จำปาสี่ต้น: ภาพแกะสลักนิทานโบราณ ณ พระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวงพระอารามหลวง ขอนแก่น (ตอนที่ 1)
เรื่องโดย สุทธวรรณ บีเวอ
เรื่องจำปาสี่ต้นที่ถูกแกะสลักอยู่บนบานประตูและหน้าต่างชั้น 1 ของพระมหาธาตุแก่นนคร วัดหนองแวงพระอารามหลวง จังหวัดขอนแก่น ผู้เขียนได้อาศัยหนังสือ จำปาสี่ต้น ของพระอริยานุวัตร (อารีย์ เมจารี ป.๕) ซึ่งเป็นผู้รวบรวมจากหนังสือใบลานที่ถูกจารึกด้วยอักษรธรรมและอักษรไทน้อย ในการเล่าเรื่องโดยย่อ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเดินเที่ยวชมดูภาพแกะสลักโดยรอบพระมหาธาตุได้อย่างรวดเร็ว โดยจุดเริ่มต้นของเรื่องจะอยู่บนบานประตูด้านหน้าฝั่งทิศตะวันตกของพระมหาธาตุแก่นนคร โดยมีการเรียงลำดับภาพตามเข็มนาฬิกาไปรอบพระมหาธาตุแก่นนคร
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเมืองใหญ่เมืองหนึ่งชื่อว่า “ปัญจา” มี “พญาจุลนี” ครองราชบัลลังก์กับเทวีชื่อ “นางอัคคี” พร้อมด้วยสนมนางแก้วหลายหมื่นองค์ เมืองปัญจาเป็นเมืองร่ำรวย มีพร้อมทั้งช้างม้าวัวควาย ข้าวของมากล้น ซึ่งจะได้กล่าวถึงเมืองนี้ในภายหลัง…
ยังมีอีกเมืองหนึ่งกว้างใหญ่มีความบริบูรณ์ไม่แพ้กันชื่อว่า “เมืองจักรขีน” มีราชาผู้ครองเมืองชื่อว่า “พญาจักรขีน” มีมเหสีชื่อ “นางจันทา” และมีบุตรีชื่อ “ปทุมา” ภายหลังได้ชื่อว่า “คำกลอง” กำลังสาวแรกรุ่นมีความงามดุจพระอินทร์เป็นผู้ปั้นแต่ง
คืนหนึ่งพญาจักรขีนฝันเห็นสุริยคราสจนท้องฟ้ามืดมิด และฝันว่าฝนตกหนักจนน้ำหลากเข้าท่วมเมือง ทั้งช้างม้าหมูหมาเป็ดไก่ต่างถูกน้ำพัดไหลไป แล้วฝันต่ออีกว่าตนเองมีไส้ออกจากท้องลอยฟูฟ่องไปในอากาศ จากนั้นก็ฝันประหลาดต่ออีกหลายเรื่อง
เสียงไก่ขันยามเช้าปลุกพญาจักรขีนให้ตื่น พระองค์รีบสั่งให้เสนาไปตามโหราจารย์มาด่วน ฝันร้ายนี้โหราจารย์ทายว่าจะเสียบ้านเสียเมืองมีเคราะห์หนัก พญาจักรขีนได้ฟังดังนั้นก็ตกใจเป็นอย่างมาก
พระองค์จึงรับสั่งให้เสนาสร้างศาลาทานและทำบุญเพื่อสะเดาะเคราะห์ให้แก่เมือง
แต่สุดท้ายเมืองจักรขีนก็ไม่พ้นเคราะห์หนัก ด้วยมีพญาฮุ้งยักษ์หลวงหรือเหยี่ยวยักษ์คู่ผัวเมียบินมาจับกินคนทั้งเมือง
พญาจักรขีนจึงได้ซ่อนนางปทุมาหรือคำกลองผู้เป็นลูกไว้ในกลองใหญ่ แล้วฝากเทวดาไว้ เพื่อให้รอดพ้นเหยี่ยวยักษ์ หากมีใครมาช่วยเหลือจะได้มีโอกาสสืบวงศ์ตระกูลเชื้อเมืองไปในวันข้างหน้าได้
