สถานที่ฝึกปฏิบัติธรรม ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

สถานที่ฝึกปฏิบัติธรรม ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

บทความและภาพถ่ายโดย สุทธวรรณ บีเวอ

ศาสนาพุทธ ในปัจจุบันการที่ได้ทำบุญตักบาตรในตอนเช้า หรือไหว้พระสวดมนต์ ไปวัด ก็ถือว่าได้ทำบุญแล้ว แต่สำหรับการฝึกเรื่องสติ สมาธิ ปัญญา นับว่านอกเหนือไปจากกิจกรรมทางศาสนาไปเลยทีเดียว เพราะเรื่องนี้เป็นการช่วยชีวิตเราได้จริง โดยเฉพาะบนโลกที่เราอยู่ ย่อมมีความวุ่นวายใจเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ เรื่องเขาบ้าง เรื่องเราบ้าง เรื่องโน้นเรื่องนี้ที่ไปเสาะหามาเพิ่มบ้าง นับว่าทุกวันอลหม่านอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ไม่น้อย โอกาสหาความสงบเพื่อพักผ่อนเลยแสนลำบาก.. จิต

แต่เมื่อได้มีโอกาสฝึกการทำสมถะ เดินจงกรม ทำสมาธิวิปัสสนา แม้จะได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็ทำให้ฉันรู้สึกสงบมากๆ ทำให้มีสติกับงานที่ทำและการดำเนินชีวิตในทุกย่างก้าว ฝึกไปนานๆ ได้แต่หวังลึกๆ ว่าจะมีสมาธิ ทำให้เกิดปัญญา ผ่านพ้นความวุ่นวายใจ มีจิตใจสงบ ใจสบาย ปล่อยวาง ผ่อนคลาย ..

วิปัสสนา ฝึกปฏิบัติธรรม วัดหินหมากเป้ง หนองคาย

ตอนนี้ฉันพอฝึกสติได้ชำนาญมากขึ้นแล้ว เลยคิดว่าความสำคัญของการมีสติ ยังมีอยู่มากมาย ด้วยเหตุที่ว่า ถ้าเราป่วยเราอาจจะตายในปีในเดือนในวัน แต่ถ้าเราไม่มีสติ เราอาจจะมีชีวิตเพียงเสี้ยววินาทีเดียว ดังนั้นหากถามถึงความจำเป็นเรื่องนี้แล้ว ฉันก็เลยคิดว่า ถ้ามีโอกาสทำสติให้มั่น ความประมาทก็จะน้อยลง สร้างชีวิตมีคุณค่าได้ทำสิ่งดีๆ มากขึ้นอีก ด้วยการรักษาศีล ให้ทาน ฟังธรรมมะ เพื่อฟื้นฟูความหม่นหมอง ความอลหม่าน วุ่นวายในจิต ให้สงบ ช่วยให้ตาแจ้งตาใสมองเห็นอะไรในสิ่งใหม่ๆ ที่ดีต่อใจได้มาก แม้แต่ใบไม้ที่ลมพัดกลิ้งบนท้องถนน ก็ยังสวยงามแปลกตาออกไปได้… (นี่ก็นับเป็นเรื่องน่าแปลก ของการเริ่มมีสติอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น ไม่คิดเรื่องนู้นเรื่องนี้ ปล่อยให้จิตใจได้พัก)

สำหรับวันนี้ ฉันเลยนำเอารีวิว วัดหินหมากเป้ง เมื่อคราวไปปฏิบัติธรรมมาฝาก เผื่อท่านใดสนใจ สามารถเข้าไปปฏิบัติธรรมที่วัดได้โดยสะดวก ที่นี่ยังพอมีรถเมย์ผ่าน ถ้าจะมาวัดก็ขึ้นรถที่สถานีขนส่งหนองคายได้ แต่ขอให้เช็คเวลาออกของรถบัสอีกทีค่ะ ขากลับจากวัดออกแต่เช้าหน่อย เพราะรถเมย์ประจำทางบางทีมีคันเดียว คืออาจจะต้องหกโมงครึ่งมารอรถหน้าวัด เพื่อกลับเข้า จ.หนองคาย สอบถามเวลาจากแม่ชีอีกทีนะคะ

วิปัสสนา ฝึกปฏิบัติธรรม วัดหินหมากเป้ง หนองคาย
ที่พักที่ฉันได้พักตอนไปปฏิบัติธรรม เรียบง่าย แต่นอนสบายมากๆ
วิปัสสนา ฝึกปฏิบัติธรรม วัดหินหมากเป้ง หนองคาย
ที่พัก

คร่าวๆ เรื่องการมาปฏิบัติธรรมที่นี่คือ มาแล้วก็แจ้งเจ้าอาวาส เราไปถึงช่วงเช้า แจ้งแม่ชี แม่ชีพาไปห้องพัก แล้วเราก็จัดแจงเรื่องส่วนตัวต่างๆ สำหรับผู้หญิงพอถึงช่วงประมาณบ่ายสามที่โรงครัว เราสามารถไปช่วยงานได้ เพราะที่นี่แม่ชีและผู้ฝึกปฏิบัติธรรมจะมาช่วยกันเตรียมเครื่องครัวต่างๆ ก่อนจะปรุงในเช้าวันถัดไป ซึ่งก็คือประมาณตีสี่ เป็นการเรียนรู้เรื่องการทำอาหารทุกขั้นตอนที่ดีมากๆ เพราะเราทำกับข้าวไม่เป็น ก็เรียนรู้การทำกับข้าว ขนม และน้ำปานะที่นี่เอง แถมที่พ่วงมาคือจิตใจจดจ่อกับการทำ จนไม่วุ่นวายเรื่องอะไรเลย และหลังจากนั้นก็เป็นถวายภัตตาหารพระสงฆ์ ท่านฉันท์ 1 มื้อ ถ้าจะทานมื้อถัดไปสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม เราก็เก็บอาหารไว้ได้ เพราะที่วัดทำกับข้าวเพียงครั้งเดียว

สำหรับการปฏิบัติสมาธิ ช่วงเวลาตีสามแม่ชีและผู้ปฏิบัติธรรมก็จะมารวมกันนั่งสมาธิ ถึงเวลาประมาณตีสี่ถึงไปโรงครัวหรือจะนั่งต่อไปก็ได้ และนั่งสมาธิรวมกันอีกครั้งช่วงบ่ายโมง สำหรับตอนเย็นประมาณหกโมงครึ่งพระสงฆ์ก็จะนำสวดมนต์ไหว้พระนั่งสมาธิและฟังธรรมจากเสียงหลวงปู่เทศก์ที่ได้มีการบันทึกเอาไว้ถึงประมาณสามทุ่มครึ่งค่ะ

ส่วนช่วงเวลาอื่นๆ จะทำความสะอาดสถานที่ กวาดลานวัดหรือฝึกเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิด้วยตนเอง หรือทำกิจวัตรต่างๆ ตามสะดวกค่ะ

แนะนำว่าวัดหินหมากเป้งยุงเยอะมาก เตรียมเต็นท์มุ้งสำหรับนั่งฝึกปฏิบัติจะช่วยได้มาก ที่นี่สวมเสื้อขาว ผ้าถุงดำ หรือเสื้อขาวกางเกงขาว แล้วแต่สะดวก ท่านให้เราฝึกสบายๆ อยู่ที่เราเอง เพราะการทำสมาธิวิปัสสนาคือต้องฝึกปฏิบัติและรู้ด้วยตนเอง ฉันเองพอได้มีโอกาสเดินจงกรมข้างๆ แม่น้ำโขงที่มีแต่เสียงของธรรมชาติ ก็รู้สึกสงบตามไปด้วย สายน้ำและธรรมชาติของป่าไม้ บรรยากาศแสนร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่วัดป่าแห่งนี้ที่ได้รักษาและปลูกเพิ่มเอาไว้ ผนวกกับความเรียบง่าย สงบ ให้เกิดทางจิตใจของมาผู้ปฏิบัติธรรม จึงเป็นคำที่ไม่เกินเลยไปจากความจริง..

วิปัสสนา ฝึกปฏิบัติธรรม วัดหินหมากเป้ง หนองคาย
จากฝั่งโขงมองกลับมายังที่พักของการฝึกปฏิบัติธรรม มาหลายคนได้สบายๆ
วิปัสสนา ฝึกปฏิบัติธรรม วัดหินหมากเป้ง หนองคาย
แม่ชีท่านจัดเตรียมภัตตาหาร ผลไม้ ทุกๆ วัน บางทีก็มีวัตถุดิบส่งมาเพื่อทำบุญจากที่ไกลๆ บางทีก็เป็นอาหารทะเล บางทีก็มีทำบุญวันเกิดเป็นเจ้าภาพการจัดภัตตาหารก็มี ถ้าเรามีอะไรนำมาเป็นอาหารแห้งหรือวัตถุดิบได้ก็นำมาทำบุญด้วยได้กุศล เพราะพระสงฆ์มาปฏิบัติที่วัดมีมาก รวมถึงมีแม่ชีและผู้ปฏิบัติธรรมมาอยู่บ่อยครั้ง การบิณฑบาตจึงอาจได้อาหารไม่เพียงพอ เนื่องจากหมู่บ้านที่ใกล้วัดมีไม่กี่หลังคาเรือน ทำให้วัดจำเป็นต้องมีโรงครัวปรุงอาหาร ฉันเห็นมีคนนำข้าวสารมาให้ด้วย และก็มีชาวบ้านเก็บผักใส่ถุงมาส่งโรงครัว เป็นการร่วมแรงร่วมใจช่วยกัน
วิปัสสนา ฝึกปฏิบัติธรรม วัดหินหมากเป้ง หนองคาย
มาฝึกปฏิบัติธรรมที่นี่ จะได้ทำขนมด้วยนะคะ
วิปัสสนา ฝึกปฏิบัติธรรม วัดหินหมากเป้ง หนองคาย
ทำน้ำมะตูม เป็นน้ำปานะช่วงบ่าย
วิปัสสนา ฝึกปฏิบัติธรรม วัดหินหมากเป้ง หนองคาย
โรงครัวของวัด
วิปัสสนา ฝึกปฏิบัติธรรม วัดหินหมากเป้ง หนองคาย
ประมาณช่วงตีสี่ตีห้า จัดภัตตาหารสำหรับถวายพระสงฆ์
วิปัสสนา ฝึกปฏิบัติธรรม วัดหินหมากเป้ง หนองคาย
การปรุงอาหารของแม่ชีที่นี่ สะอาดมากๆ ล้างแช่ผักสดด้วยเกลือ แม้อยู่ใกล้แม่น้ำโขงแต่ก็ใช้น้ำให้เป็น จัดถ้วยจานอย่างมีระบบ ทำอาหารพอเพียงตามจำนวนพระ เณร และผู้ที่มาอยู่ปฏิบัติธรรมในวัด และจะสังเกตว่าแม้จะปรุงและทำทุกอย่างที่มีระบบและสะอาดเช่นห้องครัวระดับคุณภาพเยี่ยม แต่รูปลักษณ์ของอาหารในวัดก็ยังคงไว้แบบในภาพ รู้แน่ๆ ว่าถวายพระค่ะ
วิปัสสนา ฝึกปฏิบัติธรรม วัดหินหมากเป้ง หนองคาย
อันนี้มื้อเช้าผู้ปฏิบัติธรรมนะคะ ไม่ใช่มื้อเย็นนะ
วิปัสสนา ฝึกปฏิบัติธรรม วัดหินหมากเป้ง หนองคาย
สำหรับครั้งนี้เรานำของนมบ้าง น้ำผลไม้บ้าง มาด้วยเพราะเก็บได้ และถวายพระในตอนเช้า
วิปัสสนา ฝึกปฏิบัติธรรม วัดหินหมากเป้ง หนองคาย
ฝึกปฏิบัติธรรม สวดมนต์ นั่งสมาธิตอนหัวค่ำ

