“ฮีตสิบสองคองสิบสี่” ในจิตรกรรมชั้น 1 พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวงพระอารามหลวง ขอนแก่น
ฮีต คือ “รีต” ในภาษาไทย (อีสานและลาวออกเสียง ร. เป็น ฮ.) หมายถึงประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ คอง คำศัพท์เดิมหมายถึง รอยที่เป็นทางยาว เช่น รอยหนามขีดข่วน นอกจากนี้ยังตรงกับคำว่า คลอง ในภาษาไทย (อีสานและลาวไม่นิยมออกเสียงควบกล้ำ) เช่น คลองธรรม ดังนั้น คำว่า ฮีต และ คอง จึงมีความหมายคล้ายคลึงกับคำว่า จารีตประเพณี..
“ฮีตสิบสอง” จึงหมายถึง ประเพณีการทำบุญเซ่นสรวงประจำเดือนในรอบปีหนึ่ง ส่วน “คองสิบสี่” เป็นหลักธรรมประเพณีสำหรับคนธรรมดาถือปฏิบัติในครอบครัวและศาสนามีสิบสี่ประการ รายละเอียดดังนี้
ฮีตสิบสอง เริ่มจาก ภาพที่ 27 ชั้น 1 พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวงพระอารามหลวง
สำหรับภาพที่ 1-26 จะเป็น ประวัติการสร้างเมืองขอนแก่น ศาสนสถานโบราณ และวิถีวัฒนธรรม
ฮีตสิบสอง
ฮีตสิบสองหรือประเพณีสิบสองอย่างของชาวอีสานและชาวลาวจะมีขึ้นในทุกเดือนตามปฏิทินจันทรคติ โดยกำหนดให้หนึ่งเดือนมีหนึ่งฮีต โดยเดือนที่หนึ่งของอีสานจะเริ่มเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม สำหรับชาวอีสานส่วนใหญ่งานบุญฮีตสิบสองยังคงมีความสำคัญต่อ ชีวิต ความเป็นอยู่ และความสามัคคีของคนในชุมชนเป็นอย่างมาก แม้ว่าฮีตส่วนใหญ่จะมีต้นกำเนิดมาจากตำนานความเชื่อก่อนครั้งพุทธกาล แต่ก็ได้ผสมผสานเข้ากับพระพุทธศาสนาที่เผยแผ่เข้ามาอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ภาพที่ 27 บุญเข้ากรรม (บุญเดือนเจียงหรือเดือนอ้าย)
บุญเข้ากรรม เมื่อถึงเดือนนี้ พระสงฆ์ที่ทำผิดพระวินัยปิฎก (พุทธบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติของเหล่าพระสงฆ์) จะต้องปลงอาบัติอยู่ในเขตปริวาสตามลำพังเพื่อชําระมลทินที่ได้ล่วงละเมิดพระวินัย การอยู่กรรมจะใช้เวลา 9 วัน เป็นอย่างน้อย เมื่อถึงประเพณีบุญเข้ากรรมฆราวาสจะนำภัตตาหารและอัฐบริขารมาถวายพระสงฆ์ที่อยู่ปริวาสกรรมที่วัด
ภาพที่ 28 บุญคูณลาน (บุญเดือนยี่)
บุญคูณลาน มีหลายชื่อด้วยกัน เช่น บุญคูนข้าว บุญกองข้าว หรือ บุญกุ้มข้าวใหญ่ คำว่า คูน (ภาษาอีสาน) หรือ คูณ แปลว่า พูน และ ลาน หมายถึง ที่สำหรับนวดข้าว คำว่า คูณลาน หรือ คูนข้าว จึงมีความหมายถึง การนำ(ข้าว)มาทับถมกันเป็นกองจนพูนสูงขึ้นบนลานข้าว พิธีกรรมนี้เกิดขึ้นเมื่อเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว เป็นการขอบคุณเทวดาอารักษ์ผีตาแฮกที่ได้ดูแลไร่นารวมถึงเป็นสิริมงคลให้แก่ไร่นาของตนเอง ในพิธีกรรมจะนิมนต์พระสวดชัยมงคลคาถาเจริญพระพุทธมนต์ที่ลานข้าว ประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่ นาข้าว วัว ควาย สู่ขวัญให้เจ้าของนาหรือชุมชนที่จัดพิธีกรรมร่วมกันให้เกิดความผาสุขสวัสดี ก่อนที่จะแบ่งข้าวเปลือกนำไปถวายวัดและนำขึ้นเก็บไว้ในยุ้งฉาง ผู้ใดได้ประกอบพิธีกรรมนี้เชื่อว่าจะมีข้าวกินไม่รู้จักหมดสิ้น มีไร่นาอุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดูกาล เมื่อพระสงฆ์สวดมนต์เสร็จจะมีการถวายภัตตาหารและอุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับ ท้ายงานจะมีการเลี้ยงดูญาติมิตรและจบด้วยการสู่ขวัญข้าวโดยหมอพราหมณ์หรือหมอสู่ขวัญ
ภาพที่ 29 บุญข้าวจี่ (บุญเดือนสาม)
ข้าวจี่ นับว่าเป็นอาหารท้องถิ่นของคนอีสาน คำว่า จี่ (อีสาน) แปลว่า ปิ้ง หรือ ย่าง ข้าวจี่จะทำจากข้าวเหนียวที่ปั้นเป็นก้อนแบนบ้าง ทรงรีบ้าง แล้วย่างกับเกลือบางๆ พอให้ผิวข้าวด้านนอกแห้ง ก่อนทาหรือชุบไข่แล้วนำไปย่างให้สุก บางหมู่บ้านก็นิยมยัดไส้ข้าวจี่ด้วยน้ำตาลทำจากน้ำอ้อย พิธีกรรมบุญข้าวจี่นั้นจะเริ่มในตอนเช้ามืดเพราะจะต้องเตรียมการย่างข้าวจี่ พอเช้าก็จะนำใส่ภาชนะไปตั้งไว้ในหอแจก(ศาลาการเปรียญ) หรือนำไปใส่บาตร เมื่อพระฉันเสร็จจะมีการแสดงพระธรรมเทศนา ข้าวจี่ที่เหลือจากพระฉันก็แบ่งกันรับประทานหรือนำไปฝากคนที่บ้าน เพราะเชื่อว่าเหลือจากพระฉันแล้วจะโชคดี ต้นกำเนิดของประเพณีบุญข้าวจี่มาจากครั้งหนึ่งเมื่อครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสวยแป้งจี่ที่นางปุณณะทาสีผู้ยากไร้ทำมาถวาย นางนึกว่าพระองค์จะทรงไม่ฉันด้วยว่าดูไม่สวยงามน่าฉัน แต่แล้วก็ทรงฉันและทรงแสดงธรรมเทศนา กระทั่งนางเกิดปิติและได้บรรลุโสดาบันด้วยอานิสงฆ์ของข้าวจี่ เมื่อคนทั้งหลายทราบถึงอานิสงส์แห่งบุญข้าวจี่ จึงได้พากันถวายข้าวจี่แด่พระสงฆ์สืบมาจนกลายเป็นประเพณีถึงทุกวันนี้
ภาพที่ 30 บุญพระเวส หรือ บุญผะเหวด (บุญเดือนสี่)
ในการเสวยพระชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก่อนการตรัสรู้ พระพุทธเจ้าได้ทรงประสูติเป็นพระเวสสันดร(ผะเหวด-ภาษาอีสาน) ผู้ซึ่งบำเพ็ญสัจจะบารมี คือ การให้ทาน เป็นการให้ทานทุกสิ่งแม้กระทั่งในสิ่งที่ยากที่สุดคือภรรยาและบุตร บุญผะเหวด จึงถือเป็นการเฉลิมฉลองบุญที่ยิ่งใหญ่ ในวันแรกจะมีพิธีอัญเชิญพระอุปคุตมาปกปักษ์รักษาการทำบุญใหญ่ หลังจากนั้นจะมีขบวนแห่ผ้าพระเวสหรือผ้าผะเหวดที่วาดเรื่องราวของพระเวสสันดร จำลองเหตุการณ์พระเวสสันดรและกษัตริย์ต่างๆ กลับเข้าเมือง ขบวนเริ่มในป่าใกล้หมู่บ้าน มีพิธีอัญเชิญพระเวสสันดรและกษัตริย์ทั้งหมด หลังจากนั้นจะแห่ออกจากป่าผ่านบ้านเรือนไปยังวัด เมื่อถึงมีการแห่วนอุโบสถและศาลา 3 รอบ ก่อน ฟังเทศน์มาลัยหมื่นมาลัยแสน กลางคืนมีมหรสพ ในวันถัดมาจะแห่ข้าวพันก้อนตอนเช้ามืด(บ้างเริ่มตี4) ต่อมารุ่งเช้าจะมีการเทศน์สังกาส(ศักราชสมัยพุทธโคดม เริ่มด้วยพุทธประวัติจนถึงสิ้นสุดศักราช) สวดคาถาพัน(การสวดพระคาถาเวสสันดรชาดกเป็นภาษาบาลีของสงฆ์ทั้งหมด 1,000 พระคาถา) และเทศน์มหาชาติจบภายในหนึ่งวัน ซึ่งการฟังเทศน์มหาชาตินี้ถือว่าได้บุญมาก ใครฟังจบเชื่อว่าจะไปเกิดในยุคของพระศรีอาริย์ พระพุทธเจ้าองค์ถัดไป ในช่วงบ่ายวันเดียวกันจะมีการแห่กัณฑ์หลอน คล้ายผ้าป่ามาถวายพระ
ภาพที่ 31 บุญสงกรานต์ (บุญเดือนห้า)
บุญสงกรานต์ หรือ บุญสรงน้ำ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย และยังเป็นวันหยุดเทศกาลที่สำคัญที่สุดของประเทศอีกด้วย ผู้คนต่างร่วมฉลองเทศกาลนี้ด้วย “น้ำ” เล่นสาดกันอย่างสนุกสนาน แต่ในส่วนของวัฒนธรรมดั้งเดิมชาวบ้านจะอัญเชิญพระพุทธรูปลงสรงน้ำที่บ้านช่วงเช้า มีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และไปสรงน้ำพระที่วัด เพราะที่วัดจะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปลงมาสรงน้ำเช่นกัน เด็กๆ มักจะชอบลอดเข้าไปใต้โต๊ะเอาศีรษะรองรับน้ำที่เขาสรงพระลงมา พ่อแม่มักบอกว่าไปเอา “น้ำขี้พระ” ใส่หัว จะได้ไม่ดื้อไม่ซน เรียนจะได้เก่ง (ที่เรียกน้ำขี้พระอาจเพราะเป็นน้ำที่ล้างฝุ่นผงที่ติดองค์พระทั้งปี) น้ำที่สรงพระลงมานี้ มีหลายคนหลังสรงพระเสร็จก็มักจะเอามือรองเอาน้ำมาประพรมบนศีรษะเชื่อว่าเป็นสิริมงคลปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีออกไป นอกจากนี้ที่วัดยังมีการทำบุญและก่อประทายหรือเจดีย์ทรายประดับธงทิวหรือดอกไม้เพื่อเป็นพุทธบูชาอีกด้วย สำหรับบุญสงกรานต์นี้ยังมีประวัติเกี่ยวข้องกับนางสงกรานต์ทั้ง 7 องค์ ที่ประจำแต่ละวันในสัปดาห์ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันอัญเชิญเศียรของท้าวกบิลพรหมแห่รอบเขาพระสุเมรุ โดยหากวันมหาสงกรานต์ตรงกับวันใด ก็จะเลือกนางสงกรานต์องค์นั้นขึ้นแห่เศียรของท้าวกบิลพรหมในวันมหาสงกรานต์ทุกปี
ภาพที่ 32 บุญบั้งไฟ (บุญเดือนหก)
บุญบั้งไฟ เป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมชาวอีสาน งานเทศกาลจะเกิดขึ้นในต้นฤดูฝน บั้งไฟที่ถูกทำขึ้นเองถ้าเป็นแบบโบราณจะใช้กระบอกไม้ไผ่ที่มีลำใหญ่กระทุ้งเอาปล้องด้านในออก แล้วบรรจุด้วยดินประสิวทำจากมูลค้างคาวเก่าและถ่านไม้เนื้ออ่อน เป็นต้น โดยดินประสิวธรรมชาติจะถูกตำให้เข้ากันอย่างละเอียดด้วยครกไม้หรือครกกระเดื่อง (ปัจจุบันใช้ท่อพีวีซีและดินประสิวจริง) การจุดบั้งไฟนี้เป็นไปเพื่อบูชาแถนเมืองฟ้า (หรือเทวดาผู้เป็นใหญ่บนท้องฟ้า) ขอให้มีฝนตกต้องตามฤดูกาล เพื่อให้การทำไร่ทำนาได้พืชผลบริบูรณ์ ความเชื่อนี้เป็นความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับผีฟ้าผีแถนที่มีมาก่อนพุทธศาสนาจะเผยแผ่เข้ามาถึง ก่อนวันจุดบั้งไฟ จ้ำ(ผู้นำทางพิธีกรรมผี) จะจุดธูปเทียนไหว้บอกกล่าวเลี้ยงผีปู่ตาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน แล้วจุดบั้งไฟเล็กเสี่ยงทายว่าปีนี้บั้งไฟจะขึ้นดีหรือไม่ดี รวมถึงข้าวปลาอาหารปีนี้จะบริบูรณ์หรือไม่ เมื่อถึงวันแห่บั้งไฟ ขบวนแห่บั้งไฟจะแห่ผ่านหมู่บ้านไปเข้าวัด มีทั้งเซิ้งบั้งไฟ ประกอบเสียงพิณเสียงแคนอีสาน ผู้คนในขบวนแห่มีการหยอกเย้าไปมาอย่างสนุกสนาน นอกจากนี้ยังมีการแห่สัญลักษณ์เกี่ยวกับเพศหรือเรื่องลามกซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญและขาดไม่ได้ เช่น ผู้ชายแต่งตัวเป็นหญิงทาปากแดง มีการแห่บักแป้น(ปลัดขิกใหญ่จนต้องใช้คนหาบ) ตุ๊กตาชายหญิงและลิงเด้าไม้โดยใช้เชือกกระตุกเคลื่อนไหวไปมาขึ้นลงเหมือนแสดงการร่วมเพศ ด้วยเชื่อว่าเทวดาจะชอบและดลบันดาลให้ฝนฟ้าตกต้องดี กลางคืนมีมหรสพคบงันตลอดคืน วันต่อมาจะเป็นวันจุด ชาวบ้านจะเอาบั้งไฟขึ้นฮ่านจุดบั้งไฟที่ทุ่งนาหรือริมแม่น้ำ โดยหันฮ่านให้บั้งไฟไปตกทิศที่ปลอดภัย ถ้าบั้งไฟนั้นจุดไม่ขึ้นหรือแตก ช่างทำบั้งไฟก็จะถูกโยนลงไปในโคลน กลายเป็นเรื่องตลกขับขันและเป็นที่สนุกสนานของชาวบ้านที่ไปเฝ้าดูทั้งหมู่บ้าน
ภาพที่ 33 บุญซำฮะ (บุญเดือนเจ็ด)
ซำฮะ หมายถึง “ชะล้าง” ประเพณีบุญซำฮะของชาวอีสานถือเป็นการชำระล้างสิ่งสกปรกออกจากร่างกายและจิตใจ ผู้คนจะพากันทำความสะอาดบ้านเรือน ศาลพระภูมิ และวัดวาอาราม แล้วจึงมีการทำบุญให้กับเทวดาที่ปกปักษ์รักษาหมู่บ้านและผีบรรพบุรุษ เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ออกไปจากหมู่บ้าน โดยมีการนำเอาทราย หินแห่(หินลูกรัง) มารวมกันที่ศาลากลางบ้าน แล้วนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพุทธมนต์เสกทราย หิน น้ำ แล้วนำไปสาดใส่บ้านเรือน ให้โรคภัยไข้เจ็บ สิ่งไม่ดีต่างๆ สูญหายไป
ภาพที่ 34 บุญเข้าพรรษา (บุญเดือนแปด)
ในวันถัดจากวันเพ็ญเดือน 8 ซึ่งเป็นวันอาสาฬหบูชา คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จะเป็นวันเข้าพรรษา ตามพุทธบัญญัติ หนึ่งพรรษานับเป็นช่วงระยะเวลาสามเดือนในฤดูฝน ซึ่งพระสงฆ์ต้อง จำพรรษา ที่วัดใดวัดหนึ่ง (ในวันเข้าพรรษา พระสงฆ์จะ “ว่าตัวเข้าพรรษา” หรืออธิษฐานเข้าพรรษาต่อพระพุทธองค์เพื่อจำพรรษาในวัดแห่งนั้น) พระสงฆ์หลายรูปในช่วงเข้าพรรษาจะมีการศึกษาพระธรรมและนั่งวิปัสสนาอย่างเคร่งครัด ขณะที่ฆราวาสต่างถือโอกาสบำเพ็ญกุศลด้วยการถือศีล งดสุรา เพราะเชื่อว่าจะได้บุญมาก มีการหล่อเทียนพรรษาร่วมกัน มีการถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝน หลายชุมชนมีการแห่เทียนพรรษา และบวชเข้าพรรษา เป็นต้น
