ศาลเจ้าพ่อมเหศักดิ์ บริเวณริมบึงแก่นนคร จังหวัดขอนแก่น
ท้าวเพียเมืองแพน ได้สร้างศาลเจ้าพ่อมเหศักดิ์ขึ้น ตั้งเป็นเสาบือบ้าน ศูนย์กลางของบ้านเมือง ตามความเชื่อของชาวอีสานในฮีตสิบสองคองสิบสี่ที่กล่าวถึง “สมบัติคูนเมือง” ซึ่งเป็นคองของเจ้าเมืองไว้ 14 ข้อ ใน 14 ข้อ มีใจบ้านหรือศูนย์กลางบ้านเมือง และอีก 1 ข้อ คือ “เมมเมือง” ซึ่งหมายถึง เทพารักษ์ มเหสักข์ เทวดาผู้ยิ่งใหญ่ปกป้องคุ้มครองเมืองขอนแก่นให้ร่มเย็นเป็นสุข โดยรูปแบบของปราสาทศาลเจ้าพ่อมเหศักดิ์นั้นสร้างมาจากศิลปะของขอม เหมือนกับที่ได้เห็นในสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง เช่น ปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทหินพิมาย
จากข้อมูลของทางศาลเจ้าพ่อมเหศักดิ์ได้อ้างอิงข้อมูลประวัติไว้ว่า แต่เดิม “ศาลเจ้าพ่อมเหศักดิ์” เป็นศาลไม้ ต่อมาในปี พ.ศ.2536 ได้มีการสร้างใหม่ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ดูทรงพลังงดงามเข้มขลัง
“เจ้าพ่อมเหศักดิ์” เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญอีกสถานที่หนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ส่วนมากคนขอนแก่นมีความเชื่อว่าการมาขอพรที่นี่นั้นมักจะประสบความสำเร็จในเรื่องของหน้าที่การงาน เรื่องของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย การสอบเข้าโรงเรียน โดยเมื่อการขอพรนั้นสำเร็จ ก็จะมีการมาแก้บนด้วยการไหว้องค์เจ้าพ่อที่อยู่บนสวรรค์ด้วยของหวาน ผลไม้ หมากพลู เหล้าขาว พวงมาลัย ดาบ ช้าง ม้า ม้าลาย ดังจะเห็นได้จากบริเวณทางขึ้นบันไดด้านหน้าศาล ที่ทั้งสองข้างจะมีรูปปั้นอยู่เต็มบริเวณรอบพื้นทางขึ้น สำหรับวิธีการแก้บนนั้นเชื่อกันว่าจะต้องรอจนกว่าธูปจะดับถึงจะสามารถกลับได้และก็สามารถนำอาหารที่นำมาแก้บนนำกลับไปรับประทานต่อได้เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
สำหรับการบนบานของชาวอีสานนั้นจะเรียกกันว่า “บ๋า” ซึ่งมีลักษณะการขอพรเหมือนการบนบานโดยทั่วไปที่ใช้ดอกไม้ธูปเทียนมาขอพร เมื่อบนบานสำเร็จผลก็จะนำสิ่งที่ตัวเองได้บนเอาไว้มาแก้บน เพราะมีความเชื่อกันว่าหากไม่ไปแก้บนคนที่บนหรือครอบครัวก็จะต้องมีอันเป็นไป ในลักษณะที่ลืมแก้บทหรือยังไม่ได้ไปแก้บนตามช่วงเวลาที่บนบานเอาไว้คนอีสานก็จะเรียกว่า ‘บ๋าหลง’
บริเวณภายในศาลเจ้าพ่อมเหศักดิ์ ที่สามารถเข้าไปขอพรโดยจุดธูป 9 ดอก ข้างในมีก้อนหินเสี่ยงทาย การเสี่ยงเซียมซีและมีใบเซียมซีให้ โดยผู้ที่เข้าไปกราบไหว้ สามารถบูชาได้ตามจิตศรัทธา
นอกจากนี้บริเวณด้านหลังของปรางค์ ยังมีศาลไม้ที่ทำจากไม้ยูคา ต่อมาหลังจากศาลไม้ผุพัง จึงมีการสร้างองค์ศาลทั้ง 7 ขึ้นมาใหม่ ใช้สีแดงซึ่งเป็นสีของเจ้าพ่อมเหศักดิ์ โดยใช้วัสดุไม้เนื้อแข็งมงคล 9 ชนิดเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้สักการะ ประกอบไปด้วย ขนุน สักทอง ตะเคียนทอง ยมหอม ราชพฤกษ์ พยุง กันเกรา ทรงบาดาล และจำปา ดำเนินการสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2553
แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่น่าสนใจโดยรอบบึงแก่นนคร จังหวัดขอนแก่น ติดตามได้ใน หัวข้อ “แหล่งท่องเที่ยวสถานที่ศักดิ์สิทธิ์รอบบึงแก่นนคร จ.ขอนแก่น: ประวัติศาสตร์การหาอยู่หากิน ปรัชญาชีวิต และพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ศูนย์รวมจิตใจ”
…………