่ปราสาทแห่งนี้มี the Chapel of Saint-Hubert หลุมฝังศพของเลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo di ser Piero da Vinci) ผู้เป็นทั้งศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ สถาปนิก และนักประดิษฐ์ อัจฉริยะของโลกเมื่อ 500 ปีก่อน แต่น่าเสียดายที่ช่วงเวลาที่ไปนั้นเขาปิดซ่อมแซม เลยได้แต่ยืนระลึกถึงท่านอยู่ด้านนอก

Château Royal d’Amboise
ถนนด้านหลังปราสาท Château Royal d’Amboise

ถนนย่านด้านหลังปราสาทบรรยากาศตอนเช้ายังไม่มีร้านไหนเปิด แต่คนก็เริ่มออกมาเดินชมเมือง บ้านไม้โบราณสลับกับตึกเก่าดูกลมกลืน ถนนซีเมนต์แคบๆ พาเลาะผ่านบ้านคนสองข้างทาง อาจมีหนึ่งชั้นหรือสองชั้นแต่เป็นหลังเตี้ยๆ หน้าต่างชั้นล่างที่ติดถนนนิยมแขวนผ้าม่านสีขาวฉลุลาย เพียงพอที่จะปกปิดด้านในของบ้านที่มืดกว่าด้านนอก

ไม่ไกลจากที่ฝังศพของเลโอนาร์โดห่างออกไปอีก 600 เมตร ก็จะเป็นที่พำนักแห่งสุดท้ายของเลโอนาร์โดคือ คฤหาสน์โคลส์ ลูซิ (Château of Clos Lucé)

ถนนทางไปคฤหาสน์โคลส์ ลูซิ
มุมหนึ่งของถนนเส้นนี้

เลโอนาร์โด ดา วินชี เป็นชาวอิตาลี มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี ค.ศ.1452-1519 (ราว 500 ปีที่แล้ว) ไม่ได้แต่งงานและไม่มีลูก เลโอนาร์โดเสียชีวิตด้วยวัย 67 ปี เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ.1519 (พ.ศ.2062) สันนิษฐานว่าเป็นสโตรกหรือโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน

ช่วงสามปีสุดท้ายก่อนเสียชีวิต เลโอนาร์โดได้พำนักอยู่ที่คฤหาสน์โคลส์ ลูซิ (Château of Clos Lucé) โดยได้รับคำเชิญจากพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 แห่งฝรั่งเศสและพระนางหลุยส์แห่งซาวอย ซึ่งเป็นพระราชมารดา ให้มาพักผ่อนและทำงานอยู่ในสถานที่แห่งนี้

โดยพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 ได้ยกย่องเลโอนาร์โดว่าเป็นจิตรกรและวิศวกรและสถาปนิกชั้นนำแห่งพระมหากษัตริย์ (Premier Painter and Engineer and Architect of the King) และได้พระราชทานเงินบำนาญให้แด่เลโอนาร์โดเป็นเวลา 2 ปี

หลังจากเขาเสียชีวิต เขาได้มอบวรรณกรรมเอกสารทั้งหมดกับ ฟรานเชสโก เดอ เมลซี Francesco de Melzi ซึ่งเป็นลูกศิษย์เอก ซึ่งได้รวบรวมเป็นต้นฉบับและส่วนหนึ่งกลายมาเป็น “ตำราว่าด้วยจิตรกรรม” ที่ชื่อว่า Trattato della Pittura (Treatise on Painting) (ดาวน์โหลดอ่านได้) ซึ่งเล่มนี้เป็นประโยชน์มากต่อการวาดภาพและนำไปประยุกต์ใช้โดยเฉพาะหลักการด้านการสังเกตได้หลายอย่าง นอกจากนี้ยังมีหนังสือที่เลโอนาร์โดบันทึกด้วยมือ (Codex) อีกหลายฉบับ

สำหรับคฤหาสน์โคลส์ ลูซิ เป็นคฤหาสน์หลังเล็กที่มีสองชั้นและมีห้องใต้หลังคา ที่ประตูทางเข้าจ่ายค่าบัตรเข้าชมราว 19.50 ยูโรต่อคน สามารถเข้าชมห้องต่างๆ ภายในคฤหาสน์ อาธิ ห้องทำงาน ห้องนอน และห้องรับประทานอาหาร ฯลฯ และเข้าชมสวนเลโอนาร์โด ดา วินชี รวมถึงแกลเลอรีศิลปะและสถาปัตยกรรม

คฤหาสน์โคลส์ ลูซิ (Château of Clos Lucé)
แกลเลอรีผลงานสถาปัตยกรรมของเลโอนาร์โด
ห้องนอนที่เลโอนาร์โดเสียชีวิต เฟอร์นิเจอร์เป็นแบบดั้งเดิมของปราสาท แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าอยู่มาตั้งแต่สมัยเลโอนาร์โด
ภาพวาดของศิลปินเมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว(จำลอง) ประดับฝาผนังอยู่ในห้องนอน เป็นเหตุการณ์เสียชีวิตของเลโอนาร์โด ที่มีพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 ประคองร่างไว้ในอ้อมกอด ด้วยความโศกเศร้า (ภาพจาก Jean-Auguste-Dominique Ingres, Public domain, via Wikimedia Commons)
ทางเชื่อมระหว่างห้องต่างๆ
ภาพโมนาลิซ่า ครั้งหนึ่งอาจเคยถูกแขวนไว้บนฝาผนังคฤหาสน์เช่นนี้ก็เป็นได้ แม้เป็นภาพจำลองก็ยังสวยมาก
จำลองอุปกรณ์และเครื่องมือทำงานของเลโอนาร์โด ภายในคฤหาสน์โคลส์ ลูซิ (Château of Clos Lucé)
เลโอนาร์โดจะเขียนหนังสือกลับด้านเหมือนส่องกระจก เวลาเราอ่านจะต้องใช้กระจกอ่าน
แร่สีต่างๆ ที่ใช้ในงานภาพ
The Virgin and Child with St. Anne 

