“ที่ราบสูงโคราช” แหล่งกำเนิดชีวิตของภาคอีสาน อธิบายพื้นที่ทางธรณีวิทยาโดยสังเขป
“ที่ราบสูงโคราช” เป็นมาอย่างไร
ข้อมูลจากสำนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กล่าวถึง ภาคอีสานตั้งอยู่บนที่ราบสูงที่เราเรียกกันว่า “ที่ราบสูงโคราช” ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะหลายแอ่งและยังมีภูเขาทั้งขนาดใหญ่ขนาดย่อมลูกโดดๆ อีกหลายลูก ตามทฤษฏีแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ หรือ Plate tectonic ทำให้สันนิษฐานว่าการเกิดทั้งภูเขาและแอ่งกระทะ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของแผ่นเปลือกโลก โดยภาคอีสานนั้นอยู่ในเขตแผ่นเปลือกโลกที่เราเรียกกันว่า “อินโดไชน่า” หรือ “อินโดจีน”
ลักษณะที่ราบสูงโคราช
ที่ราบสูงโคราช มีพื้นที่ครอบคลุมประมาณ 200,000 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคอีสานประมาณ 120,000 ตร.กม. และครอบคลุมถึงแขวงสะหวันนะเขตและเมืองปากเซ สปป.ลาว ประมาณ 80,000 ตร.กม.
ที่ราบสูงโคราชในภาคอีสาน มีลักษณะยกตัวเป็นที่ราบสูงเทลาดเอียงไปทางด้านทิศตะวันออกคือ แม่น้ำโขง ทำให้แม่น้ำในที่ราบสูงโคราชทุกสายไหลลงสู่แม่น้ำโขง ความสูงของที่ราบโดยเฉลี่ยประมาณ 100-250 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ที่ราบสูงก็ไม่ได้ราบเรียบตรงตามลักษณะของที่ราบสูง หรือ plateau เนื่องจากมีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นลูกคลื่นลอนลาด และมีแอ่งขนาดใหญ่ถึงสามแอ่งด้วยกันคือ แอ่งโคราช และแอ่งสกลนคร ซึ่งอยู่ในเขตภาคอีสาน และ แอ่งสุวรรณเขต (Savannakhet Basin) อยู่ใน สปป.ลาว ทำให้เรียกที่ราบสูงแห่งนี้ว่า “แอ่งที่ราบสูงโคราช” (Khorat Plateau Basin)
นอกจากแอ่งต่างๆ แล้ว เฉพาะที่ราบสูงโคราชในพื้นที่ภาคอีสาน ยังมีเทือกเขาสำคัญ คือบริเวณตอนกลางของภาคจะเป็นแนวเทือกเขาภูพาน กั้นระหว่างแอ่งสกลนครกับแอ่งโคราช ในขณะที่บริเวณชายขอบของที่ราบสูงโคราชจะยกตัวขึ้นเป็นแนวเทือกเขาล้อมรอบ ด้านทิศตะวันตก คือ เทือกเขาเพชรบูรณ์-เลย เทือกเขาดงพญาเย็น และเทือกเขาสันกำแพง กั้นภาคอีสานและภาคกลาง และมีแนวเทือกเขาพนมดงรัก กั้นระหว่างภาคอีสานกับกัมพูชา
การเกิดที่ราบสูงโคราช
ในภาคอีสาน เราพบว่ามีหินอายุเก่าแก่สุดในช่วงมหายุคพาลีโอโซอิค คือ ยุคคาร์บอนิเฟอรัส เมื่อ 360 ล้านปีก่อน และยุคทะเลเพอร์เมี่ยน เมื่อ 286-245 ล้านปีก่อน ก่อนการเคลื่อนตัวมาชนกันของอนุทวีป 2 แผ่นคือ อนุทวีปฉานไทย (ฝั่งตะวันตก) และอนุทวีปอินโดไชน่า (ฝั่งตะวันออก-ภาคอีสาน) (Indosinian Orogeny) เมื่อราว 245 ล้านปีที่แล้ว