พระเวสสันดรชาดก ๑๓ กัณฑ์ ภาพจิตรกรรม ณ วัดโพธิ์ศรี ต.ศิลา จ.ขอนแก่น

พระเวสสันดรชาดก ๑๓ กัณฑ์ ภาพจิตรกรรม ณ วัดโพธิ์ศรี ต.ศิลา จ.ขอนแก่น

ย่อเรื่องจากหนังสือ ลำมหาชาติ ภาคอิสาณ เทศน์ ๔ ธรรมาสน์,พระครูรัตนพุทธิคุณ วัดโพธิ์ศรีธาตุ, สุรินทร์

กัณฑ์ที่ ๑  ทศพร

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดในที่ชุมนุมศากยวงศ์ ได้บังเกิดฝนโบกขรพรรษ ตกลงมาเป็นห่าฝนเม็ดใหญ่ ลงสู่พื้นแห้งไป ผู้ใดใคร่เปียกก็เปียก ผู้ใดไม่ใคร่อยากเปียกแม้ว่าเม็ดหนึ่งก็ไม่โดนตัว อุปมาเหมือนน้ำค้างบนใบบัว ท้าวพระยาทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสว่าฝนโบกขรพรรษ ไม่ใช่เคยเกิดขึ้นในขณะนี้ เมื่อในกาลก่อนก็เคยมีมาแล้ว พระองค์จึงทรงนำเอา มหาเวสสันดรชาดก มาตรัสเทศนาแก่ภิกษุทั้งหลาย  

เริ่มเรื่องด้วยความเป็นมาของพระนางผุสสดี พระมารดาของพระเวสสันดร ในอดีตชาติได้ทำบุญสุนทานรักษาศีล จึงได้ไปเกิดเป็นอัครมเหสีแห่งพระอินทร์บนสวรรค์ดาวดึงส์ เมื่อสิ้นอายุจากสวรรค์ พระอินทร์จึงประทานพระ ๑๐ ประการ ก่อนลงมาจุติบนโลกมนุษย์ ได้แก่

  • ขอให้ไปเกิดในครรภ์อัครมเหสีเทวีแห่งพระยามัทธราช อยู่ในปราสาทแก้ว ๗ ประการ มีบริวารเฝ้าอยู่รักษา
  • ขอให้มีตาสวยเขียวงามบริสุทธิ์เหมือนตาลูกเนื้อ
  • ขอให้มีคิ้วสวย ดังขาธนู
  • ขอให้ชื่อว่า ผุสสดี
  • ขอให้ได้ลูกชายผู้ประเสริฐมาบังเกิดในครรภ์
  • ยามตั้งครรภ์ขออย่าให้ท้องยานใหญ่ ให้เอวกิ่วกลมงามเช่นเดิม
  • เมื่อประสูติลูกแล้วขอให้นมยังเหมือนตอนสาว อย่าแห้งเหี่ยวหย่อนยาน
  • ขอให้ผมไม่หงอก
  • ขอให้มีผิวที่ฝุ่นแปดเปื้อนไม่ได้
  • ขอให้สามารถช่วยเหลือคนให้พ้นโทษ และกลายเป็นคนดี

กัณฑ์ที่ ๒ หิมพานต์

พระนางผุสสดีลงมาจุติและได้เป็นอัครมเหสีของท้าวบุรมศรีสนชัย เมืองเชตุตระบุรี นครสีพี ก่อนให้กำเนิดโอรสคือ พระเวสสันดร อยู่ข้างโรงช้างข้างทาง เพราะตนเองอยากไปเที่ยวชมเมือง

ในวันเดียวกันยังมีแม่ช้างตกลูกเป็นช้างเผือกอีก ๑ เชือก จึงได้ชื่อว่า ช้างแก้วมงคลปัจจัยนาเคน ซึ่งได้กลายมาเป็นช้างมงคลแห่งความอุดมสมบูรณ์พูนสุขของเมือง