ภาพที่ 35 บุญข้าวประดับดิน (บุญเดือนเก้า)
ข้าวประดับดิน ได้แก่ ข้าว ของคาวหวาน ผลไม้ พร้อมทั้งหมากพลูยาสูบ ห่อด้วยใบตองนำไปวางไว้ตามต้นไม้และพื้นหญ้าข้างรั้ววัด เพื่ออุทิศแก่ญาติผู้ล่วงลับในเช้ามืดของวันแรม 13 ค่ำ เดือน 9 (ประมาณ 6 โมงเช้าหรือแสงที่ทำให้มองเห็นใบไม้ชัดเจนเป็นเกณฑ์ขึ้นวันใหม่สำหรับปฏิทินจันทรคติ) รุ่งเช้าวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 จะไปถวายภัตตาหารพระ แล้วหยาดน้ำหรือกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญ การทำบุญตอนเช้าพร้อมหยาดน้ำถือเป็นวิถีปัจจุบันด้วยเชื่อว่าผู้ตายถึงจะได้รับผลบุญนั้น และเป็นมูลเหตุให้นิยมทำบุญ “แจกข้าว” เพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตาย แทนการเอาอาหารวางให้โดยตรงอีกด้วย บางตำนานว่าพระยายมบาลอนุญาตให้พวกบรรดาเปรตทั้งหลายขึ้นมาขออาหารกินกับญาติในเมืองมนุษย์ได้เป็นเวลา 15 วัน แล้วจึงมีบัญชาให้กลับในวันเพ็ญเดือนสิบ ซึ่งตรงกับวันบุญข้าวสาก บุญข้าวประดับดินจึงอาจเป็นการเลี้ยงต้อนรับผีญาติพี่น้องกลับมารับส่วนบุญกับครอบครัว
ภาพที่ 36 บุญข้าวสาก (บุญเดือนสิบ)
บุญข้าวสาก เกิดขึ้นหลังวันงานบุญข้าวประดับดิน ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบ เป็นการเลี้ยงผีบรรพบุรุษและผีไม่มีญาติ โดยเชื่อว่าหลังจากพระยายมบาลได้อนุญาตให้พวกบรรดาเปรตทั้งหลายที่อดอยากในนรกขึ้นมาขออาหารกินกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้เป็นเวลา 15 วันนับจากวันบุญข้าวประดับดินแล้ว เมื่อครบกำหนดต้องกลับ ญาติก็จะทำบุญข้าวสาก เข้าสาก หรือข้าวสลาก เพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตายเป็นการส่งกลับ (บางหมู่บ้านจะทำข้าวตอกแตกใส่น้ำตาลเคี่ยว ใส่มะพร้าว คล้ายกระยาสารท) ในพิธีกรรมบุญข้าวสากนี้จะมีการถวายทานแด่พระสงฆ์ ผู้ถวายทานจะเขียนชื่อตนเองใส่ในภาชนะที่ใส่ของทานไว้ แล้วเขียนชื่อตนอีกแผ่นหนึ่งใส่ไว้ในบาตรพระ เมื่อภิกษุรูปใดจับได้สลากของผู้ใด ก็จะเรียกชื่อและเจ้าของสลากก็จะนำของถวายที่ตนจัดไว้ไปถวายแด่พระภิกษุรูปนั้น แต่ก่อนการถวายจะมีการกล่าวคำถวายข้าวสากพร้อมกัน จบแล้วภิกษุก็จะรับเอาทานนั้นเป็นอันเสร็จพิธี ในการเตรียมอาหารสำหรับพระภิกษุ ชาวบ้านมักทำเป็นห่อข้าวใหญ่ และมีห่อข้าวน้อยหลายสิบห่อ(บ้างเย็บใส่กันเป็นคู่) สำหรับให้ผีบรรพบุรุษหรือเปรต โดยเป็นห่ออาหารคาวมีข้าวมีปลา ห่อของหวานและผลไม้ และห่อหมากพลูยาสูบ เมื่อทำพิธีเสร็จก็จะเอาไปกระจายไว้ตามโกศเก็บกระดูกของบรรพบุรุษ ห้อยตามกิ่งไม้หรือวางตามใต้ต้นไม้ ส่วนห่อข้าวน้อยที่เตรียมไว้ที่เหลืออีกส่วนหนึ่งก็จะนำไปไหว้ผีพ่อใหญ่แม่ใหญ่หรือผีตาแฮกที่นาของตน
ภาพที่ 37 บุญออกพรรษา (บุญเดือนสิบเอ็ด)
วันออกพรรษา ตรงกับขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 คือ วันสุดท้ายของการสิ้นสุดจำพรรษาของพระสงฆ์เป็นเวลา 3 เดือน และยังถือว่าเป็น “วันปวารณา” ของภิกษุสงฆ์ กล่าวคือ เปิดโอกาสให้พระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาร่วมกัน ให้สามารถว่ากล่าวตักเตือนและชี้ให้เห็นข้อบกพร่องด้วยจิตที่ปรารถนาดีต่อกันได้ ในวันนี้ฆราวาสจะพากันทำบุญในตอนเช้าถวายเครื่องไทยทาน ผ้าห่ม ผ้าสบงจีวร ยามค่ำมีการจุดเทียน ประทีบ หรือตะเกียง บนหอประทีบ เรียกว่า จุดประทีปไต้น้ำมัน เพื่อเป็นพุทธบูชาและบูชาการเสด็จกลับจากเทวโลกมายังเมืองมนุษย์ของพระพุทธองค์ บางแห่งมีการแห่ปราสาทผึ้ง จุดโคมลอยประทีบ หรือลอยกระทง บางแห่งมีการทำบุญไหลเรือไฟในแม่น้ำสายใหญ่ เช่น แม่น้ำโขง เป็นต้น
ภาพที่ 38 บุญกฐิน (บุญเดือนสิบสอง)
บุญกฐิน ชาวบ้านนิยมทำการทอดกฐินกันตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (เป็นเวลา 1 เดือน หลังออกพรรษา) การทอดกฐิน คือ การถวายผ้ากฐินไว้ต่อหน้าพระสงฆ์ในวัดนั้นอย่างต่ำ 5 รูปที่จำพรรษาครบ 3 เดือน โดยให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ได้รับมอบหมายจากคณะสงฆ์อย่างเป็นเอกฉันท์ให้เป็นผู้รับกฐิน สำหรับกฐินมีสองชนิดคือ มหากฐิน หรือ กฐินใหญ่ มีอัฐบริขารมากสำหรับถวายพระภิกษุสงฆ์ มีการเตรียมการนาน ผู้ใดได้ทอดมหากฐินถือว่าได้กุศลแรง กฐินอีกชนิดคือ จุลกฐิน หรือ กฐินเล็ก เป็นกฐินที่ทำด่วนเพื่อทันเวลา ในอดีตผ้ากฐินที่จะถวายพระจะต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว ซึ่งเริ่มตั้งแต่การปั่นด้าย ทอเป็นผืนย้อมแล้วตัดเย็บโดยอาศัย “กฐิน” หรือ ไม้สะดึงขึงผ้าที่จะปักเย็บเป็นจีวรให้เรียบ สำหรับบุญกฐินโดยธรรมดาก่อนทอดกฐินต้องมีการจองวัด เพราะวัดเดียวจะทอดกฐินสองกองไม่ได้ และหลังวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ก็จะทอดกฐินอีกไม่ได้ ชาวบ้านจึงทำการทอดผ้าป่าแทนซึ่งทำได้ตลอดปี
คองสิบสี่
คองสิบสี่ เริ่มจากภาพหมายเลข 39 ชั้น 1 พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวง
คองสิบสี่คือจารีตประเพณีที่ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติสำหรับบุคคลธรรมดาที่ประพฤติปฏิบัติกับ ครอบครัว ผัวเมีย บ้านเรือน และพระศาสนา เป็นกิจวัตร มี 14 ประการ คือ
ภาพที่ 39 คองที่หนึ่ง
เมื่อข้าวหรือผลไม้ผลิดอกออกผล ให้นำเอาไปถวายพระภิกษุเสียก่อน แล้วตนเองจึงบริโภคภายหลัง
ภาพที่ 40 คองที่สอง
อย่าเล่นการพนัน อย่าลักขโมย อย่าโกง(เช่น โกงตาชั่ง) อย่าโลภ อย่ากล่าวคำหยาบคายต่อกัน หากผู้ใดปฏิบัติได้ถือเป็นสิริมงคลกับตนเอง
ภาพที่ 41 คองที่สาม
ให้พร้อมกันทำรั้วหลักล้อมวัดและบ้านเรือนของตน และให้ปลูกหอบูชาเทวดาไว้ที่มุมบ้าน เพื่อให้เกิดความโชคดีและความผาสุข
ภาพที่ 42 คองที่สี่
ก่อนจะขึ้นบนบ้านให้ล้างเท้าเสียก่อน
ภาพที่ 43 คองที่ห้า
เมื่อถึงวันพระ 7 ค่ำ 8 ค่ำ 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ ให้ทำการสมมา(ขอขมา)และบูชาเทวดาที่สถิตอยู่ในเตาไฟ บันได และประตูบ้านที่ตนอาศัยอยู่ เพื่อให้เป็นสิริมงคลต่อครอบครัว
ภาพที่ 44 คองที่หก
ก่อนเข้านอนให้ล้างเท้าเสียก่อน ถือเป็นสิริมงคลอย่างหนึ่ง
ภาพที่ 45 คองที่เจ็ด
ถึงวันพระ(วันศีล) ให้เมียเอาดอกไม้เทียนทำขันธ์ 5 มาสมมาผัวของตน(ผัวที่ดี) และเมื่อถึงวันอุโบสถให้จัดดอกไม้ธูปเทียนไปถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ กับให้ทำการคารวะบิดามารดาปู่ย่าตายายด้วย ถ้ามีลูกก็ให้มากราบพ่อแม่ แล้วจึงอบรมสั่งสอนบุตรธิดาของตน
ภาพที่ 46 คองที่แปด
ถึงวันพระเดือนดับ หรือ ข้างแรม และวันพระเดือนเพ็ญ หรือ ข้างขึ้น ให้นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ที่บ้านเรือนของตนและทำบุญตักบาตรถวายทานท่าน
ภาพที่ 47 คองที่เก้า
ให้ตื่นนอนแต่เช้าจะได้เตรียมตัวใส่บาตรพระ อย่าให้พระสงฆ์สามเณรคอย ขณะใส่บาตรก็อย่าสัมผัสบาตรหรือถูกตัวท่าน อย่าสวมรองเท้า อย่ากางร่มหรือใส่หมวก อย่าเอาผ้าคลุมศีรษะ อย่าอุ้มลูกจูงหลานหรือถืออาวุธ
ภาพที่ 48 คองที่สิบ
ขณะที่พระสงฆ์เข้าปริวาสกรรม พระสงฆ์จะเว้นการบิณฑบาต ฆราวาสให้แต่งหรือจัดเตรียมขันข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียน และอัฐบริขารไปถวายท่าน
ภาพที่ 49 คองที่สิบเอ็ด
เมื่อเห็นพระสงฆ์เดินผ่านมา ให้นั่งลงก่อน ยกมือไหว้แล้วจึงสนทนากับท่าน
ภาพที่ 50 คองที่สิบสอง
อย่าเหยียบเงาของพระภิกษุสามเณรผู้ทรงศีล ครูบาอาจารย์ หรือ ผู้เฒ่าผู้แก่ เพราะเป็นการไม่เคารพจะเกิดบาปแก่ตนเอง
ภาพที่ 51 คองที่สิบสาม
อย่านำอาหารที่กินเหลือไปถวายพระภิกษุสามเณร หากเป็นเมียก็อย่าเอาอาหารที่ตนกินเหลือไว้ให้ผัวกินต่อ จะกลายเป็นบาป เกิดชาติหน้าก็ได้แต่สิ่งที่ไม่ดี
ภาพที่ 52 คองที่สิบสี่
อย่าเสพกามคุณในวันพระ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา และวันมหาสงกรานต์ ผู้ใดฝ่าฝืนเวลาลูกหลานเกิดมาก็จะมีนิสัยดื้อดึงสอนยาก
คองสิบสี่ปัจจุบันในหมู่บ้านอีสานก็ยังมีผู้ยึดถือปฏิบัติกันอยู่ และหลักคองสิบสี่เหล่านี้ต่างแฝงไว้ด้วยการอยู่ร่วมกันในชุมชนอย่างผาสุข บรรเทาความไม่สงบของสังคม อีกทั้งยังช่วยให้มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง และมีจิตใจที่ผ่องใสในพระบวรพุทธศาสนาอีกด้วย.
…………………
กลับไปที่ ประวัติศาสตร์การสร้างเมืองขอนแก่น ศาสนสถานโบราณ และวิถีวัฒนธรรม
ติดตามข้อมูลอื่นๆ ของพระมหาธาตุแก่นนครแต่ละชั้นได้ ที่หัวข้อ วัดหนองแวง พระอารามหลวง
ผู้วาดภาพจิตรกรรม
ครูธรรมรงค์ แก้วโบราณ
คณะทำงาน
สุทธวรรณ บีเวอ, ทิม บีเวอ และประภาพร สมภักดี
อ้างอิง
หนังสือ “พิธีพระราชทานเพลิงศพ พระครูสารกิจประสุต (สมัย อตฺตคุตฺโต/เวียงสอน) อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดหนองแวง พระอารามหลวง จังหวัดขอนแก่น
สวัสดิ์ เอกอุ่น, 2515, ข้อพิจารณาปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้ในประเทศไทย ความจริงของสภาวธรรม และฮีตสิบสองคองสิบสี่, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพและฌาปนกิจศพ นายสมัยชัย เอกอุ่น และนายกิติ เอกอุ่น.
เพิ่มเติม สวัสดิ์ เอกอุ่น ในอดีตเป็นข้าราชการประจำสถานเอกอัครทูตในสปป.ลาว ฮีตสิบสองคองสิบสี่ที่ถูกเขียนขึ้นเป็นธรรมเนียมของลาวโบราณที่มาจากการสังเกตก่อนปี 2515 ผู้เขียนบทความนี้ได้ใช้ในการเทียบเคียงกับธรรมเนียมอีสานที่ยังถือปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน
อนุชาติ อินทรพาณิช, ไม่ทราบปี, บันทึกเกี่ยวกับประเพณีฮีตสิบสองของคนอีสาน.
ภาษาอีสาน ที่ https://esan108.com/dic
พิธีจุดประทีปไต้น้ำมัน วันออกพรรษาของชาวอีสาน ที่ https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_11977
การทอดกฐิน ธรรมะไทย ที่ http://www.dhammathai.org/day/kathin.php
การนับเวลาตามโหราศาสตร์ https://www.myhora.com
4 thoughts on ““ฮีตสิบสองคองสิบสี่” ในจิตรกรรมชั้น 1 พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวงพระอารามหลวง ขอนแก่น”
ขอบคุณหลายๆ สำหรับเนื้อหาดีๆครับ ทีมงานอีสานร้อยแปดยินดีแบ่งปันข้อมูลถ้าหากทาง isaninsight ต้องการครับ
ขอบพระคุณมากๆ นะคะ อีสานร้อยแปด ยินดีและดีใจมากๆ เลยค่ะที่ให้โอกาสทางอีสานอินไซต์ได้พัฒนาข้อมูลเพื่อสาธารณประโยชน์ได้เพิ่มมากขึ้น ไม่ทราบว่าสามารถติดต่อท่านได้ทางใดคะ ขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ จากอีสานอินไซต์
Dear
I just find this site and it is very good one
and useful for studying about Lao or isan Culture
Best Regards
Thank you so much.