ทำให้เกิดการบีบอัดระหว่างสองแผ่นอนุทวีปจนทำให้ตะกอนทะเลยกตัวสูงขึ้นไปอยู่รวมกันในแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์-เลย พร้อมกับการแทรกดันของหินภูเขาไฟที่ทอดตัวเป็นแนวยาวตามขอบของที่ราบสูงโคราชในภาคอีสาน เวลาต่อมาเมื่อแรงบีบอัดจากกระบวนการดังกล่าวลดลง ก็ได้เกิดการคลายตัวของแผ่นทวีป ทำให้เกิดแอ่งสะสมตะกอนที่เรียกกันทางด้านธรณีวิทยาว่า “แอ่งโคราช” และเกิดมีการสะสม ตะกอนภาคพื้นทวีปสีแดง แผ่กระจายกว้างทั่วภาคอีสานตลอดช่วงมหายุคมีโซโซอิกตั้งแต่ปลายไทแอสซิกจนถึงยุคครีเทเชียส 66.5 ล้านปีก่อน เรียกตะกอนนี้ว่า Mesozoic Redbeds
และในช่วงประมาณ 70 ล้านปีก่อน ได้เกิดการชนกันของแผ่นทวีปอินเดียกับแผ่นทวีปยูโรเชีย (ยุโรป + เอเชีย) ตะกอนในแอ่งถูกแรงกระทำจากขบวนการกำเนิดเทือกเขาหิมาลัย (Himalayan Orogeny) จึงเกิดการยกตัวขึ้นสูงเป็น “ที่ราบสูงโคราช” และเกิดการยกตัวของแนวเทือกเขาภูพาน ในแนวตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นอิทธิพลของกระบวนการคดโค้ง (folding) เป็นรูปกระทะคว่ำ (anticline) และเกิดแอ่งโคราชกับแอ่งสกลนครเป็นรูปกระทะหงาย (Syncline) (กรมทรัพยากรธรณี, 2555)
ข้อสังเกตความสัมพันธ์ด้านธรณีวิทยากับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อีสาน
จากปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาดังกล่าว ทำให้ที่ราบสูงโคราชโดยเฉพาะภาคอีสานนั้น ประกอบไปด้วยภูเขาหินทรายเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่มีภูเขาหินปูนอยู่บริเวณจังหวัดเลย จังหวัดหนองบัวลำภู บางส่วนของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เป็นต้น
การที่ภาคอีสานมีภูเขาหินทรายอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีพของผู้คนบนที่ราบสูงโคราช โดยเมื่อภูเขาหินทรายเมื่อเกิดการกัดกร่อนทั้งจากแรงน้ำและแรงลมแล้ว ตะกอนทรายได้ถูกพัดพาเข้าครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งภาคอีสาน การสะสมของตะกอนทราย จึงเป็นข้อสังเกตถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ที่พยายามออกแบบและประยุกต์ใช้ประโยชน์ เพื่อการเข้าถึงการใช้ทรัพยากรในการหาอยู่หากิน โดยเฉพาะในยุคที่มนุษย์เริ่มต้นทำการเพาะปลูก ภายใต้ข้อจำกัดของความอุดมสมบูรณ์ของที่ราบสูงโคราช คือมีดินทรายปะปนมาก ทำให้ผืนดินอุ้มน้ำน้อย ขาดแร่ธาตุ อีกทั้งบางพื้นที่ยังประสบปัญหาดินมีความเค็มสูง (เกิดจากการซึมหรือการแพร่ขึ้นมาบนผิวดินของเกลือในหน้าแล้งที่มาจากชั้นเกลือหินใต้ดิน ซึ่งเกลือหินนี้เกิดการสะสมจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่กายภาพของแผ่นเปลือกโลก กระทั่งมีน้ำทะเลไหลเข้ามาในแอ่งโคราช