ต่อมาพระเวสสันดรได้ครองคู่กับ นางราชมที(พระนางมัทรี) จนมีโอรสและธิดา คือ ท้าวชาลีและนางกัณหา พระเวสสันดรได้ทำบุญทานสิ่งต่างๆ แก่ชาวเมืองมาโดยตลอด

กล่าวถึงอีกเมืองชื่อ กลิงคะราช ฝนไม่ตกมานาน กษัตริย์จึงได้แต่งพราหมณ์ทั้ง ๘ มาขอช้างปัจจัยนาเคน เพื่อเป็นมงคลให้ฝนตกตามฤดูกาล พราหมณ์ได้ไปดักรอพระเวสสันดรในขณะที่ทรงช้างผ่านประตูเมืองมา และเอ่ยทูลขอช้างเพื่อไปช่วยบ้านเมืองของตน พระเวสสันดรจึงได้ประทานให้ด้วยความไม่หวั่นไหว เอาคันโททองคำที่เต็มไปด้วยน้ำหอมหยาดน้ำทานช้างให้    

เมื่อชาวเมืองเห็นพราหมณ์เอาช้างไป จึงเสียใจและโกรธมากพากันไปชุมนุมที่วังหลวง ไล่ให้พระเวสสันดรไปบวชเป็นฤษีอยู่ที่เขาวงกตคิรี พระนางมัทรีได้ขอติดตามไปด้วยพร้อมกับลูกน้อยทั้งสององค์

กัณฑ์ที่ ๓ ทานกัณฑ์

พระยาบุรมศรีสนชัย พระนางผุสสดีและฝูงข้าราชบริพารเศร้าเสียใจมากที่พระเวสสันดรต้องถูกขับออกจากเมือง ก่อนออกจากเมืองพระเวสสันดรได้แจกมหาทานอย่างละ ๗๐๐ ทั้งช้างพร้อมควาญและนายท้าย ม้า ใส่อานแก้วลายทองคำพร้อมสารถี มีแม่วัวนมรวมทั้งโคอุสุภราช ทั้งถาดทองคำรองน้ำนมทั้งข้าหญิงข้าชายก็อีกอย่างละ ๗๐๐ คน

        เมื่อจบมหาทานพระเวสสันดร พระนางมัทรี กัณหา และชาลี ได้ออกเดินทางออกจากเมือง ไปได้ซักพักก็มีพราหมณาจารย์ทั้ง ๔ จากที่ห่างไกลมาไม่ทันพระเวสสันดรแจกทาน จึงวิ่งมาขอม้า พระเวสสันดรจึงได้ทานให้ พราหมณาจารย์ทั้ง ๔ ได้ม้าแล้วก็ขี่หนีไป

ในเวลานั้นเทพบุตรได้เนรมิตตัวเองเป็นละมั่งทองคำ เข้ามาเทียมแอกนำราชรถเดินทางต่อไป ต่อมาพระเวสสันดรก็ต้องทานละมั่งไปอีก เพราะมีพราหมณาจารย์เฒ่าเข้ามาขอราชรถไป ทั้งหมดจึงออกเดินทางด้วยเท้าแทน

กัณฑ์ที่ ๔ วันประเวศน์ (วนปเวศน์, วนประเวศ)

        กษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์ คือ พระเวสน์ พระนางมัทรี ชาลี และกัณหา พากันเข้าป่าเพื่อไปยังเขาวงกตคีรี เมื่อผ่านเมืองเจตราช พระยาเจตราชทั้งหลายอัญเชิญขึ้นครองราชย์ แต่ด้วยไม่อยากให้เมืองเจตราชมีปัญหากับชาวเมืองสีพีจึงทรงปฏิเสธ พระยาเจตราชดูแลต้อนรับและให้พรานเจตบุตรนำทางและเป็นผู้เฝ้าดูแลไม่ให้มีใครมารบกวน พระอินทร์ให้วิสุกรรมเทวบุตรเนรมิตอาศรมบทศาลาให้เป็นอยู่อาศัยอยู่ริมสระโบกขรณี ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก และเขียนที่อาศรมไว้ว่า “คนทั้งหลายฝูงใด มักใคร่จักบวชเป็นรัสสี(ฤษี) จงถือเอาเครื่องบริขารฝูงนี้ แล้วจงบวชอยู่ในอาศรมบทศาลานี้เทอญ” ที่อาศรมมีไม้เท้า ผ้านุ่งเปลือกไม้ ผ้าหนังเสือไว้พาดเป็นสังฆา มีทั้งเสียมและตะกร้าไว้เก็บของป่า พระนางมัทรีได้บวชเป็นรัสสีนี(ฤษีณี) กัณหาและชาลี เป็นรัสสีน้อย(ฤษีน้อย) พระนางมัทรีก็ได้ทำหน้าที่ออกเก็บผลไม้เผือกมันและฝากลูกไว้ให้อยู่กับพ่อ ตกเย็นมาก็พาลูกลงอาบน้ำสระโบกขรณีประจำทุกวัน

กัณฑ์ที่ ๕ ชูชก

ชูชกอาศัยอยู่บ้านทุนนะวิฏฐคาม เขตแดนเมืองกลิงคะราช เที่ยวขอทานได้เงินมาแล้วเอาไปฝากไว้กับสหายในตระกูลพราหมณ์ แต่ตระกูลพราหมณ์กลับเอาเงินที่ได้ไปซื้อจ่ายขายกินจนหมด พอชูชกกลับมาก็ไม่มีเงินคืนให้ จึงให้ลูกสาวคือ นางอมิตตัดตา(อมิตตดา) แทน ชูชกเลยได้พากลับบ้านไปเป็นเมีย

นางอมิตตดาดูแลอุปัฎฐากชูชกผัวเฒ่าเป็นอย่างดี จนทำให้พราหมณ์หนุ่มในหมู่บ้านไม่พอใจเมียตัวเองที่ไม่ดีเท่านางอมิตตดา จนถึงขั้นตบตีทำร้าย บรรดาเมียของพราหมณ์ไม่พอใจนางอมิตตดา ถือว่าเป็นตัวกาลกินี  จึงตบตีและขับไล่นางตอนไปตักน้ำที่ท่าน้ำ

นางอมิตตดาร้องไห้กลับบ้าน และบอกให้ชูชกไปขอทาสกับพระเวสสันดร ไม่อย่างนั้นนางจะหนีไปอยู่ที่อื่น ทำให้ชูชกต้องออกเดินทางไปเมืองสีวิราช แต่พอไปถึงกลับพบว่าพระเวสสันดรไปเป็นฤษีอยู่ป่าแล้ว จึงออกตามหาไปตามป่า

ในที่สุดก็ได้หลงป่ามาจนเจอพรานเจตบุตร หมาไล่กัดจนวิ่งหนีขึ้นต้นไม้ พรานมาเห็นก็จะยิงหน้าไม้ใส่ เพราะเข้าใจว่าจะมาขอลูกกับพระเวสสันดรเป็นแน่ ชูชกเห็นดังนั้นจึงโกหกไปว่า ตนได้นำพระราชสาส์นมาอัญเชิญพระเวสสันดรกลับเมือง เพราะพ่อแม่คิดถึงและชาวเมืองหายโกรธแล้ว

กัณฑ์ที่ ๖ จุลพน

พรานเจตบุตรเห็นว่าชูชกจะมาอัญเชิญพระเวสสันดรกลับ จึงแนะทางเดินที่จะผ่านป่า ผ่านบรรดาสัตว์ป่า นกชนิดต่างๆ และป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ของป่าหิมพานต์ เพื่อไปยังอาศรมบทศาลาของพระเวสสันดร