หลังจากเหยี่ยวยักษ์ได้กินคนทั้งเมืองแล้ว ก็เหลือแต่นางคำกลองผู้ซ่อนอยู่ในกลองอย่างเศร้าโศก นางอธิษฐานไหว้เทวดาทุกวัน จนในที่สุดเทวดาส่องญาณลงมาเห็น จึงได้ดลใจพญาจุลนีแห่งเมืองปัญจาออกมาล่าสัตว์ เพื่อจะได้มาช่วยนาง
ระหว่างล่าสัตว์ พญาจุลนีมองเห็นกวางทองร่างแปลงของเทวดา จึงได้ตามล่ากวางไป จนหลุดออกจากฝูงเสนาอำมาตย์ทหารรับใช้
ทหารพากันออกตามหาแต่ก็ไม่พบ จึงพากันกลับเข้าเมือง เผื่อว่าจะเจอกลางทาง พอนางอัคคีเทวีทราบเรื่องก็โกรธมาก ถึงกับลั่นปากว่า ถ้าหาพญาจุลนีไม่พบ จะจับตัดหัวให้หมด ทหารจึงรีบพากันออกไปตามหาพญาจุลนีอีกรอบ
พญาจุลนีหลงป่าอยู่หลายวันจนมาเจอเมืองจักรขีน เมืองร้างผู้คนมีแต่โครงกระดูกกองเต็มไปหมด เมื่อเข้าไปในปราสาทก็พบกลองใบใหญ่แขวนอยู่กลางห้อง จึงตีกลอง พลันก็ได้ยินร้องดังออกมา พญาจุลนีจึงเอามีปาดหนังกลองออก และพบกับนางคำกลอง พระองค์ตกหลุมรักทันทีเมื่อแรกเห็น นางคำกลองเล่าเรื่องเหยี่ยวยักษ์จับคนกินเกือบหมด พญาจุลนีจึงได้รีบพานางคำกลองหนีออกจากเมืองอย่างรวดเร็ว
ระหว่างทางกลับเมือง ทั้งสองได้เจอกับเหล่าเสนาพลทหารที่ตามหาอยู่ เสนาทหารชื่นชมยินดี พากันจัดแต่งขบวนเชิญเสด็จกลับเข้าเมือง เมื่อถึงเมือง นางอัคคีกับนางสนมต่างๆ ได้ออกมารับเสด็จ พญาจุลนีทรงเล่าเรื่องของนางคำกลองและกล่าวว่าพระองค์จะรับมาเป็นเทวีร่วมกับนางอัคคี
พญาจุลนีสร้างปราสาทให้นางอยู่ต่างหาก นางคำกลองเป็นที่โปรดปรานของพญาจุลนีมาก พระองค์เทียวมาหาทุกค่ำคืน ส่วนนางอัคคีเทวีอีกองค์นั้นแทบไม่ได้เข้าไปหาเลย ต่อมาพญาจุลนีเกิดวิตกกังวลเรื่องไม่มีลูก กลัวจะไม่มีใครครองเมืองต่อ จึงให้นางอัคคีและนางคำกลองอธิษฐานขอลูกกับเทวดา
นางอัคคีเทวีไหว้เทวดาขอลูก แต่ด้วยความใจบาปของนาง จึงได้ขอให้นางคำกลองอย่ามีผู้ประเสริฐมาเกิดด้วย ขอให้นางได้แทน ด้วยนางก็เป็นเชื้อสายของเมือง ถ้าสมหวังแล้วนางจะฆ่าวัวฆ่าควายมาเซ่นสังเวย เทวดาได้ฟังดังนั้นจึงไม่มีใครอยากมาเกิดกับนาง
ฝ่ายนางคำกลอง เมื่อตะวันเริ่มตกดิน นางจึงเข้าสู่ห้อง จุดธูปเทียน สมาทานตั้งไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่ง แล้วอ้อนวอนเทวดาทุกแห่ง ด้วยนางเป็นกำพร้าพลัดพรากจากเมืองมา พ่อแม่ก็ตายหมดแล้ว ขอพระอินทร์ทรงบันดาลให้สมหวัง แล้วนางจะถวายของหลายสิ่ง
พระอินทร์ได้ให้เทวดาสี่องค์ที่ถึงเวลาจุติไปเกิดกับนางคำกลอง นางคำกลองฝันเห็นพระฤษีถือพระขรรค์แก้วมณีสี่ลูกที่มีสีแตกต่างกันไป นางรับเอามาแล้วกลืนกินเข้าไป ต่อมาฝันใหม่ว่าไส้ออกจากท้องตัวเองแล้วโดนหมาดำคาบไปทั้งไส้ทั้งลูกแก้ว และฝันเรื่องอื่นๆ ต่ออีก จนสะดุ้งตื่น นางได้เล่าความฝันให้พญาจุลนีฟัง พญาจุลนีกล่าวว่าเป็นฝันดี จะได้ลูกสืบสกุล ไม่ต้องกังวล จากนั้นนางก็ตั้งครรภ์
