ข้าว: นิทานปรัมปราและการปลูกข้าวแบบชาวบ้านเล่า
นิทานเรื่องหนึ่งที่พ่อของผู้เขียนเล่าให้ฟังอยู่หลายครั้ง พ่อเล่าว่าเป็นเรื่องโบราณที่เล่าต่อกันมาเป็นนิทานที่สอนให้รู้และให้คิดตามว่า คนเราอดข้าวไม่ได้ เมื่อได้กินก็ให้กินให้อิ่ม อย่าเหลือทิ้งขว้าง
นิทานเรื่อง “ข้าวติดหีหมา” (ขออภัยสำหรับชื่อเรื่อง เป็นคำโบราณแบบนี้จริงๆ ตอนพ่อเล่าให้ฟัง ) เนื้อเรื่องมีดังนี้..
มีคราวหนึ่งแล้งมาก ฝนไม่ตก ปลูกข้าวก็ไม่ได้ผลมานานแล้ว ข้าวปลาอาหารขาดแคลนอย่างหนัก ผู้คนอดอยากกันมาก อยู่มาวันหนึ่งชาวบ้านคนหนึ่งมองเห็นสีขาวๆ คล้ายกับข้าวติดอยู่ที่อวัยวะเพศของหมาตัวเมีย ทุกคนในหมู่บ้านพอรู้ก็พากันวิ่งไล่กวดหมาเพื่อจะไปเอาข้าว เพราะไม่ได้กินข้าวมานานแล้ว วิ่งกันจนตามหมาแทบไม่ทัน แต่ในที่สุดหมาก็จนมุม ชาวบ้านต่างพากันทุบตีหมา สุดท้ายเมื่อหมาตาย ถึงได้มองเห็นชัดว่า ข้าวที่เห็นนั้น มันคือ นุ่น ที่มีสีคล้ายกันเท่านั้นเอง
…
“ข้าว” ไม่ใช่เพียงได้กินก็อิ่มท้อง แต่ให้ความบริบูรณ์พูนสุขในชีวิตไปด้วย
การปลูกข้าวแบบชาวบ้านเล่า..
คุณตาเล่าการทำนาแบบคร่าวๆ นาของคุณตาเป็นนาข้าวเหนียว และเราเรียกข้าวเหนียวจากสภาพพื้นการเพาะปลูกของคุณตาว่าเป็น “ข้าวนาสวน” คือ ข้าวที่ชอบโตอยู่นาที่มีน้ำขัง ทางวิชาท่านว่าถ้าข้าวอะไรก็ได้ปลูกในน้ำขังลึกไม่เกิน 80 เซนติเมตร เรียกประเภท ข้าวนาสวน (ข้าวประเภทอื่นที่แบ่งตามสภาพพื้นที่ปลูกในไทยจะมี “ข้าวไร่” ปลูกบนดอยไม่มีน้ำขังทางภาคเหนือ และข้าวอีกแบบคือ “ข้าวนาเมือง” หรือ “ข้าวขึ้นน้ำ” ปลูกบางพื้นที่แถวภาคกลาง พันธุ์ข้าวนี้โตได้ในที่มีน้ำขังลึกเกิน 80 ซม.)
มาเริ่มจากการทำความเข้าใจ ระบบ หรือ System พื้นที่นากันก่อน ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร..
องค์ประกอบนาข้าวภาพนี้ คือ ทุ่งนาธรรมดาๆ อย่างที่เราเห็น
แต่จริงๆ ระบบน้ำของคุณตา คือ ประมาณแบบนี้..
