
ศาลเจ้าแม่สองนาง บริเวณริมบึงแก่นนคร จ.ขอนแก่น
ประวัติเจ้าแม่สองนาง บริเวณริมบึงแก่นนคร จ.ขอนแก่น
(ข้อมูลจากป้ายที่จัดแสดงไว้ในศาลเจ้าแม่สองนาง ริมบึงแก่นนคร ขอนแก่น)
เจ้าแม่สองนาง เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าชัยเชษฐาธิราช กษัตริย์แห่งล้านช้าง (ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน) ทั้งสองพระนางประสูติในราว พ.ศ.2104-2105 ตรงกับ ค.ศ.1561-1562 มีอายุน้อยกว่าพระเอกาทศรถประมาณ 3-4 ชันษา เจ้าแม่สองนางเมื่อมีอายุประมาณ 16-17 ชันษา เคยติดตามมากับกองทัพของพระเจ้าชัยเชษฐาธิราช เมื่อครั้งที่พระเจ้าชัยเชษฐาธิราชยกทัพมาท้ารบกับพระมหาธรรมราชา เพื่อท้าตีกันตัวต่อ(ไพร่พลไม่เกี่ยว) ด้วยเป็นความแค้นส่วนพระองค์อันสืบเนื่องมาจากพระเทพกษัตริย์ (ทั้งสองพระองค์มีจิตปฏิพัทธ์ในผู้หญิงคนเดียวกันเป็นด้วยเหตุผลในยุคนั้น)
พระเอกาทศรถทรงเห็นว่าพระมหาธรรมราชาทรงมีพระชมมายุมากแล้ว ด้วยความกตัญญูกตเวทีต่อพระบิดาจึงอาสาออกรบแทน เมื่อพระเจ้าชัยเชษฐาธิราชทรงทราบข่าว พระองค์จึงให้สองพระนางออกรบแทนพระองค์บ้าง ทัพทั้งสองเผชิญหน้ากันที่ทุ่งชัยน่านท้ายหนองหาญ เป็นที่ตั้งของอำเภอสรรพพระยาในปัจจุบัน แต่ในระหว่างที่เผชิญหน้ากันอยู่นั้น พระเอกาทศรถทรงพระเนตรเห็นสองพระนาง จึงตรัสถามว่า “น้องทั้งสองชื่ออะไร” พระราชธิดาได้แต่สงบนิ่ง ไม่ตอบคำถาม ทำให้พระเอกาทศรถไม่ทรงทราบชื่อ ศึกครั้งนั้นไม่ใช่ศึกรบแต่เป็นศึกรัก
ครั้งต่อมาพระเจ้าเชษฐาธิราชกษัตริย์แห่งล้านช้างได้สวรรคตลง และเนื่องจากพระองค์ไม่มีราชบุตรที่จะสืบทอดอำนาจครองเมืองต่อจากพระองค์ จึงถึงจุดหักเหชีวิตของเจ้าแม่สองนาง เมื่อมีเจ้าเมืองคนใหม่ขึ้นครองราชย์ต่อมา พระราชธิดาสองนางซึ่งทราบต่อมาภายหลัง ผู้พี่ชื่อ เจ้านางคำหมื่น ผู้น้องชื่อ เจ้านางคำแสน ได้พาพวกพ้องบริวารอพยพโดยใช้ช้างเป็นพาหนะเดินทางมาหาผู้เป็นน้า ผู้เป็นเจ้าเมืองขอนแก่นก็คือ ท้าวเพีย เมืองแพน ผู้ก่อตั้งเมืองขอนแก่นนั่นเอง เมื่อมาถึงเมืองขอนแก่น เพียเมืองแพน ผู้เป็นน้า จึงจัดให้พักอาศัยอยู่ที่บ้านบึงบอน หรือบ้านเมืองเก่า ริมบึงแก่นนครในปัจจุบัน ภายหลังเมื่อทั้งสองพระองค์สิ้นพระชมม์ ชาวเมืองในสมัยนั้นจึงได้สร้างศาลของพระนางขึ้น เพื่อเคารพสักการะบูชา ผู้คนทั่วไปเรียกขนานนามศาลแห่งนี้ว่า ศาลเจ้าแม่สองนาง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตราบเท่าทุกวันนี้




