ประวัติพระองค์แสน หลวงปู่สา และปาฏิหาริย์ปู่พญานาคศรีสุทโธ วัดสมศรีสะอาด บ้านเชียงแหว อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี
เสน่ห์ของวัดสมศรีสะอาด ในยามเดือนพฤศจิกายน นอกจากจะเต็มไปด้วยเมล็ดข้าวเปลือกที่ชาวบ้านพากันมาตากอยู่ลานวัดแล้ว ก็เห็นจะเป็นวันเพ็ญเดือนสิบสอง วันลอยกระทง เขาก็พากันจัดปะรำพิธีไหว้เจ้าปู่ศรีสุทโธร่วมด้วย พวกเราพากันปั่นจักรยานเข้าด้านหลังวัดในตอนเช้าๆ ประมาณหกโมงครึ่ง เพราะต้องมาปะล้อที่แฟบแบนตั้งเมื่อวานที่ร้านปะยางหลังวัด เหลียวมองไปเห็นผู้อาวุโสจูงหลานๆ กับหิ้วภัตตาหารไปถวายพระ เสียงประกาศตามสายว่าใครจะไหว้ปู่ศรีสุทโธก็ให้นำพวกผลไม้เช่น แอปเปิ้ล กล้วย ฯลฯ ธูปเทียน และปัจจัยตามกำลังศรัทธามาด้วย เสียดายที่ผู้เขียนไม่ได้เห็นตอนเขาทำพิธี แต่ได้ยินเสียงแอบบ่นจากคุณป้าท่านหนึ่งเมื่องานเสร็จว่า “เสียดายไม่ได้รำ..” เป็นอันว่าเขาไหว้ขอพรด้วยผลไม้และธูปเทียน แต่ไม่มีการรำปีนี้ จากนั้นก็ได้ยินเสียงประกาศตัวเลขในขันน้ำมนต์และเลขสามตัวสุดท้ายยอดทำบุญจากไมโครโฟนของมัคนายก จึงเป็นอันเสร็จสิ้นการรอคอย จากนั้นต่างก็พากันแยกย้ายไปในเวลาเกือบเที่ยงของวัน
ที่วัดสมศรีสะอาดนี้ มองไปก็มีองค์ประกอบเช่นดังวัดทั่วไปในภาคอีสาน แต่ก็มีสิ่งที่พิเศษแตกต่างอยู่บ้างก็คือ เสาหินหรือหลักเสมาอายุสมัยทวารวดี ที่วัดนำมาทำเป็นหลักเสมารอบโบสถ์ ซึ่งเป็นเสาขนาดสูงใหญ่คาดว่าประมาณเกือบสองเมตร บางชิ้นหัก บางชิ้นครึ่งหนึ่งผังอยู่ในดิน บ่งบอกว่าวัดเดิมนั้นเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์โบราณมาแต่เดิมตั้งแต่ยุคทวารวดี นอกจากนี้จากการบอกเล่าของคุณลุงเตียง ผู้ซึ่งเป็นผู้รู้และเป็นอดีตพระสงฆ์ที่วัดมาก่อน ทำให้ทราบว่าบริเวณโบสถ์ในปัจจุบัน(สร้างประมาณปี 2513) ตั้งอยู่บนโบราณสถานเก่าแก่ที่สร้างจากหินศิลาแลง ซึ่งทั้งหมดถูกฝังอยู่ใต้ดิน รวมถึงวัตถุโบราณ ไหบรรจุกระดูก และพระพุทธรูปทองคำ มีเรื่องราวที่มาของการฝังลงไปทั้งหมดอย่างสั้นๆ ว่า “เอาขึ้นมาบ่ได้” อีกทั้งพื้นที่บริเวณนี้จะทำอะไรโดยไม่บอกกล่าวไม่ได้เลย ชีวิตมีอันเป็นไป เช่น การตัดไม้หรือปรับพื้นดินก่อนการสร้างอุโบสถ จนต้องมาทำพิธีขอขมาบอกกล่าวกันใหม่
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัดศรีสะอาดที่สำคัญยังมี “พระองค์แสน” หรือ พระพุทธรูปพระองค์แสน ลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองคำและสำริด ที่หลวงปู่พระครูพิทักษ์วิหารกิจหรือหลวงปู่สา สานปวโร อดีตเจ้าอาวาส ได้รับมาจากพระมหาบุญมี เศษสิลา ซึ่งเป็นเพื่อนกันสมัยเด็กเมื่อตอนบวชเรียนปริยัติธรรมที่วัดมัชฌิมวาส อุดรธานี ก่อนย้ายไปจำพรรษาที่วัดราชนัดดารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2495 เมื่อคราวประสูติรัชกาลที่ 10 หลวงปู่สาถือเอาฤกษ์มหามงคล นำพระพุทธโบราณศักดิ์สิทธิ์พระองค์แสนมาประดิษฐาน ณ วัดศรีสะอาด บ้านเชียงแหว เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองให้สาธุชนได้กราบไหว้จนถึงปัจจุบัน