นางอัคคีเทวีพอได้ข่าวนางคำกลองมีลูกก็คับแค้นใจ หาอุบายทำลายลูกในท้องของนางคำกลอง นางเริ่มให้สิ่งของมีค่าซื้อใจเหล่าทาสี ซึ่งต่างดีใจรับสินบนและยังเห็นใจนางอัคคีที่ไม่ได้รับความโปรดปราณจากพญาจุลนีเหมือนเก่า จึงสัญญาว่าจะช่วยฆ่าลูกของนางคำกลองและปกปิดเป็นความลับ จากนั้นนางอัคคีก็เริ่มทำดีมาดูแลนางคำกลอง เหล่าทาสีบอกนางว่ากลัวจะเป็นลมเพราะไม่เคยเห็นเลือด จึงจะปิดตานางไว้ พอนางคลอดลูก เขาก็เอาลูกหมามาสลับสับเปลี่ยนกับทารกทั้งสี่
ทารกทั้งสี่องค์ถูกนำไปใส่ไห พวกทาสีนำไปถ่วงลงน้ำหวังฆ่าให้ตาย
นางอัคคีนำเอาลูกหมาใส่พานขึ้นไปกราบทูลพญาจุลนีว่า นางคำกลองเมียที่รักของพระองค์ได้ให้กำเนิดลูกแต่ผิดเหล่าได้ลูกหมา พวกนางเคยเห็นนางคำกลองเข้าห้องน้ำอาบสรง แล้วเห็นสุนัขตามเข้าไปด้วย พญาจุลนีพอได้ฟังดังนั้นเหมือนไฟแผดเผาหลงกลอุบาย จึงสั่งให้ทาสีเอาลูกหมาไปทิ้งลงน้ำตายเกลี้ยงไม่เหลือ
ด้วยความกริ้วโกรธ พญาจุลนีประกาศเรียกหมู่เสนามาประชุม ด้วยนางคำกลองได้ให้กำเนิดลูกเป็นหมาถือเป็นกาลีบ้านกาลีเมือง จะลงโทษแบบใด จะเอาไปไหลเรือหรือเนรเทศออกจากเมืองดี เสนาทั้งหลายต่างก็ทัดทานว่านางคำกลองเคยเป็นเทวีมาก่อน หากชายใดได้ไปเป็นเมีย เขาจะกล่าวว่าได้เมียพญามาเป็นคู่ ถ้าจะขับนางไป ควรจะให้ฐานะต่ำลงไปเป็นข้าเลี้ยงหมูแทน นางคำกลองพูดไม่ออกได้แต่ร้องไห้
กล่าวถึงไหที่บรรจุทารก มันลอยทวนน้ำขึ้นไปติดยังท่าน้ำของอุทยานราชวังที่มีตาและยายดูแล ยายได้ลงไปตักน้ำจึงมองเห็นไหอยู่บริเวณท่าน้ำไม่ไกลนัก ยายพยายามผลักไหออก แต่ไหกลับพัดวนเข้ามา จึงไปตามให้ตามาเอาขึ้น พอทั้งสองเปิดไหออก ก็เห็นทารกทั้งสี่ที่มีผิวพรรณงดงาม ตาและยายที่ไม่มีลูกจึงดีใจมาก ทั้งสองได้เลี้ยงทารกไว้ โดยอาศัยยาหม้อที่เทวดาได้แอบใส่ยาทิพย์เพื่อให้ยายดื่มกินแล้วมีน้ำนม
ตากับยายเลี้ยงสี่กุมารจนเติบใหญ่และเพลิดเพลินจนลืมงานถวายดอกไม้เข้าวัง นางอัคคีเห็นว่าไม่มีดอกไม้จากอุทยานมานานแล้ว จึงใช้ให้สาวใช้ไปดู สาวใช้เห็นกุมารทั้งหมดจึงรีบกลับไปบอกนางอัคคี นางอัคคีจึงรู้ว่าเด็กนั้นยังไม่ตาย จึงวางแผนฆ่าอีกครั้ง วันหนึ่งตากับยายออกไปซื้อของในเมืองโดยทิ้งเหล่ากุมารไว้เพียงลำพัง ขบวนนางอัคคีมาถึงก็นำขนมมียาพิษให้เด็กทั้งหมดกิน โดยหลอกว่าตากับยายฝากมาให้ เมื่อตากับยายกลับมาถึง ก็ต้องพบว่าบ้านตนเงียบ มองไปก็เห็นเด็กๆ นอนอยู่บนพื้นก็คิดว่าหลับ เมื่อเข้าไปจับตัวยังไม่ทันไรก็พากันร้องไห้อย่างเสียสติ เพราะเหล่ากุมารสิ้นลมหายใจไปแล้ว
