สารพัดพาชม: คลิป เขียนสีลายบ้านเชียงมรดกโลกจากกิ่งมะขาม ด้วยเทคนิคไม้สอยมะม่วง
บทความ คลิป และภาพโดย สุทธวรรณ บีเวอ
วันนี้ผู้เขียน ไม่เขียนยาว แต่จะโชว์คลิปสาธิตการวาด ด้วยเครื่องมือที่ประดิษฐ์เองง่ายๆ โดยได้แรงบันดาลใจจากไปเปิดภาพในเน็ตเจอช่างชาวบ้านเขียนสีของอินเดีย เค้าวาดภาพบนหม้อดินเผาแบบปั้นมือโบราณ แล้วก็ดูเหมือนเครื่องมือเล็กๆ ที่อยู่ในมือเขาที่กำลังวาดสีอยู่นั้น มันเป็นสองหัว เหมือนกับวงเวียน คล้ายๆ เหล็ก เสียดายที่ไม่มีภาพเคลื่อนไหว เลยอนุมานเอาว่า น่าจะลองทำเทคนิคพู่กันเขียนแบบสองหัว เพราะลายหม้อบ้านเชียง ชอบทำเส้นคู่ขนาน ถ้าผู้เขียนใช้พู่กันหัวเดียว เห็นจะวาดได้ไม่ขนานกันเลย แต่ช่างเขียนสีบ้านเชียงเดี๋ยวนี้เค้าก็วาดจนชำนาญ เส้นขนานสวยงามมาก
นอกจากนี้ ผู้เขียนสังเกตได้อีกอย่างนอกจากความเป็นสองหัวแล้ว ลายบ้านเชียงบางครั้งเส้นขนานที่วาดตอนต้นและปลายมักจะลากมาบรรจบกันเป็นเส้นเดียว ผู้เขียนก็เลยอนุมานเอาว่า มันน่าจะมีอะไรที่จะช่วยให้เส้นมาบรรจบกันอย่างสวยงาม เลยคิดว่า.. พู่กันสองหัวนั้นคงจะต้องสปริงตัวเข้าออกได้ด้วย ผู้เขียนก็เลยออกแบบด้วยการใช้เทคนิคการทำไม้สอยมะม่วง ที่ผ่าให้มันเป็นง่าม แล้วเอาไม้ขัด (เวลาสอยมะม่วงเราก็เอาใส่กิ่งแล้วบิดที่ขั้ว ก็จะได้ลูกมะม่วงนั่นเอง) มันจะแข็งๆ แต่เราอยากได้แบบเด้งเข้าออกบังคับความห่างของเส้นได้ ก็คิดถึงไม้ปิ้งไก่ แต่ไม้ไผ่ยังไม่เคยลอง ที่พอได้อุปกรณ์มาใช้ได้ ก็เลยมองเห็นว่ากิ่งมะขามน่าจะดี เลยเลือกเอาไม้กิ่งมะขามสดมาทำ เพราะมันยืดหยุ่นได้ไม่หัก เด้งกลับมาสบายๆ จะบีบก็ได้ จะคลายก็ดี กำหนดความใกล้ไกลของเส้นขนานได้เลย
อุปกรณ์และวิธีการทำพู่กันสองหัวกิ่งมะขาม
- กิ่งไม้มะขามสด ขนาดพอเหมาะ
- เอาใบออก
- ผ่าซีกตรงกลาง
- เอาอีกกิ่งขัด เช็ดว่ามันหยุ่นพอดีมือ
- ปาดหัวให้แหลมด้วยมีดคัตเตอร์
- เอาไปจุ่มสี พวกสีน้ำ สีผสมอาหาร ระบายในวัสดุพวกผ้า กระดาษ ฯลฯ ได้เลยค่ะ
ต่อไปเป็นคลิปเทคนิคการเขียนสี บางลายของหม้อบ้านเชียงนะคะ หวังว่าคงจะชอบกัน : )