วัดโพธิ์บ้านโนนทัน เมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น (Wat Pho Ban Nontan, Muang Khon Kaen): ประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยวริมบึงแก่นนคร เมืองขอนแก่น
เรียบเรียงข้อมูลและภาพโดย สุทธวรรณ บีเวอ
วัดโพธิ์บ้านโนนทัน เดิมชื่อ วัดท่าแขก ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของ บึงบอน หรือ บึงแก่นนคร ในปัจจุบัน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 26 เดือน มีนาคม พ.ศ.2513 ถือเป็นหนึ่งในสี่วัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของชาวขอนแก่น ที่มีมาตั้งแต่ตั้งเมืองขอนแก่น..
(สำหรับสี่วัดสำคัญนั้นมี วัดเหนือ คือ วัดหนองแวง เป็นที่สำหรับประชาชนทั่วไป วัดกลาง เป็นที่ทำบุญของขุนนาง ข้าราชการ และวัดใต้ คือ วัดธาตุ เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลของเจ้าเมือง สำหรับวัดท่าแขกนี้เป็นวัดสำหรับคนหรือพระอาคันตุกะจากต่างถิ่นเข้ามาพักอยู่อาศัยหรือทำบุญ อีกนัยหนึ่งก็คือเป็น “วัดป่า” การกำหนดชื่อวัดสมัยก่อนตามสายน้ำเป็นหลัก โดยสายน้ำที่ไหลผ่านเมืองขอนแก่นไหลมาจากทิศใต้ลงไปทางบึงทุ่งสร้าง การเรียกวัดจึงไม่ได้เรียกตามทิศ )
(สามารถดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม ประวัติวัดโพธิ์และประวัติหลวงปู่พระครูโพธิสารคุุณได้ที่นี่)
วัดโพธิ์นี้มีโบราณสถาน คือ มีโบสถ์เก่าที่กรมศิลปากรประเมินอายุประมาณ 300 ปี โดยเป็นโบสถ์ขนาดเล็ก ก่อด้วยอิฐโบราณขนาดใหญ่ ชาวบ้าน เรียกว่า สิมมหาอุด เจาะผาผนังเป็นหน้าต่างขนาดเล็ก (ภาษาอีสานเรียกว่า ป่องเอี้ยม) ซึ่งมีความชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา
ต่อมาในสมัยที่พระครูโพธิสารคุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ จึงได้ร่วมกับชาวบ้านบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ โดยเปลี่ยนโครงสร้างหลังคาและฉาบปูนทับอิฐโบราณ เพื่อให้เกิดความมั่นคงถาวรยิ่งขึ้น ต่อมา พ.ศ. 2517 ได้สร้างหลวงพ่อสังกัจจายน์ไว้หน้าโบสถ์ 2 องค์ ซึ่งเป็นศิลปะแบบจีนและศิลปะแบบไทย เป็นพระศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป
พระครูโพธิสารคุณกล่าวว่า โบสถ์หลังเล็กนี้เป็นหัวใจของชาวบ้านโนนทัน เพราะสร้างขึ้นบนเนินต้นพุทรา ชาวบ้านเรียกว่า โพนมะทัน (ชาวอีสานเรียก เนิน ว่า โพน หรือ โนน เรียก ต้นพุทรา ว่า ต้นมะทัน) ต่อมาจึงเรียก หมู่บ้านโนนทัน (ส่วนชื่อวัดโพธิ์ในปัจจุบันนั้น มาจากมีต้นโพธิ์เป็นจำนวนมาก) โดยในสมัยโบราณมีเนินขนาดใหญ่ที่สูงสุดในบริเวณที่ตั้งของบ้านโนนทัน บนยอดเนินมีต้นพุทราขนาดใหญ่ จึงได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นในบริเวณนี้ เมื่อจะสร้างโบสถ์จึงเลือกเอาเนินต้นพุทราเป็นที่ก่อสร้าง โดยชาวบ้านร่วมกันปรับพื้นเนินให้ต่ำลงเพื่อให้ฐานโบสถ์เกิดความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งพระเถระที่นำชาวบ้านสร้างวัดชื่อว่า “พระสังฆราชฉิมพลี” เป็นพระมหาเถระที่ได้รับความเคารพนับถือจากชาวเมืองและคณะสงฆ์ในสมัยนั้น จึงพร้อมใจกันยกย่องท่านเป็นพระสังฆราช (ไม่ใช่ตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์เหมือนในปัจจุบัน) ต่อมาชาวบ้านได้ใช้นามของท่านมาเป็นชื่อถนนฉิมพลี (ถนนสายหลังวัดโพธิ์) เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ได้ร่วมกันหล่อพระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิ์ หน้าตัก 23 นิ้ว สูง 43 นิ้ว ประดิษฐานไว้ภายใน โดยเป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบลาว องค์พระกับฐานเป็นคนละส่วนกัน มีพุทธลักษณะที่งดงามอย่างยิ่ง บนฐานจารึกอักษรเป็นภาษาไทน้อย เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านโนนทันมาอย่างยาวนาน นอกจากพระประธานแล้วยังมีพระพุทธรูปเก่าแก่ประดิษฐานไว้ภายในโบสถ์จำนวนมาก มีทั้งเนื้อโลหะ เนื้อไม้ และเนื้อว่าน (นำว่านมาปั้นเป็นพระพุทธรูป) โดยปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุเรียบร้อยแล้ว
ต่อมาเมื่อมีพระภิกษุ สามเณรจำนวนมากขึ้น ทำให้พื้นที่ทำสังฆกรรมคับแคบลง พระครูโพธิสารคุณจึงได้สร้างโบสถ์หลังใหม่ขึ้น เป็นโบสถ์ 2 ชั้น ที่ใช้ทำสังฆกรรมในปัจจุบัน จากนั้นได้บูรณะโบสถ์หลังเก่าขึ้น และใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรมเฉพาะของพระครูโพธิสารคุณในช่วงเวลานั้น เนื่องจากภายในประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่จำนวนมาก และเคยมีมิจฉาชีพมาลักขโมยพระพุทธรูป ท่านจึงให้ใส่กุญแจไว้อย่างแน่นหนา และเปิดเฉพาะวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น ต่อมาในสมัยของพระครูภาวนาโพธิคุณ (ดร. สมชาย กันตสีโล/พังหมื่นไว) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน จึงได้บูรณะขึ้นอีกครั้ง (ข้อมูลจากวัดโพธิ์บ้านโนนทัน)
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดโพธิ์บ้านโนนทัน
1. โบสถ์สองชั้น วัดโพธิ์บ้านโนนทัน
มีลักษณะพิเศษเป็นโบสถ์ 2 ชั้น ศิลปะทรงไทยประยุกต์ โดยหลวงปู่โพธิสารคุณเป็นประธานดำเนินการก่อสร้างเมื่อ ปี พ.ศ.2511
บริเวณชั้นบนของโบสถ์
บริเวณชั้นบนจะเป็นที่ปฏิบัติธรรม โดยองค์พระประธานบรรจุมวลสาร ประกอบด้วย เศษอิฐจากพระธาตุขามแก่น และพระธาตุพนมก่อนที่จะบูรณะ มีพระบรมสารีริกธาตุที่นำมาจาก 4 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย พม่า ศรีลังกา ไทย มาจัดแสดงอยู่ในตู้กระจก มีพระธาตุพระอรหันต์และพระสาวก นอกจากนี้ยังมีจัดแสดงกระดูกไดโนเสาร์ภูเวียงมาจากญาติโยมนำมาถวายหลวงปู่โพธิ์ ซึ่งบางส่วนท่านนำมาทำพระเครื่อง และเหลือให้ลูกหลานไว้ดู และยังมีโครงกระดูกคาดว่ามีอายุใกล้เคียงกับบ้านเชียงประมาณ 3,000 ปี
บริเวณชั้นล่างของโบสถ์
พิพิธภัณฑ์ วัดโพธิ์ บริเวณชั้นล่างของโบสถ์
2.ศาลาโพธิสาร 72 หรือ อาคารโพธิสารคุณ
สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2514 ตัวอาคารได้ถูกออกแบบให้เหมือนถ้ำที่ซ่อนตัวอยู่ในป่า ท่ามกลางดงป่านั้นได้มีภาพวาดและรูปปั้นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนจากคนรุ่นก่อนไปยังคนรุ่นใหม่ ทั้ง วิถีแบบโบราณ สุภาษิต คำสอนพุทธศาสนา ภาพประวัติศาสตร์ และเพิ่มสีสันธรรมชาติผนวกเอาความสนุกสนานจากภาพวาดและรูปปูนปั้นที่ปรากฏ นอกจากนี้ยังมีภาพวาด ที่ปรากฏเรื่องเล่าของผู้เป็นต้นคิดอาคารแห่งนี้ คือ หลวงปู่โพธิ์ (หลวงปู่พระครูโพธิสารคุณ) พระอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน ผู้ซึ่งได้รับความเคารพจากศิษยานุศิษย์เป็นจำนวนมาก ทำให้อาคารแห่งนี้มีชื่อเรียกว่า ศาลาโพธิสาร 72 โดย 72 เป็นอายุของหลวงปู่ตอนที่ท่านมรณภาพ ปัจจุบันร่างของท่านได้บรรจุอยู่ที่ฐานของพระพุทธรูปใหญ่ชั้นล่างของอาคารแห่งนี้ (หากสนใจ ศิลปะโดยรอบอาคารโพธิสารคุณ วัดโพธิ์บ้านโนนทัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ชั้น 1 รายละเอียดเพิ่มเติม ที่นี่)
3. สถานที่น่าสนใจอื่นๆ ภายในวัดโพธิ์บ้านโนนทัน
ปัจจุบันวัดโพธิ์บ้านโนนท้นมีเนื้อที่จำนวน 10 ไร่ 2 งาน 56 ตารางวา มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 23 ไร่ 4 งาน 50 ตารางวา (นอกจากนี้ยังมี ศูนย์ปฏิบัติธรรมหลวงปู่โพธิ์ ตั้งอยู่หน้าวัดศรีสว่างโนนทัน หรือจากหน้าวัดโพธิ์บ้านโนนทันตามถนนไปทิศตะวันออกอีก 1.5 กิโลเมตร) เป็นสำนักปฏิบัติธรรมแห่งแรกในจังหวัดขอนแก่น และจนถึงปัจจุบันก็ยังมีการฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งทางวัดได้จัดอบรมติดต่อกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2518 มีพระภิกษุและสามเณรที่จะเข้ามาอยู่ในสังกัดวัดโพธิ์ฝึกอบรมวิปัสสนา และทุกวันพระ ขึ้น/แรม 8 ค่ำ และ 15 ค่ำ สำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วไปมีโครงการสวดมนต์เสริมสิริมงคลชีวิตพิชิตโรค ลานบุญ-ลานปัญญา ณ ศาลาโพธิสาร 72 ในช่วงเช้า 7.00-9.00 ทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา เจริญจิตภาวนา และภาคเย็น ช่วง 18.30-21.00 ทำวัตรเย็น เจริญพระพุทธมนต์เสริมสิริมงคลชีวิต เจริญจิตภาวนา ฟังธรรม สมาทานศีล และแผ่เมตตา นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมร่วมด้วย.
แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่น่าสนใจโดยรอบบึงแก่นนคร จังหวัดขอนแก่น ติดตามได้ใน หัวข้อ “แหล่งท่องเที่ยวสถานที่ศักดิ์สิทธิ์รอบบึงแก่นนคร จ.ขอนแก่น: ประวัติศาสตร์การหาอยู่หากิน ปรัชญาชีวิต และพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ศูนย์รวมจิตใจ”
……………..
อีสานอินไซต์ขอกราบขอบพระคุณ พระธรรมนูญ กุสลธมฺโม ที่ได้เมตตาให้ความอนุเคราะห์ข้อมูลวัดโพธิ์บ้านโนนทัน จังหวัดขอนแก่น และภาพสิมโบราณ มา ณ โอกาสนี้ค่ะ