
วัดหนองแวง พระอารามหลวง จังหวัดขอนแก่น (Wat Nong Wang, Khon Kaen)
ปัจจุบันวัดหนองแวง พระอารามหลวง เป็นศาสนสถานและสถานที่ท่องเที่ยวที่ผู้คนให้ความนิยมมาก ด้วยพระมหาธาตุแก่นนคร เป็นที่นิยมและรู้จัก เนื่องจากมีความสวยงาม เป็นพระมหาธาตุที่อยู่ในตัวเมือง สามารถเดินชมเดินรอบได้ถึงชั้นบนสุดที่มีความสูงถึง 9 ชั้น มองเห็นตัวเมือง 360 องศา มองเห็นวิวบึงแก่นนครจากมุมสูง และยังเป็นสถานที่ทำบุญบูชาสักการะพระบรมสารีธาตุ มีกิจกรรมในพระมหาธาตุบริเวณชั้น 1 สามารถถวายสังฆทาน ตักบาตรพระ 108 องค์ ถวายปัจจัยผ้าห่มพระธาตุ มีพิพิธภัณฑ์ของชุมชนท้องถิ่น เป็นแหล่งรวมภาพวาด ภาพแกะสลัก นิทาน เรื่องเล่า ธรรมเนียมของชาวอีสาน และนอกจากพระมหาธาตุที่เป็นที่รู้จักในปัจจุบันแล้ว ก็ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมาย ที่อยู่ภายในวัดหนองแวงพระอารามหลวงแห่งนี้…
วัดหนองแวง เดิมชื่อ วัดเหนือ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2332 พร้อมกับวัดกลางและวัดธาตุ โดยท้าวเพียเมืองแพน เจ้าเมืองคนแรก ณ บ้านบึงบอน(บึงแก่นนคร) พ.ศ.2354 ท้าวจามบุตร ท้าวเพียเมืองแพน เจ้าเมืองคนที่ 2 ได้ย้ายเมืองไปอยู่บ้านดอนพันชาติ เขตเมืองมหาสารคาม (บ้านโนนเมือง ต.แพง อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม) บ้านบึงบอนจึงกลายเป็นเมืองเก่า ต่อมาขอนแก่นได้มีการย้ายเมืองหลายครั้ง เมื่อเมืองขอนแก่นมีโอกาสกลับมาตั้งที่บึงบอน(เมืองเก่า) อีกครั้ง ในช่วงพระยานครศรีบริรักษ์ (อู๋) พ.ศ.2442 เจ้าเมืองก็ได้ทำการปฏิสังขรณ์อุโบสถวัดธาตุ วัดกลาง และวัดหนองแวง และได้ถวายความอุปถัมภ์บำรุงทั้ง 3 วัด เป็นประจำตลอด ปัจจุบันไม่มีแล้ว
อุโบสถ…ตำนานของวัดหนองแวงพระอารามหลวง
อุโบสถหลังแรก กว้าง 4 เมตร ยาว 6 เมตร ก่อสร้างมาพร้อมกับสร้างวัด เมื่อปี พ.ศ.2336 โดยพระนครศรีบริรักษ์(ท้าวเพียเมืองแพน) ปัจจุบันไม่มีแล้ว

ต่อมาเมื่ออุโบสถหลังเก่าชำรุดทรุดโทรมและต้องการถวายครูบา(หลวงปู่พระครูปลัดบุษบา สุมโน) ท่านพระครูสารกิจวิธาร และพระวิญญู วิญฺญุโน (นายวิญญู เสนาวงษ์) อดีตนายกเทศมนตรีเมืองขอนแก่น จึงนำคณะญาติโยม เข้ากราบเรียนขออนุญาตหลวงปู่พระครูปลัดบุษบา ท่านเห็นชอบ จึงได้มีการสร้างใหม่ โดยมีทุนเบื้องต้นการก่อสร้างจากองค์กฐินสามัคคีกรุงเทพฯ-ขอนแก่น ครั้นรวบรวมทุนทรัพย์ได้พอสมควรจึงเริ่มก่อสร้างวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ.2497 ตามแบบ ค. ของกรมศิลปากร โดยมี นายทองสุก เศรษฐภูมิรินทร์ หลานชายของท่านเจ้าคุณพระยานครศรีบริรักษ์ (อู๋) เป็นนายช่างควบคุมการก่อสร้าง และสร้างพระประธานพระอัครสาวก และรูปเหมือนหลวงปู่พระครูปลัดบุษบา สุมโน ปี พ.ศ.2500 และเสร็จสิ้นฉลองพระอุโบสถ เมื่อ ปี พ.ศ.2511





สำหรับอุโบสถหลังนี้นั้น เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งสำคัญของวัดหนองแวง กล่าวคือ ได้มีพิธีมหาพุทธาภิเษก “พระกริ่งพุทธมหาจักรแก่นนคร” เป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่สมบูรณ์ครั้งหนึ่งในภาคอีสาน โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (สมเด็จป่า วัดโพธิ์) เป็นประธานจุดเทียนชัย และมีพิธีพุทธาภิเษก ถึง 9 วัน 9 คืน ด้วยกัน มีพระเกจิอาจารย์ร่วมในพิธีกรรมครั้งนี้หลายท่าน เช่น พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร(วัดถ้ำขาม) หลวงปู่ดุลย์ อตฺโล(วัดบูรพาราม) หลวงพ่อผาง(วัดอุดมคงคาคีรีเขตต์) หลวงพ่อแพ(วัดพิกุลทอง) หลวงพ่อเงิน(วัดดอนยายหอม) หลวงพ่อก๋วย(วัดโฆษิตาราม) หลวงพ่อเปิ่น(วัดบางพระ) หลวงพ่อดี(วัดศรีสำราญ) หลวงพ่อหนูอินทร์(วัดพุทธคยา) หลวงพ่อลมูล(วัดพุทธวงษา) หลวงพ่อสิงห์(วัดกุญชรวราราม) หลวงพ่อมุม(วัดปราสาทเยอร์) หลวงพ่อคูณ(วัดหนองแวง) เป็นต้น พร้อมทั้งพระเกจิอาจารย์อีก 155 รูป

ต่อมา ปี พ.ศ.2527 วัดหนองแวงได้มีพระอุโบสถหลังใหม่ (พระอุโบสถ จะใช้เรียก อุโบสถซึ่งมีสถานะเป็นพระอารามหลวง) ซึ่งเป็นศาลาสมเด็จเดิม(สร้างเมื่อปี พ.ศ.2515 ใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน) โดยศาลาสมเด็จเดิมนั้น มีเจตนาที่จะใช้เป็นศาลารับรอง และเพื่อเป็นการแสดงกตัญญูกตเวทีต่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) แต่เมื่อขอเลื่อนสถานะวัดหนองแวง ขึ้นเป็นพระอารามหลวง โดยวัดใดได้ขึ้นเป็นพระอารามหลวงได้จะต้องมีพระอุโบสถ 5 หน้าต่างขึ้นไป จึงได้มีการยกศาลาสมเด็จเป็นอุโบสถหลังใหม่ (อุโบสถเก่ามีเพียง 3 หน้าต่างเท่านั้น) และตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2527 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยกวัดหนองแวง เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ




พระมหาธาตุแก่นนคร
“เบื้องต้นนั้นอาตมาภาพเคยคิดถึงเรื่องที่จะสร้างพระธาตุอยู่เสมอ เมื่อปี พ.ศ.2497 ได้มีโอกาสติดตามหลวงปู่พระครูวิสุทธิคุณาธาร (สังข์ ติสฺโส) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระยายัง กรุงเทพฯ ไปกรุงเทพมหานคร ได้พบเห็นวัดวาอารามต่างๆ ในกรุงเทพฯ มีพระเจดีย์ พระธาตุ สง่างามทุกวัด เมื่อวัดได้ไปที่พระอุโบสถวัดพระแก้ว และพระบรมมหาราชวังยิ่งได้เห็นพระธาตุและลานพระเจดีย์อันสง่างาม ข้อที่น่าสังเกตก็คือว่าวัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ มีเจดีย์ทุกวัดทำให้เกิดความคิดว่า อุโบสถ วิหาร ลานพระเจดีย์ ไม้ศรีมหาโพธิ์ เป็นปูชนียวัตถุ ปูชนียสถานประจำวัด ข้าพเจ้าจึงได้ตั้งสัจอธิฐานเอาไว้ว่า ถ้าข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่ในร่มเงาของพระพุทธศาสนา ก็ขอให้ได้มีโอกาสได้สร้างพระธาตุตามกำลังสติปัญญา แล้วข้าพเจ้าจึงเกิดนิมิตต่างๆ เห็นพระธาตุองค์ใดก็เกิดสนใจใฝ่ฝันอยากจะทำอยากจะรู้และอยากจะได้ แล้วข้าพเจ้าก็ได้คิดทบทวนอีกว่าในภาคอีสานนี้สมัยก่อนมี 16 จังหวัด ปัจจุบันมี 20 จังหวัด ก็มีพระธาตุเพียงองค์เดียวเท่านั้น คือ พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นที่กราบไหว้สักการะบูชาตามประเพณีในเทศกาลตลอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนพุทธศาสนิกชนทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน(ประเทศลาว) ถึงจะมีอยู่แห่งอื่นบ้างก็รู้เฉพาะคนในท้องถิ่นเท่านั้น จึงได้มาพิจารณาว่า เมื่อตนเองได้อยู่ร่วมพัฒนาวัดหนองแวงมาจนสำเร็จเสร็จสิ้นลงแล้ว อีกนัยหนึ่งด้วยว่าวัดหนองแวงได้ยกฐานะจากวัดราษฎร์เป็นพระอาราม ชั้นตรี ชนิดสามัญ ข้าพเจ้าจึงมีความคิดอยากจะให้มีพระธาตุไว้เป็นศรีสง่าแก่บ้านเมืองและวัดวาอารามสืบไป ข้าพเจ้าจึงได้ไปขออนุญาตจากหลวงพ่อพระครูโศภิตบุณยสาร เจ้าอาวาสวัดพระธาตุขามแก่นในสมัยนั้น โดยได้ขอจำลองพระธาตุขามแก่นมาไว้ที่วัดหนองแวง ท่านบอกว่า ถ้าให้จำลองไปคงจะไม่สบายใจ เพราะกลัวต่อไปจะไม่มีคนมานมัสการพระธาตุขามแก่นองค์จริง อาจจะไปนมัสการแต่พระธาตุที่จำลองสร้างขึ้นมาใหม่เท่านั้น ท่านก็ไม่อนุญาต จึงเกิดความคิดต่อไปอีกว่า ถ้าหากจะทำให้มีลักษณะต่างไปจากพระธาตุขามแก่น ก็ดูจะไม่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองขอนแก่น พระธาตุขามแก่นนั้นแม้จะไม่เป็นองค์ใหญ่ คนในท้องถิ่นใกล้เคียงต่างก็ได้กราบไหว้ขอพึ่งบารมีแห่งองค์พระธาตุขามแก่น ขอให้แผ่พระเดชานุภาพคุ้มครองปกป้องภัยพิบัติทั้งหลายทั้งปวงและอำนวยผลดลบันดาลให้เกิดความสมหวังตลอดมา ข้าพเจ้าจึงได้ความคิดขึ้นใหม่ว่าพระธาตุขามแก่น ก็ทรงเหมือนตากแห อ่อนช้อยสวยงาม ส่วนยอดตั้งแต่คอระฆังขึ้นไปเราคงไว้ตามเดิม ส่วนใต้คอระฆังลงมาทำให้เป็นชั้นๆ ให้ได้ 9 ชั้น โดยได้มานึกถึงธรรม 9 ประการ คือ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 รวมเป็นโลกกุตตรธรรม 9 ประการ ใครเห็นธรรม รู้ธรรม 9 ประการ ย่อมพ้นทุกข์ทั้งปวง นี้เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าได้คิดและเป็นจุดเริ่มต้นของการจะสร้างพระธาตุที่วัดหนองแวง พระอารามหลวง…” พระธรรมวิสุทธาจารย์ (คูณ ขนฺติโก ป.ธ.4) (จากหนังสือ ที่ระลึกงานบำเพ็ญกุศลอายุวัฒนมงคล 90 ปี, 2562)
สำหรับคำอธิบายในแต่ละชั้นของ “พระมหาธาตุแก่นนคร อนุสรณ์สาธุชน” โดยละเอียด ที่นี่
วิหารบุษบา
วิหารบุษบา เป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อพระครูปลัดบุษบา(บง) สุมโน อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองแวง เมืองเก่า ขอนแก่น เพื่อระลึกถึงและไหว้บูชา
กุฏิสมเด็จต่างๆ
เนื่องจากวัดหนองแวงพระอารามหลวง ได้เป็นที่ต้อนรับและเป็นที่พำนักของพระมหาเถระเจ้าคณะปกครองที่ได้เดินทางมาปฏิบัติศาสนกิจตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ได้แก่ สมเด็จพระอริยวงศาตญาณ (ปุ่น ปุณณสิริมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 17 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 18 สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พระสังฆราชองค์ที่ 19 ได้เสด็จมาเป็นประธานอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนพระมหาธาตุแก่นนครฯ ชั้นที่ 9 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2538
โรงเรียนสำหรับพระสงฆ์และฆราวาส
ศูนย์แพทย์ชุมชนวัดหนองแวง พระอารามหลวง และศูนย์สร้างสุขผู้สูงอายุ
บรรยากาศภายในวัด