สำหรับที่อยู่ที่นอน มีแยกห้องเป็นสัดส่วนด้วย พอใช้เสร็จก็ทำความสะอาดส่งคืนท่าน แล้วก็บริจาคเงินให้กับวัดที่กล่องบริจาค ไม่ได้มีกำหนดว่าเท่าไหร่อย่างไร ตามกำลังของตน

สำหรับการทำวิปัสสนา เขียนไว้ในหนังสือหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี อดีตเจ้าอาวาสวัดหินหมากเป้ง ศิษย์หลวงปู่มั่น ว่า..

“…การบูชา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์วันนี้ ก็เช่นนั้นเหมือนกัน ตั้งใจของเราให้มั่นว่า ชีวิตของเราเป็นมานานแล้ว 20-30-40 หรือกี่ปีอะไรก็ตาม ยังไม่ได้บูชาคุณพระรัตนตรัยสักที เอาละ ในเวลานี้เรานั่งสมาธิภาวนา เราจะบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยการยอมสละทุกอย่าง ความคิดความนึกที่ส่งส่ายไปภายนอก สละหมด ปล่อยวาง ละหมด ไม่เอากลับคืนมา
ตั้งใจตั้งสติกำหนดใจแห่งเดียว ภาวนาอาณาปานสติ กำหนดจิตให้อยู่ในอานาปานสติ กำหนดลมหายใจให้จิตแน่วแน่อยู่กับลมหายใจเข้า-ออก ไม่ต้องไปกำหนดที่ตรงนั้นตรงนี้ หรือไม่ต้องไปกำหนดว่าลมตรงนั้นตรงนี้ แต่หากว่าทำความรู้สึกว่า มีลมหายใจเข้าออก เราจะกำหนดว่า มีเพียงแต่ลมเท่านั้น มันระบายออก ระบายเข้า ตั้งสติอยู่ ตรงนั้นแหละ กำหนดรู้เพียงแต่ลมเท่านั้น จนแม่นยำมั่นคง
แล้วจึงไปจับผู้ที่รู้ลมนั้นอีกทีหนึ่ง ดูผู้ที่รู้ว่าลมหายใจเข้า-ออกนั้น ใครเป็นผู้รู้ ใจเป็นผู้รู้ เมื่อจับใจได้แล้ว ตอนนั้นลมก็หายไป สตินิ่งแน่วอยู่กับอาการที่รู้นั้น (หรือผู้รู้นั้น) อย่างนี้แหล่ะจึงเรียกว่า อานาปนสติ
ผลที่สุดลมก็จะไม่มี แต่อย่าไปกลัว ลมไม่มีไม่ตายหรอก มันเป็นเพราะภาวนาต่างหาก ถ้าไม่มีลมจริงๆ มันดับมันสูญในขณะนั้น ก็ยิ่งดีด้วยซ้ำ ให้มันตายกับภาวนานี้ยิ่งดี เป็นการตายหนเดียวเท่านั้น ถ้ากลัวตายจะต้องตายหลายครั้งหลายหน ไม่ดีหรอก การหัดสมาธิภาวนาให้ลงตรงใจอันเดียว จับตรงใจอันเดียวเท่านี้เป็นพอ ทำภาวนาเลย ตั้งใจทำ” (รื้อถอนภพ, หนังสือหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี).

………

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *