Nevers เนอแวร์.. เมืองแห่งเครื่องเคลือบดีบุกยุคโบราณของฝรั่งเศส

Nevers เนอแวร์.. เมืองแห่งเครื่องเคลือบดีบุกยุคโบราณของฝรั่งเศส

บันทึกการเดินทางเส้นทางจักรยาน EuroVelo 6 ในฝรั่งเศส และส่วนหนึ่งของเส้นทางคณะราชทูตอยุธยาโกศาปานไปปารีส พ.ศ.2229 (ตอน 3)

วันที่ 10 ของการเดินทาง เราปั่นจักรยานออกจากเมืองบูร์บง-ล็องซี (Bourbon-Lancy) ใช้ถนน EuroVelo หมายเลข 6 เช่นเดิม ถนนยังเป็นถนนเล็กๆ ข้างคลองน้ำ พอหลุดออกจากคลองก็พาเราลัดผ่านทุ่งกว้างใหญ่ มองเห็นครื่องจักรรดน้ำที่มีขายาวหลายสิบเมตรในทุ่งเกษตรที่กว้างใหญ่ นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสลงไปดูใกล้ๆ เครื่องนี้ใช้การเจาะเอาน้ำบาดาลสูบขึ้นไปรดพืช จากนั้นเราก็ได้ผ่านทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่มีอยู่ประปราย ส่วนใหญ่เลี้ยงวัวเป็นฝูงแบบปล่อยให้หากินหญ้าเองภายในรั้วลวดหนาม

La ferme หรือ farmhouse บ้านในฟาร์มชนบทแบบโบราณที่ผุผังระหว่างทางจากเมืองบูร์บง-ล็องซี ไปเมืองเนอร์แวร์
เจ้าวัวขาวในภาพอาจเป็นพันธุ์ชาร์โรเล่ส์ (Charolais) ฝรั่งเศสทำการผสมพันธุ์อยู่หลายชนิด ส่วนพันธุ์นี้ใช้เพื่อเป็นแรงงานดึงลาก(draft work) ทำให้มีขนาดตัวใหญ่ล่ำ ปัจจุบันใช้เนื้อเป็นผลิตภัณฑ์ด้วย
ระบบชลประทานแบบแกนกลาง (center pivot irrigation systems) เป็นที่นิยมทั่วไปในการสูบน้ำบาดาลมารดพืชในพื้นที่กว้าง
วิธีเลี้ยงหมูแบบฉบับคล้ายสปาโคลนภายใต้ที่กำบังแดด สามารถวิ่งเล่นรอบรั้วในพื้นที่กว้างขวางได้ หมูดูมีสุขภาพดีมาก

ตลอดช่วงสามสี่วันที่ผ่านมาอุปสรรคสำหรับการปั่นเริ่มไม่ใช่ฝน เพราะฝนเริ่มหายไปแล้ว สิ่งที่เพิ่มมาคือปุยอะไรก็ไม่รู้ลอยฟุ้งเต็มทางไปหมด เยอะขนาดที่เหมือนกองหิมะน้อยๆ ริมข้างทาง ฝนตกทีก็ซาไปที แล้วก็กลับมาใหม่ คิดถึงผ้าพันคอที่เอาไว้ปิดจมูกกันฝุ่นตอนปั่นจักรยานที่ไม่ได้เอามา ใครเป็นภูมิแพ้ละอองเกสรช่วงเวลานี้ควรมียาพกมา

ริมคลองก่อนถึงเมืองเนอแวร์ร่มรื่นมาก
ปุยนุ่นที่ลอยฟุ้งในยามเดือนพฤษภาคม

เราปั่นจักรยานมาได้ประมาณ 85 กิโลเมตร ใช้เวลาเกือบแปดชั่วโมง ในที่สุดก็มาถึงเมืองเนอแวร์ เป็นเมืองขนาดกลางที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลัวร์ มีชาวเมืองอยู่ราวหกหมื่นคน บรรยากาศดูเป็นเมืองท่องเที่ยว ที่พักคืนนี้เราอยู่ด้านบนของร้านกาแฟ ด้านข้างร้านมีประตูแยกขึ้นบันไดแคบๆ ไปที่ชั้นสองของร้าน ในบรรดาคนที่มานั่งจิบกาแฟยามบ่ายเห็นเป็นกลุ่มนักปั่นหลายโต๊ะ ผู้คนนั่งอยู่กับวงสนทนาที่มีกาแฟแก้วเล็กๆ วางอยู่ตรงหน้า ร้านนี้น่าจะเป็นที่นิยมมากเพราะอยู่ใกล้แม่น้ำ ลมโกรก มีแสงแดดส่อง

เราเก็บของเสร็จก็ไปเดินชมบรรยากาศในเมืองกัน ถนนหนทางของเมืองนอกจากตึกรามบ้านช่องที่เป็นระเบียบก็ยังมีเจ้าปุยนุ่นนี่แหล่ะที่ลอยทำบรรยากาศเหมือนเมืองอีกด้านในหนัง Stranger things

ที่นอนคืนนี้เป็นร้านกาแฟชื่อ Cafe Velo
Bagel เบเกิลมังสวิรัตน์ ใช้ไข่เบเนดิกต์กับอะโวคาโด ราดด้วยน้ำสลัดครีม มีผักขมเป็นเครื่องเคียง ได้รสชาติดีมาก
วัฒนธรรมการปั่นจักรยานและการดื่มกาแฟเป็นของคู่กัน
ห้องพักถูกจัดไว้อย่างสะดวกมาก มีห้องน้ำส่วนตัว ด้านนอกมีห้องครัวพร้อมอุปกรณ์การใช้งานอย่างง่าย เช่น ไมโครเวฟ เตาไฟฟ้า และกาน้ำร้อน การจัดพื้นที่ยังให้บรรยากาศต้อนรับการท่องเที่ยวแบบปั่นจักรยาน ไม่ลืมแม้กระทั่งที่สำหรับแขวนหมวกกันน๊อค
ตึกรามบ้านช่องอันสงบแทบไม่มีผู้คนภายในเมืองเนอแวร์
ประตูเมืองโบราณ จุดไฮไลค์ของเมืองที่มีป้ายแนะนำยืนตรงนี้แล้วถ่ายรูป

เมืองนี้มีอดีตการหาอยู่หากินที่น่าสนใจคือ การผลิตเครื่องปั้นดินเผาแบบเคลือบดีบุก ด้วยมีทรัพยากรสำคัญสองอย่างที่สำคัญคือ “ดินขาว” หรือดินเกาลิน (ดินขาวแบบภาคเหนือที่เราเอามาทำเครื่องปั้นดินเผา) หรือแร่เคโอลิไนต์ (Al2Si2O5(OH)4) และ “ช่างชาวอิตาลี”

สำหรับดินเกาลินนั้นจะมีความลื่นคล้ายสบู่และปั้นเป็นก้อนได้ถ้าเปียก ถ้าถูกเผาก็จะแข็งทนทาน เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเครื่องปั้นดินเผาแบบเคลือบดีบุก (tin-glazed earthenware) ฝรั่งเศสเรียก faience

ส่วนช่างชาวอิตารี เข้ามาทำงานที่เมืองนี้จากการชักชวนของดยุก จนทำให้ปี ค.ศ.1580 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 เมืองเนอแวร์ได้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญของฝรั่งเศส สำหรับเครื่องเคลือบช่วงแรกจะมีสีเดียว ต่อมาได้มีการใช้สีที่หลากหลายเอาอย่างเครื่องปั้นดินเผาจีน นอกจากสีสันแล้วยังมีการวาดภาพวิถีชีวิตของชาวฝรั่งเศสในช่วงเวลานั้น ถือเป็นของมีมูลค่าสูง ใครสนใจเรื่องเครื่องเคลือบดินเผาโบราณ พอมีโอกาสเห็นบางส่วนจากนิทรรศการถาวรที่จัดแสดงในพระราชวังดยุกแห่งเนอแวร์ (Palais ducal de Nevers) (ปัจจุบันยังเป็นที่ตั้งของศาลากลาง สำนักงานนายกเทศมนตรี และหอประชุมสภา)

ภาพวาดจากอีกฝั่งน้ำ มองเห็นเมืองเนอแวร์ชัด
เครื่องปั้นดินเผาที่จัดแสดงในพระราชวังดยุกแห่งเนอแวร์ หรือศาลากลางในปัจจุบัน

การผลิตเครื่องเคลือบดินเผาฝรั่งเศสได้ใช้ธรรมชาติของแม่น้ำในยุคที่ไร้ไฟฟ้าอย่างเป็นประโยชน์ โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้จะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ เพื่ออาศัยการไหลของแม่น้ำเป็นตัวหมุนเฟือง เพื่อบดดินขาวให้เป็นผงละเอียด ซึ่งดินขาวจะถูกใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำเครื่องเคลือบดินเผาฝรั่งเศส