กัณฑ์ที่ ๗ มหาพน

ชูชกเดินทางผ่านป่าไปจนถึงสำนักของอจุตตะรัสสี (อัจจุตฤษี) ฤษีถามว่าจะมาขอกัณหากับชาลีหรือ ชูชกโกหกว่าไม่ได้ไปขออะไรกับพระเวสสันดร อยากมาไหว้เพื่อเป็นสิริมงคลให้พ้นทุกข์จากวัฏสงสาร เพราะไปถึงเมืองก็พบว่าชาวสีพีได้ขับไล่พระเวสสันดรออกจากเมืองไปอยู่ป่าเป็นฤษีเสียแล้ว จึงตั้งใจดั้นด้นค้นหาด้วยความศรัทธา เพราะอยากบวชเป็นฤษีในสำนักของพระเวสสันดร

เมื่ออัจจุตฤษีได้ฟังคำพูดที่รื่นหูของชูชก จึงได้บอกหนทางไปยังอาศรมบทศาลาของพระเวสสันดร

กัณฑ์ที่ ๘ กุมาร

ชูชกมาถึงสระโบกขรณีเวลาค่ำ ซึ่งเป็นเวลาที่พระนางมัทรีนั้นกลับมาจากป่าแล้ว จึงคิดวางแผนว่าจะเข้าไปขอเด็กทั้งสองคนกับพระเวสสันดรในวันพรุ่งตอนเช้า โดยรอให้พระนางมัทรีเข้าป่าก่อน  

ยามค่ำคืนพระนางมัทรีฝันร้ายจึงได้เล่าให้พระเวสสันดรฟังเพื่อขอคำทำนาย พระเวสสันดรก็ได้รู้ในทันทีว่าจะได้ให้ทานเป็นบุตรของตนในเร็ววันนี้ แต่ได้บอกพระนางมัทรีไปว่าอาจเป็นเพราะโภชนาอาหารหรือเปลี่ยนที่หลับนอนในที่ลำบาก

ตอนเช้าพระนางมัทรีได้สั่งสอนลูกๆ ให้ระวังภัยต่างๆ ก่อนเข้าป่าไปเก็บผลไม้ ชูชกพอเช้าก็ออกจากถ้ำ แล้วเดินไปยังอาศรมบทศาลาของพระเวสสันดร พระเวสสันดรมองเห็นพราหมณ์มา จึงให้ชาลีออกไปรับ ชูชกก็แสดงท่าทีข่มชาลี เพราะตั้งใจจะเอาไปเป็นทาส

ชูชกเข้ามาขอเด็กทั้งสองกับพระเวสสันดร ทำให้กัณหาและชาลีพากันไปซ่อนที่สระโบกขณี พระเวสสันดรได้ตามไปจนหาเจอ และในที่สุดได้ยกลูกให้ชูชกไปตามสัจจะ พอชูชกได้ตัวเด็กทั้งสองแล้ว ก็ได้กัดเอาเครือเถาวัลย์มามัดและทุบตี แล้วออกเดินทางกลับไป

กัณฑ์ที่ ๙ มัทรี

เทวดาอารักษ์ด้วยไม่อยากให้พระนางมัทรีได้รับทุกขเวทนาเพราะไปตามเอาโอรสและธิดา จึงให้เทพบุตรเนรมิตกายเป็นราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง ไปนอนตันทางเดินกลับของพระนางมัทรี ซึ่งพระนางไม่สามารถเลี่ยงไปใช้ทางอื่นได้เพราะด้านหนึ่งเป็นผา อีกด้านเป็นเหว จนพลบค่ำพวกสัตว์ทั้งหลายจึงได้ออกจากทาง

พระนางมัทรีกลับมายังอาศรม พอมาถึงก็ไม่พบลูก จึงร้องไห้เรียกหา และออกตามหาลูกทั้งคืน จนสลบ พระเวสสันดรได้เอาน้ำเต้าแก้วคนโท มาเป่าลง นางจึงได้สติคืนมา พระเวสสันดรได้เล่าให้ฟังเรื่องการทานลูกให้พราหมณ์ไป และกล่าวว่าขอให้ช่วยสร้างโพธิญาณ ขอจงอย่าโศกเศร้า จงตั้งใจเลื่อมใสในการให้ทาน พระนางมัทรีจึงได้อนุโมทนาทานในครั้งนี้