พระองค์แสน
(จากเอกสารของวัด)
ตามตำนานกล่าวถึงว่า เนื่องจากพุทธลักษณะที่งดงาม และมีความศักดิ์สิทธิ์มาก ในสมัยนั้นเป็นช่วงที่มีสงครามแย่งดินแดนตลอดจนการปล้มสดมภ์ตามหัวเมืองต่างๆ หลวงพ่อพระองค์แสนจึงได้ถูกเคลื่อนย้ายไปมาอยู่เสมอ เมื่อคราวที่ประทับอยู่ที่เมืองหงสาวดี บ้านเมืองก็อุดมบูรณ์ ชาวเมืองผาสุก ทำให้เกิดความยำเกรงจากหัวเมืองต่างๆ ความศักดิ์สิทธิ์ของท่านเมื่อหัวเมืองใดเกิดภัยแล้ง หรือโรคระบาด ก็จะมีการร้องขอให้อัญเชิญท่านไปประดิษฐานในหัวเมืองนั้น ซึ่งก็เกิดความอัศจรรย์ภัยพิบัติหายไปสิ้น มีแต่ความสุขและอุดมสมบูรณ์กัน ด้วยพุทธานุภาพที่ปรากฏ จึงทำให้แต่ละหัวเมืองต่างปรารถนาอยากได้ จึงเกิดการทะเลาะแย่งชิง ต่อมามีพราหมณ์ท่านหนึ่งเป็นที่เคารพของผู้คนในสมัยนั้นจึงทำการยุติปัญหาด้วยการประกอบพิธีกรรม หล่อองค์จำลองหลวงพ่อพระองค์แสนขึ้น 4 องค์ หล่อจนเสร็จก็นำไปประดิษฐานอยู่ทั้ง 4 ทิศ คือ ตะวันออก ตก เหนือ และใต้ ปัญหาจึงยุติลง
ต่อมามีผู้สนใจสืบค้นได้ความว่า พระองค์แสนมีพุทธลักษณะตามแบบหลวงพระบาง สปป.ลาว ส่วนองค์จริงไม่ทราบว่าอยู่ที่พม่าหรือไม่ แต่สี่องค์ที่สร้างจำลองพอจะติดตามได้บ้างว่า องค์แรก อยู่เชียงราย (ไม่ทราบวัด) องค์ที่สอง ตำนานบันทึกว่าสร้างปี จุลศักราช 123 เดือน 4 ขึ้น 4 ค่ำ ปีมะแม ตรงกับ พ.ศ.1244 ประดิษฐานที่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร จังหวัดสกลนคร องค์ที่สาม ประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัยนาพึง บ้านนาพึง จังหวัดเลย และองค์ที่สี่ ประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานของหลวงปู่สา วัดสมศรีสะอาด บ้านเชียงแหว จังหวัดอุดรธานี
ประวัติหลวงปู่สา หรือ พระครูพิทักษ์วิหารกิจ(สา สาสนปวโร)
ปัจจุบันหลวงปู่สามรณภาพไปนานแล้ว ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างรูปปั้นเหมือนของหลวงปู่ประดิษฐานไว้ภายในพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถาน โดยประดิษฐานพระองค์แสนไว้ด้านบนของผนังอาคารเหนือรูปปั้นหล่อโลหะเหมือนจริงของหลวงปู่สา โดยอาคารพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานแห่งนี้สร้างอยู่บนบริเวณที่พระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่สา
หลวงปู่สาท่านเกิดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2445 ที่บ้านเชียงแหว มีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน 12 คน สกุลเดิมคือ วงษ์ศรีรักษา เมื่อยังเล็กอายุได้ 8 ขวบ บิดามารดานำไปฝากเรียนกับพระที่วัดสมศรีสะอาดได้สามปีพออ่านออกเขียนได้ เมื่ออายุได้ 13 ปี ไปเยี่ยมญาติที่บ้านดอนก่อ ศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ริมฝั่งโขงที่พักสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ท่านพระอาจารย์ได้ถ่ายทอดความรู้ให้ พักอยู่กับญาติเป็นเวลา 1 ปี จึงกลับมาที่บ้านเชียงแหว พระอาจารย์วัน วัดทุ่งสว่าง เรียกให้ไปพบแล้วแนะนำให้บวชเรียน เพื่อปฏิบัติธรรมและเรียนหลักวิปัสสนาเบื้องต้นอย่างเต็มที่ ต่อมาปี พ.ศ.2458 พระอาจารย์วันและพระอาจารย์ภูคำตา เดินธุดงค์ไปสปป.ลาว ได้สอนหลักวิปัสสนาเบื้องต้น “นะโม พุทธัง อิติ” ต่อมาปี พ.ศ.2460 พระอาจารย์วันกลับจากธุดงธ์แล้ว จึงอนุญาตให้บวชเป็นสามเณร ศึกษาวิชา ลูกคิด เลขคณิตคิดเร็ว อักษรโบราณ ภาษาลาว ภาษาขอม และภาษาไทย ต่อมาจึงเข้าปริวาสกรรมที่วัดป่าบ้านกีด หนองหาน จังหวัดอุดรธานี 15 วัน ในปีพ.ศ.2463 มีพระอาจารย์อ่อนสีเป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติธรรม โดยเจ็ดวันแรกต้องภาวนาและสมถะกรรมฐานทั้งกลางวัน-กลางคืน ครั้งละ 6 ชม. ภาวนา “สัมมา อะระหัง” ให้จิตสงบนิ่ง เป็นสมาธิมั่นคง จึงให้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต่อ ปี พ.ศ.2465 จึงได้อุปสมบทเป็นพระ ณ วัดศรีมงคล บ้านปะโค อ.กุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ปี พ.ศ.2466 พระอาจารย์เที่ยง ลูกศิษย์พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ชวนไปกราบคารวะมอบถวายเป็นลูกศิษย์ จากนั้น ปี พ.ศ.2467 พระอาจารย์ชาเคน เจ้าอาวาสวัดสมศรีสะอาดลาสิกขา เนื่องจากอาพาธวัยชรา หลวงปู่สาจึงรักษาการเจ้าอาวาสปกครองภิกษุสามเณรต่อไป และต่อมาท่านจึงสอบไล่นักธรรมชั้นตรีที่วัดมัชฌิมวาส อุดรธานี และได้รับการแต่งตั้งเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ประจำสำนักเรียนวัดสมศรีสะอาด 11 ปี จากนั้นจึงได้รับใบตราตั้งเป็นเจ้าอาวาสใน ปี พ.ศ.2469 และสอบไล่เป็นนักธรรมชั้นโท ปี พ.ศ.2479 ที่วัดเทพธิดาราม กรุงเทพฯ
หลวงปู่สาท่านมีความชำนาญพิเศษด้านโหราศาสตร์มาก ผูกดวง ดูดวงฤกษ์ยามได้แม่นยำ ทำให้มีลูกศิษย์มากมาย เป็นศรัทธาของสาธุชนทั้งหลาย หลวงปู่สามีความชำนาญด้านคาถาอาคมเป็นพระเกจิอาจารย์พุทธาภิเษกตามวัดต่างๆ มากมาย มีความเพียรเป็นเลิศ ถือปฏิบัติการปริวาสกรรมขัดเกลาทุกปีไม่เคยละเว้น ตามตำนานครูบาศรีวิชัยท่านได้ถ่ายทอดตำรามอบให้หลวงปู่สาทางกระแสจิตครบถ้วนน่าอัศจรรย์ เป็นตำราหนึ่งเดียวที่ปฏิบัติต่อเนื่องมิได้ขาด นอกจากนี้ภารกิจเพื่อประโยชน์ทางโลกท่านได้เป็นประธานร่วมกับชาวบ้าน สร้างสถานีอนามัยประจำตำบลเชียงแหว เมื่อปี พ.