ศาลเจ้าแม่สองนางในอดีต
ภาพศาลเจ้าแม่สองนางในอดีต ซึ่งไม่สามารถระบุช่วงปี พ.ศ.ที่ถ่ายภาพได้ (ภาพจากหนังสือ สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม นำเที่ยวขอนแก่น, 2541, หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดขอนแก่น)
จากคำบอกเล่าของคุณป้าน้อย ผู้รับหน้าที่ดูแลดอกไม้ ธูปเทียนของศาลเจ้าแม่สองนาง ได้ความว่า เดิมเป็นศาลเรือนไม้สองหลังตั้งอยู่ติดกัน ต่อมาทางเทศบาลนครขอนแก่นได้มีการบูรณะและก่อสร้างใหม่เป็นศาลคอนกรีต โดยที่ในสมัยก่อนนั้นบริเวณศาลเรือนไม้สองหลังนั้นจะต้องเดินข้ามสะพานมากราบไหว้ เพราะว่าบริเวณโดยรอบนั้นเป็นน้ำ จึงต้องเดินข้ามสะพานมา บริเวณรอบๆ หอเจ้าแม่สองนางแต่เดิมบริเวณนั้นจะมีต้นไผ่และต้นไทร
คุณป้าน้อย ผู้ดูแลศาลเจ้าแม่สองนาง ได้บอกว่าคุณป้าฝัน และในฝันนั้นบอกว่าคุณป้าเป็นหลานของเจ้าแม่สองนาง และให้มาอยู่ดูแลที่นี่ คุณป้าจึงได้รับเลือกจากนายกเทศมนตรีจังหวัดขอนแก่นในตอนนั้น คือ นายเรืองชัย ตราชู ที่ดำรงตำแหน่งในช่วงปี พ.ศ. 2526-2533 ให้รับหน้าที่ดูแลศาลเจ้าแม่สองนาง
คุณป้าน้อยจะรับหน้าที่จ้ำประจำศาลเจ้าแม่สองนาง โดยชาวอีสานมีความเชื่อกันว่าจ้ำจะเป็นคนกลางเพียงผู้เดียวที่จะสื่อสารระหว่างวิญญาณได้ หากทำอะไรผิดก็จะต้องมาขอขมาผ่านจ้ำ ในแต่ชุมชนมักจะเลือกจ้ำต่างกัน โดยอาจจะเลือกจากการทำพิธีเชิญวิญญาณให้มาเข้าร่างทรงเพื่อเลือกผู้ที่จะสืบทอดตำแหน่ง แต่ในกรณีของคุณป้าน้อย ก็รับหน้าที่มาดูแลเพราะความฝันที่บอกว่าคุณป้าเป็นหลานของเจ้าแม่สองนาง
ปกติแล้วเวลาทำพิธีบวงสรวงเจ้าแม่สองนาง คุณป้าน้อยจะทำหน้าที่จ้ำ นำสวดมนต์ คุณป้าน้อยก็เป็นคนบ้านตูม ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ในการรับผิดชอบดูแลศาลเจ้าแม่สองนาง
การทำพิธีไหว้เจ้าแม่สองนางก็จะมีการจัดพาหวานสำหรับไหว้ จะจัดขึ้นทุกๆเดือนเมษายนของทุกปี แต่ไม่สามารถระบุวันที่แน่ชัดได้เพราะขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ในจังหวัดจะสรุปวัน คุณป้าน้อยเล่าว่าการจัดงานนั้นก็จะมีการทำบุญตักบาตร มีการรำโดยนางรำด้วย (ข้อมูลสัมภาษณ์)