กัณฑ์ที่ ๑๐ สักบรรพ

พระอินทร์ได้รำพึงว่า พระเวสสันดรได้ให้ลูกเป็นทาน บัดนี้กลัวว่าจะมีพราหมณ์มาขอพระนางมัทรี จะทำให้พระเวสสันดรต้องอยู่คนเดียวลำบาก ไม่มีคนอุปัฏฐาก  ควรที่ตนจะเนรมิตตนเป็นพราหมณ์เฒ่ามาขอพระนางมัทรี เพื่อให้พระเวสสันดรได้ถึงยอดของทานบารมี แล้วค่อยถวายคืนให้

เมื่อพระอินทร์มาถึงยังอาศรมบทศาลาของพระเวสสันดร ก็ได้เอ่ยถามขอพระนางมัทรี พระเวสสันดรรู้สึกโสมนัสชื่นชมยินดีด้วยใจเบิกบาน แล้วให้พระนางมัทรีเป็นทานโดยง่าย ด้วยเหตุว่าพระมหาสัตเจ้าได้ทรงบำเพ็ญบารมีมาได้ ๔ อสงขัยแสนมหากัป ยังอีกไม่นานจะพ้นจากทุกข์ในโลกวัฏสงสาร พระนางมัทรีก็มีใจเบิกบานไม่ได้เคียดแค้นแก่ผัวของตนเอง และอนุโมทนาทานบุญนั้น

กัณฑ์ที่ ๑๑ มหาราช

ชูชกเมื่อได้กัณหาและชาลีแล้ว ก็พาออกเดินทางไกลไปในป่า เทวดาก็มาคอยเฝ้ารักษาสองพี่น้องไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย พอตกค่ำกัณหาและชาลีก็ถูกชูชกผูกไว้ให้นอนโคนไม้ ส่วนตนปีนขึ้นไปนอนบนต้นไม้เพราะกลัวสัตว์ป่า

เทพบุตรได้เนรมิตกายเป็นพระเวสสันดรและพระนางมัทรีมาแก้มัดเชือกให้ พร้อมอาบน้ำ บีบนวด ป้อนข้าวป้อนน้ำแล้วให้นอนอยู่เหนืออาสนาทิพย์ พอเช้าเทวดาก็ผูกไว้เช่นเดิม

พอเดินทางได้ ๑๕ วัน เทวดาก็ดลใจให้เดินหลงทางไปสู่เมืองของพระยาบุรมศรีสญชัย ในวันนั้นพระยาบุรมศรีสญชัยได้ฝันเห็นผู้เฒ่าเอาดอกบัวบานคู่มาถวาย พระองค์รับมาเหน็บหูไว้ มีละอองฟุ้งไปในอากาศแล้วตกลงมาทับอก ทรงตื่นและให้พราหมณ์มาทำนาย

พราหมณ์ทำนายว่า ของตกมือโจรจะได้คืน ของหายจะกลับมา

พระยาบุรมศรีสญชัย ได้ยินดังนั้นจึงนั่งรอเหนือบัลลังค์ จนในที่สุดชูชกก็ได้นำหลานทั้งสองเข้าประตูเมืองมา จึงให้อำมาตย์ออกไปรับ และไถ่หลานทั้งสองคน ด้วยทองคนละพันชั่ง พร้อมมอบปราสาท ข้าทาสบริวาร ละจัดเลี้ยงอาหารให้แก่ชูชก