กล่าวคือ มีทาง “น้ำดี” เข้า โดยน้ำมาจากคลองชลประทาน และหลังจากเสร็จการเพาะปลูกแล้ว ช่วงก่อนกำลังเก็บเกี่ยวซักอาทิตย์ คุณตาก็จะปล่อยน้ำทิ้ง หรือ เราจะเรียกง่ายๆ ว่า น้ำเสีย ออกอีกทาง ต้นข้าวและดินก็จะแห้งทันเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายนหรือต้นธันวาคมพอดี นาแบบนี้ก็เหมือนๆ กับขั้นบันได คือแต่ละแปลงมีระดับความสูงลดหลั่งลงไปเพื่อให้น้ำไหลออกได้ แต่ในแปลงก็พยายามปรับให้พื้นที่เสมอกันเพื่อปรับระดับน้ำได้พอดีกันทั้งแปลง ดังนั้นต้นข้าวพันธุ์ที่ปลูก ชอบโตแบบไหน ชอบน้ำเท่าไหร่ ก็ควบคุมน้ำให้พอเหมาะได้ พอถามว่าแค่ไหนถึงเหมาะ กี่เซนติเมตร? คุณตาเลยตอบให้ง่ายขึ้นว่า น้ำแช่ต้นข้าวให้มีอยู่ประมาณ “ลึกพอท่วมหลังเท้า” นั่นแหล่ะ
มีข้อสังเกตสำหรับ “น้ำ” ถ้านาแปลงไหนน้ำไม่ดีเข้ามาแทนน้ำดี ก็จะทำให้ข้าวเปลี่ยนลักษณะไปเป็นเมล็ดแข็ง สีเปลี่ยน บางทีก็ออกสีน้ำตาลแดง ส่วนน้ำไม่ดีที่ว่า ก็คือ น้ำที่มีกลิ่นสบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน น้ำยาสารเคมี กลิ่นจากกองขยะ ฯลฯ ที่ไหลมาจากหลายที่ทั้งในตัวเมืองและนอกเมือง เพราะต่างก็อยู่บนที่เนิน ซึ่งสูงกว่านาข้าว
และส่วนน้ำเสียที่ไหลออกจากนา หากใครใช้สารเคมีเยอะ เมื่อถึงเวลาปล่อยน้ำออก มันก็จะไหลลงไปสู่ลำห้วย สัตว์น้ำป่วย น้ำป่วย ไปใช้รดผักต่อ และลงไปสู่น้ำใต้ดิน น้ำบาดาล ที่เราสูบขึ้นมาใช้ทั้งอุปโภคและบริโภค วัฎจักรของน้ำที่ไม่ดี จึงเริ่มมาจาก ตัวเราสระผม ซักผ้า อาบน้ำ ทิ้งขยะ ไหลลงไปสู่ แปลงนา แล้วก็ดูดน้ำกลับมาใช้ อาบ ดื่ม กิน อร่อยกันเอย..
ความต้องการแสงของข้าว..
นอกจากชาวนาจะต้องมีความรู้เรื่องระบบน้ำแล้ว ยังต้องมีความรู้เรื่องพันธุ์ข้าวและ “ความต้องการแสง” ของข้าว อีกด้วย คือ รู้ว่าพันธุ์นั้นไวแสง พันธุ์นี้ไม่ไวแสง ส่วนคุณตาใช้ข้าวไวแสงสำหรับปลูกข้าวนาปี เพราะปลูกตอนไหน ดอกก็ออกพร้อมกัน ถ้าต้นไม่สมบูรณ์เพราะปลูกช้าหรือเร็ว หรือแล้งมาก ฝนมาช้า ก็ยังพอจะได้ข้าวสำหรับกินอยู่
จาก สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน กล่าวถึงคำว่า ข้าวไวแสง นั้น มาจากคำยาวๆ ว่า “ความไวต่อช่วงแสง” คำว่า ช่วงแสง คือ “ระยะความยาวของกลางวัน” เป็น “ช่วงเวลา” ที่ข้าวแต่ละสายพันธุ์สามารถสร้างช่อและออกดอกได้ โดยถ้าข้าวไวแสงน้อย ก็จะออกดอกในกลางวันของเดือนที่มีแสงแดดประมาณ 11.50 ชม. คือ ก.ย.-ต.ค. เรียก ข้าวเบา, ถ้าข้าวไวแสงมาก ออกดอกในช่วงเดือนที่มีแสงแดดแค่ 11.20 ชม. ประมาณปลาย พ.ย.-ต้น ธ.ค., ถ้าออกดอก เดือน พ.ย. เรียก ข้าวกลาง, ถ้าออกดอก ธ.ค.-ม.ค. เรียก ข้าวหนัก พวกข้าวไวแสงออกดอกในเดือนดังกล่าวนี้เท่านั้น ไม่ว่าจะปลูกเดือนอะไรก็ตาม ทำให้มีประโยชน์ในอีสานที่ฝนตกไม่สม่ำเสมอหรือฝนมาเร็วหรือช้ากว่าปกติ แต่มีฤดูฝนสิ้นสุดแน่นอน คือ ต้น พ.ย. ดังนั้นข้าวเบาและข้าวกลาง ถึงแม้จะปลูกช้า แต่ก็จะออกดอกมีผลให้เก็บเกี่ยวได้แม้ผลิตไม่ดีนัก ตามสภาพของพื้นที่กายภาพของที่ราบสูงโคราช ที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่ค่อนข้างแห้งแล้ง
สำหรับเวลากลางวันแตกต่างกันไปตามพิกัดทางภูมิศาสตร์ จากแผนภูมิเปรียบเทียบชั่วโมงแสงของแต่ละพื้นที่ศึกษาต่อ ได้ที่นี่
อย่างไรก็ตามบางพื้นที่ เช่น บ้านหนองบัวราย บุรีรัมย์ มีการเก็บเกี่ยวข้าวในปลายเดือนสิงหาคม ชาวบ้านก็เรียกว่า ข้าวเบา เป็นข้าวเจ้าที่ปลูกใช้เวลาแค่ 75 วัน แต่พอจะตากข้าวให้แห้ง กลับเจอฝนเข้าพอดี ข้าวเปลือกที่ตากไว้และเก็บไม่ทัน ก็คงจะชื้นยาวนานไปอีกหลายวัน
สำหรับนาข้าว ถ้ามีน้ำนอกฤดูฝนหรือมีระบบชลประทาน ทำ “ข้าวนาปรัง” มักจะใช้พันธุ์ “ข้าวไม่ไวแสง” คือ ไม่ต้องใช้แสงในการออกดอก (ซึ่งมีกลางวันยาวกว่า 12 ชม.) เพียงแค่ปลูกได้ก็มีระยะเวลาที่แน่นอนในการออกดอก นับว่าการปลูกแต่ละพันธุ์ นอกจากการปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสมเพื่อน้ำไหลสะดวก และรับแสงดีแล้ว ยังต้องคัดเลือกพันธุ์ให้เหมาะกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และภูมิอากาศท้องถิ่นตัวเอง
นาข้าวต้องการทุ่งโล่ง แต่มีต้นไม้พักบ้าง.. สำหรับเราเอง
ด้วยเหตุแห่งความยาวของกลางวันที่มีผลต่อการออกดอกของข้าวนี้ ทำให้ที่นานอกจากหากเลือกได้จะทำบริเวณที่ลุ่มใกล้แหล่งน้ำแล้ว ยังต้องการการเป็นที่ราบที่มีทุ่งโล่ง มีต้นไม้อยู่ประปราย เพราะเหตุที่หากข้าวในนาจุดไหนอยู่ใต้เงาต้นไม้ใหญ่ที่ทอดทับลงมา ก็มักจะทำให้ต้นข้าวบริเวณนั้นไม่ค่อยสมบูรณ์ทำให้ได้ผลผลิตต่ำกว่า ต้นไม้ใหญ่ที่เราเห็นอยู่ในนาจึงมักถูกเลือกไว้ให้เป็นเพียงที่พักอาศัยตำส้มตำยามอาหารเที่ยง หรือให้ร่มเงายามชาวนาอยากพักผ่อน จึงนิยมปลูกต้นไม้ที่แขนขาของกิ่งไม่ยืดยาวออกไปมากแทน เช่น ต้นมะม่วง ต้นมะละกอ ต้นตาล ต้นยูคาลิปตัส ฯลฯ และยังเห็นมีที่เป็นไม้เก่าจำพวกต้องอนุรักษ์อยู่บ้าง เช่น ยางนา เป็นต้น
มาถึงการ “ไถพรวนดิน”..
คุณตาเริ่มไถนาด้วยรถไถก่อนถึงฤดูฝน แล้วก็จะไถพรวนแห้งๆ ซักสองสามรอบ ดินในนามีส่วนของทรายค่อนข้างมาก(เพราะอีสานเรามีภูเขาหินทรายเยอะ) บางพื้นที่เราจะเห็นดินเป็นฝุ่นละเอียด ไถกันทีขี้ฝุ่นดินขึ้นฟุ้งกระจายหัวขาวไปหมด แต่ส่วนทางอีสานตอนล่างแถวบุรีรัมย์ สุรินทร์ ชาวนาแถวนั้นว่าดินทางพวกเขาจะดีกว่า เพราะเป็นดินเหนียวไม่ใช่ดินทรายอย่างแถวอีสานตอนบน ซึ่งจากลักษณะพื้นที่แม้ว่าจะมีภูเขาหินทรายเหมือนกัน แต่ดินที่นี่ก็จะผสมแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์กว่ามาก เพราะเป็นบริเวณภูเขาไฟเก่าด้วย พอหินภูเขาไฟเก่าผุกร่อนลง ก็จะผสมไปกับดินในผืนนา ทำให้ชาวนาแทบไม่ต้องใส่ปุ๋ยในนาหรือใส่แค่ครั้งเดียวพอ
การไถ คุณตาว่าก็ทำทั้งเพื่อให้ดินร่วนซุยดี (ตอนไถพรวนใส่ปุ๋ยให้ดินลงไปด้วย) และก็เป็นการกำจัดหญ้าให้กลายเป็นปุ๋ย เป็นการบำรุงดินก่อนเพาะปลูกข้าว อย่างไรก็ตามบางคนเลือกที่จะเผานาก่อนไถพรวน เพื่อทำลายตอซังข้าว โรคพืช แมลง วัชพืช และช่วยให้ไถง่ายขึ้น แม้ว่าจะทำลายดินและแร่ธาตุในดินของตัวเองก็ยอม แถมบางทีก็ดูจะแฮปปี้เวลาใครพลาดทำไฟลามหญ้ามาเรื่อยๆ จนมาช่วยเผาตอซังให้ในที่ตัวเอง เพราะตอนนี้ใครเผาตอซังน่าจะผิดกฎหมายไปแล้ว และบางคนก็เลือกอัดยาฆ่าหญ้าตั้งแต่ตอนไถ เพราะกันหญ้าขึ้นแซงหน้าข้าว ซึ่งก็ส่งผลให้บางครั้งก็อัดเยอะมากไปหน่อย นอกจากร่างกายตัวเองจะรับสารพิษสะสมแล้ว ต้นข้าวที่ได้ก็ไม่สมบูรณ์ เห็นคุณตาว่าต้นข้าวจะเตี้ยหรือให้ผลผลิตต่ำ ด้วยเหตุแห่งยาฆ่าหญ้านี้แล…
สำหรับ ภาคอีสาน ตอนนี้ส่วนมากจะเห็นการทำนาหว่าน เพราะค่าแรงแพง การทำนาหว่าน คุณตาเจ้าของนาที่ขอนแก่นเล่าเพิ่มว่า ต้องไถดินแห้งๆ ก่อนแล้วก็ปั่น(ตีดินให้แตกละเอียดมากขึ้นไม่จับตัวเป็นก้อน) แล้วค่อยหว่าน หว่านเสร็จก็ปั่นดินอีกรอบ (ใช้รถไถปั่น) และรอน้ำฝน
การหว่านเมล็ดนั้น เห็นหลายคนทำช่วงหลังสงกรานต์และเดือนพฤษภาคม อาจจะแล้วแต่พื้นที่ แต่สำหรับคุณตา แกหว่านช่วงหลังเข้าพรรษาไม่กี่วัน มีกำหนดอยู่ประมาณวันที่ 10-15 ของเดือน ก.ค. เนื่องจากนาของแกเป็นนาเขตชลประทาน ซึ่งอาศัยน้ำที่ปล่อยออกมาได้ทำนาพอดี
และคุณตาท่านนี้ เนื่องจากแกไม่เอาคนงานมาช่วยเลย เพราะค่าแรงแพง ก็เลยจ้างเป็นอีเว้นท์ไป โดยจ้างรถไถ ต่อมาก็จ้างคนพร้อมเครื่องมาพ่นเมล็ด นัยว่าเมล็ดข้าวกระจายสม่ำเสมอดี แต่ก็ทำให้ต้นทุนสูงไปอีก นอกเหนือจากต้องซื้อข้าวพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ค่าจ้างรถดำ ค่าจ้างรถเกี่ยวข้าว ค่าน้ำมันและค่าไฟจากการสูบน้ำจากคลองขึ้นมาใช้ในนาข้าว ฯลฯ ถ้าแกยังเลี้ยงควาย ใช้ปุ๋ยมูลสัตว์ ลงนาช่วยกันทั้งหมู่บ้านเหมือนยุคเก่าๆ คงจะประหยัดไปได้เยอะน่าดู แต่ตอนนี้ก็ดูจะมีแต่สองผัวเมียทำนา ส่วนลูกหลานได้งานตั้งหลักแหล่งที่อื่นกันหมด ก่อให้เกิดคำถามในใจต่ออนาคตของพวกเราทุกคนว่า.. ใครจะทำนาให้เรากิน เพราะทำเองกันแทบไม่เป็นแล้ว?!?
“งานปลูกข้าว โดยรูปแบบแล้ว เป็นงานที่ต้องร่วมมือกันของคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง และชุมชน มากกว่าเป็นงานเชิงเดี่ยวหรือทำคนเดียว จึงจะสำเร็จ ได้ข้าวกินอย่างสมใจ โดยไม่เป็นหนี้เป็นสินจากเทคโนโลยีมากนัก”
หลังจากเริ่มมีฝน ช่วงที่เหมาะต่อการดำนา ชาวนาหลายคนจะจำว่า “ดำนาวันแม่ เกี่ยวข้าววันพ่อ” นั่นก็คือ ช่วงวันแม่ 12 สิงหาคม จะเป็นช่วงดำนาที่พอดี ให้สามารถเกี่ยวได้ในช่วงวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งก่อนหน้านี้ซักหนึ่งเดือนคือเดือนกรกฎาคม เขาจะหว่าน “ต้นกล้า” ซักแปลง พอโตดีแล้ว ก็ค่อยถอนออกไปดำหรือปลูกกระจายเป็นแถวให้ไม่แออัดในแปลงใหม่ ตอนดำก็จะกำเอาต้นกล้า 2-3 ต้น ปักลงจุดเดียวกัน นัยว่าถ้าต้นหนึ่งตายต้นที่เหลือก็โตต่อได้ ส่วนถ้ากลุ่มไหนตายลง ชาวนาก็ลง “ซ่อม” ใหม่ หมายถึง ลงไปปักกล้าใหม่กันอีกรอบตรงพื้นที่ที่แหว่งๆ ไป ทำให้บางทีก็เห็นเขาเหลือต้นกล้าในแปลง คงเอาไว้เผื่อซ่อมแซม แต่ถ้านาไหนปลูกแล้วต้นกล้าไม่พอ ก็เห็นไปซื้อเอากล้ามาเพิ่มจากนาอื่นที่ยังพอเหลืออยู่ ช่วงหลังๆ มา เห็นมีเพาะต้นกล้าใส่ถาดขายใช้กับรถดำนาแล้ว
จากตัวอย่างภาพจะเห็นได้ว่า น้ำ สำคัญต่อวงจรชีวิตข้าว โดยเฉพาะช่วงที่กำลังแตกกอไปจนถึงตั้งท้องและออกรวง ถ้าน้ำพอเหมาะ ไม่ว่าจะเป็นข้าวหว่านหรือข้าวดำ การแตกกอก็จะงามมาก เฉกเช่นเดียวกับเมล็ดข้าวก็จะสมบูรณ์ไม่ลีบ ช่วงเวลาที่รอคอยนี้ชาวนาเพียงแต่เทคแคร์ดูแลกันไปเรื่อยๆ
มาถึงตอนนี้เราจะพักกันก่อน เพราะรวงข้าวที่จะกำลังจะแทงออกมานั้น จะมีลักษณะที่ต้องอธิบายกันหลายภาพต่อไป โปรดติดตามกันในตอนต่อไป นะคะ..
ติดตามตอนต่อไปได้ที่ พัฒนาการเมล็ดข้าว: ช่วงออกดอก จนถึง เมล็ดสุก
…………..
ผู้เขียน: สุทธวรรณ บีเวอ
ภาพ: สุทธวรรณ บีเวอ
อ้างอิง
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่ม 3 ว่าด้วยเรื่องของ ข้าว อ่านทาง website เพิ่มได้ ที่นี่
องค์ความรู้เรื่องข้าว ของกรมการข้าว อ่านเพิ่มได้ ที่นี่
ลักษณะที่ราบสูงโคราช อ่านเพิ่มได้ ที่นี่