และสะสมทับถมกันหลายร้อยล้านปี) นอกจากนี้ยังมีฤดูกาลที่ผันผวน ฝนช้าบ้าง มาเร็วบ้าง แม้ว่าจะมีแม่น้ำสายใหญ่ อย่างเช่น แอ่งโคราช มีแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี แอ่งสกลนคร มีแม่น้ำสงคราม เป็นต้น ทั้งยังมีกุด ห้วย หนอง ที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำสายหลักอยู่มากมาย แต่บางครั้งเมื่อแล้ง น้ำก็แห้งเหือดหายไป หากปีไหนแล้งก็จะแล้งนานต่อเนื่องกันไปหลายปี จนมีคำกล่าวเปรียบเทียบความทุกข์ยากในความรู้สึกของผู้คนว่า “แล้งเจ็ดปีเจ็ดเดือน” หรือแม้หากมีฝนตกชุกก็ไม่อาจจะอุ้มน้ำไว้ได้นาน
นอกจากนี้ถัดจากชั้นดิน บางพื้นที่มีหินอยู่มาก ขุดไปก็มักจะเจอหิน บางที่เป็นหินทรายด้านล่าง ขณะที่บางที่ก็เป็นหินตะกอนจำพวกหินศิลาแลง หรือ หินแม่รัง โดยสังเกตได้จากไม้ยืนต้นที่ขึ้นอยู่เป็นระยะห่างๆ กัน ซึ่งชั้นหินตะกอนนี้ได้มีบทบาทช่วยเก็บความชื้นของชั้นใต้ดินเอาไว้อย่างมาก
ความพยายามในเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากที่ราบสูงโคราช เพื่อการหาอยู่หากิน
ในที่ราบสูงโคราชนั้น ยังมีความหลากหลายของพื้นที่ทางกายภาพ ซึ่งอาจไม่ใช่เผชิญปัญหาด้านความแห้งแล้งเพียงอย่างเดียว น้ำท่วมก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งโดยเฉพาะพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำ ดังนั้นความพยายามของคนโบราณในการแก้ไขปัญหาการจัดการพื้นที่ราบสูงโคราชคาดว่ามีมาตั้งแต่เริ่มการเพาะปลูกพืชแล้ว ซึ่งอาจใช้ทั้งการสังเกตธรรมชาติผนวกกับความเชื่อหรือคตินิยมในช่วงเวลานั้นๆ มาใช้ในการจัดการพื้นที่ เพื่อที่จะเข้าถึงการใช้ประโยชน์ได้ เช่น ในวัฒนธรรมทวารวดีอีสาน มีการขุดคูน้ำทำคันดินรอบชุมชนเพื่อการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ วัฒนธรรมขอมขุดทำบาราย ซึ่งอาจใช้เพื่อควบคุมและจัดการน้ำในการเกษตรหรือใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง เป็นต้น ในขณะที่ยุคปัจจุบันเองก็มีการแก้ไขพื้นที่ที่ราบสูงโคราชให้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น โดยการจัดทำแหล่งชลประทานทั้งขุดสระ ทำฝาย ทำเขื่อน แก้ปัญหาดินเค็ม ซึ่งปรากฏการแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่เห็นอย่างเด่นชัดสามารถศึกษาได้ในโครงการพระราชดำริต่างๆ ทำให้ที่ราบสูงโคราชมีความอุดมสมบูรณ์และสามารถเพาะปลูกได้เพิ่มมากขึ้นดังเช่นที่เห็นได้ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ยังมีพื้นที่การเกษตรอีกมาก ที่ยังไม่มีการชลประทานเข้าถึง ทำให้เรามองเห็นและเข้าใจพื้นที่ที่ราบสูงโคราชในลักษณะที่มีมาแต่ดั้งเดิมได้ โดยผู้อาศัยอยู่และทำการเกษตรเพื่อการยังชีพต้องเพาะปลูกโดยอาศัยฝนตามธรรมชาติ ภายใต้ลักษณะภูมิอากาศที่ผันผวนตามฤดูกาล ซึ่งมีฝนมาช้าบ้าง เร็วบ้าง การควบคุมปริมาณน้ำในการเพาะปลูกในพื้นที่ดินปนทราย จึงเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะการปลูกข้าวซึ่งเป็นพืชอาหารหลัก การหาอยู่หากินของผู้คนในพื้นที่ที่ราบสูงโคราช จึงมีการปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงตาม เพื่อการเอาตัวรอด
สำหรับการเอาตัวรอดในยุคนี้ ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2561 พื้นที่ภาคอีสานตอนกลางแห้งแล้งมาก มีฝนตกน้อย ผืนดินแห้ง หลายหมู่บ้านข้าวยืนต้นตาย ชาวบ้านต้องเกี่ยวข้าวที่กำลังยืนต้นตายไปให้วัวควายกินแทน ชาวบ้านครัวเรือนหนึ่งเล่าว่า พอจะยังมีข้าวเก่าจากปีก่อนทดแทนข้าวปีนี้ไปได้อีกเพียงครึ่งปี ส่วนครึ่งปีหลังเมื่อไม่ได้ข้าวก็จำเป็นจะต้องซื้อข้าวกิน ในขณะที่ปี 2562 สถานการณ์ความแห้งแล้งมากกว่าปี 2561 ชาวนาส่วนหนึ่ง เช่น ทางหมู่บ้านแถวปราสาทหินพนมรุ้งและปราสาทหินเมืองต่ำ เมื่อมีน้ำในการเพาะปลูกข้าวไม่พอ เพื่อที่จะชะลอการตายของต้นข้าว ชาวนาจึงตัดใบข้าวทิ้งทั้งแปลงเพื่อให้แตกยอดใหม่เมื่อได้น้ำในภายหลัง ซึ่งต้องสอดคล้องกับการติดตามสภาพภูมิอากาศว่าจะมีฝนเข้ามาหรือไม่ เพราะถ้าตัดเลยโดยที่ไม่มีน้ำ ข้าวก็จะตาย ส่วนชาวนาทางอีสานตอนกลาง ส่วนหนึ่งตัดสินใจไม่ทำอะไร เพราะหญ้าขึ้นแซงข้าวเป็นจำนวนมาก บางนาก็ถูกปล่อยทิ้งร้างเพราะน้ำไม่เพียงพอ
บทความโดย:
สุทธวรรณ บีเวอ
อ้างอิง:
ธรณีวิทยาภาคอีสาน: อธิบายธรณีวิทยาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะกลไกการคดโค้ง(folding) ของแอ่งโคราชกับแอ่งสกลนคร ที่มา: https://home.kku.ac.th/peangta/structure-ques-q18-Khorat.pdf
รายงานวิชาการอนุรักษ์ธรณีวิทยา 1/2555 เรื่อง การสำรวจและประเมินแหล่งธรณีวิทยา จังหวัดขอนแก่น โดย สำนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี
https://www.researchgate.net/figure/Tectonic-subdivision-of-Thailand-and-adjacent-regions-of-Sundaland-showing-the-principal_fig5_259330670
Mid-Cretaceous inversion in the Northern Khorat Plateau of Lao PDR and Thailand, 2016, Download form http://sp.lyellcollection.org
USGS Energy Program
ผังเมืองในประเทศไทย: ผังชุมชนและการใช้ที่ดินสายอารยธรรมเขมรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย ดร.ธาดา สุทธิธรรม ปี 2544
การเดินทางอีสานเอ็กซ์พลอเรอ Isan Explorer
เพิ่มเติม:
*การซึมหรือการแพร่ขึ้นมาบนผิวดินของเกลือ ศึกษาต่อในเรื่องของ หลักการของโครมาโทกราฟี Chromatography การแยกสาร