ชูชกเมื่อไม่ได้กินอะไรมา ๑๕ วัน ก็หิวกระหายมาก และกินมากจนท้องใหญ่ร่างกายรับไม่ไหว แม้จะมีหมอมารักษาแล้วทุกวิถีทางก็หาได้ทุเลาไม่ จนในที่สุดชูชกก็ท้องแตกตาย  และนำไปเผาโดยที่ไม่มีญาติมาแสดงตัว ทำให้ของที่พระราชทานแก่ชูชกทั้งหลายกลับคืนสู่วังเช่นเดิม กัณหาและชาลีได้เล่าชีวิตเมื่อครั้งอยู่ในป่าและถูกชูชกทรมานเพื่อเอาไปเป็นทาสให้พระยาบุรมศรีสญชัยฟัง พระยาบุรมศรีสญชัยเศร้าเสียใจมาก จึงได้จัดแต่งขบวนช้างม้าที่มีลักษณะมงคลและไพร่พลไปรับพระเวสสันดรและพระนางมัทรีกลับมา

กัณฑ์ที่ ๑๒ ฉกษัตริย์

พระเวสสันดรได้ยินเสียงขบวนพลใหญ่เลยเข้าใจผิดคิดว่าข้าศึกมาบุกเมืองฆ่าพ่อแม่แล้วกำลังจะมาฆ่าตน จึงรีบพาพระนางมัทรีหนีขึ้นเขา พอพระนางมัทรีมองดูดีๆ จึงได้รู้ว่าเป็นขบวนของพระยาบุรมศรีสญชัย

พระยาบุรมศรีสญชัยเมื่อได้พบหน้าพระเวสสันดรและพระนางมัทรี ก็ทรงโสมนัสเป็นอย่างมาก พระยาบุรมศรีสญชัยได้เล่าว่าเมืองกลิงคะราชได้นำช้างแก้วมงคลปัจจัยนาเคนมาคืนแล้ว บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ดี บัดนี้จึงมารับพระเวสสันดรและพระนางมัทรีกลับไปยังเมือง

จากนั้นพระนางผุสสดี กัณหา และชาลี จึงได้ตามเข้ามา พระนางมัทรีเหลียวเห็นจึงรีบวิ่งไปรับ ต่างคนก็ต่างกอดกันร้องไห้จนสลบไป พระเวสสันดรเห็นเช่นนั้นก็โศกเศร้าสลบตามไปอีกคน รวมไปถึงพระยาบุรมศรีสญชัย พระนางผุสสดี และไพร่พลทั้งหมดที่ตามมาก็ร้องไห้โศกเศร้าล้มลงเป็นลมหมดสติกันหมด

เมื่อนั้นพระอินทร์มองมาเห็นว่า ต่างคนก็สลบไปหมดแล้ว จะหาผู้ใดมาเป่าน้ำให้ฟื้นคืนสติได้ไม่ จึงได้ทำให้ฝนโบกขรพรรษตกลงมา ทั้งหมดจึงฟื้นคืนสติกลับมาและพากันหายทุกข์หายโศก จากนั้นพระบุรมศรีสญชัยจึงได้เชิญพระเวสสันดรกลับไปครองเมือง  

กัณฑ์ที่ ๑๓ นครกัณฑ์

พระเวสสันดรกล่าวถึงโทษที่ตนได้รับจากชาวเมืองในการทานช้าง จนถูกขับไล่มาบวชเป็นฤษีที่ในป่า หากกลับไปปกครองบ้านเมืองเห็นจะไม่ดี จึงขอบวชเป็นฤษีอยู่ในป่าต่อไป

พระยาบุรมศรีสญชัยได้เกลี้ยกล่อมและพยายามหาอุบายการพูดในการอัญเชิญกลับ จนในที่สุดพระเวสสันดรจึงได้เปลี่ยนความคิดและถอดเครื่องบริขารออกจากการเป็นฤษี และเสด็จกลับเข้าเมืองเพื่อครองราชย์ รวมเป็นเวลาการบวชเป็นฤษี ๗ เดือน ๒๕ วัน ในป่าหิมพานต์

กษัตริย์ทั้งหกได้แก่ พระยาบุรมศรีสญชัย พระนางผุสสดี พระเวสสันดร พระนางมัทรี ชาลี และกัณหา จึงได้ขึ้นช้าง อันมีขบวนแห่แหนอย่างยิ่งใหญ่พากลับเข้าเมือง  

(จบ)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *