ประวัติวัดกลางและพระมหาธาตุราชมัชฌิมาเฉลิมพระเกียรติ (ริมบึงแก่นนคร) ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
ประวัติวัดกลาง (โดยสังเขป)
ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
วัดกลาง รหัสวัด ๐๔๔๐๐๑๐๑๐๐๒
ตั้งอยู่ที่บ้าน เมืองเก่า เลขที่ ๓๔๗ หมู่ที่ – ถนนกลางเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
โทรศัพท์ ๐๘๑-๗๙๙๙๓๖๓ , ๐๘๖-๘๕๕๒๗๓๔
สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย พิกัดของวัดละติจูด ๑๖.๔๑๔๐๗๙ , ๑๐๒.๘๓๔๙๐๑ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดขอนแก่น สร้างขึ้นเมื่อปี พุทธศักราช ๒๓๓๓ โดยพระนครศรีบริรักษ์ บรมราชภักดี (ท้าวเพียเมืองแพน) เจ้าเมืองขอนแก่นคนแรก เป็นผู้ก่อสร้างพร้อมการตั้งเมืองขอนแก่น เป็นวัดที่อยู่ระหว่างวัดเหนือ (ปัจจุบันวัดหนองแวง พระอารามหลวง) และวัดใต้ (ปัจจุบันวัดธาตุ พระอารามหลวง) มีพื้นที่ ๗ ไร่ ๒ งาน ๒๐ ๙/๑๐ ตารางวา โฉนดที่ดิน เลขที่ ๗๐๙
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ.๒๓๕๐ กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร ครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๒ กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒
มีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ ประมาณ ๒ เส้น ๔ วา จรดที่ดินเอกชน
ทิศใต้ ประมาณ ๒ เว้น ๓ วา จรดถนนเหล่านาดี
ทิศตะวันออก ประมาณ ๓ เส้น ๗ วา จรดถนนรอบบึง
ทิศตะวันตก ประมาณ ๓ เส้น ๕ วา จรดถนนกลางเมือง
ปูชนียวัตถุ
หลวงพ่อใหญ่ พระประธานประจำอุโบสถ ขนาดหน้าตัก ๒ เมตร สูง ๕ เมตรสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๓
พระประธานประจำศาลาการเปรียญ ปางพุทธชินราช ขนาดหน้าตัก ๑.๕๐ เมตร สูง ๓ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓
พระมหาธาตุราชมัชฌิมาเฉลิมพระเกียรติ (พระมหาธาตุสองแผ่นดิน) กว้าง ๙ เมตร ๘๔ เซนติเมตร ยาว ๙ เมตร ๘๔ เซนติเมตร สูง ๒๙ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔
อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย
อุโบสถ คอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐
ศาลาการเปรียญ คอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๓๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓
กุฏิสงฆ์ จำนวน ๕ หลัง คอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน ๓ หลัง อาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ จำนวน ๒ หลัง
วิหาร กว้าง ๕ เมตร ยาว ๑๒ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๐
พลับพลาพิศาลมงคล คอนกรีตเสริมเหล็กกว้าง ๑๒ เมตรยาว ๒๖ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๒
ศาลาบำเพ็ญการกุศล คอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน ๓ หลัง สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐
อาคารปฏิบัติธรรม คอนกรีตเสริมเหล็กกว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๖ เมตร สูง ๔ ชั้นสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๑
นอกจากนี้มีอาคารเสนาสนะต่างๆ ดังนี้
ฌาปนสถาน จำนวน ๑ หลัง หอระฆัง จำนวน ๑ หลัง หอกลอง จำนวน ๑ หลัง และเรือนรับรอง จำนวน ๑ หลัง
การศึกษา
มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม ระดับชั้น นธ.ตรี – นธ.เอก เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓
มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ระดับชั้น ปธ.๑-๒ , ปธ. ๓ เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔
มีศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัด ระดับชั้น อนุบาลปฐมวัย เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๘
การเผยแผ่พระพุทธศาสนา
เป็นสำนักปฏิบัติประจำจังหวัด แห่งที่ ๓๕ แต่งตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๕ มติ มส. ครั้งที่ ๑๘๑/๒๕๕๕
การบริหารและการปกครอง
ลำดับเจ้าอาวาสตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ดังนี้
ลำดับที่ ๑ ไม่ปรากฏชื่อ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๓๓ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๐
ลำดับที่ ๒ พระครูพิศาลอรัญญเขตร์ ที่สังฆปราโมกข์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๑
ลำดับที่ ๓ ไม่ปรากฏชื่อ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๒ ถึง พ.ศ. ๒๔๙๓
ลำดับที่ ๔ พระมหาสุบิน สุวณฺโณ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๙๗
ลำดับที่ ๕ พระครูมงคลสารนิเทศ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๘ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๐
ลำดับที่ ๖ พระครูมัชฌิมธรรมโสภณ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๐ ถึง ปัจจุบัน
ข้อมูลโดย พระครูมัชฌิมธรรมโสภณ
เจ้าอาวาสวัดกลาง
ประวัติ
พระมหาธาตุราชมัชฌิมาเฉลิมพระเกียรติ
พระมหาธาตุราชมัชฌิมาเฉลิมพระเกียรติ (พระมหาธาตุสองแผ่นดิน) ตั้งอยู่ที่ถนนกลางเมือง ริมบึงแก่นนคร อำเภอเมือง ภายในวัดกลาง เป็นพระมหาธาตุมีฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ ๙.๘๔ เมตร เรือนยอดทรงเจดีย์จำลองแบบจากพระธาตุพนมผสมพระธาตุขามแก่น พระมหาธาตุราชมัชฌิมาเฉลิมพระเกียรติ (พระมหาธาตุสองแผ่นดิน) เป็นพระมหาธาตุที่ประชาชนในจังหวัดขอนแก่นร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่นได้ร่วมแรงร่วมใจก่อสร้างขึ้น
โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
๑. เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในวาระตรัสรู้ครบ ๒๖ ศตวรรษ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔
๒. เพื่อน้อมเกล้าถวายเป็นราชสักการะเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๘๔ พรรษา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔
๓. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่ห้ว ในวโรกาสพิธีบรมราชาภิเษกในปี ๒๕๖๒
๔. เพื่อทูลถวายเป็นพระกุศล เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙
๕. เพื่อเป็นอนุสรณ์บรรพชนอันมี พระครูพิศาลอรัญเขตร อดีตเจ้าอาวาส พระนครศรีบริรักษ์ ผู้สร้างวัด เป็นต้น
๖. เพื่อเป็นศูนย์ร่วมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและเพื่อเป็นมรดกแก่อนุชน
เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้รับประทานจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร และเป็นศาลาประชาธรรมในการศึกษาเรียนรู้ของชุมชนในเขตเทศบาลนครขอนแก่น
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมขององค์พระมหาธาตุ
ความสูงขององค์พระมหาธาตุฯ ๒๙ เมตร มียอดจุลธาตุ ๘ ยอด ตั้งอยู่ ๔ ทิศล้อมรอบยอดพระมหาธาตุ
ภายในองค์พระมหาธาตุมีอยู่ ๓ ชั้น
ชั้นที่ ๑ เมื่อเดินขึ้นภายในพระธาตุบริเวณชั้นแรก เป็นหอประชุมมีพระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานอยู่บนบุษบกและแวดล้อมด้วยพระอสีติมหาเถระ ๘๐ องค์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง (สถานที่ประสูติ,ตรัสรู้,แสดงปฐมเทศนา,ปรินิพพาน) มีจิตกรรมผาผนังเป็นเทพชุมนุม ดาวล้อมเดือน และพุ่มข้าวบิณฑ์
ชั้นที่ ๒ เป็นห้องพระธรรมบรรจุของมงคลและคัมภีร์
ชั้นที่ ๓ เป็นห้องพระธาตุ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
สำหรับรูปแบบพระมหาธาตุเป็นศิลปะสถาปัตยกรรมไทยที่ใช้โครงสร้างสมัยใหม่เปิดให้เข้าใช้พื้นที่ภายในเบื้องล่าง และมีลานประทักษิณโดยรอบสำหรับการใช้สอยได้ ซึ่งมีการคลี่คลายมาจากรูปแบบพระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธาที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ สาธารณรัฐอินเดีย
ลักษณะเก้ายอด สื่อถึงพระมหาธาตุเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่ ๙ และ นวโลกุตรธรรม ๙ ประการในพระพุทธศาสนา ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุโดยได้รับการประทานจาก สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๙
ในส่วนลักษณะทางศิลปะสถาปัตยกรรมได้ออกแบบให้มีลักษณะของเจดีย์เหลือมทรวดทรงแบบอีสานมีซุ้มพระพุทธรูปอยู่โดยรอบเจดีย์ภายในมีห้องเก็บพระธาตุ ห้องเก็บพระธรรม ห้องพระบรมสารีริกธาตุ ห้องโถงและประดิษฐานพระอสีติมหาสาวก ๘๐ รูปและสังเวชนียสถาน ๔ แห่ง ร่วมเป็น ๘๔ องค์ ขนาดฐานพระเจดีย์กว้าง ๙.๘๔ เมตร ยาว ๙.๘๔ เมตร ความสูงถึงยอดฉัตรสูงสุด ๒๙ เมตร
โดยวางศิลาฤกษ์ในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๓ เสร็จ ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง ๙ ปี สิ้นงบประมาณ ๒๙ ล้านบาท โดยได้รับการอุปถัมภ์ทุนเบื้องต้นจากเทศบาลนครขอนแก่นจำนวน ๕ ล้านบาท และสาธุชนชาวขอนแก่น จำนวน ๒๔ ล้านบาท ประกอบพิธียกฉัตร เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๓ เพื่อเป็นปูชนียสถานในพระพุทธศาสนาและแผ่นดินสืบไป
แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่น่าสนใจโดยรอบบึงแก่นนคร จังหวัดขอนแก่น ติดตามได้ใน หัวข้อ “แหล่งท่องเที่ยวสถานที่ศักดิ์สิทธิ์รอบบึงแก่นนคร จ.ขอนแก่น: ประวัติศาสตร์การหาอยู่หากิน ปรัชญาชีวิต และพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ศูนย์รวมจิตใจ”
…..
อ้างอิง
ข้อมูลจาก วัดกลาง
กราบขอบพระคุณ พระครูปริยัติ มัชฌิมานุกูล ที่ได้ให้ความเมตตาข้อมูลของวัดกลาง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนมา ณ โอกาสนี้
ภาพโดย: สุทธวรรณ บีเวอ อีสานอินไซต์