โรงโม่ดินขาวที่ใช้พลังของแม่น้ำเข้ามาหมุนเฟืองมีหลายโรงด้วยกัน ซึ่งมักตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำลัวร์กับแม่น้ำเหนียวา(Nièvre) ไหลมาบรรจบกัน ในช่วงรุ่งโรจน์ของการผลิตเครื่องปั่นดินเผาทำให้โรงสีหลายโรงถูกเปลี่ยนมาเป็นโรงโม่ดินแทน แต่ต่อมาช่วงต้นศตวรรษที่ 19 กิจการค่อยๆ ปิดตัวลง เมื่อผลิตภัณฑ์จากอังกฤษที่ถูกและดีกว่าเข้ามาตีตลาด แถมไม้ที่เป็นเชื้อเพลิงก็ดันมีราคาสูงขึ้นอีก
การโม่ดินขาวอาศัยกลไกของเพืองและเพลาที่มีแรงแม่น้ำเป็นตัวผลักดันให้เฟืองเคลื่อนที่ ก้อนดินที่แข็งจะถูกบดด้วยหินทรายที่มีความแข็งแกร่ง ทำให้กลายเป็นผงสีขาวละเอียด( ดินขาวที่นี่มีส่วนผสมดีบุก(stanniferous enamel) ซึ่งช่างฝีมือใช้เคลือบชั้นสีขาวบนภาชนะดินเผาสีดินธรรมชาติ ดีบุกมีความสามารถในการทนความร้อนได้ถึง 291.39 องศาเซลเซียส ดินขาวหลังเผาจะมีความแข็งและความทนทานมาก

นอกจากการทำเครื่องปั้นดินเผาจนเป็นอุตสาหกรรมแล้ว การขนส่งสินค้าที่เป็นไปอย่างยากลำบากก็ทำให้รู้จักแม่น้ำลัวร์เพิ่มขึ้นอีกว่า เหตุใดฝรั่งเศสถึงทำคลองถนนข้ามแม่น้ำเพื่อหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกับแม่น้ำลัวร์อันไหลเชี่ยวตรงๆ ด้วยเมืองเนอแวร์นี้ บางท่าก็อยู่ในบริเวณน้ำตื้น ทำให้เรือบรรทุกของหนักไม่ได้ต้องขนถ่ายสินค้าเพื่อไปลงเรือลำอื่นๆ ที่รออยู่ บางพื้นที่ก็มีน้ำท่วม บางที่ก็มีสะพานกีดขวาง ซึ่งการเดินทางในแม่น้ำลัวร์ไม่ว่าจะเป็นการเกยตื้นหรือจมน้ำมันเกิดขึ้นอย่างเป็นเรื่องปกติ ทำให้เรือในแม่น้ำลัวร์ในอดีตได้พัฒนาให้เข้ากับข้อจำกัดของแม่น้ำจนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ส่วนคนขับเรือในแม่น้ำลัวร์ก็ต้องมีความชำนาญมาก น่าเสียดายว่าในช่วงศตวรรษที่ 20 ศาสตร์นี้กลับกลายเป็นความรู้ที่สูญหาย

ชายตกปลา ภาพวาดบนจานดินเผาเคลือบดีบุกจากป้ายโฆษณาเมือง
วิถีชาวเมือง การต่อสู้กับสภาพแม่น้ำ โดยมีฉากหลังเป็นเมืองเนอแวร์ ปรากฏอยู่บนภาชนะดินเผาเคลือบดีบุก
เรือกลไฟในอดีตของเมืองเนอแวร์
ภาพการใช้แรงงานวัวของเมืองเนอแวร์เพื่อชักลากของริมฝั่งแม่น้ำ
แกลเลอรีศิลปินในเมืองเนอแวร์
ถนนสวยเส้นหนึ่งในเมืองเนอแวร์

จากเมืองเนอแวร์ เราจะออกเดินทางต่อไปยังเมือง ลา ชาริติ ซู ลัวร์ (La Charité-sur-Loire) ที่อยู่ห่างออกไปราว 34 กิโลเมตร

……………………

สำหรับตอนอื่นๆ คลิ๊กที่ 1, 2, 3, 4, 5

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *