สารพัดพาชม ตอน “ผักตัดสด โฮมเมด” ร้านแปลงผัก ในขอนแก่น
ท่ามกลางข้อจำกัดของพื้นที่ที่อยู่อาศัยในเมืองและการอยู่บ้านช่วยหมอในสถานการณ์โควิด ตอนนี้ผู้เขียนเป็นเจ้าของร้านแปลงผักตัดสดที่มีขนาดเล็กๆ ในห้องกระจกสี่เหลี่ยมของตึกสองชั้นริมถนนตรงข้ามประตู 2 โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย ที่ซึ่งใครก็แทบไม่อยากเชื่อว่า ผู้เขียนจะใช้พื้นที่ในอาคารมาเพาะผักขาย..
จุดเริ่มต้นของการทำร้านแบบนี้ เพราะอยากได้ผักสด เป็นคนชอบทานผัก และคิดว่าในสถานการณ์จำเป็นแบบนี้ อยากได้ผักอะไรที่โตเร็ว โตได้ในที่ร่ม ก็เลยหันมาดูต้นทานตะวันอ่อน ซึ่งก็ชอบทานอยู่แล้ว และอาศัยความรู้เดิมจากการเพาะถั่วงอกผักปลอดภัย ที่เคยทำขายตามบ้านมาก่อนมาต่อยอดร่วมด้วย
ทั้งที่เป็นเรื่องการปลูกผักขายทั่วไป แต่ผู้เขียนกลับมองว่า มันเป็นงานออกแบบเทคโนโลยีและกระบวนการปลูกพืชในพื้นที่จำกัด เป็นการสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่ต้องอาศัยการสังเกตสิ่งมีชีวิต เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง
ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์จำเป็นแบบใดที่ต้องการเอาตัวรอด การได้ทานผัก มีผลดี คือ ร่างกายแข็งแรง แต่ถ้าทานแบบสด ก็จะเพิ่มความสดชื่นให้กับหัวใจเข้าไปอีก แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องปลูกให้เป็นก่อน..
อันที่จริงแล้วการปลูกผักในอาคารท่ามกลางสถานการณ์โควิด ก็คล้ายกับเรากำลังเดินทางท่องอวกาศ ซึ่งถ้าอยู่ในยานอวกาศ คงจะปลูกผักนอกยานไม่ได้ อีกทั้งต้องทำแบบอินทรีย์ เพราะอยู่อาศัยร่วมกับผัก ทำให้การออกแบบของกินภายใต้สภาพจำลองในพื้นที่แบบนั้น มันช่วยกระตุ้นความสนุก การพยายามเอาชนะความจำกัดจำเขี่ยของถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งแน่นอนก็ต้องหันมาดูสิ่งที่เรามีอยู่ก่อน ประยุกต์เอาบางอย่างมาตีความการใช้งานใหม่ โดยอาศัยความรู้จากการสังเกตนิสัยการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิด ท้ายสุดก็จะสามารถสร้างเทคโนโลยีอย่างง่ายหรือประดิษฐ์เครื่องมือจากวัสดุที่มีอยู่ออกมาได้อีกมากมายเลยทีเดียว
เมื่อรัฐบาลประกาศให้ช่วยกันอยู่บ้าน เมล็ดพันธุ์ผักที่เพาะกินต้นอ่อนได้ เช่น เมล็ดถั่ว เมล็ดงา เมล็ดทานตะวัน ฯลฯ ก็น่าซื้อหาเก็บไว้ยามจำเป็น น้ำและดินสะอาด ยังพอหาได้ บางอย่างไม่ต้องใช้ดินก็ปลูกได้ ขอแค่มีน้ำสะอาด ถ้าเรามีเสื้อเก่าในตู้ เราก็ปลูกผักได้สบาย แค่รดน้ำเช้าเย็นให้ผ้าชุ่ม ผักพวกนี้เรียกว่า microgreens คือ เกินระยะเวลางอกไปแล้ว เติบโตเป็นผักใบเขียวขนาดเล็กๆ สามารถเอามาทานสดกับน้ำพริกหรือทำอาหารได้ทั้งต้ม ผัด ยำ ฯลฯ โดยเฉพาะคนที่ทานอาหารกระป๋องหรือมาม่า ถ้าเบื่อรสชาติเดิมแล้ว รับรองว่าอร่อยแปลกใหม่ไปเลย
สำหรับวิธีปลูกต้นทานตะวันอ่อน เพื่อให้ได้ต้นทานตะวันอ่อนที่มีคุณภาพที่ดีไปสู่คนทาน ผู้เขียนจะอาศัยขยันตื่นแต่เช้า ตั้งแต่ตีห้าครึ่งมารดน้ำผัก เพื่อให้ต้นทานตะวันนั้นได้รับความชื้น ลม และแสงแดดอ่อนๆ ของตะวันยามเช้าพอดี ต้นไม้ก็จะสดชื่นมาก จากนั้นค่อยนำกลับมาเลี้ยงในที่มืดอีกครั้ง ตอนเย็นก็รดน้ำอีกรอบ เปิดพัดลมระบายความร้อนให้บ้าง เปิดเพลงเบาๆ ให้ฟังบ้าง ทำเช่นนี้ทุกๆ วัน พอต้นยาวได้ขนาดตามที่ชอบแล้ว ก็ค่อยเปิดออกมารับแสงเล็กน้อย เพื่อให้ใบเขียวจากการผลิตคลอโรฟิลล์ แล้วค่อยๆ ตัดอย่างเบามือ จากนั้นล้างน้ำสองถึงสามรอบเพื่อให้ดินและแกลบหลุดออก ก็สามารถนำมาทานสดได้เลย แต่ถ้าอยากปลูกธรรมดาๆ เอาแค่พอทาน เพียงแค่สเปย์ให้น้ำและเลี้ยงในที่มืด ก็ได้ผลผลิตเช่นกัน
สำหรับท่านที่สนใจทานตะวันอ่อน ที่กรอบ หวาน สด ของ ร้านผักตัดสด ติดตามวันผลผลิตออกได้ที่ Facebook: ผักตัดสด โฮมเมด ซึ่งจะมี “ปฏิทินวันตัดสด” สำหรับจองล่วงหน้า เนื่องจากผลิตจำนวนจำกัด (หน้าร้านจะเปิดเฉพาะวันที่มีผลผลิตออกสำหรับให้จองตัดเองได้ในอนาคต) มีบริการส่งถึงที่ในเมืองขอนแก่นและในโซนมหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถเก็บในที่เย็นได้ประมาณ 5 วัน
**ทานตะวันอ่อน หากเก็บไว้ในตู้เย็นนาน อาจจะไม่กรอบ ให้แช่น้ำครึ่งชั่วโมง ก็จะกลับมาสดกรอบอร่อยเช่นเดิม เพราะในเซลล์ต้นพืช มีน้ำเป็นองค์ประกอบหลักสำคัญ
**ต้นทานตะวันอ่อน ที่อุดมไปด้วยแคลเซียมและธาตุเหล็กสูง มีไฟเบอร์ และวิตามิน A B C D และ E
———————————–
ผู้เขียนบทความ: สุทธวรรณ บีเวอ
ภาพ: อีสานอินไซต์