ศ.2510 และยังเป็นประธานเชิญชวนชาวบ้านตัดถนนจากปากทางมิตรภาพมาที่หมู่บ้าน 6 กิโลเมตร เชื่อมต่อสามหมู่บ้านเข้าไว้ด้วยกัน คือ บ้านเชียงแหว บ้านเชียบ และบ้านดงเรือง โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องมือหนักจากหน่วยจัสแมค (ทหารอเมริกัน) ในช่วงเวลานั้น และทำการขอขยายไฟฟ้าในหมู่บ้าน ปี พ.ศ.2519 เชิญชวนการสร้างและซ่อมแซมถนนสายดงเรือง-เชียงแหว ครั้งใหญ่ร่วมกับชาวบ้าน รัฐ และโรงงานน้ำตาล และสร้างโบสถ์ที่ปรากฏในปัจจุบัน ซึ่งเป็นมูลเหตุแห่งความอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านเชียงแหวครั้งสำคัญ เมื่อร่างทรงของพญานาคได้ปรากฏตัวขึ้นเพื่อร่วมอนุโมทนาบุญในการสร้างอุโบสถหลังนี้
หอเจ้าปู่ศรีสุทโธ แห่งวัดสมศรีสะอาด
คุณลุงเตียงเล่าให้เราฟังว่า วันนี้ที่วัดมีการบวงสรวงปู่ศรีสุทโธ เนื่องจากในอดีตเมื่อตอนเริ่มสร้างโบสถ์ใหม่ๆ ปู่ศรีสุทโธท่านอยากมาร่วมทำบุญด้วย แต่มาแบบไม่ธรรมดาเท่าไหร่ ไปเข้าฝันชาวบ้านว่า มีร่างทรงงูรออยู่ที่ป่าข้างหนองหาน ให้ไปรับด้วย ชาวบ้านตื่นขึ้นมาก็ไม่ได้เชื่ออะไร แต่สุดท้ายก็กลับมาฝันแบบเดิมอีกเป็นครั้งที่สอง จึงได้ลองไปดูที่ป่านั้น แล้วก็พบว่ามีงูเหลือมตัวใหญ่รออยู่จริงๆ จึงได้พากันเอาเสลี่ยงเข้าไปรับมาอยู่ที่วัด ชาวบ้านเอางูไว้ที่โพลงต้นมะขามใหญ่ด้านหน้าวัด งูอยู่จนโบสถ์สร้างแล้วเสร็จ ผู้เขียนจึงถามว่า แล้วงูร่วมบุญช่วยสร้างโบสถ์อย่างไร คำตอบก็คือว่าผู้คนพอทราบข่าวร่างทรงเจ้าปู่ศรีสุทโธก็พากันมาดูงูเหลือมที่วัด แล้วก็ร่วมทำบุญกัน จนในที่สุดสามารถสร้างโบสถ์ได้แล้วเสร็จ พอจะไปก็ฝันบอกว่าจะไปแล้ว เขาก็พากันเอางูกลับไปปล่อยที่เดิม เรื่องนี้เกิดขึ้นราว 50 ปีก่อน ปัจจุบันโพรงที่ให้งูร่างทรงเคยอาศัยอยู่ ได้ก่ออิฐปิดฐานด้านล่างตามความฝันที่ร่างทรงบอกไว้ ทิ้งไว้แต่สิ่งน่าอัศจรรย์คือ ลำต้นของมะขามยักษ์นั้น ที่บริเวณส่วนโพรงด้านบนอีกช่องหนึ่ง ได้ปรากฏส่วนของลำต้นที่งอกออกมาใหม่ นูนคล้ายกับปมขนาดใหญ่ ชาวบ้านจึงพากันสร้างเป็นศาลปู่ศรีสุทโธขนาดเล็กๆ และทำพิธีอัญเชิญเพื่อกราบไหว้เป็นสิริมงคล ด้วยผลไม้และธูปเทียน จนถึงปัจจุบัน.
………………
ขอขอบคุณ
คุณลุงเตียง วัดสมศรีสะอาด บ้านเชียงแหว อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี
อ้างอิง
เอกสารแผ่นพับของวัดสมศรีสะอาด อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี
เรื่องและภาพ โดย สุทธวรรณ บีเวอ อีสานอินไซต์
ทริปจักรยาน รอบหนองหาน กุมภวาปี พฤศจิกายน พ.ศ.2564