ตากับยายเผาศพกุมารน้อยทั้งสี่ พอรุ่งเช้าจึงพากันออกไปเก็บกระดูก บริเวณนั้นปรากฏมีต้นจำปาเกิดบนกองฟอนสี่ต้น มีลักษณะต่างกันออกไปคล้ายกับผิวลูกตน ตากับยายมั่นใจว่าต้นจำปาที่เห็นคือเหล่ากุมารกลับชาติมาเกิด จึงหวงแหนและดูแลรักษาเป็นอย่างดี
หลายวันผ่านไป นางอัคคีสงสัยว่ากุมารตายจริงไหม จึงให้นางรับใช้ไปแอบดู เมื่อเขาเห็นต้นจำปาสี่ต้นก็กลับไปรายงานนางอัคคี นางจึงรีบไปยังอุทยานเพื่อกำจัดต้นจำปา
เมื่อขบวนนางอัคคีไปถึงอุทยาน นางก็สั่งให้สาวใช้ไปขอดอกจำปา แต่ตายายไม่ยอมให้ นางอัคคีโกรธมากที่ตายายไม่รู้ที่ต่ำที่สูง จึงสั่งโบยแล้วสั่งให้ไปถอนต้นจำปาขึ้นมา พอนางได้ต้นจำปาก็ให้เหล่าทาสานำต้นจำปามัดใส่กันไปทิ้งลงในแม่น้ำ จากนั้นนางก็ขึ้นช้างกลับเข้าวัง รู้สึกสบายใจว่าตนหมดเสี้ยนหนามแล้ว ส่วนต้นจำปาทั้งสี่ต้นที่ลอยอยู่ในแม่น้ำ ครุฑและนาคพากันช่วยไว้ไม่ให้จม
จำปาทั้งสี่ต้นได้ไหลไกลออกไปอีกหลายวัน จนไปถึงอาศรมของปู่ฤษีตาไฟที่อาศัยอยู่ชานเมือง และเมื่อเณรลูกศิษย์ได้ออกมาหาบเอาน้ำจากท่าน้ำไปให้ปู่ฤาษีเช่นเคย ก็ได้มองเห็นต้นจำปาที่ไหลลอยวนเข้ามายังท่าน้ำ พอหักดูกิ่งก็เจอน้ำไหลออกมาคล้ายเลือดมนุษย์ จึงรีบไปบอกปู่ฤษีตาไฟ ฤษีตาไฟจึงให้เณรไปพากันแบกเอาต้นจำปาทั้งสี่ต้นมาที่อาศรม และทำการชุบชีวิตโดยเทน้ำในคนโทลงไป ต้นจำปาจึงกลับกลายเป็นกุมารน้อยทั้งสี่องค์ ทั้งหมดมีผิวพรรณงดงาม มีผู้น้องที่นิ้วก้อยกุด เพราะเณรเด็ดกิ่งออกจากต้นจำปา ฤษีตาไฟเห็นดังนั้นจึงเอาเทียนขี้ผึ้งมาต่อนิ้วให้ แล้วเสกคาถาใส่จนเกิดเป็นนิ้วที่ชี้เป็นชี้ตายได้
พระฤษีให้ชื่อกุมารทั้งสี่ตามสีของต้นดอกไม้ที่แตกต่างกัน โดยผู้พี่คนโตนั้นให้ชื่อว่า “เสตราช” คนที่สองชื่อว่า “ปีตราช” คนที่สามชื่อว่า “สุวรรณกุมาร” และคนสุดท้องชื่อว่า “เพชรราช” ฤษีตาไฟรับเอาเป็นลูก พร้อมกับสอนอาคมศาสตร์ให้
กล่าวถึงนางคำกลอง ผู้เป็นแม่ของสี่กุมาร ซึ่งตอนนี้เป็นทาสเลี้ยงหมูที่ถูกเขาทุบตี ได้ไหว้อ้อนวอนพระอินทร์ให้ช่วย เมื่อพระองค์ส่องญาณมาเห็น จึงแปลงกายเป็นตาผ้าขาวนั่งเรือสำเภามารับสี่กุมาร ฤษีตาไฟเห็นด้วยตาทิพย์รู้ว่าเป็นพระอินทร์ จึงให้สี่กุมารเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดเพื่อช่วยมารดา พร้อมกันนั้นได้มอบอาวุธให้ มีทั้งพระขรรค์แก้วและธนูที่มีอานุภาพร้ายแรง