สำหรับเลโอนาร์โดแล้ว การที่ภาพต่างๆ เหล่านั้นถูกวาดออกมาอย่างปราณีตสวยงามอย่างน่าอัศจรรย์ อาจจะไม่ใช่เป็นพรสวรรค์เท่านั้น เพราะงานทุกชิ้นทำให้มองเห็นว่า เลโอนาร์โดเป็นคนชอบตั้งคำถามและค้นหาคำตอบแบบลงมือทำ สนใจเฝ้าสังเกต และศึกษาสิ่งต่างๆ อย่างละเอียดขั้นสุด รวมถึงแสวงหาความรู้นั้นในแบบสหวิทยาไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในการอธิบายธรรมชาติ ที่น่าสนใจคือสามารถสร้างโครงสร้างวัตถุที่มาจากความสัมพันธ์ทางคณิตศาสตร์กับธรรมชาติ ทำให้ช่วยในการวาดภาพและการออกแบบสิ่งต่างๆ ที่ใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างมาก

หัวข้อที่เขาศึกษา อาธิ กายวิภาคของมนุษย์ สัตว์ รูปร่างและรูปทรงเรขาคณิต, การเคลื่อนที่และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ, สีสันของท้องฟ้า, การเคลื่อนที่สายน้ำ, หรือแม้กระทั่งลักษณะการมองเห็นของมนุษย์ เช่น เมื่อเปลี่ยนแปลงมุมและองศาการมอง ก็มีผลกับการมองเห็นเฉดสีที่เปลี่ยนแปลงไป ฯลฯ สิ่งเหล่านี้กลายมาเป็นตำราของเลโอนาร์โดที่มีคุณูปการในการบุกเบิกศิลปะวิชาการของฝรั่งเศสและโลกในเวลาต่อมา

สีผงจากแร่ธรรมชาติ และเครื่องมือที่ปรุงสีออกมาให้ได้ตามความต้องการ คุณภาพสามารถอยู่บนภาพได้เป็นเวลาหลายร้อยปี
เลโอนาร์โดยังให้ความสนใจกับฟอสซิลและแอมโมไนต์ และสามารถบรรยายกระบวนการตกตะกอนที่สร้างชั้นหินและนำไปสู่การสะสมของฟอสซิลด้วยความแม่นยำในระดับหนึ่งในสมัยเป็นหนุ่มๆ ในขณะที่ช่วงเวลานั้นผู้คนต่างอธิบายถึงน้ำท่วมโลก ฟอสซิลหอยเลยอยู่บนเขา แต่เลโอนาร์โดกลับอธิบายถึงการยกตัวของภูเขาไปแล้ว
ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ เลโอนาร์โดได้นำเทคนิคเปอร์สเปคทีฟ (perspective) มาใช้ในการวาดภาพ ซึ่งเป็นการฟื้นฟูองค์ความรู้โบราณที่ถูกละทิ้งไปในยุคกลางกลับมาใช้อีกครั้ง โดยการวาดภาพสมจริงด้วยหลักการเรขาคณิต เริ่มต้นด้วยการสร้างเส้นร่างแบบก่อน ดังจะเห็นอย่างชัดเจนในภาพนี้
บันไดเวียนคู่ ด้านหนึ่งใช้สำหรับเจ้าของปราสาท อีกด้านหนึ่งใช้สำหรับส่งของ
บันไดที่ขึ้นได้สามฝั่ง โดยไม่ต้องเห็นหน้ากัน
Vitruvian Man แสดงให้เห็นถึงแนวคิดของเลโอนาร์โดที่ได้แรงบันดาลใจจากวิทรูเวียส (Vitruvius) ผู้มีชื่อเสียงในศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล เป็นสถาปนิก วิศวกรชาวโรมัน และเป็นผู้เขียนตำรา De architectura (ว่าด้วยสถาปัตยกรรม) ซึ่งเป็นคู่มือสำหรับสถาปนิกชาวโรมัน
สวนดาวินชีประดับด้วยสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างจากไอเดียของเลโอนาร์โด

ปิดท้ายด้วยส่วนหนึ่งของโควทดีๆ จาก เลโอนาร์โด ดา วินชี ตามป้ายติดผนังที่ต่างๆ

“ผู้ที่กระตือรือร้นฝึกฝนแต่ขาดความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้น เปรียบเสมือนนักบินที่ออกเดินทางโดยไม่มีหางเสือหรือเข็มทิศ และจะไม่มีวันรู้แน่ชัดว่าตนกำลังจะไปที่ใด”

“อย่าให้ใครที่ไม่ใช่นักคณิตศาสตร์อ่านใจฉันได้ เพราะฉันยึดมั่นในหลักการของตัวเองเสมอ”

“วิธีการค้นหาคำตอบของมนุษย์ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง หากไม่ผ่านการพิสูจน์ทางคณิตศาสตร์

Leonardo da Vinci.

………………..

อ่านตอนที่ 12345, 6, 7,…

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *